Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (57)

อภิปราย "รัฐบาลเปรม 2/1":
ซื่อสัตย์แต่ขาดความสามารถ…


การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟากรัฐบาลจัดเป็นครั้งแรก ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 ตามข้อเสนอของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีและสมาชิกผู้แทนราษฎรประมาณ 100 คน ร่วมประชุม แต่หลังจากนั้นไม่ทันไรนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้ากลุ่มประชากรไทยกับคณะ ได้เสนอขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันที่ 28 พฤษภาคม และลงมติในวันที่ 1 มิถุนายน ผลการประชุมได้ลงมติไว้วางใจ

ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2524 ได้มีพระบรมราชองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง ทั้งนี้มีพรรคการเมืองมายื่นขอจดทะเบียนทั้งหมดรวม 20 พรรค

ในขณะเดียวกันความยุ่งยากในการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยแรกของนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็เริ่มส่อเค้าขึ้น ไล่มาตั้งแต่ปัญหาการเลือกตั้งอธิบดีกรมอัยการ ปัญหากรณีส่อเค้าทุจริตการสอบเป็นนายร้อยตำรวจตรี การจับแหล่งปลอมปนน้ำมันขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งการกวดขันสถานเริงรมย์ นอกจากนี้ปรากฏการณ์ "คนป่าคืนเมือง" เป็นจำนวนมาก จากอดีตนักเรียน นิสิต นักศึกษา และปัญญาชนนักวิชาการ ตลอดจนประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ที่เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลัง "กรณีนองเลือด 6 ตาลาฯ" พร้อมกันนั้นมีการกวาดล้ายค่าย "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์" ขนาดใหญ่หลายแห่งทางภาคใต้ของประเทศ

ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่กดดันรัฐบาลแทบจะทุกยุคทุกสมัยคือปัญหาในกรุงเทพมหานครนี้เอง ซึ่งก็ได้แก่ ปัญหาการต่อต้านการย้ายตลาดนัดที่สนามหลวงไปอยู่ที่สวนจตุจักร และการต่อด้านของนักศึกษาเรื่องการขึ้นค่ารถเมล์จนทำให้รัฐบาลต้องชะลอไปก่อน และเมื่อเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 10 ธันวาคม พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หัวหน้าพรรคชาติประชาไทย ได้ยื่นญัตติปัญหาเศรษฐกิจต่อรัฐบาล เปิดโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ

ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 2 รัฐบาลได้เชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมคณะด้วย โดยนายบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งลาออกจากรองหัวหน้าพรรคกิจสังคมก่อนหน้านี้มิได้ร่วมคณะรัฐบาลด้วย โดยคัดค้านการเข้าร่วมรัฐบาลในเวลาที่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ

ต่อมามีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจำนวน 8 กระทรวง รัฐสภาได้กำหนดให้มีการเปิดอภิปรายในวันที่ 2 และวันที่ 3 มิถุนายน 2525 เป็นเวลา 2 วัน รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเสร็จการอภิปรายแล้วถึงแม้ว่าที่ประชุมลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีทุกกระทรวง แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนอภิปรายว่ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา

พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งโดดเด่นขึ้นมาในคราวปราบกบฏ 1 เมษายน 2524 ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจากพล.อ.ประยุทธ จารุมณี ในเดือนกันยายน 2525 พร้อมกับรับมอบตำแหน่งประธานคณะกรรมการกองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ

ต่อมาในระหว่างการเปิดประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 เพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฝ่าย ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่ายกันชัดเจน และการวิพากษ์วิจารณ์แผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไปทุกที พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงประกาศยุบสภาในวันที่ 19 มีนาคม 2526 ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จากการที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 18 เมษายน 2526 การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จะต้องสมัครในนามพรรคการเมือง และพรรคจะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหมดตามรัฐธรรมนูญ 2521 และตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2524

การเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน 2526 ตามรัฐธรรมนูญ 2521 และตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2524 ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องสมัครในนามพรรคการเมือง และพรรคจะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหมด ปรากฏผลดังนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 324 คน พรรคกิจสังคมมีผู้แทนราษฎรมากที่สุด 92 คน พรรคชาติไทยได้ 73 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 56 คน พรรคประชากรไทยได้ 36 คน และพรรคอื่นๆ อีกรวม 10 พรรค

ส่วนสมาชิกวุฒิสภา ได้มีการจับสลากออกหนึ่งในสามเท่ากับ 75 คน และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 19 เมษายน 2526 จำนวน 75 คน และเพิ่มเติมอีก 18 คน รวมเป็นสมาชิกวุฒิสภา 243 คน รวมสมาชิกรัฐสภา 567 คน

หลังจากการเลือกตั้งแล้ว ได้มีการเสนอบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึงพรรคการเมืองหลายพรรคให้การสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นรัฐบาลชุดที่ 43 หรือรัฐบาลเปรม 2/1 จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ในวันที่ 30 เมษายน 2526 และแต่งตั้งรัฐมนตรี จำนวน 44 คน รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2526

คณะรัฐบาลจากพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย และพรรคชาติประชาธิปไตย รวมทั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรคด้วย โดยมีพรรคชาติไทยเป็นฝ่ายค้าน และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านคือ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร

พล.อ.เปรม ต้องเผชิญศึกหนักในสภานับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้นำในการบริหารประเทศในรอบนี้ เริ่มจากญัตติของพรรคชาติไทยขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งกำหนดให้มีการอภิปรายในวันที่ 13 และ 14 กรกฎาคม 2526 แต่แล้วไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจเพราะฝ่ายรัฐบาลชิงเสนอให้ผ่านระเบียบวาระ เปิดอภิปรายไปตามสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 137 วรรคสองเสียก่อน

ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2527 พรรคชาติไทยยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ปรากฏว่ามีรายชื่อไม่ครบ 65 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ญัตติดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

ดังนั้นพรรคชาติไทยจึงจัดอภิปรายนอกสภา ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมดุสิตธานี ในวันที่ 29 มกราคม 2527 โดยมีข้อสรุปว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต แต่ขาดความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ เนื่องจากมีผู้ร่วมรัฐบาลที่ไม่มีความสามารถและมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ.



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก?

รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และนายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิดสาธารณรัฐตุรกี

จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี้ภัย ณ ประเทศเยอรมนี และในเวลาต่อมาข้าราชการทหาร ตำรวจที่เข้าร่วมก่อการครั้งนี้ต่างได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหาร โดยที่บางคนก็กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังเหตุการณ์ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่เอาการเอางานคนสำคัญในการคุมกำลังทหารต่อต้านการกบฏ ได้รับความไว้ใจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ได้เลื่อนเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา

สำหรับเส้นทางการก้าวบนชีวิตราชการประจำในฐานะทหารอาชีพจนมาถึงตำแหน่งผู้บัญชาชากรเหล่าทัพ และในเส้นทางข้าราชการการเมืองในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 2 กระทรวง กระทั่งถึงที่สุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้น มีความเป็นมาพอสังเขปดังนี้

********************

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ 6 ของอำมาตย์โท หลวงวินิจฑัณทกรรม [ต้นสกุลพระราชทาน "ติณสูลานนท์" ลำดับที่ 5121 แก่ขุนวินิจภัณฑกรรม (บึ้ง) พธำมรงค์จังหวัดสงขลา] กับ นางออด ติณสูลานนท์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดบ่อยาง และศึกษาต่อที่โรงเรียนวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จากนั้นเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาจนจบการศึกษาหลักสูตรพิเศษโรงเรียนเทคนิคทหารบก (ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า

ในปี 2484 ร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ปอยเปต กัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบุรพา (สงครามโลกครั้งที่สอง) ระหว่างปี 2485-2488 ที่เชียงตุง

หลังสงครามย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ ฟอร์ตน็อกซ์ มลรัฐเคนตักกี พร้อมกับพล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ และพล.อ.วิจิตร สุขมาก เมื่อปี 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลื่อนยศเป็นพันเอกในปี 2502 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นในปี 2506 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า

ต่อมาในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจรได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เหตุการณ์การเมืองช่วงนั้นการเลือกตั้งปี 2512 จอมพลถนอมจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคสหประชาไทย แต่แล้วมีการ "รัฐประหารตนเอง 17 พฤศจิกายน 2514" ตามมาด้วยเหตุการณ์ "14 ตุลาฯ" อันเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครอง "เผด็จการทหารสฤษดิ์-แปลก-ถนอม"

ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2517 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ "สภาสนามม้า" ซึ่งนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2517

เข้าร่วมการรัฐประหาร 2 ครั้ง นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร พร้อมกับได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในปี 2522 ช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ จึงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.เปรมสร้างความฮือฮาเกี่ยวกับการแต่งกายที่ต่อมาเรียกกันว่า "ชุดพระราชทาน" และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวไปในที่สุด ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นเอง โดยได้ใส่ครั้งแรกในโอกาสที่ พล.อ.เปรมเป็นประธานเปิดงานฉลองครบ 60 ปี ของวงเวียน 22 กรกฎาคม และยังได้สวมชุดดังกล่าวเข้าไปในสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมปีเดียวกันอีก

********************

ในเวลานั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 พุทธศักราช 2521 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มการเมืองฟากประชาธิปไตยมาโดยตลอด กลายเป็นพลังผลักดันให้เกิดคณะทำงานรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) มี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นประธาน จัดประชุมสมัชชา ครป.ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2524 โดยได้แถลงข้อสรุปว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีหลักการสำคัญ อาทิ...

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกึ่งหนึ่งต้องมาจากเลือกตั้ง และต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ผู้มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และสังกัดพรรคการเมือง ให้สิทธิในการชุมนุมและจัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้ยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหาร ฯลฯ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8