คลื่นใต้น้ำในรัฐบาลชวน 1
ยุทธการเก้าอี้ดนตรีกับเกมอำนาจ
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 นั้น เกิดวาทกรรมทางการเมืองที่มีลักษณะแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก ต่างจากในอดีตที่ผ่านมาที่มักจะบ่งชี้ว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนการเลือกตั้งมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่การปกครองโดยคณะรัฐประหารหรือดอกผลของการรัฐประหารจะเป็นฝ่ายเผด็จการ เป้าหมายสำคัญคือการโจมตีพรรคการเมือง หลายพรรคที่ร่วมสนับสนุน พล.อ.สุจินดา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีว่า เป็น "พรรคมาร" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย และพรรคชาติพัฒนา ทั้งนี้เนื่องจาก ส.ส. หลายคนของพรรคชาติพัฒนามาจากอดีต ส.ส.ของพรรคชาติไทย ทำให้ความชอบธรรม 3 พรรคในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีน้อย
ทั้งเมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกเข้าสภาในฐานะพรรคเสียงข้างมาก จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ มีความชอบธรรมในการจัดรัฐบาล ขณะเดียวกันการที่นายมารุต บุนนาค ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับฉันทานุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรโอกาสในการเป็นแกนนำในการจัดตั้ง รัฐบาลจึงมากกว่าพรรคอื่น
หลังจากจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศแล้ว ผลงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคประชาธิปไตย เน้นที่ความพยายามส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยประกาศนโยบายเปิดเสรีทางการเงิน โดยตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค รูปธรรมของนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวเริ่มที่จำกัดบทบาทของภาครัฐ หันไปให้สัมปทานแก่ภาคเอกชน ในกิจการสาธารณูปโภค โดยรัฐบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่าสัมปทานล่วงหน้า เช่น กิจการโทรคมนาคม และระบบการเดินทางขนส่งที่มีการเร่งขยายทางด่วนจำนวนมาก
การเพิ่มบทบาทของเอกชนในฐานะผู้รับสัมปทาน มีผลต่อการให้สินเชื่อการลงทุนสูงตามไปด้วย แต่ในเวลานั้นยังไม่มีกรอบการดำเนินการในวินัยทางการเงิน ทำให้มีกลุ่มผู้ประกอบการเดินทุนทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินรูปแบบอื่นพันกันเก็งกำไรจากอัตราส่วนทางของดอกเบี้ยเงินกู้จากแหล่งเงินทุนนอกประเทศ นำไปสู่การเพิ่มยอดหนี้เงินกู้ต่างประเทศของไทยอย่างรวดเร็ว
ในปี 2537 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่งสัญญาณเตือนมายังประเทศไทยให้ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน และได้เตือนซ้ำอีกในปี 2538 แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ทั้งนี้ในเวลานั้นอัตราการขยายตัวของไทย ยังคงอยู่ในระดับสูง คือประมาณ 8 ถึง 9% ของ GDP แต่ช่วงนี้ก็มีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบรุนแรงเช่นกัน (-5 ถึง -5.5 % ของ GDP ) ส่วนหนี้ต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก (ปี 2538 ไทยมีหนี้ต่างประเทศ 82,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ หนึ่งเท่าตัวในช่วงเวลา 3 ปีของรัฐบาล)
สำหรับในทางการเมือง หลังจากรัฐบาลผสมนำโดยนายชวน หลีกภัย บริหารประเทศมาได้ 1 ปี นายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม มีการเจรจากับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน พร้อมด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชน นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ หัวหน้าพรรคราษฎร ตกลงที่จะรวมเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว ในลักษณะจะยุบทุกพรรคมารวมเข้ากับพรรคกิจสังคม ซึ่งขณะนั้นยังมีสถานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ ซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าพรรคกิจสังคมอาจจะเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในการร่วมเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ
ขณะเดียวกันก็ส่อนัยว่าพรรคกิจสังคม ก็พร้อมที่จะดำเนินการทางการเมืองที่เป็นเอกเทศหรือสร้างบทบาทชี้นำในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือนัยที่ลึกซึ่งไปกว่านั้น ในที่สุดก็มาถึงจุดแตกหักที่พรรคกิจสังคมถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคการเมืองที่เข้ามาเสียบแทนคือพรรคเสรีธรรม ซึ่งมี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค
ทว่าเอาเข้าจริงหลังจากพรรคกิจสังคมถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว มีเพียงพรรคมวลชนพรรคเดียวเท่านั้น ที่ยุบพรรคมาร่วมกับพรรคกิจสังคม โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หัวหน้าพรรคมวลชนได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคกิจสังคม
ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2537 พรรคความหวังใหม่ก็ประกาศถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากความเห็นต่างในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครอง แต่ในขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านคือพรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา กิจสังคม ประชากรไทย ประชุมทำสัตยาบันร่วมกันว่าจะไม่ยอมเข้าร่วมกับรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ดังนั้นเมื่อพรรคความหวังใหม่ถอนตัวออกจากรัฐบาลผสม ย่อมทำให้รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เท่ากับนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีต้องลาออกและประกาศยุบสภา
แต่ปรากฏว่าเกิดการ "ละเมิดสัตยาบัน" ขึ้น เมื่อพรรคชาติพัฒนาได้นำส.ส.เข้ามาร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาเกินครึ่งโดยอ้างเหตุผลว่า ถึงไม่ทำอย่างนั้นพรรคฝ่ายค้านส่วนใหญ่อีกพรรคหนึ่งคือพรรคชาติไทยก็พร้อมจะเสียบเข้าร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว
นายอาคม เอ่งฉ้วน โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น กล่าวว่าที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกเอาพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาล เพราะพรรคชาติไทยมีเงื่อนไขว่า หากต้องการฐานเสียงสนับสนุนจากพรรคชาติไทยโดยการเข้าร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีทั้งคณะจะต้องลาออกก่อน ยกเว้นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แล้วมาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกันใหม่ ในขณะที่พรรคชาติพัฒนาไม่มีเงื่อนไขใดๆ
สำหรับตัวแปรสำคัญ ซึ่งมีบุคลากรทรงอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวลาต่อมา คือพรรคพลังธรรมซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่งที่มีปัญหามาก ผ่านการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลไปได้ 2 ปี พรรคก็มีมติเอารัฐมนตรีซึ่งเป็น ส.ส. ของพรรคทุกคนออกจากตำแหน่ง และลงมติให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง รัฐมนตรีสำคัญที่ถูกเปลี่ยนตัวก็คือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และพ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อการเมืองไทยสืบเนื่องอีก 1 ทศวรรษ หรืออาจจะกว่านั้น คือพรรคพลังธรรมได้เลือก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวิชิต สุรพงษ์ชัย มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ทั้งคู่ไม่ใช่ ส.ส. และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ทำให้ ส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่งเรียกตัวเองว่า “กลุ่ม 23” คัดค้านมติและโจมตีมติพรรค ส่วนหนึ่งมุ่งเป้าไปที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคด้วย บางคนยังเปิดเผยว่าจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 26 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน