Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (61)

ผู้มีบุญ "หมอลำน้อยชาดา"
กบฏชาวนาแรกหลังการอภิวัฒน์

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้าอันเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยสยามที่นำมาสู่สังคมไทยในการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 แต่ราษฎรยังคงมุ่งหา "สังคมพระศรีอาริย์"

ดังได้กล่าวมาแล้วจากช่วงต้นของบทความ "กบฏชาวนา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า "กบฏผู้มีบุญอีสาน" ซึ่งเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐไทย นั้น มีจุดมุ่งหมายคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน จะโดยการล้มล้างสังคมเก่าที่สร้างความ "ทุกข์ยากปากหมอง" ให้แก่ราษฎรอีสานซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอยู่ตาม "หัวไร่ปลายนา" ทั่วทุกหัวระแหงตลอดภูมิภาคอันกว้างใหญ่ไพศาลของรัฐไทย นับจากการก่อรูปรัฐศักดินา/จตุสะดมภ์ไทยในช่วงต้นของ "อำนาจรัฐรัตนโกสินทร์" กระทั่งการเปลี่ยนผ่านอย่าง "สันติ" จากบนลงล่างจนสามารถสถาปนา "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตย" ขึ้นสำเร็จโดยพื้นฐานช่วงกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์

แม้จนเกิดการอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชิปไตย มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ/ประชาธิปไตย แนวความคิดที่ถูกนำมาชักจูงให้ราษฎรเข้าร่วมกับแข็งข้อขึ้นต่ออำนาจการปกครอง ก็ยังใช้ "อุดมการณ์พระศรีอาริย์" ซึ่งมีปรากฏในวรรณกรรมทางศาสนาที่ถูกบิดเบือนจากหลักธรรมที่แท้จริงของพุทธศาสนา หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของนิกายเถรวาทแบบสุวรรณภูมิ โดยมีการอ้งถึงคำพยากรณ์ของ พระศรีอาริยเมตไตรย์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 และองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้ พุทธศาสนิกชนเชื่อว่าเมื่อศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าสิ้นสุดไปแล้ว โลกจะล่วงเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย อายุขัยของมนุษย์ลดลงจนเหลือ 10 ปี ก็เข้าสู่ยุคมิคสัญญีหรือกลียุค

จากนั้นผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาจะรวมตัวกันการปฏิบัติตนตามหลักธรรมเพื่อให้ให้รอดพ้นจากกลียุค จากนั้นอายุขัยเพิ่มขึ้นถึง 1 อสงไขยปี แล้วจึงลดลงอีกจนเหลือ 80,000 ปี ในยุคนี้จะมีพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีครบ 80 อสงไขยแสนมหากัป ลงมาตรัสรู้เป็น "พระเมตไตรยพุทธเจ้า" มาเผยแผ่พระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาอีกครั้ง เมื่อผู้คนเลื่อมใสกันมากเข้า น้อมนำสังคมไปสู่ "ยุคพระศรีอาริย์" ในลักษณะเดียวกับความเชื่อทางตะวันตกที่จะเกิดสังคมที่เรียกว่า "ยูโทเปีย (Utopia)" อันเป็นยุคแห่งอุดมคติ มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ในทุกด้านตลอดพรรษายุกาลของศาสนาพระศรีอารย์ โดยมนุษย์กับธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและสัตว์เดรัจฉานจะสามารถอยู่ร่มกันอย่างปรองดอง ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีความยุติธรรม ความเสมอภาค ทั้งร่างกาย สติปัญญาและฐานะ

ดังนั้นเอง ราษฎรก็ดีหรือผู้พอมีความรู้ผ่านการบวชเรียนก็ดี หรือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือกึ่งเจ้าหน้าที่เช่นกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้แต่ที่พอได้รับการศึกษจนอ่านออกเขียนได้มากกว่าราษฎรทั่วไป เมื่อสบช่อง ก็จะประกาศตนเป็น "ผู้มีบุญ" จึงมักจะนำความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์มาเป็นอุดมการณ์ในการแข็งข้อก่อกบฏ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราษฎรหัวไร่ปลายนาภาคอีสานหรือภาคอื่นๆ ก็ตามต้องเผชิญกับสภาพความแร้นแค้นในการทำมาหากินดำรงชีพในสภาพสภาพแวดล้อมที่กันดารแห้งแล้งในบางฤดูกาล มิหนำซ้ำยังถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งถูกกดขี่บีบคั้นจากข้าราชการท้องถิ่น

เพื่อจะบรรลุการแข็งข้อก่อกบฏ ลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังจัดตั้งชของมวลชน ย่อมเกิดการก่อหวอดปลุกระดมโดยผู้ที่ตั้งตนเป็น "แกนนำ" ในลักษณะ "ผู้มีบุญ" ทุกครั้งจะมีจุดประสงค์เพื่อต้องการแยกตัวจากอำนาจการปกครองในเวลานั้น แล้วสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นใหม่ที่เป็นอิสระ โดยชักจูง โน้มนำ ให้มวลชนของตน หรือราษฎรในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่นไปว่า จะสามารถนพาพวกตนไปสู่วิถีชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบันหรืออย่างน้อยก็มีความสงบร่มเย็น ก่นร้างถางไร่นา มีชีวิตที่สุขสบายดั่งเช่นในอดีตชนิด "สมัยบ้านเมืองยังดีอยู่"

ขนาดของการจัดตั้งมวลชนจะขึ้นอยู่กับความเชื่อถือศรัทธาของราษฎรที่มีต่อ "ผู้นำ" หรือ "แกนนำ" หากมวลชนที่จัดตั้งกันหลวม ๆ นี้ส่วนใหญ่ จะมีขนาดไม่ใหญ่ มีกำลังไม่มากนัก ไม่มีการเคลื่อนไหวที่เน้นความรุนแรง แต่ละกลุ่มจะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน น้อยครั้งที่จะใช้กำลังต่อต้านรัฐ หรือลุกลามบานปลายจนถึงขนาดเข้าปล้นชิงเมืองและฆ่าเจ้าหน้าที่ของรัฐดังมีให้เห็นในกบฏชาวนาทางภาคเหนือและภาคอีสาน โดยที่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในผู้นำหรือผู้มีบุญ และอุดมการณ์พระศรีอารย์ดังได้กล่าวแล้ว ต่างก็จะทำตามการชี้นำผ่านสื่อเช่นคำทำนายในใบลาน ที่เรียกกันว่า "ผญา" (ซึ่งหมายถึง ปัญญา, ปรัชญา, ความฉลาด, คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง หรือเรียกกันอีกอย่างว่า "คำผญา" หรือ "ผะหยา") เป็นบทกวีพื้นเมืองอย่างหนึ่ง โดยทั่วไปแสดงถึงภูมิปัญญาโบราณ เป็นคติสอนใจ หรือบอกทางดำเนินชีวิตแก่อนุชน ให้ยึดหลักจารีตประเพณี

สำหรับการก่อหวอดของชาวนาอีสานที่บันทึกไว้ว่าเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือครั้งที่เรียกว่า "กบฏหมอลำน้อยชาดา" เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2479 ก่อหวอดขึ้นที่บ้านเชียงเหียน (ปัจจุบันอยู่ตำบลเขวา อำเภอเมือง มหาสารคาม) เริ่มต้นขึ้นเมื่อ หมอลำคนหนึ่ง (ซึ่งโดยทั่วไปต้องมีการศึกษาพอสมควรเกินกว่าอ่านออกเขียนได้ธรรมดา) ชื่อ คำสา สุมังกะเศษ เป็นคนร่างเล็ก คนทั่วไปพากันเรียกว่า “หมอลำน้อย” ประกาศว่าตนเป็นผู้มีบุญชื่อ พระชาดา เมื่อครั้งกบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 กลับชาติมาเกิด ทำให้ราษฎรในท้องถิ่นเรียกกันในอีกชื่อว่า "หมอลำชาดา" หรือ "หมอลำน้อยชาดา"

แนวคิดที่หมอลำน้อยชาดานำมาชี้นำราษฎรผ่าน "กลอนลำ" ในลักษณะสั่งสอนด้วย "คำทวย" (คำทำนาย) ไปตามหมู่บ้าน ในหลายตำบลตำบล ก็คือ "ให้คนถือศีล ไม่เบียดเบียนกัน ให้สามัคคีกัน ให้นุ่งขาวห่มขาว และสวมเกือกขาวด้วย เพื่อความบริสุทธิ์" นอกจากคำสอนแล้ว หมอลำน้อยชาดายังจัดทำให้มีพิธีสู่ขวัญ และฟ้อนรำทำเพลงในเวลาที่เข้าทรง ต่อจากนั้นก็จะมีการแห่แหนกันไปตามบ้านต่างๆเป็นเวลาหลายคืนติดต่อกัน นอกจากคำทวย (คำทำนาย) ประกอบการ "ลำพื้นเวียง" หรือ "ฟื้นเวียงจันทน์" แล้วยังมี "คำสู่ขวัญ" ของผีบุญด้วย

ในบทความ "โคงกระดูกในตู้(อีกโครงหนึ่ง)" ขียนโดย ทองแถม นาถจำนง ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ (http://www.siamrath.co.th/web/?q=โคงกระดูกในตู้อีกโครงหนึ่ง) เขียนว่า 
"ใจความลำของนายชาดานี้ มีข้อความเป็นเชิงยุยงให้ราษฎรกระด้างกระเดื่อง เป็นต้นว่าไม่ควรเสียภาษีอากร เป็นต้น และไม่ให้ส่งเด็กเข้าโรงเรียน เพราะเสียเวลาทำมาหากิน และไม่ให้กราบไหว้พระสงฆ์เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่พระ เพียงแต่นุ่งห่มเหลืองเฉย ๆ ตัวหมอลำชาดาเองและหม่อมราชวงศ์สนิท จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ตัวนายชาดาจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ หม่อมราชวงศ์สนิทจะเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นที่เมืองนครราชสีมา และว่าต่อไปจะเกิดรบพุ่งกันระหว่างไทยภาคตะวันออกกับภาคกลางโดยนายชาดาจะ เป็นผู้ใช้อำนาจสิทธิขาด ทั้งราษฎรจะได้ลดค่ารัชชูปการลงเหลือ 2 บาท ฯลฯ"
ส่วนในบทความ "อุดมการณ์ขบถผู้มีบุญอีสาน" เขียนโดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ประนุช ทรัพยสาร ในหนังสือ ความเชื่อพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในสังคมไทย จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2527. หน้า 232 เขียนว่า 
"เขาทำนายว่าต่อไปผู้คนจะเดือดร้อน จะเกิดไฟไหม้ แผ่นดินไหว คนจะตายนอกจากคนถือธรรม หลังจากนั้นอีก 2-3 ปี พระศรีอาริย์จะลงมา ถึงตอนนั้นคนจะสมบูรณ์พูสุข มีต้นกัลปพฤกษ์เกิดขึ้นจะขอสิ่งใดก็ได้ เวียงจันทน์จะกลับรุ่งเรืองอีกครั้ง หมอลำน้อยชุมนุมชาวบ้านอยู่ 2-3 เดือน ก็ถูกตำรวจจับ ศาลจำคุกหมอลำน้อย 4 ปี ต่อมาพรรคพวกของหมอลำน้อยชาดาได้จัดชุมนุมคนและเผยแพร่ศาสนาต่อ และมีทีท่าจะชิงตัวหมอลำน้อยออกจากเรือนจำ จึงถูกตำรวจจับไป 2 คน ถูกจำคุกคนละ 6 เดือน"
ทั้งนี้ รายละเอียดอื่นใดเท่าที่สอบค้นในเวลานี้ไม่มีนอกเหนือไปจากนั้น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 ตุลาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8