Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (77)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (10)

จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าพบประธานาธิบดีดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ กับเจ้าหน้ที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ ที่เห็นยืนข้างหลังจอมพล ป. คือ ริชาร์ด นิกสัน

บทความ ตำนาน "กบฏดุซงญอ" แด่.....อนุชนรุ่นหลัง จากเว็บไซต์ http://www.dusongyo.com/ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์กบฏดุซงญอ (อ้างอิง : ธนวัฒน์ แซ่อุ่น 2547 บ้านดุซงญอกบฏต้นแบบพลีชีพ 107 ศพ. 5 พฤษภาคม 2547 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน) เขียนถึงพัฒนาการของเหตุการณ์ครั้งนั้น โดยสรุปไว้ตอนท้ายด้วยการตั้งคำถามว่า เรื่องราวเงียบหายไปนาน จนกลายเป็นอดีตที่ยังไม่ได้ชำระว่า ข้อเท็จจริง "ที่แท้" นั้นคืออะไร:

ระยะเวลา 5-6 เดือนต่อมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง 10-20 นาย จากอำเภอระแงะ เข้ามาตรวจดูความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน พบชาวบ้านรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความหวาดระแวง และเข้ามาในพื้นที่บ่อยครั้งขึ้น ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ ด้วยเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่มาเพื่อขัดขวางพิธีกรรม กลุ่มชาวบ้านซึ่งมีจำนวนมากกว่า และถือว่าอยู่ยงคงกระพัน จึงรวมตัวกันขับไล่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองออกไปจากหมู่บ้าน ช่วงแรกๆเจ้าหน้าที่ได้แต่หนีเพราะมีกำลังน้อยกว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้บ่อยครั้ง จนเจ้าหน้าที่ทนไม่ได้

ท้ายสุด เจ้าหน้าที่ยกกำลังพล 100 นาย จากหน่วยจังหวัดพัทลุง สุราษฏร์ธานี และสงขลา มาสมทบด้วย กลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันได้ประมาณ 300-400 คน ใช้มีพร้า มีด ดาบ และสิ่งที่หามาได้เป็นอาวุธขับไล่อีก จนเป็นมูลเหตุให้เกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ และยึดเยื้อมาเป็นเวลา 3 วัน

วันแรกและวันที่สอง ปะทะกันนาน 3-4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ ถอยร่นจากหัวสะพานดุซงญอมาจนถึงเนินดิน ยุคนั้นเนินดินแห่งนี้เป็นที่รกร้าง ไม่มีชื่อ แต่หลังเกิดเหตุปะทะกันวันนั้น แล้วถูกเรียกขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ว่า (บูกิตสะดาดู) ปัจจุบันอยู่ที่บ้านกำปงบารู ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส แต่ไม่มีฝ่ายใดเสียชีวิตมีเพียงบาดเจ็บ

วันที่สาม เป็นวันแตกหัก ฝ่ายเจ้าหน้าที่และกลุ่มชาวบ้านยกกำลังเพิ่มมากขึ้น เปิดฉากต่อสู้กันแบบตะลุมบอน ตัวเลขในบันทึกเป็นทางการ และตำราบางเล่มระบุว่าชาวบ้านตาย 400 คน แต่ผู้เฒ่ายืนยันว่าชาวบ้านตายเพียง 17 คน บาดเจ็บประมาณ 30 คน ส่วนตำรวยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางการส่งเครื่องบินมาบินวนเวียนเหนือน่านฟ้า ชาวบ้านกลัวลูกระเบิด จึงพากันหลบหนีเข้าป่า การสู้รบจึงยุติลง

หลังจากการสู้รบยุติลง ชาวบ้านนำศพผู้เสียชีวิตทั้งหมดไปฝังรวมกันในหลุมเดียวกันในที่ดินว่างเปล่า ข้างมัสยิดดุซงญอ จะมีหญ้าปกคลุมสีแดงเข้มในบริเวณนั้น ปัจจุบันนี้กลายเป็นสุสานอย่างถาวร ประจำหมู่บ้านดุซงญอ ส่วนศพเจ้าหน้าที่มีการฌาปนากิจที่บูกิตสะดาดู และนำกระดูกมาบรรจุเป็นอนุสรณ์สถานรูปกระสุนปืน ที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) บริเวณสี่แยกไฟแดงสนามกีฬากรมหลวงราชนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

หลังการสู้รบยุติลง โต๊ะเปรัค และบุคคลแกนนำประมาณ 10 คน หนีข้ามฟากไปกบดานในประเทศมาเลเซีย ส่วนลูกศิษย์ลูกหาต่างหลบหนีเข้าป่า เพราะทางการตั้งข้อหาเป็นกบฏ หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ทางการรัฐบาล ได้ออกกฎหมายอภัยให้ผู้ก่อเหตุทั้งหมด แม้ว่าผู้ร่วมก่อการได้รับการอภัยโทษ และไม่มีใครถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีเลย แต่ก็ยังพูดถึงในฐานะ "กบฏดุซงญอ" เรื่องราวเงียบหายไปนาน จนกลายเป็นอดีตที่ยังไม่ได้ชำระว่า ข้อเท็จจริง "ที่แท้" นั้นคืออะไร เพราะผู้นำชุมชนว่าไปอีกอย่าง เจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่าไปอีกอย่าง จากตำนานที่เล่ามานี้คงจะคลี่คลายไปด้วยดี หวังว่าอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ "กบฏดุซงญอ" รู้จักการวิเคราะห์ เพื่อสร้างสรรค์สังคมต่อไป

ปัจจุบันหมู่บ้านดุซงญอยกฐานะเป็นตำบลเล็กๆประกอบด้วยหมู่บ้านต่างๆ 8 หมู่บ้าน บริหารโดยองค์การบริหารส่วนตำบลดุซงญอ ความเจริญเข้ามาแทนที่วิถีชีวิตดั้งเดิม บ้านไม้ในใจกลางหมู่บ้าน กลายเป็นตึกแถว ถนนลาดยาง มีโรงพยาบาลส่งเสิรมสุขภาพ มีชุมสายโทรศัพท์ของรัฐ และเอกชน โทรศัพท์สาธารณะ  มีอินเทอร์เน็ตสาธารณะใช้ในการท่องในโลกกว้าง มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง ทว่าวิธีชีวิตในชุมชนยังคงเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ยังคงมีอยู่จวบจนถึงปัจจุบันนี้ (2554)
**********
นอกจากนั้นในเว็บไซต์เดียวกัน ยังมีบทความอีกเรื่องหนึ่งในหัวข้อ "ทำไม?เรียกกบฏดุซงญอ" เรื่อง "ชาวบ้านกับเจ้าหน้ารัฐในเหตุการณ์ดุซงญอ"โดยอ้างอิงจาก: ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู อารีฟีน บินจิ,  อ.ลออแมน, ซูฮัยมีย์ อิสมาแอล หน้า 282-290 ดังนี้:

ชาวบ้านกับเจ้าหน้ารัฐในเหตุการณ์ดุซงญอ
1.โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาเป็นต้นเหตุ


จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2491 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบไปด้วย รัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาของสี่จังหวัดภาคใต้ โดยได้ออกนโยบายโดยเฉพาะดังนี้
1.รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเรียกว่ากรรมการพิจารณาปรับปรุงปกครอง 4 จังหวัดภาคใต้
2.รัฐบาลจะพยายามจัดรูปการปกครองให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีของ "ชาวไทยอิสลาม" เท่าที่จะสามารถจะทำได้และกำลังจัดตั้งจุฬาราชมนตรีเพื่อประสานงานกับฝ่ายปกครอง
3.รัฐบาลจะจัดการปรับปรุงระเบียบการศึกษาใน 4 จังหวัดภาคใต้ โดยจะให้มีการสอน ภาษามลายูในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนรัฐบาล
4.รัฐบาลจะได้พยายามอุดหนุนส่งเสริมกิจการทางศาสนาอิสลาม โดยจะจัดตั้งงบประมาณช่วยเหลือในการสร้าง 'สุเหร่าประจำจังหวัด'
หลังจากประกาศนโยบายได้เพียง 17 วันโดยยังไม่ทันได้ปฏิบัติตามนโยบายข้างต้น ก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างตำรวจกับชาวมลายูมุสลิมที่จังหวัดนราธิวาสเสียก่อน

หะยี อับดุลเราะห์มาน หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม 'โต๊ะเปรัค' (นายอารง บาโด อดีตกำนันบอกว่า โต๊ะแปเราะ ชื่อ นายหะยีอิดรุส เพราะท่านเกิดที่รัฐเปรัค และเดินทางมาอยู่ที่บ้านดุซงญอ มาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฎ ท่านมาเป็นครูสอนศาสนาอยู่ที่นั่นจนเป็นที่นับถือของชาวบ้านทั่วไป)

วันที่ 15 สิงหาคม 2488 พระมหาจักรพรรคญี่ปุ่นได้ยอมยุติสงครามมหาเอเชียบูรพากับชาติพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ อังกฤษก็เข้ามาปกครองแหลมมลายูเช่นเดิม ในขณะเดียวกันชาวจีนในแหลมมลายูซึ่งได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา (Communist Party of Malaya) ซึ่งได้ร่วมรบกับอังกฤษต่อต้านญี่ปุ่นตลอดระยะเวลาสงคราม เมื่อสงครามยุติอังกฤษประสงค์จะให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมอบอาวุธให้แก่อังกฤษ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ยินยอมวางอาวุธ อังกฤษจึงได้ปราบปรามอย่างรุนแรง ด้วยการปิดล้อมหมู่บ้านที่เป็นแหล่งพักพิงและเสบียงอาหาร ทำให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเดินทางขึ้นทิศเหนือเข้ามายังเขตแดนติดต่อกับประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส ยะลา และสงขลา เพื่อหนีการปราบปรามของอังกฤษ  
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 กุมภาพันธ์ 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8