Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (58)

รัฐนาวาที่ดูเหมือนไม่มีวันอับปาง
กับความล้มเหลว "กบฏ 9 กันยา"

ในเวลาต่อมา ฝ่ายค้านนำโดย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร และคณะได้เสนอญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 พฤษภาคม 2527 โดยมุ่งไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.สิทธิ์ จิรโรจน์ ในประเด็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม การดำเนินการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย การปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ เรื่องยาเสพติดให้โทษและการบริหารบ้านเมือง แต่เนื่องจากผู้เสนอญัตติไม่อยู่ชี้แจงในที่ประชุม ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงวินิจฉัยว่าญัตติตกไป

และจากการที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศลดค่าเงินบาทในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 ส่งผลให้ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกทำหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าวและให้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ทั้งยังออกอากาศทางสถานโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เสนอให้ปรับคณะรัฐมนตรี และให้ยืนค่าเงินตามอัตราเดิม ซึ่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 นายไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อยืนยันความถูกต้องในการตัดสินใจลดค่าเงินบาท

กรณีที่พล.อ.อาทิตย์ โจมตีรัฐบาลเรื่องลดค่าเงินบาทนี้ มีผลต่อสัมพันธภาพที่เคยแนบแน่นระหว่างพล.อ.เปรม กับพล.อ.อาทิตย์

วันที่ 15 เมษายน 2528 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทนสมาชิกวุฒิสภาที่จับสลากหมุนเวียนออก จำนวน 75 คน และแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ขาดอีก 1 ตำแหน่ง รวมแต่งตั้งใหม่ 76 คน รวมกับสมาชิกสภาเดิมเป็น 260 คน

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 สภาผู้แทนราษฎรจัดการประชุมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามญัตติของนายบรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทย และคณะ โดยระบุตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การอภิปรายใช้เวลาถึง 14 ชั่วโมง ผลการลงมติปรากฏว่ารัฐมนตรีทุกคนที่ถูกอภิปรายได้รับความไว้วางใจ

แต่แล้วในวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2528 เกิดความพยายามก่อรัฐประหารของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พ.อ.มนูญ รูปขจร, พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ.เสริม ณ นคร, พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งประกอบด้วยผู้นำแรงงานคนสำคัญๆ ได้แก่ นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายอาหมัด ขามเทศทอง, นายประทิน ธำรงจ้อย ฯลฯ และบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีข่าวว่าให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่กลุ่มผู้ก่อการ คือ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ผู้เพิ่งหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีแชร์ชาร์เตอร์ ได้ปรากฏตัวขึ้นที่กองบัญชาการรัฐประหารในฐานะแกนนำคนสำคัญ การกบฎครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศ อินโดนีเซีย ส่วนพล.อ.อาทิตย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป

การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 03.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การ สื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทั้งนี้นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้และผู้นำสหภาพแรงงานและกำลังทหารส่วนหนึ่ง เข้าไปยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการฯ ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย

ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ., พล.ท.ชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการกองกำลังฝ่ายรัฐบาลขึ้นที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าปราบปรามฝ่ายก่อรัฐประหาร และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พล.ท.สุจินดา คราประยูร, พล.ท.อิสระพงศ์ หนุนภักดี, พล.อ.ท.เกษตร โรจนนิล ฯลฯ

เวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏ ที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุ และอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเอ็ม 60 เข้าไปยังกรมประมวลข่าวกลาง ที่ตั้งอยู่ในวังปารุสก์ฯ เป็นเหตุให้ นีล เดวิส ผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวออสเตรเลีย และ บิล แรตช์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน ของเครือข่ายเอ็นบีซี เสียชีวิต

กำลังทั้งสองฝ่ายเปิดฉากเริ่มปะทะกันอย่างรุนแรงในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางทหาร บนถนนราชดำเนินนอกของกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. การเจรจาเพื่อสงบศึกได้เริ่มขึ้น โดยมี พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล เจรจากับ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แกนนำคนสำคัญฝ่ายรัฐประหาร จนที่สุดฝ่ายกบฏยินยอมยกเลิกปฏิบัติการ 17.30 น. สถานการณ์ที่ตึงเครียดบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ความสงบ กองกำลังทั้งสองฝ่ายถอนตัวออกจากปฏิบัติการกลับเข้าที่ตั้ง

ในเวลา 18.30 น. พล.ท.พิจิตร และ พล.ท.ชวลิต ได้เดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง เพื่อส่งตัว พ.อ.มนูญ และ น.อ.ท. มนัส รูปขจร สองแกนนำคนสำคัญในการรัฐประหารครั้งนี้ให้เดินทางไปยังสิงคโปร์ ก่อนจะติดต่อขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในประเทศเยอรมันตะวันตก (ในเวลานั้น)

ส่วน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 9 กันยายน แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ทันที

ผลจากการกบฏล้มเหลว มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนีไปได้ 10 คน

สำหรับสาเหตุหนึ่งของความพ่ายแพ้ในความพยายามก่อรัฐประหารจนกลายเป็นเพียง "กบฏ" ว่ากันว่า พ.อ.มนูญ รูปขจร ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึดอำนาจ เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงที่จะนำกำลังออกมาสมทบ และการกบฏครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจาก "นัดแล้วไม่มา" ซึ่งในการปราศรัยของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผ่านวิดิโอลิงก์เมื่อมีการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม นปช. ในวันที่ 5 เมษายน 2552 ระบุ ว่า พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นบุคคลที่ "นัดแล้วไม่มา" (จาก ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย : http://politicalbase.in.th/index.php/รัฐประหาร_9_กันยายน_2528)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (57)

อภิปราย "รัฐบาลเปรม 2/1":
ซื่อสัตย์แต่ขาดความสามารถ…


การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟากรัฐบาลจัดเป็นครั้งแรก ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 ตามข้อเสนอของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีและสมาชิกผู้แทนราษฎรประมาณ 100 คน ร่วมประชุม แต่หลังจากนั้นไม่ทันไรนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้ากลุ่มประชากรไทยกับคณะ ได้เสนอขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันที่ 28 พฤษภาคม และลงมติในวันที่ 1 มิถุนายน ผลการประชุมได้ลงมติไว้วางใจ

ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2524 ได้มีพระบรมราชองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง ทั้งนี้มีพรรคการเมืองมายื่นขอจดทะเบียนทั้งหมดรวม 20 พรรค

ในขณะเดียวกันความยุ่งยากในการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยแรกของนายกฯ ที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็เริ่มส่อเค้าขึ้น ไล่มาตั้งแต่ปัญหาการเลือกตั้งอธิบดีกรมอัยการ ปัญหากรณีส่อเค้าทุจริตการสอบเป็นนายร้อยตำรวจตรี การจับแหล่งปลอมปนน้ำมันขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งการกวดขันสถานเริงรมย์ นอกจากนี้ปรากฏการณ์ "คนป่าคืนเมือง" เป็นจำนวนมาก จากอดีตนักเรียน นิสิต นักศึกษา และปัญญาชนนักวิชาการ ตลอดจนประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ที่เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลัง "กรณีนองเลือด 6 ตาลาฯ" พร้อมกันนั้นมีการกวาดล้ายค่าย "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์" ขนาดใหญ่หลายแห่งทางภาคใต้ของประเทศ

ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ที่กดดันรัฐบาลแทบจะทุกยุคทุกสมัยคือปัญหาในกรุงเทพมหานครนี้เอง ซึ่งก็ได้แก่ ปัญหาการต่อต้านการย้ายตลาดนัดที่สนามหลวงไปอยู่ที่สวนจตุจักร และการต่อด้านของนักศึกษาเรื่องการขึ้นค่ารถเมล์จนทำให้รัฐบาลต้องชะลอไปก่อน และเมื่อเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 10 ธันวาคม พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หัวหน้าพรรคชาติประชาไทย ได้ยื่นญัตติปัญหาเศรษฐกิจต่อรัฐบาล เปิดโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ

ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 2 รัฐบาลได้เชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมคณะด้วย โดยนายบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งลาออกจากรองหัวหน้าพรรคกิจสังคมก่อนหน้านี้มิได้ร่วมคณะรัฐบาลด้วย โดยคัดค้านการเข้าร่วมรัฐบาลในเวลาที่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ

ต่อมามีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจำนวน 8 กระทรวง รัฐสภาได้กำหนดให้มีการเปิดอภิปรายในวันที่ 2 และวันที่ 3 มิถุนายน 2525 เป็นเวลา 2 วัน รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเสร็จการอภิปรายแล้วถึงแม้ว่าที่ประชุมลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีทุกกระทรวง แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนอภิปรายว่ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา

พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งโดดเด่นขึ้นมาในคราวปราบกบฏ 1 เมษายน 2524 ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจากพล.อ.ประยุทธ จารุมณี ในเดือนกันยายน 2525 พร้อมกับรับมอบตำแหน่งประธานคณะกรรมการกองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ

ต่อมาในระหว่างการเปิดประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 เพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฝ่าย ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่ายกันชัดเจน และการวิพากษ์วิจารณ์แผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไปทุกที พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงประกาศยุบสภาในวันที่ 19 มีนาคม 2526 ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จากการที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 18 เมษายน 2526 การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จะต้องสมัครในนามพรรคการเมือง และพรรคจะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหมดตามรัฐธรรมนูญ 2521 และตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2524

การเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน 2526 ตามรัฐธรรมนูญ 2521 และตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2524 ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องสมัครในนามพรรคการเมือง และพรรคจะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหมด ปรากฏผลดังนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 324 คน พรรคกิจสังคมมีผู้แทนราษฎรมากที่สุด 92 คน พรรคชาติไทยได้ 73 คน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 56 คน พรรคประชากรไทยได้ 36 คน และพรรคอื่นๆ อีกรวม 10 พรรค

ส่วนสมาชิกวุฒิสภา ได้มีการจับสลากออกหนึ่งในสามเท่ากับ 75 คน และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 19 เมษายน 2526 จำนวน 75 คน และเพิ่มเติมอีก 18 คน รวมเป็นสมาชิกวุฒิสภา 243 คน รวมสมาชิกรัฐสภา 567 คน

หลังจากการเลือกตั้งแล้ว ได้มีการเสนอบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึงพรรคการเมืองหลายพรรคให้การสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นรัฐบาลชุดที่ 43 หรือรัฐบาลเปรม 2/1 จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ในวันที่ 30 เมษายน 2526 และแต่งตั้งรัฐมนตรี จำนวน 44 คน รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2526

คณะรัฐบาลจากพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย และพรรคชาติประชาธิปไตย รวมทั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรคด้วย โดยมีพรรคชาติไทยเป็นฝ่ายค้าน และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านคือ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร

พล.อ.เปรม ต้องเผชิญศึกหนักในสภานับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้นำในการบริหารประเทศในรอบนี้ เริ่มจากญัตติของพรรคชาติไทยขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งกำหนดให้มีการอภิปรายในวันที่ 13 และ 14 กรกฎาคม 2526 แต่แล้วไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจเพราะฝ่ายรัฐบาลชิงเสนอให้ผ่านระเบียบวาระ เปิดอภิปรายไปตามสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 137 วรรคสองเสียก่อน

ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2527 พรรคชาติไทยยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ปรากฏว่ามีรายชื่อไม่ครบ 65 คน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ญัตติดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

ดังนั้นพรรคชาติไทยจึงจัดอภิปรายนอกสภา ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมดุสิตธานี ในวันที่ 29 มกราคม 2527 โดยมีข้อสรุปว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต แต่ขาดความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ เนื่องจากมีผู้ร่วมรัฐบาลที่ไม่มีความสามารถและมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจ.



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก?

รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และนายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิดสาธารณรัฐตุรกี

จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี้ภัย ณ ประเทศเยอรมนี และในเวลาต่อมาข้าราชการทหาร ตำรวจที่เข้าร่วมก่อการครั้งนี้ต่างได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหาร โดยที่บางคนก็กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังเหตุการณ์ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่เอาการเอางานคนสำคัญในการคุมกำลังทหารต่อต้านการกบฏ ได้รับความไว้ใจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ได้เลื่อนเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา

สำหรับเส้นทางการก้าวบนชีวิตราชการประจำในฐานะทหารอาชีพจนมาถึงตำแหน่งผู้บัญชาชากรเหล่าทัพ และในเส้นทางข้าราชการการเมืองในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 2 กระทรวง กระทั่งถึงที่สุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้น มีความเป็นมาพอสังเขปดังนี้

********************

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ 6 ของอำมาตย์โท หลวงวินิจฑัณทกรรม [ต้นสกุลพระราชทาน "ติณสูลานนท์" ลำดับที่ 5121 แก่ขุนวินิจภัณฑกรรม (บึ้ง) พธำมรงค์จังหวัดสงขลา] กับ นางออด ติณสูลานนท์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดบ่อยาง และศึกษาต่อที่โรงเรียนวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จากนั้นเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาจนจบการศึกษาหลักสูตรพิเศษโรงเรียนเทคนิคทหารบก (ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า

ในปี 2484 ร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ปอยเปต กัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบุรพา (สงครามโลกครั้งที่สอง) ระหว่างปี 2485-2488 ที่เชียงตุง

หลังสงครามย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ ฟอร์ตน็อกซ์ มลรัฐเคนตักกี พร้อมกับพล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ และพล.อ.วิจิตร สุขมาก เมื่อปี 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลื่อนยศเป็นพันเอกในปี 2502 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นในปี 2506 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า

ต่อมาในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจรได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เหตุการณ์การเมืองช่วงนั้นการเลือกตั้งปี 2512 จอมพลถนอมจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคสหประชาไทย แต่แล้วมีการ "รัฐประหารตนเอง 17 พฤศจิกายน 2514" ตามมาด้วยเหตุการณ์ "14 ตุลาฯ" อันเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครอง "เผด็จการทหารสฤษดิ์-แปลก-ถนอม"

ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2517 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ "สภาสนามม้า" ซึ่งนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2517

เข้าร่วมการรัฐประหาร 2 ครั้ง นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร พร้อมกับได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในปี 2522 ช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ จึงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.เปรมสร้างความฮือฮาเกี่ยวกับการแต่งกายที่ต่อมาเรียกกันว่า "ชุดพระราชทาน" และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวไปในที่สุด ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นเอง โดยได้ใส่ครั้งแรกในโอกาสที่ พล.อ.เปรมเป็นประธานเปิดงานฉลองครบ 60 ปี ของวงเวียน 22 กรกฎาคม และยังได้สวมชุดดังกล่าวเข้าไปในสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมปีเดียวกันอีก

********************

ในเวลานั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 พุทธศักราช 2521 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มการเมืองฟากประชาธิปไตยมาโดยตลอด กลายเป็นพลังผลักดันให้เกิดคณะทำงานรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) มี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นประธาน จัดประชุมสมัชชา ครป.ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2524 โดยได้แถลงข้อสรุปว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีหลักการสำคัญ อาทิ...

นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกึ่งหนึ่งต้องมาจากเลือกตั้ง และต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ผู้มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และสังกัดพรรคการเมือง ให้สิทธิในการชุมนุมและจัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้ยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหาร ฯลฯ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์


การเปลี่ยนผ่านการปกครองของสยามในระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ จะเห็นได้จากการขึ้นครองราชย์ครั้งที่ 2 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ พระชนมายุครบ 20 พรรษา ในปี พ.ศ. 2416 ขณะที่การขึ้นครองราชย์ในปี 2411 พระชนมายุเพียง 15 ชันษา โดยมี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากการปฏิรูประบอบกองทัพ โดยเกิด "กองทหารหน้า" ซึ่งในเวลาต่อมาพัฒนาสู่การจัดตั้ง "กระทรวงกลาโหม" ในโครงสร้าง "ระบบการทหาร" ดังที่กล่าวถึงในบทความ "กองทัพในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับจุดยืนและท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตย" ตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ ฉบับวันสุข ฉบับประจำวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2554 (http://arinwan.info/index.php?topic=3520.0) แล้วนั้น

ที่มาของการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังพิจารณาได้จากโครงสร้างการเมืองการปกครองอีก 2 ด้านหลัก ด้านแรก ขณะที่โครงสร้างด้านการคลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการจัดการเงินแบบเก่ามีทางรั่วไหลมาก พวกเจ้าภาษีนายอากรไม่ส่งเงินเข้าพระคลังครบถ้วนตามจำนวนที่ประมูลได้ อีกทั้งรายได้จากส่วยสาอากรที่ส่งมายังราชสำนักยังต้องผ่านเจ้านายและขุนนางอำมาตย์ตามลำดับชั้น มีเบี้ยใบ้รายทางเสียจนพระคลังไม่อาจตรวจสอบรายได้จริงจากการผลิตในระบอบศักดินาเดิมที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา พระองค์จึงทรงจัดการเรื่องการเงินของแผ่นดินหรือการคลังทันทีที่พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินเต็มที่ เริ่มต้นที่เปลี่ยนจาก "ระบบเจ้าภาษีนายอากร" มาสู่การเก็บภาษีในลักษณะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเป็นลำดับ โดยตราพระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) และโปรดเกล้าฯ ให้ ตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติในปี จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) ก่อนที่จะยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในปี พ.ศ. 2433 ทำให้พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ต้องรับส่วยสาอากรผ่านเจ้าเมืองและขุนนางศักดินาที่มีมาแต่เดิม

สำหรับในด้านการปกครอง เริ่มจากส่วนภูมิภาค มีการการเปลี่ยนจาก "เจ้าเมือง/เจ้าประเทศราช" ของท้องถิ่น มาเป็นระบบ "ข้าหลวง" จากส่วนกลางนับจากปี พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยทรงตั้งกระทรวงขึ้นใหม่ 12 กระทรวง และโอนการปกครองหัวเมืองทั้งหมดให้มาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) เป็นองค์ปฐมเสนาบดี นับเป็นเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดระบบบริหาราชการแผ่นดินในระบบจตุสดมภ์ และระบบอัครมหาเสนาบดี คือ สมุหนายก และ สมุหกลาโหม ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยในระยะเริ่มต้น จัดแบ่งเป็น 3 กรม คือ กรมมหาดไทยกลาง มีหน้าที่ทั่วไป กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ มีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้าย และงานด้านอัยการ กรมพลัมภัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองท้องที่

เมื่องานการปกครองส่วนภูมิภาคขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงจัดระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ เรียกว่า เทศาภิบาล แบ่งการปกครองเป็นมณฑล เมือง อำเภอ แต่การบริหารและรูปแบบการปกครองยังคงไม่ชัดเจนเป้นระบบเดียวกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบกินเมือง และระบบหัวเมืองแบบเก่า (ได้แก่ หัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราช) จัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้กำกับดูแลมณฑล การก่อตั้งมณฑลนั้นจะเป็นไปตามลำดับโดยขึ้นอยู่กับความเป็นพื้นที่ที่มีความ สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดการปกครองเช่นนี้ ก็เพื่อให้ส่วนกลางสามารถควบคุมดูแลหัวเมืองและจัดการผลประโยชน์แผ่นดินได้อย่างใกล้ชิด และลิดรอนอำนาจและอิทธิพลของเจ้าเมืองในระบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง

จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากการแบ่งปันพื้นที่และผลประโยชน์แบบ "ศักดินาสวามิภักดิ์" มาสู่ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" นั้นเป็นเรื่องนาสนใจ พอๆกับการ "เลิกไพร่" (ยุติ "ไพร่สม" ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีลักษณะส่วนตัว มาสู่การเกณฑ์ทหารแบบใหม่) มีเนื้อหาทางการเมืองมากกว่าการ "เลิกทาส" ซึ่งมีเนื้อหาทางเศรษฐกิจ (ปลดปล่อยพลังการผลิต)

เมื่อระบบการปกครองที่มีมาแต่เดิม มาถึงจุดสิ้นสุดลงพร้อมกับการสิ้นสุดผู้รับใช้ระบบที่ขึ้นต่อและมีลักษณะขุนนางศักดินา พร้อมกับระบบกินเมือง/ระบบหัวเมือง ที่เจ้าเมือง เจ้าประเทศราช และขุนนางอำมาตย์ รวมทั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์สามารถเกณฑ์และสะสมไพร่พล โดยอาศัยผลประโยชน์ตามศักดินา หรือสิทธิตกทอดตามสายเลือดที่ได้รับจากระบอบการปกครอง ความจำเป็นที่จะต้องสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับระบอบการปกครองใหม่และระบบบริหารราชการแบบใหม่ จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ "ความภักดี" ในเจ้านายเดิมแบบศักดินาก็จะต้องถูกขจัดไปจาก "ข้าราชการใหม่" ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นศูนย์รวมของรัฐชาติสมัยใหม่นี้ด้วย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ. 2442 ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ "พระเกี้ยว" มาเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน เพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิด และด้วยโบราณราชประเพณีที่ข้าราชการจะถวายตัวเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็กก่อน ที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่นๆ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445

จนถึงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 (ขณะนั้นนับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นับอย่างใหม่ต้องเข้าปี พ.ศ. 2460) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติแห่งพระบรมราชชนกคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นั่นคือจุดกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายสำคัญในการผลิตคนมารับใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเกิดการรวบอำนาจการปกครองทั้งหมดเข้าสู่ศูนย์กลางในเวลานั้น ทั้งนี้การพิจารณาประวัติศาสตร์ในบริบทเศรษฐศาสตร์การเมืองนั่นเอง ทำให้ผู้สนใจศึกษาไปพ้นความรู้แบบพงศาวดารที่ตั้งอยู่บนแนวคิดจิตนิยมแบบอำนาจราชศักดิ์และบารมีที่จับต้องไม่ได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 กุมภาพันธ์ 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (55)

1 ปีรัฐบาลเปรม 1-2: "กบฏเมษาฮาวาย" พ่าย

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งนายกรัฐมนตรี ผลงานลำดับแรกของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือการแจ้งแก่กลุ่มการเมืองต่างๆในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันหารือเสนอรายชื่อตัวบุคคลเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี โดยจะให้มีรัฐมนตรีร่วมคณะน้อยที่สุด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใน 15 วัน ซึ่งในที่สุดวันที่ 12 มีนาคม 2523 จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรวม 37 คน

พลเอกเปรมกล่าวปราศรัยต่อประชาชนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ทุกเครือข่าย ก่อนที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อขอความไว้วางใจ ในวันที่ 29 มีนาคม 2523 เพื่อที่จะเข้าแบกรับภารกิจการบริหารประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีที่มาจากนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาแล้ว 2 กระทรวงตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ

หนึ่งในปัญหาหลักของคณะผู้บริหารประเทศในช่วงเวลาคาบเกี่ยวการสิ้นสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินสงครามประชาชนอยู่ในเขตป่าเขามาตั้งแต่ปี 2508 นั้น ย่อมหนีไม่พ้น ปัญหาการการขับเคี่ยวกันระหว่างรัฐบาลกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ที่รัฐบาลหลังการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เรียกว่า "การปราบปรามผู้ก่อการร้าย" และมีการขยายตัวของปัญหานี้ยิ่งขึ้นอย่างไม่เคยมาก่อนหลังกรณีสังหารโหด 6 ตุลาคม 2519 ที่มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนครูอาจารย์ นักวิชาการ และนักประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยบุคคลวงการต่างๆจำนวนมาก เดินเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์

ทั้งนี้ ปัญหาเรื้อรังทางเศรษฐกิจในการผลิตภาคเกษตรกรรม เนื่องจากรัฐบาลทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มักให้ความสำคัญกับปัญหาผู้ก่อการร้ายก่อนปัญหาอื่น ดังจะเห็นได้จากงบประมาณในการพัฒนาประเทศ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว มักจะกลายเป็นเรื่องมาทีหลังงบประมาณด้านความมั่นคง

นอกจากนั้นปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในภาครัฐ ก็บั่นทอนเสถียรภาพของหลายรัฐบาลมาโดยตลอดเช่นกัน ในช่วงรัฐบาลเปรม 1 มีคดีทุจริตใหญ่หลายคดี เช่น การทุจริตโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 2 สำนวน คือ (1) ร่วมกันอนุมัติกำไรสุทธิของโรงพิมพ์เป็นโบนัสและรางวัลแก่พนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ พ.ศ.2514 – 2520 รวม 20,804,000 บาท มีผู้ต้องหา 14 คน (2) นำเงินกำไรการพิมพ์บัตรประชาชนไปจ่ายเป็นเงินรางวัลให้กับตนเองและผู้อื่น รวม 8,527980 บาท มีผู้ต้องหา 5 คน

ตามมาด้วยการทุจริตสอบเข้าโรงเรียนพลตำรวจจังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ร่วมทุจริตได้ 24 คน และการทุจริตซื้อขายข้อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารหัวละ 50,000 บาท พลเอก เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ลงนามของกองบัญชาการทหารสูงสุด ยกเลิกการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารปีการศึกษา 2523 เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนที่สอบผ่านข้อเขียนประมาณ 300 คน มาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมสลายตัวเมื่อได้ทราบคำตอบให้รอฟังประกาศของกองบัญชาทหารสูงสุด ฯลฯ

จากนั้นวิกฤตปัญหาน้ำมันปิโตรเลียม นำไปสู่การตอบโต้ในกลุ่มการเมืองฟากรัฐบาล คือ ในวันที่ 4 มีนาคม 2524 รัฐมนตรีกลุ่มกิจสังคมได้ลาออกทั้งหมด วันต่อมารัฐมนตรีกลุ่มประชาธิปัตย์ก็ลาออก รัฐบาลชุดนี้จึงสิ้นสุดลง และหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี รัฐบาลเปรม 2 ไม่มีกลุ่มกิจสังคมและกลุ่มชาติประชาชน โดยมีกลุ่มสหพรรค (สยามประชาธิปไตย รวมไทย และเสรีธรรม) เข้ามาเสียบ มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งและตั้งคณะรัฐมนตรีรวม 41 คนในวันที่ 11 มีนาคม

ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน คณะทหารประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 (จปร. 7) หรือรุ่น "ยังเติร์ก" ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.), พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9), พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอกบวร งามเกษม (ป.11), พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ยุบรัฐบาล รัฐสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ให้พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประจำกองบัญชาการทหารสูงสุดและที่ปรึกษาคณะปฏิวัติ ให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกเป็นนายทหารนอกประจำการ การก่อการครั้งนี้เรียกกันในภายหลังว่า "กบฏเมษาฮาวาย" หรือ "กบฏยังเติร์ก"

คณะผู้ก่อการลงมือเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 2 เมษายน โดยจับตัว พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลโทหาญ ลีนานนท์, พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ และพลตรีวิชาติ ลายถมยา ไปไว้ที่หอประชุมกองทัพบก และออกอากาศแถลงการณ์คณะปฏิวัติ

"เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศทุกด้านกำลังระส่ำระส่ายและทรุดลงอย่างหนัก เพราะความอ่อนแอของผู้บริหารประเทศ พรรคการเมืองแตกแยก ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน จึงเป็นจุดอ่อนให้มีคณะบุคคลที่ไม่หวังดีต่อประเทศเคลื่อนไหวจะใช้กำลังเข้ายึดการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบเผด็จการถาวร ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและอยู่รอดของประเทศ คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน จึงได้ชิงเข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศเสียก่อน"

แต่แล้วพลเอกเปรมสามารถหลบหนีไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับออกประกาศในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติ ปฏิเสธว่ามิได้ลาออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด การกระทำของพลเอกสัณห์และคณะเป็นการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลจะเร่งดำเนินการทุกวิถีทางให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว

ในที่สุดรัฐบาลก็ยึดอำนาจการปกครองกลับคืนโดยไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง กองกำลังฝ่ายกบฏส่วนใหญ่ยอมจำนนและถอนตัวกลับเข้าที่ตั้งปกติ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา หนีไปได้ ส่วนพลโทวศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้เข้ามอบตัวต่อรัฐบาล ในวันที่ 3 เมษายน

ระหว่างสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จากกรุงเทพฯ ไปประทับในค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่งวันที่ 1 เมษายน และได้เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 5 เมษายน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 3-9 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (54)

หมดเวลา "แกงไก่ใส่บรั่นดี": ฉากแรกสู่อำนาจของ "ป๋า"

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญทางการเมืองชนิดล้มลุกคลุกคลานมาตลอดหลังการรัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นการ "โค่นล้ม" ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามความหมายจากการสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ ที่แสดงไว้เมื่อปี 2525 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี "การอภิวัฒน์สยาม 2475" โดยสถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

จังหวะก้าวทางการเมืองที่มีความมหายและนัยสำคัญ และส่งผลสะเทือนและมีอิทธิพลต่อการเมืองในเวลาต่อมาอีกกว่า 30 ปี คือ การก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างเต็มตัวของ พล.ท.เปรม ติณสูลานนท์ (ยศในขณะนั้น) จากการได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีนายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นเจ้ากระทรวง ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ 40 (11 พฤศจิกายน 2520 - 21 ธันวาคม 2521) และในเวลาต่อมาในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 41 (12 พฤษภาคม 2522 - 3 มีนาคม 2523) พล.อ.เปรม ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

และโดยที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 พุทธศักราช 2520 จากการรัฐประหาร กำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ดังนั้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2521 จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งมีบทเฉพาะกาล จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ทั้งจากนักวิชาการและสื่อสารมวลชน ที่เริ่มขยับตัวได้จากการเผด็จอำนาจเต็มรูปแบบ หลังกรณี 6 ตุลาฯ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบ "ไม่เต็มใบ" หรือ "ครึ่งใบ"

แต่ถึงกระนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ใช้เป็นกฎหมายปกครองประเทศยาวนานเป็นลำดับที่ 2 คือใช้มาจนถึงปี 2534 รองจากรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งใช้มาจนถึงปี 2489

รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 22 เมษายน 2522 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป แต่เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่สามารถตรากฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองได้ทันก่อนที่จะพ้นหน้าที่ออกไป ดังนั้นในการเลือกตั้งทั่วไปคราวนี้จึงยังไม่มีพรรคการเมือง มีแต่กลุ่มการเมืองซึ่งส่งสมาชิกเข้ารับการเลือกตั้ง 46 กลุ่ม ด้วยกัน ผลการเลือกตั้งมีกลุ่มการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา 15 กลุ่ม กลุ่มที่มีผู้แทนราษฎรมากที่สุดคือ กลุ่มกิจสังคมได้ 82 คน ลำดับที่สองเป็นกลุ่มอิสระหรือไม่สังกัดกลุ่มการเมือง จำนวน 63 คน กลุ่มชาติไทยเป็นลำดับที่สามจำนวน 38 คน และรวมกับกลุ่มอื่นๆ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 301 คน

ขณะเดียวกันก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 225 คน ในวันที่ 22 เมษายน 2522 ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร รวมสมาชิกรัฐสภา 526 คน

รัฐสภาได้เสนอให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองดังนี้ คือ เกษตรกรรมสังคม เสรีธรรม กิจประชาธิปไตย ชาติประชาชน รวมไทย และผู้แทนราษฎรไม่สังกัดกลุ่ม และมีกลุ่มกิจสังคม ชาติไทย ประชากรไทยและประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน

จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะ 43 คณะ รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 มิถุนายน 2522 โดยไม่มีการอภิปราย

แต่แล้วเมื่อคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพล.อ.เกรียงศักดิ์บริหารประเทศไปได้ เพียง 5 เดือน กลุ่มกิจสังคมก็ดำเนินการในฐานะผู้นำขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 4 กระทรวง ดังนี้

กระทรวงมหาดไทยไม่ สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความไม่สงบสุขของประชาชน ปัญหาอาชญากรรมชุกชุม ปัญหาคนว่างงาน และปัญหาเกี่ยวกับความล้มเหลวในการจัดการศึกษาประชาบาล

กระทรวงคมนาคมบริหาร งานโดยขาดความรับผิดชอบในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและโทรคมนาคม ทั้งยังขอเพิ่มค่าบริการเกินความจำเป็น

กระทรวงพาณิชย์ไม่ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและพาณิชย์ทำให้ภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น ไม่สามารถรักษาระดับสินค้าที่จำเป็นแก่การอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับสินค้าที่จำเป็นแก่การอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ไม่สามารถประกันราคาพืชผลให้แก่เกษตร การบริหารงานส่วนใหญ่มีแต่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันและก๊าซขาดแคลน กับไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งผิดนโยบายของรัฐบาลที่แถลงมา

การเปิดอภิปรายทั่วไป ไม่วางใจกระทำเมื่อวันที่ 12-15 ตุลาคม 2522 ในการลงมติในวันที่ 16 ปรากฏว่ามติไม่ไว้วางใจมีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ญัตติจึงตกไป

แต่แล้วในท่ามกลางความผันผวนในทางเศรษฐกิจภายในประเทศจนตั้งมีการปรับขึ้นราคาค่าบริการสาธารณูปโภคบางรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทันทีที่รัฐบาลผ่านการลงมติไว้วางใจ ก็ตัดสินใจอนุมัติให้ขึ้นราคาค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปาทั่วประเทศอีก 50 % เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2522 ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอญัตติขอให้มีการพิจารณาทบทวน และเรียกร้องให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบลาออก รัฐบาลจึงต้องระงับการขึ้นราคาสาธารณูปโภคดังกล่าวไว้ก่อน

สำหรับปัญหาใหญ่ที่คงคู่กับการบริหารราชการแผ่นดินมายาวนาน คือปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก่อให้เกิดแรงกดดันต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล กระทั่งมีรัฐมนตรียื่นใบลาออก 3 คน ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2522 และลาออกอีก 1 คน ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2523 และนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2523 ซึ่งในจำนวนคณะรัฐมนตรี 38 คน ปรากฏว่ามาจากสมาชิกผู้แทนราษฎรเพียง 3 คนเท่านั้น

ครั้นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 ในที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งต่อรัฐสภา เป็นการดักหน้าการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งกำหนดไว้เป็นวันที่ 3 มีนาคม 2523 โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างกะทันหันในราคาที่สูงเกินไป ประชาชนเดือดร้อน

ต่อมาในการลงมติการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งกระทำ ณ รัฐสภาในวันที่ 3 มีนาคม 2523 ผลคือพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (53)

จาก "หอย" สู่ "อินทรีแห่งทุ่งบางเขน":
รัฐบาลพลเรือนหรือจะสู้รัฐบาลทหาร

การดำเนินคดี "กบฏ 20 มีนาคม 2520" เป็นไปอย่างรวดเร็วและเฉียบขาด ในวันที่ 21 เมษายน 2520 รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 11) พุทธศักราช 2519 ตัดสินลงโทษโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติ มีคำสั่งให้ถอดยศและประหารชีวิตนายฉลาด หิรัญศิริ และจำคุกตลอดชีวิตผู้ก่อการที่เหลืออีก 4 คน ซึ่งต่อมาได้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเพิ่มอีก 8 คน รวมเป็น 12 คน นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับโทษลดหลั่นลงมาอีก 11 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพลเรือนที่พลเอกฉลาดชักชวนมา อาทิ นายพิชัย วาสนาส่ง, นายสมพจน์ ปิยะอุย, นายวีระ มุสิกพงศ์ ภายหลังทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2520

ส่วนพล.ต.อรุณ ทวาทวศิน ได้รับการเลื่อนยศหลังจากการเสียชีวิตให้เป็นพลเอก

หลังจากนั้น รัฐบาลจัดให้มีการสอบสวน จอมพล ถนอม กิตติขจร กับพวก ในข้อหากระทำผิดฐานสั่งฆ่านิสิต นักศึกษา ประชาชน ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ปรากฏว่ามีคำสั่งไม่ฟ้อง จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เนื่องจากไม่มีพยานว่าบุคคลทั้งสามสั่งฆ่าประชาชนทั้งคำสั่งด้วยวาจาหรือลาย ลักษณ์อักษร

ในเดือนกันยายนมีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเกิดขึ้น กรณีแรก เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2520 ที่จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดปัตตานี ขณะที่รถพระที่นั่งผ่านทางแยกกองร้อยหน่วยปฏิบัติการพิเศษจังหวัดนราธิวาส มีรถจักรยานยนต์มีพลตำรวจ อำนวย เพชรสังข์ สังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์ได้แล่นเข้าชนรถพระที่นั่งที่บังโกลนด้านซ้ายเสียหายเล็กน้อย ส่วนรถจักรยานยนต์ล้มลงและเกิดเพลิงไหม้ ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายได้รับบาดเจ็บ และในวันต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2520 ได้มีการวางระเบิดจากวัตถุระเบิดซึ่งทำขึ้นเอง ในบริเวณสนามโรงพิธีช้างเผือก จังหวัดยะลา ใกล้เคียงกับปะรำพิธีที่ประทับซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่ลูกเสือชาวบ้าน

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โจมตีรัฐบาลว่าไม่สามารถถวายความอารักขาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ โดยพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ด้วยนโยบาย "ขวาจัด" นำไปสู่ความไม่พอใจในการปกครองในรูปเผด็จการของรัฐบาล ที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองถึงกับลงทุนเขียนหนังสือ "ลัทธิคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย" พิมพ์แจกจ่ายทั่วประเทศ ประกาศโครงการพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปี ทั้งยังกำหนดนโยบายต่างประเทศแบบโดดเดี่ยว ประกาศตัวไม่สัมพันธ์กับประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์

คณะนายทหาร หรือ "เปลือกหอย" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า จึงได้ยึดอำนาจการปกครองอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เป็นอันสิ้นสุด "รัฐบาลหอย" นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

พล.ร.อ. สงัดประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2519 และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 พร้อมกับทูนเกล้าฯถวายชื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมนะนันท์ และต่อมามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 นับจากปี 2475 พร้อมกับรัฐมนตรีร่วมคณะ 31 คน

ช่วงที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองพล.อ.เกรียงศักดิ์ได้รับฉายาว่า "อินทรีแห่งทุ่งบางเขน"

ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับชั่วคราว 2520 กำหนดให้มีสภานโยบายแห่งชาติ ซึ่งพล.ร.อ.สงัดเป็นประธานกรรมการ ซึ่งกรรมการประกอบไปด้วยบุคคลในคณะรัฐประหารนั่นเอง มีหน้าที่กำหนดนโยบายแห่งชาติและแนวทางบริหารแผ่นดินในแก่รัฐบาล และธรรมนูญฉบับ 2520 กำหนดให้มีรัฐสภาเพียงสภาเดียว คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสมาชิก 360 คน มาจากการแต่งตั้ง มีหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญและออกกฎหมาย คณะปฏิวัติมีความมุ่งหมายที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จในปี 2521 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีเดียวกัน

รัฐบาลได้เสนอพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษทั่วประเทศ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 50 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักโทษที่ขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ มีทั้งนักโทษการเมือง ผู้ต้องหาคดี 26 มีนาคม 2520 และนักโทษเด็ดขาด หลังจากนั้น 2 วัน อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และต่อมาก็ได้มีการขอนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 อีกหลายราย รวมทั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ว่าความให้ผู้ต้องหา

แต่ในขณะเดียวกันก็มีตัวแทนกลุ่มต่างๆ รวม 25 กลุ่ม ยื่นหนังสือให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ถูกจับ 6 ตุลาคม 2519 โดยกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้งหมดมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ชัดแจ้ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และปล่อยตัวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2521

ผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลผลผลิตสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และแนวนโยบายเน้นที่การปราบปรามคอมมิวนิสต์ นำไปสู่การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยไทยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ. 2521 เพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2521 เป็นต้นมา โดยให้รวมกลุ่มและปรับปรุงกลุ่มราษฎรอาสาสมัครต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 200,000 เศษรวมเข้าเป็นรูปแบบอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเรียกชื่อว่า "ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)" ให้มีหน้าที่พัฒนาและป้องกันหมู่บ้าน มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ควบคุม ดูแล และมีกองทัพแต่ละภาคช่วยทำหน้าที่อบรม ในโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองแห่งชาติ (อพป.)

ในช่วงนั้น ยังมีการโจมตีด้วยกำลังอาวุธจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่กระจายกันอยู่ตามภูมิภาค ในเขตป่าเขาทั่วประเทศ ต่อที่ตั้งและหน่วยปฏิบัติการทหารและตำรวจที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครพนม มีการวางระเบิด เผาอาคารสำนักงานและที่พัก และโจมตีบริษัทก่อสร้างทางที่จังหวัดน่าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 31 สิงหาคม 2521 มี การลอบยิงเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งขณะที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินตรวจภูมิประเทศจากจังหวัดเลยไปจังหวัดหนองคาย มาถึงบริเวณภูซางเหนือ กิ่งอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ได้ถูกยิงด้วยปืนเล็กกระสุนถูกบริเวณหางของเฮลิคอปเตอร์ แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 มีนาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

หมายเหตุ: บทความขาดช่วงเนื่องจาก blog นี้ถูก "ปิด" ไปประมาณ 1 เดือน และมีคำขอโทษจาก Google ในความเข้าใจผิดว่าเป็น spam ระหว่างนั้นจึงมีการเปิด blog ขึ้นมาใหม่ http://arin-political.blogspot.com/

กองทัพในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับจุดยืนและท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตย

กองทัพในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
กับจุดยืนและท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตย


นับจากการปกครองระบอบศักดินา "จตุสดมภ์" สมัยอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเหล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระบบไพร่เป็นรากฐานพลังการผลิตที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากการดำรงอยู่ของระบบไพร่ มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองของสยาม โดยมีเงื่อนไข 4 ด้าน คือ

1. เป็นแรงงานด้านโยธาให้แก่ราชการ
2. เป็นฐานอำนาจทางการเมืองให้มูลนายต้นสังกัด
3. เป็นกำลังในการผลิตภาคการเกษตรกรรม
4. เป็นกำลังในการรบยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม

ครั้นเมื่อสยามมีการขยายตัวในด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม นับจากการติดต่อสัมพันธ์ค้าขายกับชาติตะวันตก ระบบการผลิตแบบเลี้ยงตัวเองเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตเพื่อขาย นำไปสู่พัฒนาการของระบบเงินตรา ระบบการเงินการคลัง และในรูปแบบทางเศรษฐกิจอย่างใหม่ กลับปรากฏว่า "ไพร่" กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมือง เพราะไพร่ต้องสังกัดมูลนายจึงย้ายที่อยู่ไม่ได้ เป็นการขัดขวางการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง "ระบบไพร่" ทำให้ขุนนางอำมาตย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ สามารถมีและสะสมกำลังทหารส่วนตัว (ไพร่สม) ไว้ในมือ จนเกิด "กรณีวังหน้า" ในปี 2417 เกือบจะเป็นการยึดอำนาจได้สำเร็จ ดังนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงดำเนินงานเพื่อเลิกระบบไพร่โดยวิธีให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงานตามลำดับ

3 มกราคม 2443 ตรา "พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์จ้าง" กำหนดว่าตั้งแต่นี้ไป การเกณฑ์ราษฎรตลอดจนพาหนะเพื่อช่วยงานราชการให้ค่าจ้างตามสมควร ถ้าผู้ถูกเกณฑ์ต้องเสียส่วยหรือเงินค่าราชการให้ลดเงินได้

ในปี 2444 ตรา "พระราชบัญญัติห้ามการเกณฑ์แรงงานไพร่" และ "พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญ" แก่ข้าราชการแทนการพระราชทานไพร่สมให้ เป็นการสิ้นสุดการมีไพร่สมของมูลนาย

ปี 2448 ตรา "พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124" ให้ชายฉกรรจ์อายุครบ 18 ปี เข้ารับราชการทหารประจำการ 2 ปี แล้วปลดเป็นกองหนุน

ระบบทหารและการสร้างกองทัพเปลี่ยนจาก "ระบอบศักดินา" ที่เจ้านายและขุนนางชั้นสูงที่ทหารเป็นส่วนตัว ("ไพร่สม") มาสู่แนวคิด "เลิกไพร่" สมัย ร.5 ทำให้เกิด "โรงทหารหน้า" (รัชกาลที่ 5 ทรงเปิดเมื่อ 18 กรกฎาคม 2427) ซึ่งพัฒนาไปสู่ "กระทรวงกลาโหม" ในเวลาต่อมา ล้วนสัมพันธ์กับการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมี พระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะในปี 2440 ที่อำนาจทางทหารอยู่ในมือพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ (เป็น "ไพร่หลวง" ทั้งหมด) และพัฒนาเป็นการเกณฑ์ทหารในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น "อุดมการณ์ชาตินิยม" ที่เกิดขึ้นในรัฐชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แสดงให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทรงเผชิญอยู่ได้อย่างชัดเจนที่สุด สิ่งแรกที่ทรงตอบโต้คือ ความนิยมในลัทธิการปกครองอื่นที่ไม่ใช่ "ราชาธิปไตย" เป็นเรื่องของคนที่ไม่ใช่ "ไทย" เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับ "ชาติไทย" ประเด็นต่อมาที่ทรงเน้นคือ "ความหมายของชาติไทย" "รูปแบบของความเป็นไทย" และ "หน้าที่ของคนไทย" ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญที่ทรงปลูกฝังให้คนไทยต้องยึดมั่น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องประสบกับภัยพิบัติ คือ ถูกดูดกลืนโดยชาวจีน ซึ่งพระองค์เห็นว่าชาวจีนเป็นอันตรายเพราะจะมาทำลาย "ความเป็นไทย" และจะใช้อิทธิพลครอบครองแผ่นดิน ผลประโยชน์และการดำเนินชีวิตของคนไทย (จาก http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/การส่งเสริมอุดมการณ์_ชาติ_ศาสนา_พระมหากษัตริย์; เว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า)

ความคิดที่อยู่เบื้องหลังอุดมการณ์ชาตินิยมดังกล่าว คือ ความคิดเรื่อง "ความเป็นไทย" ที่ประกอบด้วย "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ซึ่งรับอิทธิพลมาจากความคิดเรื่อง "God, Queen (King), and Country" ของอังกฤษ โดยนำสถาบันทั้งสามมาใช้ในลักษณะของ "อุดมการณ์" และเน้นความสำคัญไว้ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการสร้างฐานพระราชอำนาจของมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์ต่างๆ ว่า "ชาติไทย" ในอุดมคติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบไปด้วย 3 สถาบันหลัก นั่นคือ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"

ในกรณีทหารยึดคติ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" สะท้อนถึงจุดยืนที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกที่ว่าไม่มีความจำเป็นที่ทหารจะต้องมีความรับผิดชอบขึ้นต่อประชาชน การที่ทหารฆ่าประชาชนมือเปล่า เพราะทหารที่มีระบบคิดอย่างหนึ่ง มีหิริโอตตัปปะเช่นนั้นเอง ถ้าไม่ทำตามคำสั่งก็เกรงกลัวผลที่จะเกิดขึ้น (บาป) ผู้ปกครองในยุคสมัยที่เป็นเผด็จการก็อ้างว่านิติธรรม/ประเพณีเป็นมาอย่างนั้น อีกทั้งความเที่ยงธรรมในการคัดเลือกคนและเลือกเลื่อนตำแหน่งตามความสามารถก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนและการเล่นพรรคเล่นพวก

รัฐที่เป็นประชาธิปไตยจะสร้างวินัยอย่างใหม่ สร้างหิริโอตตัปปะอย่างใหม่ (อย่างน้อย พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เป็นพลเรือน และที่เป็นทหารตำรวจ "ต้อง" ตระหนักว่า เงินเดือน/เบี้ยเลี้ยง/และงบประมาณทั้งหมด ล้วนมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ)

และ "บาป" สูงสุดของพนักงานรัฐกิจในระบอบประชาธิปไตยทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน คือ "ทรยศต่อประชาชน"

ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งสำหรับ "รัฐสมัยใหม่" นั้นกองทัพ "ต้อง" อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ "อำนาจอธิปไตย" หรือ "ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย" ในสหรัฐกองทัพอยู่ใต้ "ประธานาธิบดี" ซึ่งมีสถานะเป็นทั้ง "ประมุขฝ่ายบริหาร" และ "ประมุขแห่งรัฐ" ขณะที่ในฝรั่งเศสและเยอรมัน และในประเทศสาธารณรัฐอื่นๆ กองทัพอยู่ใต้ "ประธานาธิบดี" ไม่ใช่ "นายกรัฐมนตรี"

ส่วนในอังกฤษที่ถือเป็นแม่แบบ "ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy)" นั้น กองทัพขึ้นต่อ "นายกรัฐมนตรี" ซึ่งสั่งการภายใต้ "พระปรมาภิไธย (On Her Marjesty)" ของพระราชินี แต่สมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษทรงบริหารพระราชกิจตามคำแนะนำของ "สภาองคมนตรี" ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งอังกฤษโดยพฤตินัย สภาองคมนตรีแห่งพระราชินีปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการชุดพิเศษชุดหนึ่ง ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี เป็นผลให้การดำเนินงานของสภาองคมนตรีอยู่ภายใต้การพิจารณาทบทวนโดยในลักษณะเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ  (judicial review ซึ่งความหมายตามตัวอักษรที่ใช้อธิบายระบบกฎหมายอังกฤษและสหรัฐนำมาเป็นแม่แบบ หมายถึงการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย) สมเด็จพระราชินีนาถจะมีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับราชการแผ่นดินได้ก็แต่โดยคำแนะนำของสภาองคมนตรี

คำถามคือ ก็แล้วใน "ราชอาณาจักรไทย" ใครคือผู้มีอำนาจสั่งการกองทัพอย่าง "สัมบูรณ์" ในเมื่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของบุคลากรของกองทัพทั้งสิ้น.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

จาก "ปรีดีฆ่าในหลวง" ถึง "ผังล้มเจ้า"

จาก "ปรีดีฆ่าในหลวง" ถึง "ผังล้มเจ้า"



นับจากการอภิวัฒน์เพื่อเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนต่อมาเปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติเป็น "ไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวพ้นความพยายามในการ "ฟื้นฟาดทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์" (นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ณ ที่พักในอองโตนี ชานกรุง ปารีส โดย ดร. จริยวัฒน์ สันตะบุตร ในคราวครบรอบ 50 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475) แม้ว่าความพยายามครั้งสำคัญของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจะต้องพบกับความปราชัยในคราว "กบฏบวรเดช" ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 หากเส้นทางการโต้อภิวัฒน์ก็หาได้ถึงจุดตีบตันแต่อย่างใด

ทั้งนี้ "ธง" สำคัญที่ดูจะถูกใช้นำการเคลื่อนไหวดังกล่าว คือธง "สถาบันกษัตริย์" และทุกครั้งจะนำไปสู่การ "ยึดอำนาจการปกครอง" และ/หรือ การล้อมสังหารประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยด้วยข้อกล่าวหาที่กลายเป็น "ข้ออ้างสำเร็จรูป" คือ การประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์และการวางแผนเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว

ข้อกล่าวหา "ร้ายแรง" นี้ เริ่มขึ้นโดยเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจาก "กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล" ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ แม้ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกา ก็ยังไม่มีบทสรุปที่กระจ่างชัดเจน นำไปสู่การเกิด "ทฤษฎีสมคบคิด" หลากหลายซึ่งพยายามจะอธิบายกรณีที่เกิดขึ้น ว่าเป็นการปลงพระชนม์โดยบุคคลอื่น หรือทรงกระทำการอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง

ทั้งนี้ สำหรับทฤษฎีที่ว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ คำถามที่เกิดตามมาคือ ใครอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคต? จำเลยที่ถูกศาลฎีกาตัดสินว่ากระทำความผิดนั้น แท้จริงเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่?

กรณีสวรรคตฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ทำให้ศัตรูทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มอำนาจเก่า ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในโรงละครศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายปรีดีในเดือนสิงหาคม 2489 และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายปรีดี ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นอีกเพียงปีเศษ คือในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489

คณะรัฐประหารได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้า เพื่อเข้าจับกุมตัวนายปรีดี ซึ่งหลบหนีไปได้ภายใต้การอารักขาของทหารเรือและได้อาศัยฐานทัพเรือสัตหีบเป็นที่หลบภัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จึงได้ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2491 จึงออกเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังจากนั้นอีก 30 ปี ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 การชุมนุมของชมรมแม่บ้านที่ลานพระรูปทรงม้า ประท้วงรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช กรณีการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม มีการหยิบยกเอาภาพถ่ายการแสดงละครของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ลานโพธิในเที่ยงวันที่ 4 ซึ่งเป็นละครสะท้อนเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้าผู้ประท้วงสามเณรถนอมที่นครปฐม 2 คน และถูกตีพิมพ์ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม มีการขยายความว่า ใบหน้าผู้แสดงเป็นช่างไฟฟ้าที่กำลังถูกแขวนคอในภาพนั้นเหมือนพระบรมโอรสาธิราช เป็นการจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

จากนั้นกลุ่มจัดตั้งขวาจัดต่างๆ ได้แพร่กระจายข้อกล่าวหานี้ออกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ สถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งออกอากาศปลุกระดมความเกลียดชังที่พุ่งเป้าไปที่นิสิตนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์อย่างหนักไม่หยุดตลอด บ่ายวันที่ 5 จนเช้าวันที่ 6 มีการเรียกร้องให้จัดการกับนักศึกษาขั้นเด็ดขาด กระตุ้นความโกรธแค้นผู้ฟัง ขณะที่ นสพ.ดาวสยาม ได้ตีพิมพ์กรอบบ่ายเพิ่มเป็นพิเศษเผยแพร่เฉพาะในกรุงเทพฯ ในหน้า 1 เกือบเต็มหน้า ขยายรูปที่กล่าวหาว่าเป็นการ "แขวนคอหุ่นเหมือนฟ้าชาย"

เป็นที่มาของ "เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ" หรือการล้อมสังหารอย่างอำมหิต มีผู้เสียชีวิตเป็นทางการ 41 คน บาดเจ็บและถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก และเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองโดยคณะนายทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นผลให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ต้องพ้นจากตำแหน่ง

และล่าสุด ในการชุมนุมทางการเมืองของมวลชน "เสื้อแดง" ช่วงปี 2552-2553 ที่นำโดย "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ฝ่ายความมั่นคงโดย "ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)" ซึ่งเปลี่ยนชื่อและการบังคับบัญชาภายหลังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จาก "ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอรส.)" เป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นจากการประกาศพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ได้ออกมาระบุถึง "ขบวนการล้มเจ้า" คือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเคลื่อนไหวโดยใช้สื่อสารมวลชนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต การกล่าวหาด้วยข้อหานี้ในสังคมไทยนับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลต่อจิตวิทยามวลชนที่เคยชินกับการเสพข่าวสารด้านเดียว โดยเฉพาะความเชื่อถืออย่างไม่โต้แย้งจากการ "ตอกย้ำ" ซ้ำๆกัน หรือมีลักษณะเป็นการปลุกกระแส สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงและกำลังอาวุธเข้ากระทำต่อผู้ชุมนุมทาง การเมือง จนในที่สุดมีผู้เสียชีวิต 93 คนและบาดเจ็บประมาณ 2,000 คน

คำอธิบายล่าสุดจาก นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า "แผนผังล้มเจ้า นั้นเสนอขึ้นมาโดยฝ่ายข่าวด้านความมั่นคง แต่ยืนยันไม่ได้ว่าจากใคร"

ความแตกต่างเพียงประการเดียวจากเหตุการณ์ "สังหารหมู่" ทั้งสองครั้ง คือในปี 2519 เป็นการใช้ "กำลังจัดตั้งพลเรือน" ที่ประกอบด้วย "ลูกเสือชาวบ้าน" และกลุ่ม "นวพล" รวมทั้งกลุ่ม "กระทิงแดง" ในขณะที่ในปี 2553 ใช้ "กำลังติดอาวุธของกองทัพ" ในเครื่องแบบ

ทว่าที่เหมือนกันในทุกครั้งคือ ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ยังความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินมากเพียงใด การสอบค้นหา "ความรับผิด" ในการสร้างข่าวสารที่บิดเบือนนั้น ไม่สามารถทำความจริงให้กระจ่างได้แม้แต่ครั้งเดียว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

"การเยียวยาเพื่อปรองดอง" กับ "การทำความจริงให้ปรากฏ"

"การเยียวยาเพื่อปรองดอง" กับ "การทำความจริงให้ปรากฏ"



หลังจาก คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องเงินชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 โดยเฉพาะการจ่ายเงินซึ่งอาจสูงถึงรายละ 7.75-7.95 ล้านบาท ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งรวมทั้งผุ้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้าน และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ได้เปิดแถลงชี้แจงว่าตัวเลขเงินชดเชย/เยียวยาแก่ญาติผู้เสียชีวิต ที่น่าจะสูงเกินไปจากการประมาณการเบื้องต้นซึ่งจะจ่ายเงินให้กับญาติผู้เสียชีวิตรายละ 3 ล้านบาท

แล้ว "สงครามวาทกรรม" ระหว่าง "คู่ขัดแย้งทางการเมือง" และ "ขั้วอำนาจทางการเมือง" ที่ดำเนินมาตลอดระยะเฉียดหนึ่งทศวรรษ ก็เปิดแนวรบด้านที่ 2 ที่มีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของสาธรณชนพอๆกับ กรณี "กฎหมายอาญามาตรา 112" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

ประเด็นนี้มีเนื้อหาที่จำเป็นต้องพิจารณา 2 ด้าน

ด้านแรก คือสถานการณ์ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว คือ ในขณะที่ทางรัฐบาลเห็นว่าหากไม่มีการเยียวยาจะไม่มีการปรองดอง ทางพรรคฝ่ายค้าน โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องนี้ ว่า มติดังกล่าวเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปดำเนินการ และอาจเข้าข่ายตามข้อกฎหมายมาตรา 9 ของศาลปกครอง กรณีเป็นการออกคำสั่งที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ยังได้ขยายความออกไปโดยเสนอให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เจ้าหน้าที่และประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนั้น ทางด้าน "แกนนำ" ในการชุมนุมทางการเมืองในปี 2552-2553 ที่ประกอบด้วย นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสมหวัง อัสราษี รองประธาน นปช. และนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. ร่วมกันแถลงข่าว ว่า นปช.มีความพอใจในตัวเลขการชดเชย โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการเยียวยาไม่มีคำว่าแพงไปเพราะสังคมไทยบอบช้ำมามาก สิ่งสำคัญคือต้องไม่มีการฆ่าคนกลางถนนอีก และการเยียวยาผู้เสียชีวิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะพวกเขาไม่ได้เสียชีวิตด้วยเรื่องส่วนตัว

ด้านที่สอง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงเป็นด้านหลัก ที่มีความสำคัญมากกว่าการ "ชดเชย" และ "เยียวยา" ในสิ่งซึ่งมีค่ามากกว่า นั่นคือ การทำความจริงให้ปรากฏ ทั้งนี้ ย่อมหมายรวมทั้งการยืนยันในหลักการที่ว่า "รัฐประชาธิปไตย" ไม่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการคิดและการแสดงความคิด ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตย ในที่นี้ประเด็นคือ "ท่าที" ของรัฐต่อการใช้ความรุนแรง "กระทำ" ต่อประชาชนภายในรัฐเอง ขออนุญาตยกข้อเท็จจริงในส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์ยุคใกล้ 3 กรณีที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชน

กรณีแรก "การกระหน่ำยิงที่มหาวิทยาลัยเคนต์" หรือ "การล้อมสังหาร 4 พฤษภาคม" เกิดขึ้นในระหว่างที่นักศึกษา Kent State University ในเมือง Kent มลรัฐ Ohio ก่อการประท้วงรัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดี Richard Nixon ประกาศเรื่องการส่งกำลังทหารเข้ารุกรานกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2513 และในวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม มีการส่งกองกำลังรักษาดินแดนของรัฐโอไฮโอ หรือ Ohio National Guard เข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษา ผลจากคำสั่งระดมยิง 67 ชุดในเวลา 13 วินาที เป็นเหตุให้นักศีกษาชายหญิงเสียเชีวิตทันที่ 3 ราย และเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีก 1 ราย และบาดเจ็บอีก 9 ราย ปัจจุบันมีการบรรจุเรื่องราวเหตุการณ์ไว้ในแบบเรียนในสหรัฐ เพื่อเป็นข้อยืนยันว่า รัฐบาล "ไม่อาจ" ใช้กำลังทหารเข้าควบคุมการประท้วงตามสิทธิได้

กรณีที่ 2 "วันอาทิตย์นองเลือด" หรือ "การสังหารหมู่บ็อกไซต์" เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2515 ในเขตบ็อกไซต์ของเมืองเดอร์รี ไอร์แลนด์เหนือ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมือง 26 คน ถูกยิงโดยกรมทหารพลร่มแห่งกองทัพอังกฤษ ระหว่างการเดินชุมนุมของสมาพันธ์สิทธิพลเมืองไอร์แลนด์เหนือ จนมีผู้เสียชีวิตทันที 13 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นวัยรุ่น 7 คน และยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนในอีก 4 เดือนครึ่งให้หลัง ผู้ชุมนุม 2 คนได้รับบาดเจ็บ เมื่อพวกเขาถูกไล่ตามโดยพาหนะของกองทัพ มีพยานหลายคน รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ระบุได้ชัดเจนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกยิงนั้นมิได้มีอาวุธ ซึ่งมี 5 คนถูกยิงเข้าทางด้านหลัง

ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553 นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาประกาศแสดงความเสียใจและขอโทษแก่เหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นองเลือด หลังผลสอบสวนระบุว่าทหารหน่วยปราบปรามจลาจลสลายการชุมนุมผิดหลักสากล ใช้อาวุธปราบผู้ชุมนุมมือเปล่าโดยไม่ได้ส่งสัญญาณเตือน การกระทำของกองทัพอังกฤษ เป็น "สิ่งที่ไม่สมควร"

และกรณีที่ 3 เหตุการณ์ "เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู" หรือ "การสังหารหมู่ที่กวางจู" เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 18-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 เริ่มต้นจากการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยในจอนนัม จนกระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม ก็มีประชาชนมากกว่า 300,000 คนเข้ายึดอาวุธที่สถานีตำรวจและก่อตั้ง "กองทัพประชาชน" จนเข้าควบคุมเมืองทั้งหมดไว้ได้ ในวันที่ 27 พฤษภาคม รัฐบาลจึงส่งกองกำลังทหารทั้งทางบกและทางอากาศมากกว่า 200,000 นาย เข้ากวาดล้างกลุ่มผู้ชุมนุมโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 90 นาที และเข้ายึดพื้นที่ทั้งหมดได้เมื่อเวลา 4.00 น.

จากรายงานของรัฐบาล ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นประชาชน 144 คน ทหาร 22 คน และตำรวจ 4 คน มีผู้บาดเจ็บเป็นประชาชน 127 คน ทหาร 109 คน ตำรวจ 144 คน แต่จากรายงานของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต ระบุว่าประชาชนอย่างน้อย 165 คน มีผู้สูญหาย 65 คน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตทั้งหมด

จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2539 ศาลอาญาประจำกรุงโซล จึงมีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตนายพลชุน ดูฮวาน จำเลยที่หนึ่ง และจำคุกนายพลโรห์ แตวู จำเลยที่สอง 22 ปี 6 เดือน และจำคุกนายพลอื่นๆ อีก 13 คน

ประเด็นคือ ทั้ง 3 เหตุการณ์เกิดขึ้นในระบอบการปกครองที่ต่างออกไป หากดำเนินการไปสู่ข้อยุติที่ประชาชน ไม่ใช่ "ผู้ก่อการร้าย" ในระบบการปกครองเดียวกันคือระบอบประชาธิปไตย หากแต่ต่างระบบ คือมีทั้ง ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐ ระบบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ และระบบสาธาณรัฐของเกาหลี

คำถามสำหรับประเทศไทย คือ นับจาก "เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" จนถึงกรณี "พฤษภาคมอำมหิต 2553" ในภาวการณ์ที่อำนาจอธิปไตยยังไม่อาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และกองทัพภายใต้การนำของรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะสามารถทำความจริงให้ปรากฏ และนำไปสู่ข้อสรุปที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

ระลึก 'วันสตรีสากล' 8 มีนาคม สดุดี 'คลารา เซทคิน' กับเพื่อนหญิง

ระลึก 'วันสตรีสากล' 8 มีนาคม
สดุดี 'คลารา เซทคิน' กับเพื่อนหญิง


   
การเมืองในประเทศกำลังอยู่ในสภาวะ "เขาวงกตแห่งอำนาจ" อีกครั้ง เมื่อ "เสถียรภาพของรัฐบาล" กลายเป็นอย่างเดียวกับ "ความมั่นคงแห่งรัฐ" จึงเกิดอาการฝุ่นตลบขึ้นหลายๆส่วนในแวดวง "นักเลือกตั้ง" ในสภา รวมทั้งยุทธการ "เกทับ-บลั๊ฟแหลก" ของการเคลื่อนไหวนอกสภาทุกสีเสื้อ แม้ในฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มจะมีผู้คนทั้งที่ออกหน้าออกตาในฐานะแกนนำ และทั้งที่เป็น "มวลชนคนรากหญ้า" ที่สะท้อนการเรียกร้องความแจ่มชัดในการเคลื่อนขบวน "คนเสื้อแดง" หนาหูยิ่งขึ้นทุกที

ธง "ประชาธิปไตย" กำลังถูกทดสอบในท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการ "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" ตรรกที่ "one for all" หรือ "all for one" เป็นคำถามถึงจุดยืนและท่าทีของทั้งขบวนไปโดยปริยาย และสภาพอึมครึมนี้ น่าจะยังคงครอบคลุมภาวการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทยไปอีกระยะ หนึ่ง อย่างน้อยก็กว่าจะถึงกำหนดนัดหมายของ "คนเสื้อแดง" และปรากฏการณ์ซึ่งมีการสนับสนุนในทางสากลที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อน นั่นคือการโต้แย้งและการเคลื่อนไหวในเสรีภาพทางความคิด ที่พุ่งเป้าไปที่ "อำมาตยาธิปไตย" ที่ฉกฉวยนำ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ไปใช้ลากไกลจากวัตถุประสงค์เดิมของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยทุกฉบับของ ประเทศไทยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ในวาระที่อีกเพียง 2 วัน ก็จะเวียนมาถึงวาระสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิโดยชอบธรรมของมนุษยชาติอีกคำรบหนึ่ง นั่นคือ การรำลึก "วันสตรีสากล" 8 มีนาคม

นับจากการล้อมสังหารนิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการทำลายขบวนการประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 องค์การประชาธิปไตยทั้งหมด หากไม่ถูกกำจัดออกไปจากบริบททางสังคม ก็ถูกควบคุม ตัดตอน-บิดเบือนเนื้อหา ไปจากเป้าหมายที่เป็นองค์ประกอบหลักของอุดมการณ์ประชาธิปไตยแทบจะโดยสิ้น เชิง มีเพียงการเคลื่อนไหวส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดชูธง "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

ทั้งนี้ไม่ต่างไปจากการเลือนความหมายของ "วันสตรีสากล" ที่หลงเหลือเพียงกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ และการประกาศ "เกียรติคุณสตรี" ในทัศนะ "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" ซึ่งเป็นเนื้อหลักของปรัชญาที่ครอบงำสังคมไทยมาตลอด ที่สำคัญ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชื่อ "คลารา เซทคิน" ก็ถูกลบเลือนไปจากสารบบของขบวนการแรงงาน และขบวนการสิทธิสตรีแทบจะโดยสิ้นเชิง อาจจะหลงเหลืออยู่บ้างก็ในหมู่ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่ไม่อยู่ใต้อิทธิพล "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" หรือในหมู่ผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงาน ที่ยังคง "ซื่อสัตย์" ต่อภาระหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้แรงงาน

"คลารา เซทคิน" ผู้นำกรรมกรสตรีและนักสังคมนิยมชาวเยอรมันมีบทบาทและมีส่วนอย่างสำคัญในการ นำกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าในนครชิคาโก ก่อการประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากการทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง เพื่อแลกกับค่าตอบแทนในแรงงานเพียงน้อยนิด เมื่อตั้งครรภ์ก็ต้องถูกไล่ออกจากงาน ต่อมาขยายเป็นการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีกรรมกรหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีในหลายประเทศในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นขณะที่แนวความคิด "สังคมนิยม" เริ่มมีอิทธิพลในหมู่ผู้ใช้แรงงานในยุโรป

จากนั้น อีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้อง "3-8" ของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย รวมทั้งการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

และประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสตรีผู้ใช้แรงงาน ก็ต้องจารึกว่า ที่ประชุมได้รับรองข้อเสนอของ คลาร่า เซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล

คลารา (ไอส์เนอร์) เซทคิน เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1857 ในแคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมนี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1933 ที่กรุงมอสโคว์ ประเทศสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันกลับไปใช้ชื่อ รัสเซีย) ในปี 1917 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิก พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของเยอรมนี และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในฝ่ายซ้ายสุดขั้วของพรรคนี้ นั่นคือ สันนิบาตสปาร์ตาคิสต์ (Spartacist League) ซึ่งต่อมากลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี

แม้การต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า ที่จะมีเสรีภาพจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะถือกำเนิดมาพร้อมๆกับสังคมที่เอารัดเอาเปรียบกันมาช้านาน ก่อนขบวนการลุกขึ้นสู้ของผู้นำสตรีอย่างคลารา เซทคิน แต่การก้าวออกมายืนเด่นเป็นสง่าท้าทายอำนาจทั้งปวงที่ไม่ชอบธรรมเหล่านั้น เป็นกำลังใจและเป็นคบไฟที่ส่งยื่นให้แก่ "เสรีชน" ทั้งหญิงชายสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

ในวาระสุกดิบครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล ขอสดุดี "ผู้หญิง" ทุกคนที่ทุ่มอุทิศตนแก่สิทธิของสตรีและสิทธิของมนุษยชน ชื่อของเธอเหล่านั้น นับจาก สำราญ คำกลั่น มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และจนที่สุด จิตรา คชเดช จะคงอยู่ในใจของเสรีชนตลอดไป.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ศุกร์ 6 มีนาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

รัฐธรรมนูญของใคร: "แก้" หรือ "สร้างใหม่"

รัฐธรรมนูญของใคร: "แก้" หรือ "สร้างใหม่"



เวลานี้ และ/หรือ เวลาไหนๆ ในท่ามกลางกระแสเคลื่อนไหว แถลงข่าวทำประชามติก็ดี เข้าชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อก็ดี ในประเด็นแก้หรือไม่แก้ "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ในหลากหลายขั้วการเมือง มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยบางส่วน ละเว้นเสียไม่พูดถึงบางส่วน รวมทั้งในปีกสุดโต่งปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่ประกาศคัดค้านหัวชนฝา และเตรียมระดมมวลชนวัดกำลัง โดยเฉพาะการ "จับแพะชนแกะ" โดยไม่สามารถจำแนกได้ระหว่างประเด็นการเสนอให้มีการแก้ไข "รัฐธรรมนูญ" กับประเด็นที่ประชาชนไทยบางส่วน ที่ประกอบด้วยกลุ่ม องค์กร และนักคิดนักเขียนอิสระ กำลังนำเสนอประเด็นให้สังคมมีการทบทวน "กฎหมายอาญา มาตรา 112" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

ข้อเท็จที่ถูกละเลยมาตลอดในขบวนที่ประกาศ "ประชาธิปไตย" ทั้ง 2 ปีก หนึ่งคือ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ซึ่งดูจะหมดบทบาททางสังคมไปเรียบร้อยแล้ว กับอีกปีกหนึ่งคือ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" หลังจากการเลือกตั้ง 3 สิงหาคม 2554 ยังคงการเคลื่อนไหวในระดับกลุ่มย่อยและในบางภูมิภาค คือ คำถามคือ ใน 5 ปีหลัง "รัฐประหารอัปยศ 2549" ทุกแกนนำการเคลื่อนไหว ได้ลงแรงทำความเข้าใจหรือไม่กับมวลมหาประชาชน (ตามวาทกรรมเจนหูทั้งผู้พูดและคนฟัง) ว่า ประการแรก การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ประการถัดมา ประชาธิปไตยที่พึงประสงค์ของสังคมไทยนั้นคืออย่างไร ประการที่สาม รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตยนั้น ควรมีองค์ประกอบอย่างไร และประการสุดท้าย ประเทศไทยในปัจจุบันปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

สิ่งที่พึงระวังคือ ในท่ามกลางการคัดค้านเปิดโปง "กฎโจร" ของหลายฝ่าย ประชาชนมีภารกิจต้องทำความเข้าใจให้มากที่สุดถึงแนวทางที่แหลมคมที่สุด เป็นรูปธรรมที่สุดในเป้าหมาย "โค่นระบอบเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์" มีแต่การทำความเข้าใจใน "เนื้อแท้" ของประชาธิปไตยอย่างปราศจากอคติทางผลประโยชน์แอบแฝงของขั้วอำนาจทางการเมือง เท่านั้น จึงจะสามารถมองทะลุและก้าวข้ามความพยายามของขั้วอำนาจการเมืองที่ชิงความได้ เปรียบในการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังเช่นที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาตลอดนับจากการ "รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490" อันเป็นก้าวแรกในความสำเร็จของ "กลุ่มโต้อภิวัฒน์" ในการบ่อนทำลายเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่นำโดยคณะราษฎร นับจากการ "อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475" ซึ่งกำลังจะครบวาระ 80 ปี ในพุทธศักราช 2555 นี้

5 ปีเศษนับจากการ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549" น้อยครั้งที่จะมีการประกาศย้ำยืนยัน หลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน" ข้อเสนอในการชุมนุมมวลชนที่นำโดย นปช. จนนำไปสู่กรณี "สงกรานต์เลือด 2552" ที่ประกอบด้วย 1. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี 2. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ 3. บริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปรับปรุงใดๆ ให้ดีขึ้นตามหลักสากล ต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างนักประชาธิปไตยผู้มีประวัติและพฤติกรรมเชิดชูระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ประจักษ์ นั้น จนถึงเวลานี้ ข้อเรียกร้องเหล่านั้นกลายเป็นอีกหนึ่งใน "วาทกรรมว่างเปล่า" ของสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว

และอีกครั้งหนึ่งในปีถัดมา การชุมนุมใหญ่ที่นำโดย นปช. ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 มีเป้าหมายเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ นำไปสู่กรณีนองเลือด 2 ครั้งในเวลาห่างกันเดือนเศษ คือ กรณี "เมษาโหด" เมื่อวันที่ 10 เมษายน และกรณี "พฤษภาอำมหิต" ระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม โดยมียอดรวมผู้เสียชีวิต 92 ราย บาดเจ็บ (จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บในรายงานนี้จะน้อยกว่าข้อมูลที่ถูกอ้างอิงกันโดยทั่วไปที่ระบุว่ามีประมาณ 2000 ราย เข้าใจว่า ตัวเลขดังกล่าวมาจากความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. ที่ระบุผลรวมทั้งผู้ป่วย/บาดเจ็บ/เสียชีวิต โดยตัวเลขนั้นครอบคลุมจำนวนผู้ป่วย 264 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 157 ราย รวม 421 ราย ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12 มีนาคม - 8 เมษายน 2553 ด้วย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประท้วงหรือเหตุการณ์ความรุนแรงที่สืบเนื่องจาก การประท้วงโดยตรง) แลกมากับการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ (3 กรกฎาคม 2554) เร็วขึ้นไม่กี่เดือน เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระจากการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 แกนนำการเคลื่อนไหว ทั้งที่เป็นพรรคการเมืองในแนวทางรัฐสภา และการเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภาที่นำโดย นปช. ก็ดูเหมือนจะยุติการขับเคลื่อนคัดค้านการรับประหาร 19 กันยาฯ ลงโดยสิ้นเชิง และสามารถ "ปรองดอง" ได้ด้วยดีกับ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะทหารที่ทำการรัฐประหารนั้น ภายใต้ชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข (คปค.)" ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)"

การรณรงค์ขับเคลื่อนเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็หยุดชะงักลงโดยสิ้นเชิง สังคมไทยถูกครอบงำทิศทางของความสนใจไปที่ 1. การจัดตั้งรัฐบาลผสม 2. กรณีนองเลือดในปี 2553 3.อุทกภัยใหญ่ 2554 ที่จนถึงตอนนี้ การสอบสวนหา "ความรับผิด" ที่นำไปสู่ความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบฉับพลันเช่นการ เกิดพายุ คลื่นยักษ์ หรือแผ่นดินไหว และ 4. การอภิปรายเพื่อผ่านมติกฎหมายงบประมาณฯ ประจำปี 2556

การขับเคลื่อนของภาคการเมืองที่ผ่านมา โดยเนื้อแท้แล้ว ยังถือได้ว่าห่างไกลจาก บทบัญญัติตาม มาตรา 1 ของ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่บัญญัติไว้ว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" โดยที่การเคลื่อนไหวกระแสหลัก ยังคงวนเวียนอยู่กับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" และ "การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" เช่นที่ผ่านมาทั้ง 15 ฉบับ นับจากรัฐธรรมนูญ 9 พฤศจิกายน 2490 หรือ "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม"

กล่าวอย่างถึงที่สุด การแก้ไขหรือไม่ อย่างไร หาใช่ประเด็นสำคัญสำหรับขบวนประชาธิปไตยประชาชนที่มีวุฒิภาวะ หากก่อนอื่น อยู่ที่รัฐธรรมนูญนั้นเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก

นั่นคือรัฐธรรมนูญนั้นประกาศอย่างถึงที่สุด และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ซึ่ง "หลักประกันแห่งสิทธิทั้งปวงและการแบ่งแยกอำนาจโดยชัดเจน" อันประกอบด้วย 1. เสรีภาพโดยบริบูรณ์ของประชาชน ภายใต้หลักพื้นฐาน "ไม่ละเมิด" และ "ความรับผิด" และ 2. ความเท่าเทียมกันภายใต้หลักพื้นฐาน "หนึ่งคน หนึ่งเสียง".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข้อเสนอ: แนวทางการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์

ข้อเสนอ: แนวทางการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์



บทความชิ้นนี้เป็นการแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 5 จากการตีพิมพ์ครั้งแรก THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ปักษ์หลัง มกราคม 2553 คอลัมน์ เปิดหน้าปล่อยการ์ด เขียนโดย "อริน" ในชื่อ สู้เพื่อเป้าหมาย ประชาธิปไตยสมบูรณ์ "ไม่ชนะไม่เลิก" แค่ไหน-อย่างไร? จากการนำเสนอความคิดที่ยังไม่เป็นรูปธรรมก่อนหน้านั้นต่อเนื่องหลายครั้งบนอินเทอร์เน็ตหลายครั้ง

ในวาระการเปลี่ยนศักราชเข้าสู่ปี 2555 ขออนุญาตนำข้อเขียนที่เพิ่งปรับปรุงล่าสุดนี้ เสนอต่อสาธารณะด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รักไม่ต่างไปจากผู้รักประชาธิปไตยรักเสรีภาพทั้งหลาย และโดยเหตุปัจจัยที่พิจารณาแล้วหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาเมื่อวัน ที่ 10 พฤษภาคม 2554 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นั้น ลงชื่อโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ผลรูปธรรมที่เกิดขึ้นในการเมืองการปกครองภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่เรีกยกันว่า "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" นั้น ยังไม่อาจขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าใกล้ระบอบประชาธิปไตย ที่มีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการคือ 1.อำนาจ อธิปไตยเป็นของประชาชน, 2.ประชาชนมีเสรีภาพบริบูรณ์บนหลักการไม่ละเมิดและความรับผิด และ 3.ประชาชนมีความเสมอภาคกันตามหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียง

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงทำข้อเสนอนี้โดยชี้แจงไว้ในอารัมภบทย่อหน้าสุดท้ายใน "ข้อเสนอ 6 ข้อเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" จากการตีพิมพ์ครั้งแรก "ผมจึงตัดสินใจเสนอเป้าหมายรูปธรรมเบื้องต้น 6 ประการในการเสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวคิดสังเขป (จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้า ลึกลงไปในรายละเอียด ถึงความเป็นไปได้ และลำดับขั้น ในการผลักดันสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงต่อไป) ดังต่อไปนี้"

1. รัฐประชาธิปไตยที่แยกอำนาจอธิปไตย ออกเป็น 3 ส่วนอย่างเด็ดขาด ประการสำคัญที่สุด "ผู้แทนปวงชน" ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น โดย "สภาล่าง" หรือ "สภาผู้แทนราษฎร" เลือกตั้งมาจากเขตการเลือกตั้งตามจำนวนประชากร มีอำนาจหน้าที่เต็มสมบูรณ์ในการพิจารณาเสนอและผ่านกฎหมาย และ "สภาสูง" หรือ "สภาผู้แทนจังหวัด" เลือกตั้งโดยตรงเช่นในสหรัฐอเมริกา หรือโดยอ้อมผ่านสภาส่วนท้องถิ่นเช่นในฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้แทนจังหวัดละ 2 คน ทำหน้าที่ "สภาตรวจสอบ" แทนที่ "สภาพี่เลี้ยง" ที่มาจากการแต่งตั้ง ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นที่ผู้เขียนเคยเสนอต่อการประชุมสัมมนาทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือ ความเป็นไปได้ที่การตรวจสอบนี้ จะครอบคลุมไปถึงการแต่งตั้งตำแหน่ง "ผู้นำเหล่าทัพ" และ "ปลัดกระทรวง" ในฐานะข้าราชการประจำผู้มีอำนาจหน้าที่สูงสุดทั้งข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนของหน่วยงาน

2. สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง "ประมุขฝ่ายบริหาร" หรือ "นายกรัฐมนตรี" และเป็นตำแหน่งที่อยู่บนหลักการที่ว่า ไม่สามารถดำเนินการอย่างอื่นในการถอดถอนได้ เว้นไว้เสียแต่ด้วยกระบวนการอันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น กระบวนการยื่นถอดถอน (impeachment) ผ่านอำนาจอธิปไตย และ สอง "ผู้ว่าราชการจังหวัด" และรับรองใน "สิทธิอัตวินิจฉัยทางประชาชาติ" โดยยึดหลักท้องถิ่นมีความแตกต่างจากส่วนกลาง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

3. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องในประเด็นหลักถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นจาก "ผู้ต้องหาผิด จนกว่าจะพิสูจน์ตนเองได้ว่าบริสุทธิ์" มาสู่ "ผู้ต้องหาบริสุทธิ์ จนกว่าผู้กล่าวหาจะนำพิสูจน์ได้อย่างถ่องแท้ว่ามีความผิด"; ประเด็นถัดมา คือความเป็นไปได้ของการนำ "ระบบลูกขุน" มาใช้ในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้พิจารณาคดีที่มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการความเสมอภาคและหลักการเสรีภาพ ด้วยการ "ลงคะแนนเสียง" อย่างเป็น "ประชาธิปไตย"; ประเด็นถัดมา การเสนอและการรับรอง "ประมุขฝ่ายตุลาการ" ที่ผ่าน "ประมุขฝ่ายบริหาร" และ "รัฐสภา" เพื่อให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาธิปไตยโดยผ่านอำนาจอธิปไตยอีก 2 อำนาจที่มาโดยการเลือกตั้ง; และ การนำ "ระบบศาลเดี่ยว" มาใช้ ซึ่งประกอบไปด้วย ศาลชั้นต้น ศาลชั้นกลาง คือ "ศาลอุทธรณ์" และศาลสูง คือ "ศาลฎีกา" ทั้งนี้หมายความว่า "ศาลอื่น" ไม่มีอำนาจในการพิพากษาอรรถคดี; และประเด็นสุดท้ายบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด ต้องได้รับ "สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมโดยเปิดเผย" และได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดีรวมทั้งสิทธิในการได้รับ "การปล่อยตัวชั่วคราว"

4. "องค์กรอิสระทั้งหมด" ต้องออกจากรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้เป็นอำนาจอธิปไตย ไม่สามารถใช้อำนาจที่เป็นของปวงชนได้ตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตย นั่นคือองค์การทางการเมืองการปกครองใด "ต้อง" เกิดขึ้นและดำเนินงานภายใต้การตรวจสอบได้โดยผู้แทนปวงชน ซึ่งสำหรับประเด็นการตรวจสอบนั้น เสนอให้อยู่ในอำนาจของ "กรรมาธิการของสภาสูง" หรือ "สภาผู้แทนจังหวัด" ตามข่อ 1

5. ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของหนึ่งในองค์กรนอกอำนาจอธิปไตย ซึ่งได้แก่ "องคมนตรี" อยู่ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้โดยอาศัย "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475; "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม" ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ "ปราศจากองคมนตรี" หาก "องคมนตรี" หรือที่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 9 พฤศจิกายน 2490 ใช้ว่า "อภิรัฐมนตรี" เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัน ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม" อนึ่ง ข้อเสนอนี้มิได้เสนอ "ยกเลิก" องคมนตรีแต่ประการใด

6. การประกาศไว้ใน "บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" (ไม่ใช่เพียงใน "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ที่อาจถูก "ฉีก" โดยการทำรัฐประหาร) เป็นลายลักษณ์อักษรในลักษณะเป็นการบัญญัติเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ไม่อาจทำลายได้ และมีลักษณะเป็น "สัญญาประชาคม" ยืนยันอำนาจอธิปไตยที่ "เป็นของปวงชนชาวไทย" ทั้งโดย "รูปแบบ" และโดย "กระบวนการ" ทางการเมืองการปกครองทั้งมวล บนหลักการ "เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" จึงสมควรให้มีบทบัญญัติที่อยู่เหนือ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ให้ประชาชน "มีสิทธิเสรีภาพเต็มสมบูรณ์ ในอันที่จะลุกขึ้นต่อต้าน คัดค้านและตอบโต้ ทุกความพยายามในอันที่จะทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย"; นอกจากนี้ โดยหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ให้มีการรณรงค์ทั้งในและนอกสภา ในอันที่จะกำจัดเสียอย่างสิ้นเชิง ซึ่ง "คำสั่งทั้งหลายโดยการรัฐประหารซึ่งไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย" อาทิ "ประกาศคณะปฏิวัติ" "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผนดินฯ" "ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อย" "ประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" และ/หรือ คำสั่งหรือประกาศอื่นใดในทำนองเดียวกัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 มกราคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ปรับปรุงครั้งที่ 5 จากการตีพิมพ์ใน THAIFREEDOM
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ปักษ์หลัง มกราคม 2553:
สู้เพื่อเป้าหมาย ประชาธิปไตยสมบูรณ์ "ไม่ชนะไม่เลิก" แค่ไหน-อย่างไร?
คอลัมน์ เปิดหน้าปล่อยการ์ด เขียนโดย อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (14)

"รัด-ประ-หาร-2549" : ผลอันเกิดแต่เหตุที่ต้องลบล้าง

การ "ฆาตกรรมรัฐบาล" ครั้งล่าสุดในประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ผ่านมาแล้ว 5 ปี กับอีก 3 เดือนเศษ ไม่เพียงขยายความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและทางสังคมที่ก่อรูปมานับจากปลายปี 2547 ในช่วงปลายรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ

1. ล้มล้างรัฐบาลเลือกตั้ง

2. ล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีที่มาจากการรัฐประหาร

3. ให้กำเนิดสิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งเขียนอารัมภบทไว้ว่า "เหตุที่ทำการยึดอำนาจและประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้ อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ อันเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงทางการเมืองการปกครอง และปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็น ฝ่ายจนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอันเป็นวิกฤติการณ์รุนแรงทาง สังคม แม้หลายภาคส่วนจะได้ใช้ความพยายามแก้ไขวิกฤติการณ์ดังกล่าวแล้วแต่ก็ไม่เป็น ผล กลับมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกัน ซึ่งอาจมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อได้ นับว่าเป็นภยันตรายใหญ่หลวงต่อระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยของประเทศ จำเป็นต้องกำหนดกลไกทางปกครองที่เหมาะสมแก่สถานการณ์เพื่อใช้ไปพลางก่อน"

4. สุดท้ายเพื่อการสร้าง "ความชอบธรรม (จอมปลอม)" ในที่สุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ผ่าน "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" ออกมา และรองรับด้วยกระบวนการ "ลงประชามติ" ชนิดหมกเม็ด ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ 1. รับไปก่อนแล้วแก้ภายหลัง และ 2. ถ้าไม่รับจะบังคับใช้ด้วย "รัด-ทำ-มะ-นูน" ที่ยัดเยียดให้โดย คมช.

นั่นหมายถึง นับจากการ "ฆาตกรรมรัฐบาลเลือกตั้ง" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490" เป็นต้นมา ประเทศนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองโดย "ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ครั้งแล้วครั้งเล่า มีการยึดอำนาจการปกครองสำเร็จ 10 ครั้ง โดยมีสิ่งที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" เป็นกฎหมายสูงสุดถึง 15 ฉบับ ทั้งนี้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งรวม 21 ครั้ง และทั้งหมดนั้น ล้วนอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ และ/หรือ การกำหนด "อำนาจอธิปไตย" ที่หาได้เป็นของ "ปวงชนชาวไทย" ไว้ในรัฐธรรมนูญ

ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาในอดีต ในประเทศที่ "กล่าวอ้าง" ถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กลับถูกปกครองมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ด้วย "คำสั่งทั้งหลายโดยการรัฐประหารซึ่งไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย" ซึ่งได้แก่ "ประกาศคณะปฏิวัติ" "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง" "ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" มาจนถึงล่าสุด "ประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" และ/หรือ คำสั่งหรือประกาศอื่นๆในทำนองเดียวกัน และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติที่ "อ้าง" ประชาธิปไตย ดำเนินการทางรัฐสภา "กำจัด" เศษเดนหลงเหลือดังกล่าวของอำนาจเผด็จการออกจากสังคมไทยกันอย่างแท้จริงโดยที่ "ผู้แทนปวงชน" ซึ่งใช้อำนาจนิติบัญญัติ ดูเหมือนจะพากันละลืมข้อเท็จจริงที่ว่า "คำสั่งเผด็จอำนาจ" เหล่านั้น หาได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไม่ ทั้งยังมีท่าที "ยอมจำนน" ต่ออำนาจตุลาการ จนกลายเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายไปแล้ว ว่าคณะบุคคลที่ "ปล้นอำนาจรัฐ" โดยการ "ฉีกรัฐธรรมนูญ" นั้น ดำรงสถานะเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" โดยไม่อาจโต้แย้ง

ประเด็นสำคัญก็คือ การไม่ตระหนักและส่งผ่านองค์ความรู้แก่ประชาชนว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญสักกี่ฉบับ แม้จะมีการเลือกตั้งสักกี่ครั้ง ก็หาได้หมายความว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นประชาธิปไตยได้แต่อย่างใดไม่ ตราบใดที่ทั้งสองบริบทนั้น ไม่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

นั่นคือ การตอกย้ำอีกครั้ง ถึงภารกิจการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำจัดอุปสรรคสำคัญประการเดียว คือ "ระบอบเผด็จการ" จะโดยเต็มรูปแบบหรือหมกเม็ด สอดไส้ ซ่อนรูปอย่างใดก็แล้วแต่ ซึ่งตามมากับ "การรัฐประหาร"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา คณะอาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม "คณะนิติราษฎร์" ได้ออกคำแถลงการณ์เนื่องในโอกาส ครบรอบการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ 1 ปี เสนอ 4 ประเด็น คือ
(1) แนวคิดลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยา
(2) การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
(3) กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ภายหลังรัฐประหาร และ
(4) การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550


สำหรับในประเด็นที่ 1 การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในแถลงการณ์ ประการแรก ให้ "1. ประกาศให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย"

และต่อมาในวันที่ 25 กันยายน 2554 ที่ห้อง LT 1. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์แถลงข่าวกรณีข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐ ประหาร หลังข้อเสนอในครั้งแรกถูกตอบโต้จากฝ่ายการเมืองตลอดสัปดาห์ โดยในการนี้ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า "ในแถลงการณ์ของเรานั้นชัดเจนว่าไม่ใช่การนิรโทษกรรม ไม่ใช่การล้างมลทิน แม้แต่พูดอย่างนี้สื่อบางสำนักก็ยังบอกว่าเป็นการล้างความผิด ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เสนอให้ตรงไปตรงมาในเบื้องต้นก่อน ไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้สังคมเข้าใจผิด อาจะเป็นไปได้ว่าข้อเสนอครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การปกครองระบอบ ประชาธิปไตย 2475 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน สื่อจึงไม่สามารถเสนอตามความเป็นจริง และเหตุผลของเรามีน้ำหนักมากจนกระทั่งการเสนอข่าวตามความเป็นจริงจะทำให้สังคมคล้อยตามพวกเรา"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 31 ธันวาคม 2554-6 มกราคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (13)

"คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" และ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง"

เป็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้นที่สำคัญคือ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" ในขณะที่ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" อยู่ในเงื่อนไขที่ต่างออกไป

ใน "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12" เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป นั้น แบ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ใน ข้อ 1 "ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 พ้นจากตำแหน่ง" แต่ในขณะที่ ข้อ 2 "ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2549 คงอยู่ในตำแน่งต่อไป จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น" และผู้ว่าการ สตง. ตามคำสั่งนี้คือ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ซึ่งก้าวมาสู่ตำแหน่งโดยหลังจากที่ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ และกำหนดให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นองค์กรอิสระ โดยมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 10 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา จึงสมัครเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากผู้สมัครขาดคุณสมบัติ จึงมีผู้เสนอชื่อให้คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนแรก"

หลังการรัฐประหาร 2549 คุณหญิงจารุวรรณได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) และได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 นั้นเอง

มาในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่า สตง. ของคุณหญิงจารุวรรณว่าพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่มีอายุครบ 65 ปี โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เรียกร้องให้คุณหญิงจารุวรรณ ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว จนเกิดความขัดแย้งกันภายใน สตง. กระทั่งในเดือนตุลาคม 2553 ศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้การดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินของคุณหญิงจารุวรรณ สิ้นสุดลงเมื่อมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์แล้ว ในวันที่ 6 กันยายน 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีการกล่าวหาคุณหญิงจารุวรรณเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกับพวก จัดสัมมนาโครงการ "สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา" เป็นเท็จ และส่งเรื่องให้อัยการสูงสูดฟ้องต่อศาลฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

สำหรับในส่วนของ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.) ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ใช้อำนาจบริหาร (จัดการเลือกตั้ง) นิติบัญญัติ (ออกระเบียบและประกาศต่างๆ) และตุลาการ (วินิจฉัยชี้ขาดจัดการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง) ถือเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่หลักในการควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 5 คน เลือกสรรโดยวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียวเป็นเวลา 7 ปี ยกเว้นชุดแรก ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน (27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544) ตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ

กกต. ชุดที่สอง ที่ถูกตั้งฉายาว่า "สามหนาห้าห่วง" เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2544 โดยที่การสิ้นสุดวาระของ กกต. ชุดนี้ เป็นไปตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ศาลอาญาได้ตัดสินตามคำฟ้องของโจทย์คือ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ กกต. โดยการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทย เป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ 3 คนได้แก่ พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ต้องคำพิพากษาศาลอาญา ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา 3 คน ประธานแผนกคดีต่างๆ ในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา จำนวน 84 คน ได้ลงมติเพื่อสรรหาผู้สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 10 คน จากจำนวนผู้สมัคร 42 คน เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติคัดเลือกเหลือ 5 คน ทั้งนี้ คณะกรรมการเลือกตั้งชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 2 ปี ตามวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สอง

วันที่ 8 กันยายน 2549 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติคัดเลือกคณะกรรมการเลือกตั้ง ประกอบด้วย นายประพันธ์ นัยโกวิท, นายสุเมธ อุปนิสากร, นายอภิชาต สุขัคคานนท์, นายสมชัย จึงประเสริฐ และนางสดศรี สัตยธรรม

แต่ยังไม่ทันที่ กกต. ชุดนี้จะได้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 นาย วินิจฉัยว่าให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายนจนถึงการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 23 เมษายน เนื่องจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นเอง

ประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่ของ กกต. ชุดนี้ ที่แม้ว่าได้รับการสรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก่อนส่งให้วุฒิสภาคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง แต่ยังไม่ทันมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ก็เกิดการรัฐประหารโดยการนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินขึ้นเสียก่อน และในวันรุ่งขึ้นจากวันยึดอำนาจ คือวันที่ 20 กันยายน 2549 คปค. จึงได้ออก "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 13" เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้เหตุผลไว้ในวรรคแรกว่า "เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม และสามารถดำเนินการต่อไปได้ อย่างต่อเนื่อง" โดยให้กรรมการการเลือกตั้งชุดวันที่ 8 กันยายน คงทำหน้าที่ต่อไป "จนกว่าจะประกาศเป็นอย่างอื่น"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (12)

"ตุลาการรัฐธรรมนูญ" และ "ศาลรัฐธรรมนูญ"

สำหรับองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 นั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกประกาศอย่างต่อเนื่องทั้งยกเลิกบางองค์กรและให้คงมีผลบังคับใช้สำหรับ บางองค์กร นอกเหนือไปจาก "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)" หรือการจัดตั้งองค์ (เฉพาะกิจ) ขึ้นมาใหม่ ที่สำคัญคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจแล้ว องค์กรอิสระที่สำคัญอีก 2 องค์กร คือ "ศาลรัฐธรรมนูญ" และ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" ก็อยู่ในข่ายการเข้าดำเนินการโดยอาศัยอำนาจของคณะรัฐประหารเช่นกัน

ใน ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ลงชื่อโดย พลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ให้

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง
2.วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ
3.องคมนตรี คงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
4.ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข


เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปี 2549 ได้สิ้นสภาพไปพร้อมกับศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับข้างต้นนั้นแล้ว จากนั้นในรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 อันประกอบด้วย 39 มาตรา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ในมาตรา 35 ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่แทน โดยที่มีบทบัญญัติไว้ว่า ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ

นั่นคือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ซึ่งเป็นองค์คณะวินิจฉัยความผิดใน คดีประวัติศาสตร์ "ยุบ 2 พรรคใหญ่" ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จึงประกอบด้วย

นายปัญญา ถนอมรอด ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายอักขราทร จุฬารัตน รองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายสมชาย พงษธา ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายวิชัย ชื่นชมพูนุท ตุลาการรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่มีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550" โดยผ่านการทำประชามติแบบรวบรัดและมีเงื่อนไขที่มีลักษณะภาคบังคับในปลายปี 2550 แล้ว จึงมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้ 1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน 2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาล ปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน 3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน และ 4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและ ได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน

ปัจจุบัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วย

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
นายจรัญ ภักดีธนากุล
นายจรูญ อินทจาร
นายเฉลิมพล เอกอุระ
นายนุรักษ์ มาประณีต
นายบุญส่ง กุลบุปผา
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
นายสุพจน์ ไข่มุกด์
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ทั้งนี้ ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2553  ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นแกนนำในคณะรัฐบาล ปรากฏว่ามีการเผยแพร่สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ซึ่งมีเนื้อหาแสดงถึงการชักจูงให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยเหลือทางด้านคดี เป็นเหตุให้เกิดข้อครหาเกี่ยวกับการ ปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งขอถอนตัวจากการทำคดี เพื่อเลี่ยงความไม่เหมาะสม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8