กบฏชาวนาหลังเกิด "รัฐไทย"
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (1)
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (1)
การอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่
1 หลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475
เป็นการประกาศถึงสิทธิและเสรีภาพของราษฎรเป็นครั้งแรก
บทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51 เขียนถึง สาเหตุและพฤติการณ์ของกบฏ ต่อไปว่า:
พ่อใหญ่โสภาไม่เห็นด้วยกับการเรียกผู้สอนนักเรียกว่า "ครู" ซึ่งเป็นคำที่ทางราชการและชาวบ้านเรียกกัน พ่อใหญ่โสภาให้เหตุผลว่า "ครูตามความหมายที่แท้จริง ต้องมีน้ำอบ น้ำหอม ฮดหัว ชาวบ้านชาวเมืองเอาน้ำฮดหัวห่มเหลือง พระเท่านั้นที่จะเป็นครูได้ เช่น ครูบาอ่อนสา ครูบาเมี่ยง ครูบาเหง้า สู (ครูบุญเลิศ) เฮียนอิหยังมาจึงจะเป็นครู เฮียนมากินคนมาข่มครูซื่อๆ ครสอนบ่เอาเงิเอาคำ สอนให้มีศีลธรรม จึงเป็นครู" พ่อใหญ่โสภาเวลาพบครูประชาบาล ไม่เคยเรียกครู เรียกบักนั่น บักนี่ ทุกที (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ – ชาวบ้านสาวัถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะอายุ 80 ปี ใน พ.ศ. 2528)
ดูเหมือนว่าแนวคิดของพ่อใหญ่โสภา พลตรี จะก้าวหน้าล้ำสมัย ไม่เฉพาะในยุครุ่งอรุณของการปกครองใหม่เท่านั้น หากยังเป็นแนวทางเดียวกับนักคิดทางการศึกษาร่วมสมัยจำนวนหนึ่งที่จำแนกระหว่าง "ผู้บอกหนังสือ" (ผู้สอนหนังสือ) กับ "ครู" (ผู้สั่งสอนศิษย์, ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์) ซึ่งอย่างแรกเพียงให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น ในขณะที่อย่างหลังกินความถึงการสั่งสอน (แนวทางดำเนินชีวิต) และถ่ายทอดความรู้ (แนวทางประกอบอาชีวะ) ให้แก่ "ศิษย์" (ผู้อยู่ในความคุ้มครองดูแลของครูหรืออาจารย์)
ไม่เพียงจุดยืนและแนวคิดทางด้านการศึกษาที่หันหลังให้กับการศึกษาในระบบ "ประถมศึกษา" แทนการ "บวชเรียน" สำหรับความรู้ทาง "ฆราวาสธรรม" และการเป็น "ลูกมือ/เด็กฝึกงาน/ศิษย์" ของผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะอย่าง ซึ่งก็คือ "ช่างฝีมือ" ต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างทอผ้า รวมทั้งวิชาชีพทางด้านศิลปะเช่น ช่างเขียน และ หมอลำ เช่นในอดีต พ่อใหญ่โสภายังมีแนวคิดในการ "ต่อต้านอำนาจรัฐ" โดยตรง ที่สำคัญคือ "กฎหมายป่าไม้" จากตอนต่อของบทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น":
นอกจากต่อต้านระบบโรงเรียนของรัฐบาลกลางของคนไทยแล้ว พ่อใหญ่โสภยังต่อต้านกฎหมายป่าไม้ ปี 2481 ที่กำหนดให้การตัดไม้ต้องขออนุญาตจากทางการป่าไม้ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่พ่อใหญ่โสภาพิพาทกับครูใหญ่ ครูบุญเลิศกล่าวหาว่าพ่อใหญ่โสภายุยงชาวบ้านให้ตัดไม้มาทำเรือนโดยไม่ขออนุญาตจากทางการ พ่อใหญ่โสภาพก็โต้ครูบุญเลิศว่า "ไม้มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ รัฐบาลไม่ได้ปลูกต้นไม้ ทำไมต้องไปขออนุญาตจากรัฐบาล ทำไมต้องเสียค่าธรรมเนียมให้รัฐบาล ใครมีแรงก็ไปตัดมาเลย" (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ – อ้างแล้ว)
สำหรับประเด็นนี้ แม้ในปัจจุบันเองประชาชนทั่วไปยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนถึง "สิทธิ" ในทรัพยากรตามหลักกฎหมายไทยจนเป็นเหตุให้มีการถูกจับกุม เสียค่าปรับ หรือถูกคุมขังแทนค่าปรับ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัญหาที่ "รัฐ" มีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้อง "ไม่เลือกปฏิบัติ" ตลอดจนหยุด "ระบบอุปถัมป์ค้ำจุน" และ "ผู้มีอิทธิพล" ผ่านทางการปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
อีกปัญหาที่ตามมา คือปัญหา "ภาษีที่ดิน":
เรื่องที่สามที่พ่อใหญ่โสภาต่อต้านภาครัฐ คือภาษีที่ดิน เมื่อรัฐบาลยกเลิกเงินรัชชูปการแล้วในวันที่ 1 เมษายน 2482 รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินแทนโดยเรียกว่า "ภาษีบำรุงท้องที่" เรื่องนี้ชาวบ้านหลายคนไม่พอใจ รวมทั้งพ่อใหญ่ดสภา พ่อเสริมและพ่อสิงห์สานุศิษย์คนสำคัญของพ่อใหญ่โสภา พ่อใหญ่โสภาถือว่าที่ดินเกิดขึ้นตามธรรมชาติ กว่าจะเป็นนาเป็นไร่เจ้าของต้องลำบากตรากตรากตรำ ตัดไม้ขุดตอ ยกคันนา ที่ดินมันเป็นของเรา จะว่าเป็นของหลวงได้อย่างไร รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินไร่ละ 5 สตางค์ ต่อมาขึ้นเป็น 10 สตางค์ และ 20 สตางค์ พ่อใหญ่โสภามีที่ดินประมาณ 70-100 ไร่ อยู่ที่บ้านป่าหวาย ซึ่งเป็นบ้านภรรยาห่างจากบ้านสาวะถีประมาณ 10-11 กม. ทางกำนันผู้ใหญ่บ้านมาบอกให้พ่อใหญ่โสภาเสียภาษีที่ดินพ่อใหญ่โสภาก็ไม่ไปเสีย พ่อเสริมกับพ่อสิงห์ก็ไม่ยอมเสียภาษีที่ดินซึ่งอยู่ที่คุ้มป่าหม้อ (ชุมชนเดียวกับบ้านสาวะถี) เรื่องนี้นายอำเภอขณะนั้นคือ ขุนวรรณวุฒิวิจารณ์ ไม่พอใจมาก เกรงว่าจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นๆ ไม่เสียภาษีที่ดิน นายอำเภอจึงสั่งยึดที่นาของพ่อสิงห์กับพ่อเสริม ขายให้เจ๊กพก (พ่อของกำนันตำบลสาวะถีคนปัจจุบัน – หมายเหตุในปี พ.ศ. 2537) ในราคา 125 บาท เพื่อเป็นภาษีที่ดิน แล้วมาบังคับให้สองพี่น้องโอนที่ดินให้เจ๊กพก สองพี่น้องไม่ยอมไปโอน นายอำเภอจึงเข้ามาในหมู่บ้าน จึงเกิดการโต้เถียงกันระหว่างนายอำเภอกับพ่อเสริม
พ่อเสริม "หมาตัวไหนเอาที่ดินไปขาย"สองพี่น้องพ่อสิงห์กับพ่อเสริมไม่ยอมไปโอนที่ดินให้เจ๊กพก และทางการก็ไม่สามารถบังคับให้สองพี่น้องไปโอนได้ สองพี่น้องคงทำนาในที่นาของเขาต่อไป เจ๊กพกไม่สามารถเข้าไปใช้ที่ดินแปลงนี้ได้ ทางการก็ไม่ยอมคืนเงินให้เจ๊กพกด้วย เจ๊กพกจึงเสียเงินให้หลวงไปเปล่าๆ 125 บาท (เงินนี้มากพอจะซื้อวัวได้ 30 ตัว) สำหรับพื้นที่นาดังกล่าวนี้มีพื้นที่ราว 40 ไร่ (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ – อ้างแล้ว)
นายอำเภอ "อำเภอเป็นคนขาย พวกแกไม่ชำระที่ดิน ทางอำเภอเขายึดทรัพย์ขายให้นายพก"
พ่อเสริม "หมาตัวไหนขายเพิ่นวะ"
นายอำเภอ "อำเภอเขาขาย"
พ่อเสริม "อำเภอขาย อำเภอก็ไปโอน บักใด๋ขาย บักนั้นโอน"
นายอำเภอ "ต้องไปโอนนะ"
พ่อเสริม "อย่ามาบังคับ ที่ดินบักกะนี่เฮ็ดกินมาแต่พ่อ พวกมึงบ่ได้ก่นบ่ได้สร้างนำกู จะมายึดของกูได้จังใด๋"
จากการต่อต้านการครอบงำของรัฐ 3 เรื่องที่กล่าวมานี้ ทำให้ทางการตัดสินใจจับพ่อใหญ่โสภากับพวก
**********
ประเด็นนี้นับว่าน่าสนใจมากสำหรับระบบภาษีอากร การเปรียบเทียบปรับ และการบังคับใช้กฎหมายในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญสยาม ช่วงรอยต่อการเปลี่ยนชื่อประเทศ คือ หลังจากราษฎรต้องเอือมระอากับการเก็บภาษีอากรหลังการเปลี่ยนผ่านจากระบอบศักดินา/จตุสดมภ์มาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตย ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วตามมาด้วยการลุกขึ้นแข็งข้อของชาวนาโดยเฉพาะชาวนาในภาคเหนือและภาคอิสาน ที่มีการผลิต ขนบ จารีต วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตคล้ายกันมากกว่าราษฎรในภาคอื่นๆ นั้นสะท้อนถึง "ช่องว่าง" ระหว่าง "ระบอบการปกครอง" กับ "ราษฎร (ประชาชน)" ในบริบทการเชื่อมโยงนโยบาย กฎหมาย และอื่นๆ ลงไปสู่ประชาชนระดับล่างจะเห็นว่า ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจถึง "หน้าที่" ของพลเมืองในระบอบการปกครองใหม่และระบบรัฐแบบใหม่แทบจะโดยสิ้นเชิง อีกทั้งวิธีการบังคับใช้กฎหมายที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความกังขาใน "มาตรฐาน" เช่นกรณี "ยึดทรัพย์มาขาย (ทอดตลาด)" เช่นในกรณีพ่อเสริมและพ่อสิงห์นี้.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 26 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน