Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (67)

คลื่นใต้น้ำในรัฐบาลชวน 1

ยุทธการเก้าอี้ดนตรีกับเกมอำนาจ


ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 นั้น เกิดวาทกรรมทางการเมืองที่มีลักษณะแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ต่างจากในอดีตที่ผ่านมาที่มักจะบ่งชี้ว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนการเลือกตั้งมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่การปกครองโดยคณะรัฐประหารหรือดอกผลของการรัฐประหารจะเป็นฝ่ายเผด็จการ เป้าหมายสำคัญคือการโจมตีพรรคการเมือง หลายพรรคที่ร่วมสนับสนุน พล.อ.สุจินดา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีว่า เป็น "พรรคมาร" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา ทั้งนี้เนื่องจาก ส.ส. หลายคนของพรรคชาติพัฒนามาจากอดีต ส.ส.ของพรรคชาติไทย ทำให้ความชอบธรรม 3 พรรคในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีน้อย

ทั้งเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกเข้าสภาในฐานะพรรคเสียงข้างมาก จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ มีความชอบธรรมในการจัดรัฐบาล ขณะเดียวกันการที่นายมารุต บุนนาค ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับฉันทานุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรโอกาสในการเป็นแกนนำในการจัดตั้ง รัฐบาลจึงมากกว่าพรรคอื่น

หลังจากจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศแล้ว ผลงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคประชาธิปไตย เน้นที่ความพยายามส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยประกาศนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน โดยตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค รูปธรรมของนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวเริ่มที่จำกัดบทบาทของภาครัฐ หันไปให้สัมปทานแก่ภาคเอกชน ในกิจการสาธารณูปโภค โดยรัฐบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่าสัมปทานล่วงหน้า เช่น กิจการโทรคมนาคม และระบบการเดินทางขนส่งที่มีการเร่งขยายทางด่วนจำนวนมาก

การเพิ่มบทบาทของเอกชนในฐานะผู้รับสัมปทาน มีผลต่อการให้สินเชื่อการลงทุนสูงตามไปด้วย แต่ในเวลานั้นยังไม่มีกรอบการดำเนินการในวินัยทางการเงิน ทำให้มีกลุ่มผู้ประกอบการเดินทุนทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินรูปแบบอื่นพันกันเก็งกำไรจากอัตราส่วนทางของดอกเบี้ยเงินกู้จากแหล่งเงินทุนนอกประเทศ นำไปสู่การเพิ่มยอดหนี้เงินกู้ต่างประเทศของไทยอย่างรวดเร็ว

ในปี 2537 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่งสัญญาณเตือนมายังประเทศไทยให้ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และได้เตือนซ้ำอีกในปี 2538 แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ทั้งนี้ในเวลานั้นอัตราการขยายตัวของไทย ยังคงอยู่ในระดับสูง คือประมาณ 8 ถึง 9% ของ GDP แต่ช่วงนี้ก็มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบรุนแรงเช่นกัน (-5 ถึง -5.5 % ของ GDP ) ส่วนหนี้ต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก (ปี 2538 ไทยมีหนี้ต่างประเทศ 82,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ หนึ่งเท่าตัวในช่วงเวลา 3 ปีของรัฐบาล)

สำหรับในทางการเมือง หลังจากรัฐบาลผสมนำโดยนายชวน หลีกภัย บริหารประเทศมาได้ 1 ปี นายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม มีการเจรจากับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน พร้อมด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ หัวหน้าพรรคราษฎร ตกลงที่จะรวมเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว ในลักษณะจะยุบทุกพรรคมารวมเข้ากับพรรคกิจสังคม ซึ่งขณะนั้นยังมีสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ ซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าพรรคกิจสังคมอาจจะเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในการร่วมเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

ขณะเดียวกันก็ส่อนัยว่าพรรคกิจสังคม ก็พร้อมที่จะดำเนินการทางการเมืองที่เป็นเอกเทศหรือสร้างบทบาทชี้นำในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือนัยที่ลึกซึ่งไปกว่านั้น ในที่สุดก็มาถึงจุดแตกหักที่พรรคกิจสังคมถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคการเมืองที่เข้ามาเสียบแทนคือพรรคเสรีธรรม ซึ่งมี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค

ทว่าเอาเข้าจริงหลังจากพรรคกิจสังคมถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว มีเพียงพรรคมวลชนพรรคเดียวเท่านั้น ที่ยุบพรรคมาร่วมกับพรรคกิจสังคม โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชนได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคกิจสังคม

ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2537 พรรคความหวังใหม่ก็ประกาศถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากความเห็นต่างในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครอง แต่ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านคือพรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา กิจสังคม ประชากรไทย ประชุมทำสัตยาบันร่วมกันว่าจะไม่ยอมเข้าร่วมกับรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ดังนั้นเมื่อพรรคความหวังใหม่ถอนตัวออกจากรัฐบาลผสม ย่อมทำให้รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เท่ากับนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีต้องลาออกและประกาศยุบสภา

แต่ปรากฏว่าเกิดการ "ละเมิดสัตยาบัน" ขึ้น เมื่อพรรคชาติพัฒนาได้นำส.ส.เข้ามาร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาเกินครึ่งโดยอ้างเหตุผลว่า ถึงไม่ทำอย่างนั้นพรรคฝ่ายค้านส่วนใหญ่อีกพรรคหนึ่งคือพรรคชาติไทยก็พร้อมจะเสียบเข้าร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว

นายอาคม เอ่งฉ้วน โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น กล่าวว่าที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกเอาพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล เพราะพรรคชาติไทยมีเงื่อนไขว่า หากต้องการฐานเสียงสนับสนุนจากพรรคชาติไทยโดยการเข้าร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีทั้งคณะจะต้องลาออกก่อน ยกเว้นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แล้วมาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกันใหม่ ในขณะที่พรรคชาติพัฒนาไม่มีเงื่อนไขใดๆ

สำหรับตัวแปรสำคัญ ซึ่งมีบุคลากรทรงอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวลาต่อมา คือพรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่งที่มีปัญหามาก ผ่านการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลไปได้ 2 ปี พรรคก็มีมติเอารัฐมนตรีซึ่งเป็น ส.ส. ของพรรคทุกคนออกจากตำแหน่ง และลงมติให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง รัฐมนตรีสำคัญที่ถูกเปลี่ยนตัวก็คือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และพ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อการเมืองไทยสืบเนื่องอีก 1 ทศวรรษ หรืออาจจะกว่านั้น คือพรรคพลังธรรมได้เลือก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวิชิต สุรพงษ์ชัย มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ทั้งคู่ไม่ใช่ ส.ส. และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ทำให้ ส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่งเรียกตัวเองว่า “กลุ่ม 23” คัดค้านมติและโจมตีมติพรรค ส่วนหนึ่งมุ่งเป้าไปที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคด้วย บางคนยังเปิดเผยว่าจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 26 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (66)

สองนายกรัฐมนตรีช่วงวิกฤต

จากแต่งตั้งสู่เลือกตั้งก่อนปฏิรูป


หลังจากที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 ส่งผลให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้าทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 48 ของรัฐบาลพล.อ.สุจินดา จึงพ้นจากวาระโดยเด็ดขาด

สถานการณ์ทางการเมืองการปกครองที่ตามมาคือ 5 พรรคการเมืองเสียงข้างมากร่วมรัฐบาล ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมอีกครั้งหนึ่ง โดยการเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ อดีตผู้อำนวยการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หัวหน้าพรรคชาติไทยสืบต่อจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ลาออกหลังรัฐประหาร รสช. เพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กลับตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีรักษาการช่วงต้นระหว่างการยึดอำนาจโดย รสช. ขึ้นทูลเกล้าฯ ในลักษณะ "พลิกโผกลางอากาศ" ที่ว่ากันว่าเป็นการตัดสินใจในวินาทีสุดท้าย

เหตุการณ์ครั้งนั้น สื่อจำนวนหนึ่งถึงกับสร้างวาทกรรมจนเป็นที่ฮือฮาว่า พล.อ.อ.สมบุญ "แต่งชุดขาวรอเก้อ"

สำหรับการก้าวเข้าสู้เส้นทางการเมืองของนายอานันท์ ปันยารชุน นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ถือเป็นคนที่ 19 ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2534 ถึง 22 มีนาคม 2535 ภายหลังการรัฐประหาร รสช. พ.ศ. 2534 จากการเสนอชื่อโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรัฐประหาร ศิษย์เก่าร่วมโรงเรียนอำนวยศิลป์ ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ในสายงานทางการทูตร่วมกัน เมื่อ พ.ศ. 2514 ขณะพันโทสุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี และนายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอานันท์ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการเงินการคลัง เช่น นายนุกูล ประจวบเหมาะ นายเสนาะ อูนากูล นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ขณะที่นายอานันท์เองได้รับฉายาว่า "ผู้ดีรัตนโกสินทร์"

นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2475 เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 12 คนของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และ คุณหญิงปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร) นายอานันท์สมรสกับหม่อมราชวงศ์สดศรีสุริยา จักรพันธุ์ ธิดาหม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ (พลโท หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ ทรงเป็นโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ กับ หม่อมหวน จักรพันธุ์ ณ อยุธยา) มีธิดา 2 คนคือ นางนันดา ไกรฤกษ์ (สมรสกับ ไกรทิพย์ ไกรฤกษ์) และนางดารณี เจริญรัชตภาคย์ (สมรสกับ ชัชวิน เจริญรัชตภาคย์)

ในปี 2519 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ก่อนจะถูกสั่งพักราชการในปี พ.ศ. 2520 ด้วยข้อหาพัวพันและฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ และถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อนจะลาออกจากราชการในปี 2522 หันมาทำงานด้านธุรกิจกับกลุ่มจนกระทั่งเป็นประธานกรรมกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยนฯ เมื่อปี 2534 และดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก

มีข้อพึงสังเกตในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งหลังในลักษณะฝ่าวิกฤตผ่าทางตัน หลังการนองเลือดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในเวลาต่อมา คือก่อนหน้านี้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 มีการประชุมรัฐสภาเป็นการเร่งด่วน ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้เสนอญัตติแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ในอยู่ 4 ประเด็นด้วยกันคือ

  1. ประสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
  2. ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมที่ 2 สามารถพิจารณาญัตติต่างๆ ได้นอกเหนือจากการพิจารณาพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ
  3. อำนาจวุฒิสภามีเพียงยับยั้งหรือกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ
  4. นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยภาพรวมรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ครั้งที่ 2 นี้ มิได้มีบทบาทอะไรมากนัก ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง ก็เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชน ดังนั้นเมื่อการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเป็นเอกภาพ โดยเหตุที่ทุกพรรคการเมืองต้องการให้จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด จึงสามารถผ่านวาระการอภิปรายไปสู่การลงมติ กระทั่งมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 29 มิถุนายน 2535 เพื่อเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายนนั้นเอง

ผลการเลือกตั้งการเลือกตั้งวันที่ 13 กันยายน 2535 พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดและรองลงมารวม 3 พรรค มีดังนี้ พรรคประชาธิปัตย์ 79 คน พรรคชาติไทย 77 คน พรรคชาติพัฒนา 60 คน ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล

ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นรัฐบาลชุดที่ 50 เริ่มบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2535

นายชวน หลีกภัยได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยการเป็นทนายความ และต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2534 นายชวนเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมาหลายกระทรวงและตำแหน่งสำคัญๆทางการเมืองมาแล้วหลายตำแหน่ง เริ่มตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน

สำหรับตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ ในปี 2533 นายชวนดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัน ซึ่งพ้นสภาพไปภายหลังการรัฐประหาร รสช. นั่นเอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19 - 25 มิถุนายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8