กบฏชาวนาหลังเกิด "รัฐไทย"
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (2)
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (2)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี ผู้เปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติจากสยามเป็นไทยตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
แต่ก่อนจะกล่าวถึงการจับกุมและการลงโทษพวกกบฏโสภา ขอกล่าวถึงประวัติของพ่อใหญ่โสภาโดยสังเขปดังต่อไปนี้
**********
พ่อใหญ่โสภา พลตรี เป็นลูกชาวนา เกิดในปี 2425 กลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดที่บ้านโนนรัง (หมายเหตุเชิงอรรถเมื่อพิมพ์ในปี 2537: พ่อพิมพ์ อายุ 80 ปี เล่าว่าพ่อใหญ่โสภาคงจะเกิดที่บ้านสาวะถีจึงมีญาติที่บ้านสาวะถีมากมาย ภายหลังไปอยู่บ้านป่าหวาย; พ่อใหญ่อรุณ เชื้อสาวะถี อายุ 72 ปี ซึ่งรู้จักและเคบฟังพ่อใหญ่โสภาปราศรัย เล่าว่า พ่อใหญ่โสภาเป็นคนบ้านป่าหวาย; พ่อใหญ่ไสว นามมา อายุ 75 ปี ว่า พ่อใหญ่โสภาเกิดบ้านโนนค้อ; แต่พ่อใหญ่เต้ เจกมา อายุ 84 ปี ว่าพอ่ใหญ่โสภาเกิดบ้านป่าหวาย) ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เรียนหนังสือจากพระภิกุที่วัดแถบนั้น เรียนวิชาหมอลำรุ่นเดียวกับพ่อใหญ่คุย ตอนพ่อใหญ่โสภาอายุ 22-23 ปี พ่อใหญ่ดสภาได้ภรรยาซึ่งเป็นคนบ้านป่าหวาย บ้านนี้อยู่ใกล้ๆ กับบ้านโนนรัง มีลูก 2 คน ต่อมามีภรรยาอีก 2 คน คนหนึ่งอยู่บ้านหนองตะไก้ อีกคนอยู่บ้านสาวะถี ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีบุตรกับภรรยา 2 คนหลังกี่คน ตามประเพรีของอีสานลูกเขยต้องมาอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย พ่อใหญ่โสภาอยู่บ้านป่าหวายตั้งแต่นั้นมา เป็นคนมีฐานะ มีนาประมาณ 70-100 ไร่พ่อใหญ่โสภามีผิวคล้ำ ฟันสีเขียวทั้งปากดังปีกแมลงทับ บุคลิกดี หน้าตาดี เป็นคนกล้าพูดกล้าทำ ไม่กลัวคน (คุย แดงน้อย อายุ 101 ปี, เต้ เจกมา อายุ 84 ปี) เป็นคนพูดเก่ง พูดตรง พูดมีเหตุผล (บุญเลื่อน เพี้ยอาสา อายุ 73 ปี) แม้คนที่อยู่ฝ่ายรัฐ เช่น พ่อพิมพ์ ซึ่งเป็นครูโรงเรียนบ้านสาวะถีก็ชื่นชมในความสามารถในการพูดของพ่อใหญ่โสภา พ่อใหญ่โสภาอ่านตัวธรรมตัวขอมได้ ความจำดีมาก จำคัมภีร์ได้ทุกตัว รู้พิธีกรรมบวงสรวงต่างๆ มีความรู้มาก (คุย แดงน้อย) พ่อใหญ่โสภาเคารพในพระเจ้าแผ่นดิน เลื่อมใสในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และไม่ค่อยชอบพวกคณะราษฎร ประมาณปี 2481-2482 เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อขอเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเรื่องภาษีที่ดิน กฎหมายป่าไม้ และระบบโรงเรียน แต่ไม่ได้เข้าเฝ้าฯ ไม่ทราบว่าที่ไม่ได้เข้าเฝ้าเป็นเพราะถูกเจ้าหน้าที่กีดกัน หรือเป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดิน (รัชกาลที่ 8) มิได้ประทับอยู่ในประเทศ (คุย แดงน้อย, พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ และ อรุณ เชื้อสาวะถี)
พ่อใหญ่อรุณ ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยและรู้จักพ่อใหญ่โสภาดี เล่าว่าก่อนที่พ่อใหญ่โสภาจะมีความคิดต่อต้านอำนาจรัฐ พ่อใหญ่โสภาล้มป่วยหนักจนสลบไป 3วัน ก่อนสลบได้บอกลูกหลานว่าอย่าเอาแกไปเผา หลังจากสลไป 3 วันก็ฟื้นขึ้นมา แล้วร้องไห้พูดกับคนใกล้ชิดว่า เจ้านายกดขี่ข่มเหง แต่นั้นมาก็พูดเรื่องการที่ชาวบ้านถูกเจ้านายกดขี่ข่มเหงตลอดมา เฉพาะที่บ้านป่าหวายซึ่งเป็นบ้านของภรรยา พ่อใหญ่โสภาก็พูดเรื่องเจ้านายข่มเหงราษฎร แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อ คนที่เชื่อและสมัครเป็นลูกศิษย์กลับเป็นคนจากหมู่บ้านอื่น มีบ้านบึงแก ตำบลสำราญ บ้านหนองเชียงซุย บ้านโนนกู่ บ้านโคกสว่างและบ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี แต่พ่อพิมพ์บอกว่า ที่บ้านป่าหวายก็มีลูกศิษย์ของพ่อใหญ่โสภาด้วย
**********
ข้อมูลจริงในลักษณะนี้นับว่าเป็นเรื่องน่าสนใจพิจารณาถึงช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีผลต่อมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สำหรับราษฎรภาคเกษตรกรรมในชนบทภาคอีสานเช่นในกรณี พ่อใหญ่โสภา พลตรี คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ และตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายโต้อภิวัฒน์ครั้งสำคัญคือกบฏบวรเดชแล้วนั้น แม้ว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาสวามิภักดิ์มาสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตย จะก่อให้เกิดการแข็งข้อ/ก่อกบฏขึ้นกระจายไปทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน รวมทั้งภาคใต้ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อต่อเนื่องนับจากการสถาปนาอาณาจักรรัตนโกสินทร์ผ่านไปเพียง 3 ปีใน พ.ศ. 2328 ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่สำหรับการดำรงชีวิตของราษฎรที่เป็นชาวไร่ชาวนาในภาคอีสาน ยังคงได้รับความยากลำบาก ความกดดันบีบคั้นอย่างไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย หรือกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าหนักหนาสาหัสกว่าเดิม เช่นในกรณีที่ พ่อใหญ่โสภา พลตรี เผชิญหน้ากับ 3 ปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาภาษีที่ดิน ปัญหากฎหมายป่าไม้ และปัญหาการศึกษาผ่านระบบโรงเรียนอย่างใหม่ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าในจิตสำนึกของราษฎรที่เกิดและคุ้นเคยกับการปกครองในระบอบศักดินาต่อเนื่องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจจะยังมองการอภิวัฒน์สยาม เป็นเพียงการ "เปลี่ยนผู้ปกครอง" หรือ "เปลี่ยนราชวงศ์" ดังที่เป็นมาในอดีตของดินแดนในแหลมสุวรรณภูมิทุกประเทศ จะโดยตรงคือการมีส่วนประสบพบเห็นเอง หรือโดยการเล่าเรื่องหรือส่งผ่านบันทึกชาวบ้านในลักษณะประวัติศาสตร์นอกตำราก็ตาม ซึ่งดูจะเป็นที่มาของการที่พ่อใหญ่โสภาพยายามเดินทางเข้ากรุเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าฯ โดยมีจุดมุ่งหมาย "ถวายฎีกา" ร้องเรียนถึง "ความเดือดร้อน" จากรัฐบาลคณะราษฎรก็เป็นได้
ส่วนเรื่อง "การล้มป่วยจนสลบไปสามวัน" นั้น ดูจะเข้าเค้าของคติแบบ "ผีบุญ" ได้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเป็นผู้นำลุกขึ้นแข็งข้อกับทางการบ้านเมือง แต่มีข้อน่าสังเกตคือ จากการค้นคว้าของผู้ขียนทั้งสองคือ สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ผู้ที่เลื่อมใสมักจะเป็นคนจาก "ที่อื่น" ในทำนองเดียวกันกับลักษณะการ "ขึ้น" ที่ศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตเลื่อมใสศรัทธาต่อ "เกจิอาจารย์" ที่เป็นภิกษุสงฆ์ (?) หรือที่ฆราวาสเป็น "เจ้าสำนักทรงเจ้า/สักยันต์" ที่เป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยในสมัยหลังมานี้ มักจะเป็นคนนอกพื้นที่เสียเป็นส่วนใหญ่
จากนั้นในบทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนถึงการที่พ่อใหญ่โสภา ที่ถูกทางการเพ่งเล็งมาระยะหนึ่งแล้ว จับกุมตัวในที่สุด:
**********
เพราะเหตุที่พ่อใหญ่โสภาชอบพูดถึงการกดขี่ของเจ้านาย (เจ้านายหมายถึงข้าราชการ) ในที่สุดพ่อใหญ่โสภากับศิษย์ระดับแกนนำก็ถูกจับ ครั้งแรกถูกจับไป 11 คน ไปขังที่ขอนแก่น 15 วัน พอปล่อยกลับมา พ่อใหญ่โสภาก็พูดถึงการกดขี่ของเจ้านายอีก จึงถูกจับเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้จับไป 20 คน ไปขังที่ขอนแก่นเหมือนเดิม ไม่ปรากกว่าขังอยู่นานเท่าใด เมื่อปล่อยกลับมาแทนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนคนโดยทั่วไป พ่อใหญ่โสภาก็ยังชอบ "ปลุกระดม" ในแถบตำบลสาวะถีและตำบลใกล้เคียงเหมือนเดิม และมีคนฟังมากขึ้นเรื่อยๆ การจับใหญ่ครั้งที่ 3 จึงเกิดขึ้น ตอนนั้นพ่อใหญ่โสภาอายุได้ 58 ปี (คุย แดงน้อย)คืนนั้น ตรงกับวันที่ 16 ธันวาคม 2483 พ่อใหญ่โสภาได้จัด "ปราศรัยใหญ่" ที่บ้านสาวะถี (คุ้มป่าหม้อ) ณ เรือนของพ่อใหญ่เสริม ลูกศิษย์ระดับแกนนำ มีคนจากหลายหมู่บ้านมาฟัง เช่น บ้านงิ้ว บ้านโนนกู่ บ้านป่าหวาย บ้านโคกสว่าง ที่ไกลๆ ก็มีเช่น ล้านหนองเชีงซุย (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอภูเวียง ห่างจากบ้านสาวะถีประมาณ 40 กม.) บ้านบึงแก ตำบลสำราญ มีผู้ฟังประมาณ 200-300 คน (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์)
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 พฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
หมายเหตุ: บรรยายภาพเพิ่มเติม (จากซ้ายไปขวา) พันโทหญิง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม และว่าที่ร้อยตรีหญิงจีรวัสส์ พิบูลสงคราม ต่อมาสมรสกับรักษ์ ปันยารชุน พี่ชายคนโตของอานันท์ ปันยารชุน)