Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (68)

ส.ป.ก.4-01 ภาคใต้เจ้าปัญหา
ชนวนเหตุสู่จุดจบรัฐบาลชวน 1


ในเวลาเดียวกันเอกภาพในแวดวงการเลือกตั้งและการเมืองระบบรัฐสภา ก็นำไปสู่การปรับเปลี่ยนขั้วการเมืองกันอย่างขนานใหญ่ ไม่เพียงเฉพาะ "มุ้ง" ภายในพรรคการเมืองเฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง หากยังมีเรื่องการรวมตัวของ ส.ส. หนุ่มจากหลายพรรครวม 16 คนเรียกว่า "กลุ่ม 16" ซึ่งจัดให้มีการพบปะพูดคุยกันอยู่เสมอและแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อทำงานร่วมกันในบางเรื่อง ส.ส. คนสำคัญของกลุ่มนี้ก็เช่น นายไพโรจน์ สุวรรณฉวี ส.ส. จากจังหวัดนครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา นายเนวิน ชิดชอบ ส.ส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคชาติไทย

นักการเมืองกลุ่มนี้แสดงความคิดทางการเมืองหลายครั้งในนามของกลุ่มแทนที่จะทำในนามของพรรค ช่วงปลายปี พ.ศ.2537 และต้นปี พ.ศ.2538 กลุ่ม 16 เป็นแกนสำคัญในการโจมตีข้อบกพร่องในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของรัฐบาล มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องนำเสนอข้อมูลในประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ก่อนการร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนาต่อสาธารณะ ทั้งเมื่อเข้าร่วมรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์โดยการนำของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ร่วมรัฐบาลแล้ว ส.ส. กลุ่ม 16 นี้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือนายไพโรจน์ สุวรรณฉวี

เมื่อพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมในคณะรัฐบาลประชาธิปัตย์ ในเดือนธันวาคม 2537 นั้นทำให้รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ สามารถรักษาเสียง ข้างมากในสภาไว้ได้รวม 202 เสียง โดยมีจำนวน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ดังนี้ พรรคประชาธิปัตย์ 79, พรรคชาติพัฒนา 60, พรรคพลังธรรม 47, พรรคเสรีธรรม 8, พรรคเอกภาพ 8 รวม 202

สำหรับปัญหาการออกเอกสารแสดงสิทธิ ส.ป.ก.4-01 นั้น เป็นเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดินซึ่งระบุไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินปี พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2532 ในขณะที่เอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลนายชวน หลีกภัยตามนโยบายที่แถลงต่อสภาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าจะออกเอกสารสิทธิการถือครองที่ดินแก่เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินของรัฐซึ่งสมารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเป็นเกษตรกรผู้ยากไร้และครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ปี 2524 ทั้งนี้มีกรอบการดำเนินงานตามเป้าหมายปีละ 4 ล้านไร่

ในเวลา 2 ปีแรกที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลนายชวน หลีกภัยได้ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ไป 592,809 ราย รวมเนื้อที่ 11,564,925 ไร่ ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้กว่า 3 ล้านไร่ โดยรัฐบาลอ้างว่าผู้ที่ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ทั้งหมดที่เข้าโครงการดังกล่าวเป็นเกษตรกรผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2537 มีการแจกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้แก่ราษฎรจังหวัดภูเก็ต 486 ราย พื้นที่ 10,536 ไร่ ในเวลาต่อมามีหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์รายชื่อผู้ได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 หลายคนเป็นพ่อค้านักธุรกิจ ไม่ใช่เกษตรกรผู้ยากไร้ และบางคนก็มีความเกี่ยวเนื่องหรือมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาด้วยสื่อสารมวลชนหลายแขนงพากันขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 มากขึ้น โดยประเด็นที่สำคัญคือ มีการออกเอกสารสิทธิจำนวนมากโดยไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ในที่สุดพรรคฝ่ายค้านที่ประกอบด้วย พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคราษฎร ได้ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้งคู่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

แต่รัฐมนตรีทั้ง 2 นายชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะถึงวันเปิดการอภิปราย คือนายนิพนธ์ ลาออกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม และนายสุเทพฯ ก็ได้ลาออกตามมาในวันที่ 13 ธันวาคม 2537

สถานการณ์ในช่วงฝุ่นตลบทางการเมืองนี้เองในช่วงนี้เอง พรรคความหวังใหม่ก็ประกาศถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลไปเป็นฝ่ายค้าน และพรรคชาติพัฒนาได้เข้ามา "เสียบ" แทน นายชวน หลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายประจวบ ไชยสาส์น จากพรรคชาติพัฒนา เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2537 นายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาได้ยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ โดย ส.ส. พรรคความหวังใหม่ ก็ร่วมลงรายชื่อในญัตติดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากขณะนั้นใกล้จะหมดสมัยการประชุมสภา นายมารุต บุนนาค ประธานสภา ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จึงบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยกำหนดวันอภิปรายเป็นวันที่ 16 - 17 พฤษภาคม 2538 และให้วันที่ 19 พฤษภาคม เป็นวันลงมติ

แต่แล้วยังไม่ทันถึงกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เกิดปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาลขึ้นมาเสียก่อน กล่าวคือ จากกรณีนายไพโรจน์ สุวรรณฉวี ส.ส.พรรคชาติพัฒนา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขุดคุ้ยหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลในการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 มาแต่ต้นก่อนที่พรรคชาติพัฒนาจะเข้าร่วมรัฐบาล ครั้นเมื่อพรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว นายไพโรจน์ก็ยังคงโจมตีรัฐบาลในประเด็นนี้อยู่ต่อไป โดยเจ้าตัวให้เหตุผลว่า เพื่อมิให้เกิดคำครหาว่าไม่มีหลักการและจุดยืนที่ชัดเจน ในปัญหาเดียวกัน ในขณะเดียวกันหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่สามารถที่จะยับยั้งการพูดในทางลบต่อรัฐบาลในเรื่อง ส.ป.ก.4-01 ได้

และไม่เพียงท่าทีของ ส.ส.ของพรรคชาติพัฒนา ที่มีแนวโน้มจะไม่ลงมติไว้วางใจในการยื่นญัตติของฝ่ายค้านครั้งนี้ แต่ ส.ส. หลายคนของพรรคพลังธรรม ซึ่งมีความขัดแย้งกับหัวหน้าพรรคของตนเองก็แสดงท่าทีว่าจะไม่ลงมติให้ฝ่ายรัฐบาลเช่นเดียวกันด้วย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 16 และวันที่ 17 พฤษภาคม 2538 นับเป็นการอภิปรายที่ทั้ง 3 ฝ่ายเตรียมการบ้านมาค่อนข้างดี และใช้ความสามารถในการพูดประกอบหลักฐานข้อมูล อีกทั้งการอภิปรายและการตอบโต้โดยรวมถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ประชาชนทั่วไปพอใจ ไม่หงุดหงิดรำคาญจากการประท้วงไม่หยุดหย่อนจนการอภิปรายไม่คืบหน้า และประธานที่ประชุมสภาไม่อาจควบคุมให้การประชุมลุล่วงไปได้ด้วยดี

หลังจากการอภิปรายจบลง คณะกรรมการบริหารของพรรคพลังธรรมเรียกประชุมด่วน และที่ประชุมมีมติว่าฝ่ายรัฐบาลตอบข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านไม่ชัดเจนจึงเห็นควรงดออกเสียงให้รัฐบาลเมื่อมีการลงมติ ทำให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลจะหายไปถึง 47 เสียง เหลือเพียง 155 เสียง ในขณะเดียวกัน ส.ส.ของพรรครัฐบาลซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม 16 ก็ประกาศว่าจะไม่ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาล

ทางเลือกของรัฐบาลจึง มีอยู่เพียง 2 ทางคือ ยุบสภาหรือลาออก ซึ่งนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศยุบสภา ในตอนเที่ยงของวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2538 ก่อนถึงกำหนดที่จะให้มีการลงมติซึ่งกำหนดไว้เวลา 13.30 น. ของวันที่ 19 พฤษภาคม นั้นเอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8