Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

"การเยียวยาเพื่อปรองดอง" กับ "การทำความจริงให้ปรากฏ"

"การเยียวยาเพื่อปรองดอง" กับ "การทำความจริงให้ปรากฏ"



หลังจาก คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องเงินชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 โดยเฉพาะการจ่ายเงินซึ่งอาจสูงถึงรายละ 7.75-7.95 ล้านบาท ต่อมาในวันที่ 13 มกราคม มีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งรวมทั้งผุ้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้าน และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ได้เปิดแถลงชี้แจงว่าตัวเลขเงินชดเชย/เยียวยาแก่ญาติผู้เสียชีวิต ที่น่าจะสูงเกินไปจากการประมาณการเบื้องต้นซึ่งจะจ่ายเงินให้กับญาติผู้เสียชีวิตรายละ 3 ล้านบาท

แล้ว "สงครามวาทกรรม" ระหว่าง "คู่ขัดแย้งทางการเมือง" และ "ขั้วอำนาจทางการเมือง" ที่ดำเนินมาตลอดระยะเฉียดหนึ่งทศวรรษ ก็เปิดแนวรบด้านที่ 2 ที่มีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของสาธรณชนพอๆกับ กรณี "กฎหมายอาญามาตรา 112" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

ประเด็นนี้มีเนื้อหาที่จำเป็นต้องพิจารณา 2 ด้าน

ด้านแรก คือสถานการณ์ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว คือ ในขณะที่ทางรัฐบาลเห็นว่าหากไม่มีการเยียวยาจะไม่มีการปรองดอง ทางพรรคฝ่ายค้าน โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องนี้ ว่า มติดังกล่าวเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปดำเนินการ และอาจเข้าข่ายตามข้อกฎหมายมาตรา 9 ของศาลปกครอง กรณีเป็นการออกคำสั่งที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ยังได้ขยายความออกไปโดยเสนอให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เจ้าหน้าที่และประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนั้น ทางด้าน "แกนนำ" ในการชุมนุมทางการเมืองในปี 2552-2553 ที่ประกอบด้วย นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสมหวัง อัสราษี รองประธาน นปช. และนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. ร่วมกันแถลงข่าว ว่า นปช.มีความพอใจในตัวเลขการชดเชย โดยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการเยียวยาไม่มีคำว่าแพงไปเพราะสังคมไทยบอบช้ำมามาก สิ่งสำคัญคือต้องไม่มีการฆ่าคนกลางถนนอีก และการเยียวยาผู้เสียชีวิตไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะพวกเขาไม่ได้เสียชีวิตด้วยเรื่องส่วนตัว

ด้านที่สอง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงเป็นด้านหลัก ที่มีความสำคัญมากกว่าการ "ชดเชย" และ "เยียวยา" ในสิ่งซึ่งมีค่ามากกว่า นั่นคือ การทำความจริงให้ปรากฏ ทั้งนี้ ย่อมหมายรวมทั้งการยืนยันในหลักการที่ว่า "รัฐประชาธิปไตย" ไม่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการคิดและการแสดงความคิด ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตย ในที่นี้ประเด็นคือ "ท่าที" ของรัฐต่อการใช้ความรุนแรง "กระทำ" ต่อประชาชนภายในรัฐเอง ขออนุญาตยกข้อเท็จจริงในส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์ยุคใกล้ 3 กรณีที่เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชน

กรณีแรก "การกระหน่ำยิงที่มหาวิทยาลัยเคนต์" หรือ "การล้อมสังหาร 4 พฤษภาคม" เกิดขึ้นในระหว่างที่นักศึกษา Kent State University ในเมือง Kent มลรัฐ Ohio ก่อการประท้วงรัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดี Richard Nixon ประกาศเรื่องการส่งกำลังทหารเข้ารุกรานกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2513 และในวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม มีการส่งกองกำลังรักษาดินแดนของรัฐโอไฮโอ หรือ Ohio National Guard เข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษา ผลจากคำสั่งระดมยิง 67 ชุดในเวลา 13 วินาที เป็นเหตุให้นักศีกษาชายหญิงเสียเชีวิตทันที่ 3 ราย และเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีก 1 ราย และบาดเจ็บอีก 9 ราย ปัจจุบันมีการบรรจุเรื่องราวเหตุการณ์ไว้ในแบบเรียนในสหรัฐ เพื่อเป็นข้อยืนยันว่า รัฐบาล "ไม่อาจ" ใช้กำลังทหารเข้าควบคุมการประท้วงตามสิทธิได้

กรณีที่ 2 "วันอาทิตย์นองเลือด" หรือ "การสังหารหมู่บ็อกไซต์" เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2515 ในเขตบ็อกไซต์ของเมืองเดอร์รี ไอร์แลนด์เหนือ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมือง 26 คน ถูกยิงโดยกรมทหารพลร่มแห่งกองทัพอังกฤษ ระหว่างการเดินชุมนุมของสมาพันธ์สิทธิพลเมืองไอร์แลนด์เหนือ จนมีผู้เสียชีวิตทันที 13 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นวัยรุ่น 7 คน และยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนในอีก 4 เดือนครึ่งให้หลัง ผู้ชุมนุม 2 คนได้รับบาดเจ็บ เมื่อพวกเขาถูกไล่ตามโดยพาหนะของกองทัพ มีพยานหลายคน รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ระบุได้ชัดเจนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกยิงนั้นมิได้มีอาวุธ ซึ่งมี 5 คนถูกยิงเข้าทางด้านหลัง

ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553 นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาประกาศแสดงความเสียใจและขอโทษแก่เหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นองเลือด หลังผลสอบสวนระบุว่าทหารหน่วยปราบปรามจลาจลสลายการชุมนุมผิดหลักสากล ใช้อาวุธปราบผู้ชุมนุมมือเปล่าโดยไม่ได้ส่งสัญญาณเตือน การกระทำของกองทัพอังกฤษ เป็น "สิ่งที่ไม่สมควร"

และกรณีที่ 3 เหตุการณ์ "เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู" หรือ "การสังหารหมู่ที่กวางจู" เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 18-27 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 เริ่มต้นจากการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยในจอนนัม จนกระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม ก็มีประชาชนมากกว่า 300,000 คนเข้ายึดอาวุธที่สถานีตำรวจและก่อตั้ง "กองทัพประชาชน" จนเข้าควบคุมเมืองทั้งหมดไว้ได้ ในวันที่ 27 พฤษภาคม รัฐบาลจึงส่งกองกำลังทหารทั้งทางบกและทางอากาศมากกว่า 200,000 นาย เข้ากวาดล้างกลุ่มผู้ชุมนุมโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 90 นาที และเข้ายึดพื้นที่ทั้งหมดได้เมื่อเวลา 4.00 น.

จากรายงานของรัฐบาล ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นประชาชน 144 คน ทหาร 22 คน และตำรวจ 4 คน มีผู้บาดเจ็บเป็นประชาชน 127 คน ทหาร 109 คน ตำรวจ 144 คน แต่จากรายงานของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต ระบุว่าประชาชนอย่างน้อย 165 คน มีผู้สูญหาย 65 คน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตทั้งหมด

จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2539 ศาลอาญาประจำกรุงโซล จึงมีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตนายพลชุน ดูฮวาน จำเลยที่หนึ่ง และจำคุกนายพลโรห์ แตวู จำเลยที่สอง 22 ปี 6 เดือน และจำคุกนายพลอื่นๆ อีก 13 คน

ประเด็นคือ ทั้ง 3 เหตุการณ์เกิดขึ้นในระบอบการปกครองที่ต่างออกไป หากดำเนินการไปสู่ข้อยุติที่ประชาชน ไม่ใช่ "ผู้ก่อการร้าย" ในระบบการปกครองเดียวกันคือระบอบประชาธิปไตย หากแต่ต่างระบบ คือมีทั้ง ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐ ระบบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ และระบบสาธาณรัฐของเกาหลี

คำถามสำหรับประเทศไทย คือ นับจาก "เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" จนถึงกรณี "พฤษภาคมอำมหิต 2553" ในภาวการณ์ที่อำนาจอธิปไตยยังไม่อาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และกองทัพภายใต้การนำของรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะสามารถทำความจริงให้ปรากฏ และนำไปสู่ข้อสรุปที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 มกราคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8