รัฐชาติหลังการอภิวัฒน์สยาม
และกบฏหมอลำหลังเกิด "รัฐไทย"
และกบฏหมอลำหลังเกิด "รัฐไทย"
การแจกจ่ายประกาศคณะราษฎร
ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แก่ราษฎรสยาม
นับเป็นก้าวแรกของการปกครองใหม่ที่ในเวลานั้นเรียกว่า "ระบอบรัฐธรรมนูญสยาม"
เมื่อกล่าวถึงการลุกขึ้นสู้ของชาวนาหลังการอภิวัฒน์สยาม นอกเหนือจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเป็นหลักในการปกครองประเทศแล้ว บทบาทอย่างสำคัญของคณะราษฎรที่ตามมาคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบและความหมายของ "รัฐ" ขึ้นมาใหม่ ราษฎรหาได้เป็นเพียงผู้ถูกปกครองเช่นในอดีตอีกต่อไป การมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตของตนที่ในปัจจุบันเรียกว่า "ภาคพลเมือง" เพิ่งก่อรูปขึ้นและถูกนำเสนอในสังคมสยามอย่างท้าทายอำนาจเก่า ด้วยการเลือก "ผู้แทน" เข้าไปทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายและบริหารประเทศ ซึ่งหาใช่ "บริหารราชการแผ่นดิน" อีกต่อไป
การประกาศว่า "ราษฎร" จะไม่ยอมโง่อีกแล้ว ผนวกกับการตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมใน "รัฐไทย" ที่ไม่ใช่ "สยาม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศอุดมการณ์ "รัฐประชาชาติ (Nation state)" อย่างใหม่ จากที่เคยรวมศูนย์เบ็ดเสร็จอยู่สถาบันกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งผ่านพัฒนาการมาจากระบอบศัดินา/จตุสดมภ์ไม่ถึง 50 ปี มาอยู่ในมือของสามัญชน แม้ว่าอาจจะไม่ลงสู่ราษฎรทั่วไปอย่างแท้จริง แต่คำประกาศที่ส่งผลสะเทือนทั้งสองฝ่าย ที่ว่า "บ้านเมืองนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของพระมหากษัตริย์ตามที่กล่าวอ้าง" นั้น เท่ากับการสถาปนา "รัฐของประชาชน" หรือ "รัฐประชาชาติ" ขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมสยาม และที่กำลังจะเปลี่ยนเป็น "ไทย" ในปี พ.ศ. 2483 นี้เอง
และผู้ที่นำพาสิ่งนี้มาสู่สังคมสยามก็หาใช่ใครอื่น หากคือหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งกล่าวถึง "ชาติ (nation)" ว่า
ประกอบขึ้นโดยรวมหลายกลุ่ม, เผ่าพันธุ์, หลายกลุ่มชนชาติ เป็นเวลาช้านานจนกระทั่งเผ่าพันธุ์และชนชาติ ได้มีความความเคยชินและจิตสำนึกว่าเป็นสมาชิกแห่งชาติเดียวกัน ชาติดังกล่าวนั้นก็มีฐานะที่จะเป็นหรือเป็น "รัฐ" อันหนึ่งอันเดียวของชาตินั้นได้จากแนวนโยบายขอบเขตการสร้าง "รัฐไทย" เพื่อให้เกิดความแตกต่างจาก "รัฐสยาม" ในอดีต โดยมีเป้าหมายอยู่ที่สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของระบอบการปกครองและรูปแบบ "รัฐประชาชาติ" ดังกล่าวแล้วนั้น หากกระบวนการนำไปปฏิบัติยังคงเป็นเรื่องไม่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผ่าน "ข้าราชการ" บางส่วนเป็นตัวการขัดขวางพัฒนาการทางการเมืองการปกครองใน "ระบอบรัฐธรรมนูญสยาม" หรือ "ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ" โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากกระบวนการคิดหรือ "จิตสำนึก" ที่ติดมาจาก "รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ที่ขุนนาง อำมาตย์ เป็น "นาย" ประชาชน
นอกจากนั้น สำหรับท้องถิ่นห่างไกลในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคอิสาน ซึ่งโดยธรรมชาติของพื้นที่และสภาพลมฟ้าอากาศสร้างความยากลำบากให้แก่ราษฎรอยู่แล้วนั้น การส่ง "ขุนนาง/ข้าราชการ" จากส่วนกลาง ที่มองราษฎรอิสานว่าเป็น "ลาว" นั้น เท่ากับเป็นการทับถมความคับแค้นให้เพิ่มทวีขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และความคับแค้นชนิด "พายเรือในอ่าง" นี้เอง ที่เป็นที่มาของการลุกขึ้นสู้ของชาวนามาหลายยุคหลายสมัยของประวัติศาสตร์ไม่เฉพาะในประเทศไทย หลังจากการลุกขึ้น "เตรียมการต่อสู้ปลดแอกของชาวนาอิสาน" ครั้งแรกในยุคการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือ "กบฏหมอลำน้อยชาดา" ในปี พ.ศ. 2479 เว้นอีกเพียง 3 ปี ก็เกิดการก่อหวอดครั้งใหม่ ขนานนามกันว่า "กบฏผู้มีบุญโสภาแห่งบ้านสาวะถี" หรือ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา พลตรี แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" ในปี พ.ศ. 2483
ตามประวัติ หมอลำโสภา พลตรี เป็นหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอันมาก เป็นที่รักใคร่และชื่นชอบของประชาชนในพื้นที่ หมอลำโสภานับได้ว่าเป็นหมอลำที่มีความสามารถในศิลปะการแสดงหมอลำซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นฐานของราษฎรในดินแดนที่ราบสูงของสยาม และเลยไปจนข้ามฝั่งโขงไปถึงราชอาณาจักรลาว ต่อมาหมอลำอาสัยความเชี่ยวชาญของตนผสมผสานเข้ากับเนื้อหาทางการเมืองโดยสอดแทรกความไม่เป็นธรรมของรัฐชาติสยาม (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นไทยในปีเดียวกันนี้) ที่มีต่อราษฎรชนชาติลาวลงไปในกลอนลำด้วย จนกระทั่งทางราชการเห็นว่าการกระทำของหมอลำโสภา พลตรี นั้นเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ จึงได้จับหมอลำโสภา พลตรี และลูกศิษย์ไปขัง ศาลได้ตัดสินให้จำคุกหมอลำโสภา พลตรี และบริวารใกล้ชิดตลอดชีวิต แต่ลดโทษให้เหลือจำคุก 16 ปี
ต่อมาไม่นาน หมอลำโสภา พลตรี เสียชีวิตลงอย่างเป็นปริศนาในที่จองจำ
ขออนุญาตยกรายละเอียดบางส่วนของ "กบฏผู้มีบุญโสภา" จากบทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51 โดยเริ่มต้นวิเคราะห์ที่สาเหตุและพฤติการณ์ของกบฏ ไว้ดังนี้:
**********
ในช่วงทศวรรษ 2460-2480 รัฐได้พยายามครอบงำหัวเมืองเพิ่มอีกระดับหนึ่งซึ่งสำคัญมาก นั่นคือการครอบงำทางวัฒนธรรมโดยการตรา พรบ. ประถมศึกษา 2464 บังคับให้ราษฎรทุกคนที่อายุถึงเหณฑ์ต้องเรียนหนังสือไทย ฝ่ายรัฐมาองว่าการศึกษาจะทำให้คนไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่คนไทยบางส่วนในหัวเมืองเห็นว่าเป็นการครอบงำทางวัฒนธรรม พ่อใหญ่ โสภา พลตรี เป็นคนไทยบางส่วนที่ต่อต้านระบบการศึกษาของรัฐบาลกลาง เพราะ "ย่านเป็นคนไทย เขา (โสภา) อยากให้เป็นลาวเสมอเก่า อยากให้เฮียนที่วัดอย่างเก่า บ่อยากให้มีโฮงเฮียนประชาบาล" (บุญเลื่อน เพี้ยอาสา – ชาวบ้านสาวัถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะอายุ 73 ปี ใน พ.ศ. 2528) พ่อใหญ่โสภาได้บอกครูใหญ่โรงเรียนบ้านสาวะถี (ครูบุญเลิศ) ว่า "ลูกกูบ่ให้เข้าโฮงเฮียนภาษาไทย จะให้เฮียนภาษาธรรม เพราะภาษาไทย กินเด็ก แต่ภาษาธรรมเพื่อสั่งสอนคน" (อรุณ เชื้อสาวะถี – ชาวบ้านสาวัถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะอายุ 75 ปี ใน พ.ศ. 2528) พ่อใหญ่โสภายังได้กล่าวไม่พอใจกับครูใหญ่บุญเลิศอีกว่า "บักบุญเลิศมึงเห็นบ่ ทางการเขาสั่งปักอักษร ป ป ตัวนี้แปลว่าปล่อย มึงเป็นหยังเอาเด็กน้อยมากักขังไว้ เขาบอกให้ปล่อยแล้ว เฮียนตามเสรีมึงเข้าใจบ่ อยากเฮียนจึงเฮียน ใครบ่อยากเฮียนก็แล้วไป มึงเอาอำนาจมาแต่ไส" เรื่องนี้พ่อใหญ่โสภาเกือบชกปากกับครูบุญเลิศ พ่อพิมพ์ซึ่งเป็นครูและอยู่ในเหตุการณ์เป็นผู้เล่าเรื่องนี้ พ่อใหญ่โสภาทำตามที่เขาเชื่อ คือ ไม่ยอมส่งลูกเข้าโรงเรียนประชาบาล สานุศิษย์คนสำคัญของท่านคือ พ่อเสริม ก็ไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน พ่อโสภาเป็นคนสอนลูกของท่านกับลูกของพ่อเสริม โดยใช้อักษรตัวธรรมไม่ได้ใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาเขียน (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ – ชาวบ้านสาวัถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะอายุ 80 ปี ใน พ.ศ. 2528)
**********
"อักษรธรรมล้านนา" หรือ "ตัวเมือง" พัฒนามาจากอักษรมอญโบราณ เช่นเดียวกับอักษรพม่า อักษรชนิดนี้ใช้ในอาณาจักรล้านนาเมื่อราว พ.ศ. 1802 จนกระทั่งถูกพม่ายึดครองใน พ.ศ. 2101 ปัจจุบันใช้ในงานทางศาสนา พบได้ทั่วไปในวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย (ส่วนที่เป็นเขตอาณาจักรล้านนาเดิมและเขตที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมล้านนาบางแห่ง) นอกจากนี้ยังแพร่หลายถึงไปถึงเขตรัฐไทยใหญ่แถบเมืองเชียงตุง ซึ่งอักษรที่ใช้ในแถบนั้นจะเรียกชื่อว่า "อักษรไตเขิน" มีลักษณะที่เรียบง่ายกว่าตัวเมืองที่ใช้ในแถบล้านนาอนึ่ง อักษรธรรมล้านนายังได้แพร่หลายเข้าไปยังอาณาจักรล้านช้างเดิมผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตและทางศาสนาระหว่างล้านนากับล้านช้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ร่วมสมัยกับพระเจ้าโพธิสารราชและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง เป็นต้นเค้าของการวิวัฒนาการของแบบอักษรที่เรียกว่าอักษรธรรมลาว (หรือที่เรียกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยว่า "อักษรธรรมอีสาน") ในเวลาต่อมา (ขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/อักษรธรรมล้านนา)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 19-25 ตุลาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน