Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (70)

รัฐบาล "บิ๊กจิ๋ว" กับลูกโป่งฟองสบู่
ความอ่อนหัดในเวทีการเงินระดับโลก


17 พฤศจิกายน 2539 นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 21 ของประเทศไทยนับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 นี้เป็นการเลือกตั้งแบบผสมระหว่างแบ่งเขตกับรวมเขต ให้เขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกิน 3 คน รวมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 393 คน

ผลการเลือกตั้งก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เกิดจากการปฏิรูปการเมืองสมัยนายบรรหาร ศิลปะอาชาเป็นนายกรัฐมตนตรี เป็นการสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองแบบพลิกความคาดหมาย เมื่อพรรคความหวังใหม่ ที่เพิ่งก่อตั้งและส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกประสบความสำเร็จ สามารถเฉือนเอาชนะ พรรคประชาธิปัตย์ ไปได้ 2 เสียง ทำให้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ซึ่งผลการเลือกตั้งในคราวนั้น ออกมาดังนี้ (ชื่อพรรคการเมือง ตามด้วยหัวหน้าพรรค) คือ พรรคความหวังใหม่ (พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) 125 คน, พรรคประชาธิปัตย์ (นายชวน หลีกภัย)123 คน, พรรคชาติพัฒนา (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) 52 คน, พรรคชาติไทย (นายบรรหาร ศิลปะอาชา) 39 คน, พรรคกิจสังคม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) 20 คน, พรรคประชากรไทย (นายสมัคร สุนทรเวช) 18 คน, พรรคเอกภาพ (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) 8 คน, พรรคเสรีธรรม (นายพินิจ จารุสมบัติ) 4 คน, พรรคมวลชน (นายอำนวย วีรวรรณ) 2 คน, พรรคพลังธรรม (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) 1 คน, พรรคไท (นายธนบดินทร์ แสงสถาพร) 1 คน

จากนั้นจึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เจ้าของสมญา "ขงเบ้งแห่งกองทัพบก" หรือที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เรียกว่า "บิ๊กจิ๋ว" จึงเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 52 ตามประกาศพระบรมราชโองการ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอีก 49 คน

แต่แล้วเพียงต้นปี 2540 คลื่นลูกแรกของวกฤตเศรษฐกิจก็ซัดเข้ามาหยั่งกำลังแนวต้านรับของไทย โดยในชั้นต้นรัฐบาลพล.อ.ชวลิตและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในเวลานั้น นายอำนวย วีรวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศตัดงบประมาณแผ่นดินลงอย่างรุนแรงถึง 2 ครั้ง เพื่อชะลอเศรษฐกิจและเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไทยคงต้องจารึกไว้อย่างน่าเศร้า ถึงความอ่อนหัดไร้เดียงสาในเวทีเศรษฐศาสตร์การเงินการคลังระดับนานาชาติ สำหรับโลกยุคไร้พรมแดน ว่าในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 มีการโจมตีค่าเงินบาทโดยกองทุนต่างชาติอย่างรุนแรง ด้วยความกลัวว่า ระบบการเงินจะพัง ธปท.ได้ทำสัญญา swap เพื่อปกป้องค่าเงินบาทไปถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ขณะนั้นไทยมีหนี้ต่างประเทศ 91,000 ล้านดอลลาร์) ครั้งนั้นแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดักหน้าออกคำสั่งจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินบาทของธนาคารในประเทศ จนทำให้กองทุนต่างชาติต้องไปตั้งโต๊ะขอซื้อเงินบาทที่สิงคโปร์ในราคาแพงและขาดทุนไปตามกัน แต่กองทุนต่างชาติมิได้ล่าถอยแต่กลับไปตั้งหลักระดมเงินบาทเพื่อกลับเข้ามารอบใหม่ใหม่

ตามมาด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดูเหมือนว่าจะกำลังเติบโตอย่างผิดสังเกต ด้วยการกู้เงินจากสถาบันการเงินนอกประเทศเข้ามาปล่อยกู้ปั่นราคาธุรกิจ และการตกแต่งหน้าตาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมุ่งเพิ่มมูลค่าหุ้นในลักษณะ "เศรษฐกิจฟองสบู่" แทนที่จะเป็นการพัฒนาธุรกิจและการผลิตโดยตรง ผลที่ทยอยเกิดขึ้นก็คือมูลหนี้เหล่านั้นกลับกลายเป็นหนี้เสียในสถาบันการเงินมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบางอย่างก็เกิดเป็นหนี้เสียเช่นกัน ในเดือนมีนาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่ามีบริษัทเงินทุน 10 แห่งต้องเพิ่มทุนเป็นการด่วน ประชาชนที่ได้ข่าวหนี้เสียก็แห่กันมาถอนเงินฝาก บริษัทเงินทุนขาดสภาพคล่อง จึงหันไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟู

ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคมได้มีการโจมตีค่าเงินบาทครั้งใหญ่อีกครั้ง คราวนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ต่อสู้โดยทำสัญญา swap ไปกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ จนทำให้ทุนสำรองสุทธิ เหลือเพียง 2 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์ (ทุนสำรองสุทธิ คือทุนสำรอง หักด้วยภาระ swap แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุนสำรองจริงๆเหลือเท่านั้น เพราะการส่งมอบภาระ swap ทำที่เวลาต่างๆ กันในอนาคต ส่วนจะเสียหายเท่าไรก็อยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อถึงกำหนดส่งมอบ)

ตามรายงานคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ที่ตั้งโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย (รัฐบาลชวน 2) การต่อสู้ครั้งใหญ่ทั้งสองครั้ง ทางธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานเพียงชัยชนะในการปกป้องค่าเงินบาท แต่ไม่ได้รายงานยอด swap ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ โดยถือว่าเป็นบัญชีซื้อขายของฝ่ายการธนาคาร และไม่ได้กระทบกับเงินสำรองในทันที อีกทั้งต้องการปิดบังไม่ให้ตลาดเงินและประชาชนรู้ ป้องกันไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกแถอนเงินฝากและการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์

แต่แล้วกลับไม่อาจยับยั้งกระแสตื่นตระหนกดังกล่าวได้ ผลก็คือในวันที่ 21 มิถุนายน นายอำนวย วีรวรรณ ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยแต่งตั้ง นายทนง พิทยะ เข้ารับตำแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน

ในวันที่ 25 มิถุนายน 2540  นายทนงสั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานสถานะเงินสำรองสุทธิ ซึ่งมีการเข้ารายงานต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ในวันที่ 29 มิถุนายน จากนั้นจึงมีการประกาศลดค่าเงินบาทโดยเป็นการปล่อยลอยตัวค่าเงิน ในวันที่ 2 กรกฎาคม ด้วยเหตุผลที่เป็นที่ชัดเจนในเวลานั้นว่า เงินสำรองสุทธิลดลงมากจนไม่อยู่ในสถานะที่จะปกป้องค่าเงินได้อีก และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

และในเดือนกรกฎาคมนั้นเองบริษัทเงินทุน 16 แห่งถูกระงับกิจการเป็นการชั่วคราว และอีก 42 แห่งในเดือนสิงหาคม เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปตรวจสอบสถานะทางการเงินและการทำธุรกรรมทางการเงิน

จากช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม มีการปลุกกระแสสังคมผ่านสื่อต่างๆอย่างหนักและต่อเนื่องว่า ประเทศไทยกำลังจะล้มละลาย เพราะการดำเนินนโยบายทางการเงินการคลังผิดพลาดของรัฐบาล และแม้ว่าจะมีความพยายามกอบกู้สถานการณ์ด้วยการปรับคณะรัฐมนตรีขนาดใหญ่ถึง 2 ครั้ง คือในวันที่ 15 สิงหาคม และ 24 ตุลาคม แต่แล้วในที่สุด นายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540

ขณะนั้นเงินบาทอยู่ที่ 36.85 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8