Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (65)

กบฏชาวนาหลังเกิด "รัฐไทย"
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (3)

กฎหมายตราสามดวงซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และมายกเลิกเมื่อมีการประการใช้ประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาในปลายสมัยรัชกาลที่ 5

บทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51 เขียนบรรยายการ "ปลุกระดมมวลชน" ของพ่อใหญ่โสภาในการจัด "ชุมนุมใหญ่ทางการเมือง" เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐบาลคณะราษฎรที่แตกต่างไปจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะในส่วนที่พ่อใหญ่โสภาเห็นว่าเป็นการกระทบกระเทือนผลประโยชน์ที่เคยมีเคยได้มาแต่เดิม (status quo) :

เรื่องที่พ่อใหญ่โสภาพูดในหัวค่ำของคืนวันนั้น (ประมาณ 2 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม) เป็นเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง ว่าเดี๋ยวนี้ (2483) ไม่ทำอย่างโบราณ รัฐบาลเดี๋ยวนี้กดขี่ข่มเหงราษฎร เมื่อก่อนจะซื้อขายที่ดินก็ทำกันง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีสัญญาซื้อขายกัน ก็ไม่เคยมีปัญหา แต่ทุกวันนี้ทางการบังคับให้ต้องทำหนังสือสัญญาซื้อขายกัน นอกจากนี้ยังพูดถึงภาษีที่ดิน ทำไมต้องเสีย ที่ดินมันมีอยู่แล้วตามธรรมาชติ เราเป็นคนลงแรงหักร้างถางพง หลวงไม่ได้ทำอะไรให้เรา ทำไมจะต้องเสียภาษีที่ดินในหลวง (อรุณ เชื้อสาวะถี) พ่อใหญ่โสภายังพยากรณ์อนาคตของบ้านเมืองอีกหลาบประการ เช่น พยากรณ์ว่าต่อไปบ้านหนึ่ง (หมู่บ้าน) จะมีครกมองเพียงครกเดียว ซึ่งชาวบ้านก็หัวเราะกันใหญ่และโต้แย้งว่า "มันบ่พอกินดอกพ่อใหญ่" พ่อใหญ่โสภายังทำนายว่า ต่อไป "ม้าซิโป่งเขา เสาซิออกดอก" "เหมิดบ้านจะมีไถ 2-3 ดวง" "ต่อไปจะเกิดอดอยาก ความตัวละหมื่นตัวละพัน" (อรุณ เชื้อสาวะถี, พิมพ์ รัตนคุณศาสน์)
**********
จะเห็นได้ว่าแนวทางในการ "ปลุกระดม" ให้ราษฎรเกิดความรู้สึกต่อต้านอำนาจรัฐ ประการแรกการเปรียบเทียบวิถีชีวิตรูปแบบเดิมแบบกึ่งบุพกาลหรือเกือบจะอยู่ในลักษณะ "ไร้รัฐ" (ซึ่งไม่มีอยู่จริงแม้ในสมัยจตุสดมภ์หรือแม้แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม) กับกฎระเบียบอย่างใหม่ของระบบสังคมใหม่รูปแบบและโครงสร้างรัฐใหม่ ที่บังคับใช้แก่ราษฎรทั่วไปต้องปฏิบัติตามอย่างเสมอกัน ประการถัดมาสร้างจินตภาพถึงอนาคตที่เลวร้ายลง ชีวิตจะประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น เพื่อให้ราษฎรเกิด "ภยาคติ" และเข้าร่วมกับการ "ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ" ทั้งนี้ไม่ว่าเหตุผลในการใช้เป็นแนวทางหลักในการปลุกระดมจะถูกแสริมแต่งและขยายความจนเกินจริงหรือไม่อย่างไร หรือแม้แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะมีลักษณะ "ส่วนตัว" ระหว่างลูกศิษย์คนสำคัญของพ่อใหญ่โสภา กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมกับชนชั้นนำในท้องถิ่นหรือไม่อย่างไรก็ตาม (กรณีพ่อสิงห์กับพ่อเสริม ถูกบังคับขายโอนที่ดินให้แก่เจ๊กพก พ่อของกำนันตำบลสาวะถีในปี พ.ศ. 2537)  แต่ "การปลุกระดม" ที่มีเจตนา "เตรียมการซ่องสุมกำลัง" ก็เป็นสิ่งที่ข้าราชการฝ่ายปกครองยอมไม่ได้ และนำไปสู่การปราบรามของทางการ:

สำหรับทางการคือ นายอำเภอเมือง (ขุนวรรณวุฒิวิจารณ์) กับฝ่ายตำรวจเห็นว่าจะปล่อยให้พ่อใหญ่โสภาทำแบบนี้ต่อไปอีกไม่ได้ จึงวางแผนการจับกุม เนื่องจากสมัยนั้นตำรวจมีน้อย ขอกำลังตำรวจมาได้เพียง 6 คน ซึ่งไม่พอ ทางกำนันขออาสาช่วยจับ มีครูอาสาสมัครไปช่วยจับด้วย 3 คนรวมทั้งครูบุญเลิศ คู่ปรับของพ่อใหญ่โสภา พ่อพิมพ์ซึ่งเป็นครูก็อาสาช่วยจับด้วย แต่กำนันกับทางตำรวจเห็นว่าพ่อพิมพ์ผอมเกินไป จึงไม่เอา หัวหน้าตำรวจที่ไปจับคือ ร.ต.ต. ถนอม เวลาประมาณ 3 ทุ่ม หลังจากพ่อใหญ่โสภาปราศรัยไปได้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ตำรวจกับอาสาสมัครก็กรูกันเข้าจับ ผู้คนแตกหนี แต่กำลังของตำรวจกับอาสาสมัครสามารถจับพ่อใหญ่โสภา ซึ่งเป็นหัวหน้า พ่อเสริม พ่อสิงห์ พ่อใหญ่คุย ซึ่งเป็นระดับแกนนำ และยังจับชาวบ้านที่ไปฟัง รวมทั้งหมด 116 คน ทุกคนไม่มีใครพกพาอาวุธ วันรุ่งขึ้นก็นำตัวไปที่อำเภอ

ข้อหาที่ทางการตั้งสำหรับคนเหล่านี้คือ "กบฏภายใน" ในจำนวนผู้ต้องหาที่จับไปเป็นผู้หญิงอยู่หลายคน เนื่องจากการสอบสวนกินเวลานานประมาณ 2 เดือน ผู้หญิงบางคนจึงไปคลอดบุตรในเรือนจำ พ่อพิมพ์เล่าว่า ศาลพิพากษาให้จำคุกพ่อใหญ่โสภา พ่อสิงห์ พ่อเสริมและพ่อใหญ่คุย ซึ่งเป็นหัวหน้าและแกนนำตลอดชีวิต แต่ศาลกรุณาลดโทษให้เหลือจำคุก 16 ปี (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ และ บุญเลื่อน เพี้ยอาสา)

สำหรับตัวการใหญ่คือ พ่อใหญ่โสภา พ่อใหญ่คุย แดงน้อย พ่อเสริมและพ่อสิงห์ ทางการได้ส่งตัวมาที่เรือนจำบางขวาง ติดคุกที่บางขวาง 2 ปี ในช่วงนั้นมีอยู่วันหนึ่งทางการได้นำตัวพ่อใหญ่โสภากับพ่อใหญ่คุยไปถ่วงน้ำลึกประมาณ 15 ศอกบริเวณคลองบางซื่อ (ก่อนถ่วงน้ำได้นำเอาพาข้าว 15 พา มาให้นักโทศทั้งสองเลือกรับประทาน) ปรากฏว่าเมื่อดึงตัวนักโทษขึ้นมาจากน้ำ ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ทางการจึงตัดสินใจปล่อยตัว

การพิสูจน์ตามกฎหมายไทยโบราณ หากไม่มีพยานหลักฐาน แต่โจทก์ขอให้ศาลพิสูจน์ ศาลจะต้องพิสูจน์ มี 7 วิธี คือ
(1) ให้โจทก์เอามือล้วงตะกั่วที่หลอมละลาย
(2) ให้โจจทก์จำเลยสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
(3) ให้โจทก์จำเลยลุยเพลิง
(4) ให้โจทก์จำเลยดำน้ำ
(5) ให้โจทก์จำเลยว่ายทวนน้ำ
(6) ให้โจทก์จำเลยว่ายน้ำข้ามฟาก
(7) ให้โจทก์จำเลยตามเทียน
(กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2 : 105-106)
การพิสูจน์ความผิดของนักโทษทั้งสอง ที่จริงก็ผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่ไม่ทราบเหตุใดทางการจึงกลับไปใช้วิธีโบราณที่เลิกไปแล้วตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาตั้งแต่ พ.ศ. 2451 และ 2478 ตามลำดับ (สมบูรณ์ ธรรมครองอาตม์ : 2525 : 397, 401 – ไม่ปรากฏรายละเอียดที่มาที่ไปอื่นในวารสารฯ) กลับมาใช้อีก ซึ่งปกติจะใช้ทั้งโจทก์และจำเลยพร้อมๆ กัน ใครดำ (น้ำ) นานกว่าคนนั้นชนะ แต่ถ้าดำ 36 นาที (?) แล้วยังไม่โผล่ เจ้าหน้าที่จะดึงร่างของผู้ดำขึ้นมา

กรณีที่พ่อใหญ่โสภากับพ่อใหญ่คุย เจ้าตัวจำไม่ได้ว่าดำนานกี่นาที
**********
หากปากคำของพยานบุคคลที่ยังมีชีวิตอยูในสมัยที่เกิดกรณี "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" มีมูลความจริง มีประเด็นที่น่าตกใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และจำเป็นให้พิจารณาต่อเนื่อง 2-3 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก การบังคับขายโอนที่ดินให้แก่เจ๊กพก ซึ่งน่าจะเป็นพ่อค้าในท้องถิ่นและมีความสมพันธ์กับบ้านเมือง จนกระทั่งลูกชายได้เป็นกำนันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2537)

ประเด็นที่สอง ความเอาการเอางานของ "อาสาสมัคร" ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ครูบุญเลิศ (ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสาวะถี) คู่ปรับของพ่อใหญ่โสภา และ

ประเด็นที่สาม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและเป็นคำถามสำคัญกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (พอๆ กับการสาบานในศาล) นั่นคือการใช้กฎหมายเก่าตั้งแต่สมัยจตุสดมภ์/สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้พิจารณาคดี "กบฏ" ทั้งนี้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวถือเป็น "การพิจารณาคดีโดยการทรมาน" และ/หรือ "การพิจารณาคดีโดยการต่อสู้" อันเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง คือ "กฎหมายพิสูจน์ดำน้ำ พิสูจน์ลุยเพลิง".
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 พฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (64)

กบฏชาวนาหลังเกิด "รัฐไทย"
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (2)

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้เปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติจากสยามเป็นไทยตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482

บทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51 เขียนถึงความเป็นมาของพ่อใหญ่โสภาจนถึงความเคลื่อนไหวกระทั่งการจับกุม ไว้ดังนี้:

แต่ก่อนจะกล่าวถึงการจับกุมและการลงโทษพวกกบฏโสภา ขอกล่าวถึงประวัติของพ่อใหญ่โสภาโดยสังเขปดังต่อไปนี้
**********
พ่อใหญ่โสภา พลตรี เป็นลูกชาวนา เกิดในปี 2425 กลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดที่บ้านโนนรัง (หมายเหตุเชิงอรรถเมื่อพิมพ์ในปี 2537: พ่อพิมพ์ อายุ 80 ปี เล่าว่าพ่อใหญ่โสภาคงจะเกิดที่บ้านสาวะถีจึงมีญาติที่บ้านสาวะถีมากมาย ภายหลังไปอยู่บ้านป่าหวาย; พ่อใหญ่อรุณ เชื้อสาวะถี อายุ 72 ปี ซึ่งรู้จักและเคบฟังพ่อใหญ่โสภาปราศรัย เล่าว่า พ่อใหญ่โสภาเป็นคนบ้านป่าหวาย; พ่อใหญ่ไสว นามมา อายุ 75 ปี ว่า พ่อใหญ่โสภาเกิดบ้านโนนค้อ; แต่พ่อใหญ่เต้ เจกมา อายุ 84 ปี ว่าพอ่ใหญ่โสภาเกิดบ้านป่าหวาย) ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เรียนหนังสือจากพระภิกุที่วัดแถบนั้น เรียนวิชาหมอลำรุ่นเดียวกับพ่อใหญ่คุย ตอนพ่อใหญ่โสภาอายุ 22-23 ปี พ่อใหญ่ดสภาได้ภรรยาซึ่งเป็นคนบ้านป่าหวาย บ้านนี้อยู่ใกล้ๆ กับบ้านโนนรัง มีลูก 2 คน ต่อมามีภรรยาอีก 2 คน คนหนึ่งอยู่บ้านหนองตะไก้ อีกคนอยู่บ้านสาวะถี ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีบุตรกับภรรยา 2 คนหลังกี่คน ตามประเพรีของอีสานลูกเขยต้องมาอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย พ่อใหญ่โสภาอยู่บ้านป่าหวายตั้งแต่นั้นมา เป็นคนมีฐานะ มีนาประมาณ 70-100 ไร่

พ่อใหญ่โสภามีผิวคล้ำ ฟันสีเขียวทั้งปากดังปีกแมลงทับ บุคลิกดี หน้าตาดี เป็นคนกล้าพูดกล้าทำ ไม่กลัวคน (คุย แดงน้อย อายุ 101 ปี, เต้ เจกมา อายุ 84 ปี) เป็นคนพูดเก่ง พูดตรง พูดมีเหตุผล (บุญเลื่อน เพี้ยอาสา อายุ 73 ปี) แม้คนที่อยู่ฝ่ายรัฐ เช่น พ่อพิมพ์ ซึ่งเป็นครูโรงเรียนบ้านสาวะถีก็ชื่นชมในความสามารถในการพูดของพ่อใหญ่โสภา พ่อใหญ่โสภาอ่านตัวธรรมตัวขอมได้ ความจำดีมาก จำคัมภีร์ได้ทุกตัว รู้พิธีกรรมบวงสรวงต่างๆ มีความรู้มาก (คุย แดงน้อย) พ่อใหญ่โสภาเคารพในพระเจ้าแผ่นดิน เลื่อมใสในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่ค่อยชอบพวกคณะราษฎร ประมาณปี 2481-2482 เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อขอเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเรื่องภาษีที่ดิน กฎหมายป่าไม้ และระบบโรงเรียน แต่ไม่ได้เข้าเฝ้าฯ ไม่ทราบว่าที่ไม่ได้เข้าเฝ้าเป็นเพราะถูกเจ้าหน้าที่กีดกัน หรือเป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดิน (รัชกาลที่ 8) มิได้ประทับอยู่ในประเทศ (คุย แดงน้อย, พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ และ อรุณ เชื้อสาวะถี)

พ่อใหญ่อรุณ ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยและรู้จักพ่อใหญ่โสภาดี เล่าว่าก่อนที่พ่อใหญ่โสภาจะมีความคิดต่อต้านอำนาจรัฐ พ่อใหญ่โสภาล้มป่วยหนักจนสลบไป 3วัน ก่อนสลบได้บอกลูกหลานว่าอย่าเอาแกไปเผา หลังจากสลไป 3 วันก็ฟื้นขึ้นมา แล้วร้องไห้พูดกับคนใกล้ชิดว่า เจ้านายกดขี่ข่มเหง แต่นั้นมาก็พูดเรื่องการที่ชาวบ้านถูกเจ้านายกดขี่ข่มเหงตลอดมา เฉพาะที่บ้านป่าหวายซึ่งเป็นบ้านของภรรยา พ่อใหญ่โสภาก็พูดเรื่องเจ้านายข่มเหงราษฎร แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อ คนที่เชื่อและสมัครเป็นลูกศิษย์กลับเป็นคนจากหมู่บ้านอื่น มีบ้านบึงแก ตำบลสำราญ บ้านหนองเชียงซุย บ้านโนนกู่ บ้านโคกสว่างและบ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี แต่พ่อพิมพ์บอกว่า ที่บ้านป่าหวายก็มีลูกศิษย์ของพ่อใหญ่โสภาด้วย
**********
ข้อมูลจริงในลักษณะนี้นับว่าเป็นเรื่องน่าสนใจพิจารณาถึงช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีผลต่อมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สำหรับราษฎรภาคเกษตรกรรมในชนบทภาคอีสานเช่นในกรณี พ่อใหญ่โสภา พลตรี คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ และตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายโต้อภิวัฒน์ครั้งสำคัญคือกบฏบวรเดชแล้วนั้น แม้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาสวามิภักดิ์มาสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตย จะก่อให้เกิดการแข็งข้อ/ก่อกบฏขึ้นกระจายไปทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน รวมทั้งภาคใต้ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อต่อเนื่องนับจากการสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ผ่านไปเพียง 3 ปีใน พ.ศ. 2328 ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่สำหรับการดำรงชีวิตของราษฎรที่เป็นชาวไร่ชาวนาในภาคอีสาน ยังคงได้รับความยากลำบาก ความกดดันบีบคั้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย หรือกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าหนักหนาสาหัสกว่าเดิม เช่นในกรณีที่ พ่อใหญ่โสภา พลตรี เผชิญหน้ากับ 3 ปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาภาษีที่ดิน ปัญหากฎหมายป่าไม้ และปัญหาการศึกษาผ่านระบบโรงเรียนอย่างใหม่

ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าในจิตสำนึกของราษฎรที่เกิดและคุ้นเคยกับการปกครองในระบอบศักดินาต่อเนื่องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจจะยังมองการอภิวัฒน์สยาม เป็นเพียงการ "เปลี่ยนผู้ปกครอง" หรือ "เปลี่ยนราชวงศ์" ดังที่เป็นมาในอดีตของดินแดนในแหลมสุวรรณภูมิทุกประเทศ จะโดยตรงคือการมีส่วนประสบพบเห็นเอง หรือโดยการเล่าเรื่องหรือส่งผ่านบันทึกชาวบ้านในลักษณะประวัติศาสตร์นอกตำราก็ตาม ซึ่งดูจะเป็นที่มาของการที่พ่อใหญ่โสภาพยายามเดินทางเข้ากรุเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าฯ โดยมีจุดมุ่งหมาย "ถวายฎีกา" ร้องเรียนถึง "ความเดือดร้อน" จากรัฐบาลคณะราษฎรก็เป็นได้

ส่วนเรื่อง "การล้มป่วยจนสลบไปสามวัน" นั้น ดูจะเข้าเค้าของคติแบบ "ผีบุญ" ได้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเป็นผู้นำลุกขึ้นแข็งข้อกับทางการบ้านเมือง แต่มีข้อน่าสังเกตคือ จากการค้นคว้าของผู้ขียนทั้งสองคือ สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ผู้ที่เลื่อมใสมักจะเป็นคนจาก "ที่อื่น" ในทำนองเดียวกันกับลักษณะการ "ขึ้น" ที่ศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตเลื่อมใสศรัทธาต่อ "เกจิอาจารย์" ที่เป็นภิกษุสงฆ์ (?) หรือที่ฆราวาสเป็น "เจ้าสำนักทรงเจ้า/สักยันต์" ที่เป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยในสมัยหลังมานี้ มักจะเป็นคนนอกพื้นที่เสียเป็นส่วนใหญ่

จากนั้นในบทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนถึงการที่พ่อใหญ่โสภา ที่ถูกทางการเพ่งเล็งมาระยะหนึ่งแล้ว จับกุมตัวในที่สุด:
**********
เพราะเหตุที่พ่อใหญ่โสภาชอบพูดถึงการกดขี่ของเจ้านาย (เจ้านายหมายถึงข้าราชการ) ในที่สุดพ่อใหญ่โสภากับศิษย์ระดับแกนนำก็ถูกจับ ครั้งแรกถูกจับไป 11 คน ไปขังที่ขอนแก่น 15 วัน พอปล่อยกลับมา พ่อใหญ่โสภาก็พูดถึงการกดขี่ของเจ้านายอีก จึงถูกจับเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้จับไป 20 คน ไปขังที่ขอนแก่นเหมือนเดิม ไม่ปรากกว่าขังอยู่นานเท่าใด เมื่อปล่อยกลับมาแทนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนคนโดยทั่วไป พ่อใหญ่โสภาก็ยังชอบ "ปลุกระดม" ในแถบตำบลสาวะถีและตำบลใกล้เคียงเหมือนเดิม และมีคนฟังมากขึ้นเรื่อยๆ การจับใหญ่ครั้งที่ 3 จึงเกิดขึ้น ตอนนั้นพ่อใหญ่โสภาอายุได้ 58 ปี (คุย แดงน้อย)

คืนนั้น ตรงกับวันที่ 16 ธันวาคม 2483 พ่อใหญ่โสภาได้จัด "ปราศรัยใหญ่" ที่บ้านสาวะถี (คุ้มป่าหม้อ) ณ เรือนของพ่อใหญ่เสริม ลูกศิษย์ระดับแกนนำ มีคนจากหลายหมู่บ้านมาฟัง เช่น บ้านงิ้ว บ้านโนนกู่ บ้านป่าหวาย บ้านโคกสว่าง ที่ไกลๆ ก็มีเช่น ล้านหนองเชีงซุย (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอภูเวียง ห่างจากบ้านสาวะถีประมาณ 40 กม.) บ้านบึงแก ตำบลสำราญ มีผู้ฟังประมาณ 200-300 คน (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์)
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 พฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

หมายเหตุ: บรรยายภาพเพิ่มเติม (จากซ้ายไปขวา) พันโทหญิง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม และว่าที่ร้อยตรีหญิงจีรวัสส์ พิบูลสงคราม ต่อมาสมรสกับรักษ์ ปันยารชุน พี่ชายคนโตของอานันท์ ปันยารชุน)

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (63)

กบฏชาวนาหลังเกิด "รัฐไทย"
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (1)

การอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 หลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เป็นการประกาศถึงสิทธิและเสรีภาพของราษฎรเป็นครั้งแรก

บทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51 เขียนถึง สาเหตุและพฤติการณ์ของกบฏ ต่อไปว่า:

พ่อใหญ่โสภาไม่เห็นด้วยกับการเรียกผู้สอนนักเรียกว่า "ครู" ซึ่งเป็นคำที่ทางราชการและชาวบ้านเรียกกัน พ่อใหญ่โสภาให้เหตุผลว่า "ครูตามความหมายที่แท้จริง ต้องมีน้ำอบ น้ำหอม ฮดหัว ชาวบ้านชาวเมืองเอาน้ำฮดหัวห่มเหลือง พระเท่านั้นที่จะเป็นครูได้ เช่น ครูบาอ่อนสา ครูบาเมี่ยง ครูบาเหง้า สู (ครูบุญเลิศ) เฮียนอิหยังมาจึงจะเป็นครู เฮียนมากินคนมาข่มครูซื่อๆ ครสอนบ่เอาเงิเอาคำ สอนให้มีศีลธรรม จึงเป็นครู" พ่อใหญ่โสภาเวลาพบครูประชาบาล ไม่เคยเรียกครู เรียกบักนั่น บักนี่ ทุกที (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ – ชาวบ้านสาวัถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะอายุ 80 ปี ใน พ.ศ. 2528)

ดูเหมือนว่าแนวคิดของพ่อใหญ่โสภา พลตรี จะก้าวหน้าล้ำสมัย ไม่เฉพาะในยุครุ่งอรุณของการปกครองใหม่เท่านั้น หากยังเป็นแนวทางเดียวกับนักคิดทางการศึกษาร่วมสมัยจำนวนหนึ่งที่จำแนกระหว่าง "ผู้บอกหนังสือ" (ผู้สอนหนังสือ) กับ "ครู" (ผู้สั่งสอนศิษย์, ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์) ซึ่งอย่างแรกเพียงให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น ในขณะที่อย่างหลังกินความถึงการสั่งสอน (แนวทางดำเนินชีวิต) และถ่ายทอดความรู้ (แนวทางประกอบอาชีวะ) ให้แก่ "ศิษย์" (ผู้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของครูหรืออาจารย์)

ไม่เพียงจุดยืนและแนวคิดทางด้านการศึกษาที่หันหลังให้กับการศึกษาในระบบ "ประถมศึกษา" แทนการ "บวชเรียน" สำหรับความรู้ทาง "ฆราวาสธรรม" และการเป็น "ลูกมือ/เด็กฝึกงาน/ศิษย์" ของผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะอย่าง ซึ่งก็คือ "ช่างฝีมือ" ต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างทอผ้า รวมทั้งวิชาชีพทางด้านศิลปะเช่น ช่างเขียน และ หมอลำ เช่นในอดีต พ่อใหญ่โสภายังมีแนวคิดในการ "ต่อต้านอำนาจรัฐ" โดยตรง ที่สำคัญคือ "กฎหมายป่าไม้" จากตอนต่อของบทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น":

นอกจากต่อต้านระบบโรงเรียนของรัฐบาลกลางของคนไทยแล้ว พ่อใหญ่โสภยังต่อต้านกฎหมายป่าไม้ ปี 2481 ที่กำหนดให้การตัดไม้ต้องขออนุญาตจากทางการป่าไม้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พ่อใหญ่โสภาพิพาทกับครูใหญ่ ครูบุญเลิศกล่าวหาว่าพ่อใหญ่โสภายุยงชาวบ้านให้ตัดไม้มาทำเรือนโดยไม่ขออนุญาตจากทางการ พ่อใหญ่โสภาพก็โต้ครูบุญเลิศว่า "ไม้มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ รัฐบาลไม่ได้ปลูกต้นไม้ ทำไมต้องไปขออนุญาตจากรัฐบาล ทำไมต้องเสียค่าธรรมเนียมให้รัฐบาล ใครมีแรงก็ไปตัดมาเลย" (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ – อ้างแล้ว)

สำหรับประเด็นนี้ แม้ในปัจจุบันเองประชาชนทั่วไปยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนถึง "สิทธิ" ในทรัพยากรตามหลักกฎหมายไทยจนเป็นเหตุให้มีการถูกจับกุม เสียค่าปรับ หรือถูกคุมขังแทนค่าปรับ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัญหาที่ "รัฐ" มีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อง "ไม่เลือกปฏิบัติ" ตลอดจนหยุด "ระบบอุปถัมป์ค้ำจุน" และ "ผู้มีอิทธิพล" ผ่านทางการปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

อีกปัญหาที่ตามมา คือปัญหา "ภาษีที่ดิน":

เรื่องที่สามที่พ่อใหญ่โสภาต่อต้านภาครัฐ คือภาษีที่ดิน เมื่อรัฐบาลยกเลิกเงินรัชชูปการแล้วในวันที่ 1 เมษายน 2482 รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินแทนโดยเรียกว่า "ภาษีบำรุงท้องที่" เรื่องนี้ชาวบ้านหลายคนไม่พอใจ รวมทั้งพ่อใหญ่ดสภา พ่อเสริมและพ่อสิงห์สานุศิษย์คนสำคัญของพ่อใหญ่โสภา พ่อใหญ่โสภาถือว่าที่ดินเกิดขึ้นตามธรรมชาติ กว่าจะเป็นนาเป็นไร่เจ้าของต้องลำบากตรากตรากตรำ ตัดไม้ขุดตอ ยกคันนา ที่ดินมันเป็นของเรา จะว่าเป็นของหลวงได้อย่างไร รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินไร่ละ 5 สตางค์ ต่อมาขึ้นเป็น 10 สตางค์ และ 20 สตางค์ พ่อใหญ่โสภามีที่ดินประมาณ 70-100 ไร่ อยู่ที่บ้านป่าหวาย ซึ่งเป็นบ้านภรรยาห่างจากบ้านสาวะถีประมาณ 10-11 กม. ทางกำนันผู้ใหญ่บ้านมาบอกให้พ่อใหญ่โสภาเสียภาษีที่ดินพ่อใหญ่โสภาก็ไม่ไปเสีย พ่อเสริมกับพ่อสิงห์ก็ไม่ยอมเสียภาษีที่ดินซึ่งอยู่ที่คุ้มป่าหม้อ (ชุมชนเดียวกับบ้านสาวะถี) เรื่องนี้นายอำเภอขณะนั้นคือ ขุนวรรณวุฒิวิจารณ์ ไม่พอใจมาก เกรงว่าจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ไม่เสียภาษีที่ดิน นายอำเภอจึงสั่งยึดที่นาของพ่อสิงห์กับพ่อเสริม ขายให้เจ๊กพก (พ่อของกำนันตำบลสาวะถีคนปัจจุบัน – หมายเหตุในปี พ.ศ. 2537) ในราคา 125 บาท เพื่อเป็นภาษีที่ดิน แล้วมาบังคับให้สองพี่น้องโอนที่ดินให้เจ๊กพก สองพี่น้องไม่ยอมไปโอน นายอำเภอจึงเข้ามาในหมู่บ้าน จึงเกิดการโต้เถียงกันระหว่างนายอำเภอกับพ่อเสริม
พ่อเสริม "หมาตัวไหนเอาที่ดินไปขาย"
นายอำเภอ "อำเภอเป็นคนขาย พวกแกไม่ชำระที่ดิน ทางอำเภอเขายึดทรัพย์ขายให้นายพก"
พ่อเสริม "หมาตัวไหนขายเพิ่นวะ"
นายอำเภอ "อำเภอเขาขาย"
พ่อเสริม "อำเภอขาย อำเภอก็ไปโอน บักใด๋ขาย บักนั้นโอน"
นายอำเภอ "ต้องไปโอนนะ"
พ่อเสริม "อย่ามาบังคับ ที่ดินบักกะนี่เฮ็ดกินมาแต่พ่อ พวกมึงบ่ได้ก่นบ่ได้สร้างนำกู จะมายึดของกูได้จังใด๋"
สองพี่น้องพ่อสิงห์กับพ่อเสริมไม่ยอมไปโอนที่ดินให้เจ๊กพก และทางการก็ไม่สามารถบังคับให้สองพี่น้องไปโอนได้ สองพี่น้องคงทำนาในที่นาของเขาต่อไป เจ๊กพกไม่สามารถเข้าไปใช้ที่ดินแปลงนี้ได้ ทางการก็ไม่ยอมคืนเงินให้เจ๊กพกด้วย เจ๊กพกจึงเสียเงินให้หลวงไปเปล่าๆ 125 บาท (เงินนี้มากพอจะซื้อวัวได้ 30 ตัว) สำหรับพื้นที่นาดังกล่าวนี้มีพื้นที่ราว 40 ไร่ (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ – อ้างแล้ว)

จากการต่อต้านการครอบงำของรัฐ 3 เรื่องที่กล่าวมานี้ ทำให้ทางการตัดสินใจจับพ่อใหญ่โสภากับพวก
**********
ประเด็นนี้นับว่าน่าสนใจมากสำหรับระบบภาษีอากร การเปรียบเทียบปรับ และการบังคับใช้กฎหมายในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญสยาม ช่วงรอยต่อการเปลี่ยนชื่อประเทศ คือ หลังจากราษฎรต้องเอือมระอากับการเก็บภาษีอากรหลังการเปลี่ยนผ่านจากระบอบศักดินา/จตุสดมภ์มาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตย ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วตามมาด้วยการลุกขึ้นแข็งข้อของชาวนาโดยเฉพาะชาวนาในภาคเหนือและภาคอิสาน ที่มีการผลิต ขนบ จารีต วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตคล้ายกันมากกว่าราษฎรในภาคอื่นๆ นั้นสะท้อนถึง "ช่องว่าง" ระหว่าง "ระบอบการปกครอง" กับ "ราษฎร (ประชาชน)" ในบริบทการเชื่อมโยงนโยบาย กฎหมาย และอื่นๆ ลงไปสู่ประชาชนระดับล่าง

จะเห็นว่า ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจถึง "หน้าที่" ของพลเมืองในระบอบการปกครองใหม่และระบบรัฐแบบใหม่แทบจะโดยสิ้นเชิง อีกทั้งวิธีการบังคับใช้กฎหมายที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความกังขาใน "มาตรฐาน" เช่นกรณี "ยึดทรัพย์มาขาย (ทอดตลาด)" เช่นในกรณีพ่อเสริมและพ่อสิงห์นี้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 26 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8