Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บทความพิเศษ ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน (3)

ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน :
37 ปีใต้เงื้อมเงาของมารทมิฬ (3)

แถลงการ์ณร่วมของคณาจารย์ 6 มหาวิทยาลัย

เลนบี้: คุณเองเคยถูกขู่เอาชีวิตบ้างหรือไม่

ดร. บุญสนอง: ผมถูกขู่มากมาย โดยกลุ่มที่ไม่เปิดเผยชื่อ เมื่อไม่กี่วันก่อนนี้เองรถผมยังถูกลอบทำให้เสียหาย

เลนบี้: คุณจะปกป้องรักษาตังของคุณเองและเพื่อน ๆ ในพรรคของคนอย่างไร

ดร. บุญสนอง: สิ่งที่แน่ ๆ ก็คือ เราจะต้องไม่เอาแต่หวาดกลัวต่อการข่มขู่คุกคามเหล่านี้จนทำอะไรไม่ได้เลย เพราะนั่นยิ่งทำให้เราไม่อาจจะปกปักษ์ป้องกันตนเองจากจักรวรรดินิยมมหาอำนาจและสมุนของพวกเขา เราไม่อาจจะเดินไปไหนมาไหนโดยสวมเสื้อเกราะอยู่ตลอดเวลา จะมีก็แต่ประชาชนไทยเท่านั้นที่จะช่วยปกป้องไว้ได้ การคุกคามที่เราได้รับและการตอบโต้อย่างสงบของเราจะเป็นบทเรียนทางการเมืองที่จะทำให้ประชาชนไทยมองเห็นอะไรเป็นอะไรได้เร็วยิ่งขึ้น

เลนบี้: คุณเคยคิดที่จะใช้ชีวิตการรุนแรงเพื่อปกป้องตัวเองและสิทธิประชาธิปไตยของคุณบ้างหรือไม่

ดร. บุญสนอง: เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้เป็นประชาธิปไตยโดยไม่ใช้ความรุนแรง เราเป็นพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ที่ต้องการให้กรรมกร ชาวนา และนักศึกษา มีสิทธิอำนาจในประเทศของเขาเอง โดยวิธีที่เป็นประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง นี่เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา

เลนบี้: คุณคิดว่าฝ่ายสังคมนิยมจะสามารถได้อำนาจในสภาหรือไม่

ดร. บุญสนอง: ไม่ครับ ผมไม่เคยมีภาพฝันหวานเลยว่า พรรคของเราจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาในรัฐสภาได้ กลุ่มปฏิกิริยายังมีอำนาจอย่างมหาศาลอยู่ และก็ไม่ลังเลเลยที่จะให้อำนาจต่อต้านเรา พวกเขาคงไม่ยอมปล่อยให้เรามีโอกาสได้อำนาจในรัฐสภาเป็นแน่

เลนบี้: ทำไมคุณถึงไม่ลงสมัครเข้ารับเลือกตั้งในครั้งนี้

ดร. บุญสนอง: เพราะผมคิดว่า เรามีภาระที่จะต้องใช้โอกาสในขณะที่เผยแพร่ความคิดและให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน ทั้ง ๆ ที่เราถูกคุกคามและมีอุปสรรคยากลำบากต่าง ๆ นานาอยู่ จะถือเป็นความผิดของเราทีเดียว หากเราไม่พยายามเผยแพร่ความคิดทางการเมืองของเรา ตราบที่เรายังสามารถที่จะทำงานของเราอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่ได้ แต่ก็แน่ละว่าคงจะมีบางสถานการณ์ที่เราไม่อาจทำงานอย่างเปิดเผยต่อไปได้ สถานการณ์การเมืองในแต่ละช่วงแต่ละตอนควรได้รับการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน พรรคของเราจะทำอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงของสถานการณ์ เป็นปัญหาที่เราจะต้องถกเถียงกันภายในพรรค การคิดว่าพรรคของเราเป็นพรรคที่จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งละก็เป็นความคิดที่ผิด งานที่สำคัญที่สุดของเราคือการจัดตั้งมวลชนในกลุ่มของพรรคในโรงงาน ในหมู่ชาวนา ในหมู่นักศึกษา และในกลุ่มชนอื่น ๆ

ความหวังอันสูงสุดของพรรคเราก็คือ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศของเราเป็นไปโดยปราศจากความรุนแรงของการเสียเลือดเนื้อ ให้พรรคการเมืองทุก ๆ พรรคสามารถประกาศเผยแพร่อุดมการณ์การเมืองของตนได้อย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการข่มขู่ต่าง ๆ

เลนบี้: มีข่าวลือกันว่า คุณได้เงินจาก ซีไอเอ และบางกระแสก็ว่าคุณได้จาก เคจีบี

ดร. บุญสนอง: การสร้างข่าวลือและการใส่ร้ายป้ายสี เป็นวิธีการที่กลุ่มปฏิกิริยาใช้กัน เราไม่รับเงินจากต่างประเทศเหมือนพรรคอื่นบางพรรคอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะจากรัฐหรือบริษัทเอกชนของประเทศใด ๆ การเงินของเราทั้งหมดพึ่งพาบรรดาสมาชิกและผู้สนับสนุนอุดมการณ์ของเราเท่านั้น ซึ่งส่วนมาก็เป็นกลุ่มคนที่ยากจนอยู่ ผมยอมรับว่า พรรคของเรามีปัญหาทางการเงินสูงมากที่เห็นกันได้ง่าย ๆ ก็อย่างคราวนี้ เราส่งผู้สมัครทั้งหมด 125 คน เข้ารับเลือกตั้ง เราก็มีปัญหาทางการเงินแล้ว ผู้สมัครแต่ละคนจะต้องจ่ายเงินค่าสมัคร 4,000 บาท เราตั้งความหวังไว้ว่า เราจะมีผู้สมัครในทุกจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละคน หากเราได้รับเงินจาก ซี.ไอ.เอ. หรือ เค.จี.บี. หรือทั้งสองฝ่ายจริง เราก็คงจะไม่มีปัญหาทางการเงินหนักอย่างที่เป็นอยู่นี้

และเมื่อเราจบการสัมภาษณ์เราได้พูดขึ้นว่า เรากำลังพยายามจะติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้อำนวยการ กอ.รมน. พล.อ.สายหยุด เกิดผล ดร.บุญสนองยังบอกด้วยว่า "หากคุณได้พบท่าน ผมฝากบอกท่านด้วยว่า พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยหวังอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นได้จริง และเรายังหวังด้วยว่า เราจะสามารถทำงานทางการเมืองของเราในวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยได้"

ด้วยเหตุที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ดูจะเป็นผู้ที่มีงานยุ่งมากและเรายังไม่ได้เวลานัดสัมภาษณ์จากท่าน เราจึงขอส่งข้อความที่ ดร.บุญสนองฝากเราไว้ผ่าน “จัตุรัส” ถึง พล.อ.สายหยุด เกิดผล.


บทความพิเศษ โลกวันนี้ 1 มีนาคม 2556
ผู้เขียน รุ่งโรจน์ "อริน" วรรณศูทร

บทความพิเศษ ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน (2)

ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน :
37 ปีใต้เงื้อมเงาของมารทมิฬ (2)

คำไว้อาลัยจากองค์การบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากสมมติฐานด้านการข่าวของ "ผู้มีอำนาจเหนือรัฐ" และความหวาดกลัวการเติบโตของพลังประชาชน ขบวนการ "ขวาพิฆาตซ้าย" จึงดูเหมือนจะเร่งมือหนักขึ้น โดยหวังจะทำลายขวัญและกำลังใจ หรือกำราบจิตใจลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จนมีลักษณะ "ประชาธิปไตยเบ่งบาน" จากต้นปี 2519 การสังหารทางการเมืองจึงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีลักษณะอุกอาจหวังกดขวัญการเคลื่อนไหวและยับยั้งขบวนการประชาชน

เริ่มจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายปรีดา จินดานนท์ นักศึกษามหิดลและนักดนตรีวงดนตรีกรรมาชน ถูกรถชนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำที่หน้ามหาวิทยาลัย ถนนพระรามหก

จากนั้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายเผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกระทิงแดง ก็ประกาศหลักการทำงานของกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในกรณี 14 ตุลาฯ แต่ในเวลาต่อมามีหน่วยงานบางหน่วยที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคง ของรัฐเข้าไปมีอิทธิพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ้างวานให้ปฏิบัติงานในลักษณะก่อความรุนแรงอย่างต่อ เนื่องจาก "...จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป"

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายอมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายการเงินของศูนย์นิสิตฯ ถูกยิงเสียชีวิต ระหว่างไปออกค่ายฯที่อำเภอด่านขุนทด นครราชสีมา

และมาถึงกรณีสังหารอย่างอุกอาจ ที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงทางการเมืองที่หวนกลับมาอีกหลังยุคกวาดล้างในสมัย ป.พิบูลสงคราม คือ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ดร. บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถูกคนร้ายดักยิงเสียชีวิตที่หน้าประตูบ้าน ขณะขับรถยนต์ส่วนตัวกลับจากงานเลี้ยง

ก่อนหน้าการลอบสังหารไม่กี่ชั่วโมง ดร.บุญสนองประกาศว่า "เราต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรง" ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวชาวสวีเดน ปีเตอร์ เลนบี้ ซึ่งลงตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 36 เมื่อ 16 มีนาคม 2519.

"บทสัมภาษณ์: เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรง" มีเนื้อหาดังนี้

เราได้พบเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เมื่อ 11.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ในโรงแรมรีโน กรุงเทพฯ เราสนทนากันถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยและสงครามอินโดจีน เราคุยกันถึงการคุกคามที่ฝ่ายซ้ายกำลังเผชิญอยู่ และการคุกคามอื่น ๆ ที่มีผลให้ผู้นำฝ่ายซ้ายเสียชีวิตไปแล้วถึง 27 คน ตั้งแต่การเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง เขาก็ได้กลายเป็นเหยื่อรายที่ 28 ของการล่าสังหารที่กระทำกันอย่างเป็นขบวนการเพื่อทำลายผู้นำของฝ่ายกรรมกร ชาวนา และนักศึกษาในเมืองไทย

เลนบี้: สถานการ์ณการเมืองในเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศอินโดจีน

ดร. บุญสนอง: การปลดแอกของเวียดนาม ลาวและเขมร ได้กระตุ้นเร้าให้ประชาชนไทยที่มีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยในประเทศของเรา เพื่อปลดปล่อยตัวเราจากการขูดรีดทั้งภายในประเทศ และจากอิทธิพลของต่างประเทศ ขณะเดียวกันชัยชนะของประชาชนอินโดจีน ก็ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับจักรพรรดินิยมอเมริกัน และพวกคนไทยที่เป็นสมุนของอเมริกัน และตอนนี้พวกเขาก็กำลังเกรงกันว่า ฝ่ายซ้ายไทยจะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น พวกเขาจึงพยายามสร้างสถานการณ์ที่ตึงเครียดทางการเมืองขึ้นเพื่อหาโอกาสทำรัฐประหารข่มขู่คุกคาม ปาระเบิด และทำการฆาตกรรม วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการทำลายประชาธิปไตยที่ประชาชนไทยเพิ่งจะได้มาจาก 14 ตุลา 2516

เลนบี้: การข่มขู่คุกคามที่คุณกล่าวถึง อยู่ในรูปใดบ้าง และใครเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคุกคามทางการเมืองเหล่านี้

ดร. บุญสนอง: ตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วมา ผู้นำฝ่ายซ้าย 27 คนถูกลอบสังหารไป รวมทั้งคนของพรรคเราคนหนึ่งด้วย เรามีเหตุผลหลายข้อที่ทำให้เชื่อได้ว่าอเมริกัน ซี.ไอ.เอ. และขบวนการขวาจัดของไทยที่เรียกว่า “กระทิงแดง” เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคุกคามเหล่านี้ แต่ก็แน่แหละ มันยากที่จะพิสูจน์ออกมาให้ชัด ๆ เพราะศัตรูที่เราเผชิญอยู่นั้นมีอิทธิพลมหาศาล ซ้ำยังได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดีกับฝ่ายตำรวจไทยที่จะไม่ยื่นมือเข้าไปรบกวนด้วยการติดตามหาตัวฆาตกรเสียอีก.


บทความพิเศษ โลกวันนี้ 28 กุมภาพันธ์ 2556
ผู้เขียน รุ่งโรจน์ "อริน" วรรณศูทร

บทความพิเศษ ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน (1)

ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน :
37 ปีใต้เงื้อมเงาของมารทมิฬ (1)

คำแถลงไว้อาลัยจากแนวร่วมอิสระมธ

ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นนักวิชาการดุษฎีบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ด้วยหัวข้อวิทยานิพนธ์ "การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบเลือกปฏิบัติของไทย: การศึกษาด้วยการอ้างอิงเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น" (Thai Selective Social Change: A Study with Comparative Reference to Japan) อดีตหัวหน้าแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย โดยที่ใช่วงคาบเกี่ยวเหตุการณ์ 14 ตุลาคมฯ อันยิ่งใหญ่ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาททั้งทางความคิดและการขับเคลื่อนการต่อต้านเผด็จการแสะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ห่างหายจากสังคมไทยนับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

ดร. บุญสนองถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 1.30 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย การลอบสังหารดังกล่าว เกิดขึ้นในบรรยากาศทางการเมือง "ขวาพิฆาตซ้าย" มีการลอบสังหารผู้นำชาวนา กรรมกร นิสิตนักศึกษา และนักการเมืองหัวก้าวหน้า จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และอีกเพียง 8 เดือนให้หลัง ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

"ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย" เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2517 นับจากกรณีการลอบสังหารนายเมตตา อุดมเหล่า ผู้นำชาวนาแห่งมาบประชัน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2517 ซึ่งเป็นผู้นำตัวแทนประชาชนจากหลายหมู่บ้านจำนวน รวมกว่า 2,000 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลโป่ง อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งตระหนักว่าเป็นโครงการที่หาได้มีจุดมุ่งหมายมาใช้เพื่อการชลประทานในทางเกษตรกรรม หากเป็นการหล่อเลี้ยงเมืองพัทยา ที่กำลังจะมีการสร้างโรงแรมหลายแห่ง รวมทั้งสนามกอล์ฟ ทั้งนี้เกษตรกรและประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ได้เดินทางเข้ามาประท้วงรัฐบาลโดย ขอพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 กรกฎาคม และต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ต้องระงับโครงการไประยะหนึ่ง

วันที่ 23 สิงหาคม 2517 นักศึกษาคนแรกที่ถูกลอบสังหารนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อันยิ่งใหญ่ คือ นายแสง รุ่งนิรันดรกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีต 1 ใน 9 นักศึกษา อันได้แก่ แสง รุ่งนิรันดรกุล, วันชัย แซ่เตียว, บุญส่ง ชเลธร, วิสา คัญทัพ, สมพงษ์ สระกวี, สุเมธ สุวิทยะเสถียร, ชำนิ ศักดิเศรษฐ, ประเดิม ดำรงเจริญ และ กุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์ ที่ถูกคำสั่งของ ดร. ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดี ลบชื่อจากสถานภาพความเป็นนักศึกษาในกรณี "ทุ่งใหญ่นเรศวร" ซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516

สำหรับกรณีที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องและมีผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง ซึ่งมีผลกระทบไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็คือ การชุมนุมประท้วงคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ให้ย้ายนายธวัช มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการการจังหวัดพังงา ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เนื่องจากนายธวัชมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายนักศึกษาที่มุ่งพิทักษ์ทรัพยากรของ ประเทศในกรณีสัมปทานเหมืองบริษัทเทมโก จึงถูกกล่าวหาเสมอว่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ นักศึกษาประชาชนชาวพังงา รวมตัวกันชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางเพื่อคัดค้านคำสั่งในวัน ที่ 23 กันยายน 2518 การชุมนุมยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ก็เกิดเหตุร้ายเมื่อมีการวางระเบิดกลางที่ชุมนุม ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 17 คน โดยที่ก่อนหน้านี้ผู้นำกรรมกรที่เปิดประเด็นความไม่ชอบ มาพากลของเหมืองบริษัทดังกล่าว คือ นายสนอง ปัญชาญ ถูกยิงเสียชีวิตที่พังงาในวันที่ 25 มกราคมมาแล้ว

ครั้นถึงวันที่ 2 เมษายน 2518 นายนิสิต จิรโสภณ อดีตนักศึกษาผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "วลัญชทัศน์" มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อดีตหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ "มาตุคาม" ช่วงปี 2517 และหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ "อธิปัตย์" ของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือศูนย์นิสิตฯ เกิดเหตุตกรถไฟเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2518 ขณะไปทำข่าวการต่อสู้ของประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนำไปสู่กรณี "เผาจวนฯ" ตามมาด้วย นายมานะ อินทสุริยะ ผู้นำนักเรียนโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ถูกยิงตายขณะออกติดโปสเตอร์ต่อต้านฐานทัพสหรัฐที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน

ในวันที่ 8 สิงหาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ออกโทรทัศน์ชี้แจงต่อประชาชนถึงสถานการณ์ "ขวาพิฆาตซ้าย" ที่เพิ่งจะเริ่มต้น โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปราบปรามประชาชน แต่ยอมรับว่า... "การลอบสังหารผู้นำชาวนานั้น คล้ายมีขบวนการล่าสังหาร".


บทความพิเศษ โลกวันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2556
ผู้เขียน รุ่งโรจน์ "อริน" วรรณศูทร

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (46)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (12)

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม แถวยืนที่สองจากขวา) ถ่ายเมื่อครั้งเป็นขุนวิจิตรวรสาส์น  ตามเสด็จสมเด็จกรมหลวงดำรงราชานุภาพและกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมแกรนดยุคซาเรวิช รัชทายาทจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2434

เมื่อราชสำนักสยามได้รับรายงานของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงสภาพการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานั้นในพื้นที่ "จังหวัดชายแดนใต้" แล้ว ท่าทีและการตัดสินใจที่เกิดขึ้น นับว่ามีนัยสำคัญที่ส่งผลต่อนโยบายในการจัดการการปกครองและบริบทอื่นๆ ในอันที่จะแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามหรือขยายปัญหาต่อเนื่องตามมา โดยบทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอและวิเคราะห์ไว้ใน "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6"
**********
การตัดสินใจเชิงนโยบายของราชสำนักสยาม

รายงานอันลุ่มลึกด้วยเนื้อหาที่สะท้อนความเข้าใจถึงอัตลักษณ์พิเศษด้าน ต่าง ๆ ของสังคมที่เป็นมณฑลปัตตานีในทศวรรษ 2460 ของเจ้าพระยายมราชข้างต้น ตามมาด้วยความเร่าร้อนที่จะให้การแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลงอย่างรวดเร็ว วันรุ่งขึ้นหลังจากกราบบังคมทูลเสนอรายงานข้างต้น เจ้าพระยายมราชได้มีหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลอีกฉบับหนึ่งว่า ด้วยรู้สาเหตุแน่ชัดถึงความเดือดร้อนแล้ว และด้วยได้รับทราบจากสมเด็จอุปราชภาคปักษ์ใต้ว่า อับดุลกาเดร์ได้ยื่นหนังสือต่อข้าหลวงอังกฤษที่สิงคโปร์ เพื่อขอความช่วยเหลืออีกครั้ง จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตให้ปัตตานีได้รับการแก้ไขโดยรีบด่วน เพราะ "การที่จะคิดค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงใช้วิธีกลบเกลื่อนทีละเล็กละน้อยนั้น อาจไม่ทันกับความต้องการ บางทีจะทำให้พวกแขกเห็นไปว่าผู้หลักผู้ใหญ่ ก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่แกล้งรั้งรอเอาไว้ด้วยความลำเอียงช่วยเหลือแก่ข้าราชการ จะให้ดำเนินการรุนแรงต่อไป..ถ้ามีความคิดเช่นนี้ก็จะเกิดทิฏฐิดึงดันขึ้น จะไม่ระงับอยู่ได้" เจ้าพระยายมราชยังได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตโยกย้ายข้าราชการในมณฑลปัตตานีโดยด่วน ดังความว่า

.....เป็นการจำเปนที่จะต้องรีบเร่งจัดการรุถ่ายเสียงโดยด่วน ...ที่จะกลบเกลื่อนปกปิดอย่างไรก็คงไม่สิ้นเสียงได้ จึงควรทำให้เห็นว่า ตรงไปตรงมา เพราะเหตุว่าข้าราชการชุดนี้เปนผู้ที่ได้รับราชการมานาน มีความมึนชาเชื่องซึมจนเห็นว่าแขกเปนพลเมืองธรรมดา หลงลืมไปว่าลักษณะหนึ่งต่างหากจากการปกครองคนไทย ข้อสำคัญอันรุนแรงก็คือ ต่างฝ่ายต่างอาจเห็นเปนศัตรูกันและกัน ไม่เปนที่พึ่งพาอาศรัยไว้วางใจอุปถัมภ์ค้ำชูกันได้อย่างพ่อบ้าน ลูกบ้าน เนื่องจากเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แลต่างถือเอาเปนข้อขุ่นแค้นกัน... (กจช., ร.6 ม.22/12, เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเนาที่ 902 ที่ 5/1854 วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2466)

นอกจากจะกราบบังคมทูลขอให้เปลี่ยนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลและข้าราชการอีกหลายตำแหน่ง รวมทั้งข้าราชการผู้น้อยด้วยแล้ว เจ้าพระยายมราชยังกราบบังคมทูลให้ระงับประกาศประกาศการเก็บภาษีศก 111 (เรื่องการเก็บอากรเครื่องมือจับสัตว์น้ำ) เพื่อระงับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกที่มณฑลปัตตานีเป็นการชั่วคราว ส่วนการศึกษาและการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับศาสนา ได้ขอพระราชทานให้เจ้ากระทรวงรีบสั่งการแก้ไขโดยเร็ว

ด้วยน้ำหนักของข้อมูลและเหตุผลอันประกอบขึ้นจากความรอบรู้อย่างลุ่มลึกถึงอัตลักษณ์ทางวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อที่ผูกพันกับศาสนาของประชาชนในภูมิภาคนั้น ดังแสดงปรากฏในรายงาน และด้วยสถานะความสัมพันธ์อันเป็นพิเศษระหว่างเจ้าพระยายมราชกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ซึ่งกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้ทรงวิเคราะห์ไว้อย่างพิสดารและทรงสรุปไว้ว่า นอกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จะทรงใช้สอยเจ้าพระยายมราชในฐานะเสนาบดีและมุขมนตรีแล้ว ยังทรงยกย่องในฐานะอาจารย์และปราชญ์ และทรงชุบเลี้ยงในฐานะพระสหายและข้าในสกุล อีกด้วย (กรมหมื่นพิยลาภพฤฒิยากร, ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ภาคที่ 2 ตอนที่ 5,  หน้า 150) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระราชกระแสถึงเจ้าพระยายมราชด้วยความไว้วางพระทัยอย่างเต็มเปี่ยม ความว่า

....ได้อ่านรายงานของเจ้าพระยายมราชฉบับนี้แล้วโดยถ้วนถี่ เห็นว่าเจ้าพระยายมราชได้พิจารณากิจการโดยละเอียดและประกอบด้วยความรู้พิเศษอันได้เคยมีมา แต่เมื่อครั้งมีน่าที่เปนผู้ปกครองหัวเมืองมลายู เปนผู้รอบรู้และสันทัดแก่การงานสำหรับหัวเมืองเหล่านี้อย่างดีหาที่เปรียบได้โดยยาก....

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมอบให้เจ้าพระยายมราชจัดราชการทั้งหมด ดังพระราชกระแสความว่า "เราเชื่อว่าเจ้าพระยายมราชคงจะจัดดำเนินการดัดแปลงไปให้เหมาะแก่ภูมิประเทศและสภาพแห่งมณฑลปัตตานีได้ และเราขอกล่าวที่นี้ว่า เราวางใจในตัวเจ้าพระยายมราชโดยบริบูรณ์ทีเดียว" อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ด้วยเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงทรงมอบให้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เป็นประธานเรียกประชุมเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาข้อราชการตามที่ปรากฏในรายงานเจ้าพระยายมราช โดยมีพระราชกระแสให้ดำเนินการ ดังนี้ "...ปฤกษาหาฤากันในเรื่องที่จะแก้ไขดัดแปลงวิธีดำเนินไปโดยสะดวก อย่าให้ติดขัด หรือเปนเหตุเดือดร้อนแก่ประชาชนในมณฑลนั้นได้ต่อไป ให้ผู้เปนประธานและเสนาบดีทุกคนถือว่า นี่ เปนราชการสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งอาจให้ผลร้ายดีได้เปนอันมากในทางปกครอง และความมั่นคงความสงบแห่งพระราชอาณาจักร ฉะนั้น จงเอาประโยชน์แห่งราชการทั่วไปเปนใหญ่ ยิ่งกว่าเปนห่วงอำนาจวาสนาส่วนตัว หรือกระทรวงของตนโดยจำเพาะ หาไม่จะต้องพระราชตำหนิเปนแน่แท้ .."
(ยังมีต่อ)
**********
ที่น่าสนใจ และอาจถือเป็นหลักในการพิจารณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ในเวลาต่อมา คือ ท่าทีที่ "จริงใจ" และ "จริงจัง" ของราชสำนักสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อปัญหาการปกครองที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านชาติพันธุ์ ความเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ซึ่งพิจารณาได้จาก "การรับฟัง" รายงานของเจ้าพระยายมราช ทั้งในเชิงข้อเท็จจริง และในบริบทของการวิเคราะห์รากและแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ปัญหาต่างๆ ลุล่วงไปด้วยดี

และที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ คือ ข้อเสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทุกระดับในพื้นที่ ถึงขั้นเปลี่ยนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑล พร้อมกับให้ระงับประกาศประกาศการเก็บภาษีศก 111 เป็นการชั่วคราวนั้น นับเป็นจุดยืนและแนวทางในอันที่จะระงับมิให้ความขัดแย้งในพื้นพื้นที่ขยายตัวบานปลายออกไป ดังที่เคยเกิดขึ้นหรือส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นมาแล้ว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 มิถุนายน-5 กรกฎาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (45)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (11)

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม นั่งขวาสุด) ถ่ายเมื่อครั้งเป็นขุนวิจิตรวรสาส์น และภรรยา นางตลับ วิจิตรวรสาส์น (นั่งถัดมา) ร่วมกับเจ้านาย 4 พระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2432

แนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนโยบายการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางแบบเบ็ดเสร็จของราชสำนักสยาม กับผู้นำและราษฎรทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หรือเดิมนับจากปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกว่า "หัวเมืองมลายูทั้งเจ็ด" นั้น ในบทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอแนวการดำเนินการของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต่อเนื่องในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ต่อไป
**********
ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาของพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภายหลังการนำเสนอปัญหา 9 ประการในข้างต้น เจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลเสนอว่า "ถ้าได้มีการดัดแปลงแก้ไขกิจการบางอย่าง ดังที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา แลทั้งวางหลักการให้แน่นอนมั่นคงสำหรับเมืองแขกเสียด้วยในบางอย่างแล้ว" ก็เห็นว่าการปกครองประชาชนและดินแดนส่วนนั้นก็จะกลับคืนสู่ "ความมั่นคงแห่งการปกครอง ความเป็นปรกติศุข ศุขเรียบร้อย.." เงื่อนไขก็คือเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ต้องช่วยกันระมัดระวังและดำเนินการโดย "ถือเอามณฑลปัตตานีเปนท้องที่พิเศษด้วยภูมิประเทศแลบุคคล กล่าวคือ

1. การที่จะเลือกสรรตั้งแต่งข้าราชการออกไปประจำมณฑลเช่นนี้ ต้องเป็นผู้มีคุณวิเศษในนิไสยอัธยาศัยอยู่ในจำพวกที่มีความสุขุมเยือกเย็น รู้จักการได้การเสีย รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวโดยรอบคอบ ประกอบด้วยองค์เปนผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นบุคคลชนิดวู่วามหรือหนุ่มแก่ความคิด ข้อสำคัญคือ อย่าเอาผู้ที่ไม่เหมาะแก่กิจกรรมชั้นในไปไว้โดยคิดเห็นเปนท้องที่ที่มีการงานน้อยนั้นไม่ได้

2. ข้าราชการซึ่งจะรับราชการให้ได้ผลบริบูรณ์ในที่นั้น จักต้องมีคุณวุฒิอีกอย่างหนึ่งซึ่งจำเป็น ต้องรู้ภาษาพูดจาติดต่อกันได้ มิฉะนั้นย่อมเปนการลำบากในทาง บังคบบัญชาแลสมาคมกับหมู่ชน ยิ่งกว่านั้น เปนการจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่ศึกษาการสาสนาแลลัทธิประเพณีบางอย่างที่ควรจะรู้ จะเข้าใจแต่เพียงว่าแขกไม่รับพระราชทานหมูอย่างเดียวหาพอไม่”
(เน้นโดยผู้เขียน)

เพื่อสนับสนุนการรู้ภาษาถิ่นในอันที่จะสื่อสารกับราษฎร เจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลให้รื้อฟื้น "เบี้ยภาษา" (มีกำหนดอยู่ใน "กฎข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. 120" ข้อ 27 ซึ่งระบุให้ข้าราชการที่ไปรับราชการในบริเวณนั้น ภายใน 1 ปีควรพูดภาษาได้ และเมื่อถึง 3 ปีควรอ่านหนังสือมลายูได้ ถ้ามิฉะนั้นยังไม่ควรได้รับเงินเดือนเพิ่มเติมจนกว่าจะพูดและอ่านได้ภายในเวลาดังกล่าว และมอบประกาศนียบัตรให้ผู้ที่พูดหรืออ่านภาษามลายูได้ โดยให้เงินรางวัลไม่เกิน 100 บาท หรือถ้าอ่านเขียนได้ก็ให้ประกาศนียบัตรและเงินรางวัลไม่เกิน 400 บาท) ที่เคยเป็นเกณฑ์คุณสมบัติข้าราชการในบริเวณ 7 หัวเมืองมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2459 กลับมาใช้ใหม่ เพื่อที่ข้าราชการจะได้ขวนขวายศึกษาหาความรู้เป็นพิเศษ แต่ให้กำหนดว่าต้องเรียนรู้ทั้งภาษาและหนังสือ ไม่ใช่รู้เฉพาะภาษาอย่างเดียว สำหรับการสนับสนุนการศึกษาเพื่อเข้าใจในเรื่องศาสนาและธรรมเนียมประเพณีของประชาชนในพื้นที่ ท่านจะได้จัดให้มีการออก "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" (ดังจะกล่าวข้างหน้า)

นอกจากนั้น เจ้าพระยายมราชยังกราบบังคมทูลฯ เป็นพิเศษในอีก 2 เรื่อง คือ การสร้างเอกภาพในการบริหารปกครองพื้นที่โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นศูนย์กลางประสานของหน่วยราชการกระทรวงต่าง ๆ และการฟื้นสถานะของเชื้อสายเจ้าเมืองเดิม เพื่อดึงความจงรักภักดีกลุ่มผู้นำเดิมกลับมาอยู่ฝ่ายรัฐบาล ดังนี้

1) ถ้ากระทรวงใดจะออกกฎระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับ การเก็บภาษีอากร หรือการเกณฑ์แบบใดแบบหนึ่ง ต้องให้ปรึกษากับกระทรวงมหาดไทย โดย "ต้องถือเอาความรับผิดชอบของฝ่ายเทศาภิบาล และเจ้ากระทรวงการปกครองท้องที่เปนหลักโดยเคร่งครัด" ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องรับผิดชอบหากเกิดเหตุความไม่สงบขึ้น และเป็นการวางรากฐานตามแนวทางรัฐประศาสโนบาย

2) แต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองเดิมที่ยังอยู่ มีความสามารถและจงรักภักดีขึ้นมาดำรงตำแหน่งพระยาเมืองปัตตานี (เทียบตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพิเศษ) เพื่อตัดทางที่อับดุลกาเดร์จะใฝ่ฝันกลับมานั่งตำแหน่งอีก
(ยังมีต่อ)
**********
จะเห็นว่า จุดยืนและแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นั้นนับเป็นการตกผลึกประสบการณ์การรับราชการฝ่ายปกครอง ที่ประกอบขึ้นจาก "ข้อเท็จจริง" ที่ดำรงอยู่จริง และ "การคลี่คลายขยายตัว" ของสภาวการณ์ในพื้นที่ตลอดช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง จาก "ศักดินา/จตุสดมภ์" มาสู่ "ราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ยิ่งกว่าที่ขุนนางข้าราชการอื่นในยุคสมัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

ข้อเสนอดังกล่าว มุ่ง "รักษาผลประโยชน์ของรัฐ" หรือ "รักษาพระราชอำนาจและราชอาณาจักร" อย่างมองการณ์ไกล ยิ่งกว่าขุนนางข้าราชการในระบอบเก่า ที่เป็นเพียง "อำมาตย์" มีหน้าที่เพียงสนองนโยบายของราชสำนัก ซึ่งเห็นว่าการ "เสนอ" แนวทางการปฏิบัติราชการเป็นเรื่อง "นอกเหนืออำนาจหน้าที่" หรือกระทั่งมีลักษณะเป็น "กบฏ" เอาทีเดียว ดังตัวอย่างหลายครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดเส้นทางสถาปนารัฐรัตนโกสินทร์ และอาจมีโทษทัณฑ์ลามไปถึงครอบครัว วงศ์ตระกูล หรือมิตรสหายในระดับต่างๆ กันไป แม้ว่าในหลายกรณี ผู้เสนอแนวทางปฏิบัติหรือเปลี่ยนแปลงจารีตแบบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน จะเป็นขุนนางอำมาตย์เก่าแก่ที่ประกอบคุณงามความดีในการรับราชการมากบ้องน้อยบ้างมาแล้ว หรือแม้กระทั่งที่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ด้วยซ้ำไป ดังเช่น การเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการใน ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427 เป็นปีที่ 17 ของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเจ้านายและข้าราชการจำนวนหนึ่งที่รับราชการ ณ สถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และกรุงปารีส ได้ร่วมกันลงชื่อในเอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 ทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก ฉอศอ ศักราช 124 ตรงกับวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2427) และ กบฏ ร.ศ. 130 หรือ กบฏเก็กเหม็ง ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2455

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ข้อเสนอของเจ้าพระยายมราช จำกัดอยู่เพียงหลักคิดและแนวปฏิบัติที่มีผลเฉพาะในพื้นที่ส่วนภูมิภาค และเฉพาะเจาะจงอยู่ที่ "ชายแดนใต้".


พิมพ์ครังแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 มิถุนายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน


วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (44)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (10)

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม นั่งกลาง) ถ่ายเมื่อครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต พร้อมด้วยข้าราชการในเมืองสงขลาเนื่องในงานฉลองศาลาว่าการมณฑล เมื่อแรกเปิดตั้ง ปี พ.ศ. 2439

สำหรับสภาพการกดขี่ต่างๆนั้น พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอมุมมองของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ต่อไปว่า ความกดขี่บีบคั้นต่าง ๆ ในทัศนะเจ้าพระยายมราช "มีอยู่จริง" และมีสาเหตุหลักมาจาก "การที่เลือน ๆ ลืมระฤกถึงว่าแขกเปนคนต่างชาติศาสนา มีการบังคับกวดขันในเรื่องหยุมหยิม":
**********
ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กชาย ท่านได้กราบทูลเสนอแนวทางแก้ไขว่า "ข้อสำคัญต้องกระทำให้เห็นว่า ไม่ได้มีความรังเกียจหรือเหนี่ยวรั้งในทางการศาสนา และให้เห็นว่าเป็นการปลูกฝังศิลปศาสตร์ ทั้งอุดหนุนทางศาสนาด้วย" ยิ่งไปกว่านั้น ยังกราบบังคมทูลฯ เพิ่มเติมว่า "แม้แต่เพียงจะสอนภาษามลายู หรือให้เวลาแก่เด็กที่จะไปศึกษาหาความรู้เอาเอง ก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่าสิ่งใดในการที่จะจัดหรือทำในท้องที่เช่นนี้ ประชาชนพลเมืองมักจะคอยดูแล หรือยกไปเปรียบเทียบกับวิธีดำเนินการของเจ้าพนักงานสำหรับชาวมลายู ในเขตอังกฤษติดต่อกันด้วยเสมอ" ท่านได้กราบบังคมทูลชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายอังกฤษใช้หลักการไม่บังคับ แต่จัดไว้ให้ แล้วแต่ใครจะสมัครใจ กล่าวโดยรวมในส่วนนโยบายของอังกฤษ "ถ้าเกี่ยวข้องแก่การศาสนาแล้ว ดูเหมือนรัฐบาลอังกฤษได้พยายามเอาใจใส่จะกระทำให้ชาวมลายูเห็นว่า เป็นการช่วยเหลืออุดหนุนบำรุงเป็นอย่างดี" ตัวอย่างเช่น อังกฤษสนับสนุนการสร้างสุเหร่า "อย่างเป็นหลักฐาน" ขึ้นที่กลันตันและไทรบุรี ทำให้เป็นที่นิยมของชาวมุสลิมอย่างมาก

ท้ายที่สุด เจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลเสนอแนวทางในการจัดการศึกษาประชาบาลสำหรับมณฑลปัตตานี โดย "ควรมีหลักสูตรแลวิธีการเปนพิเศษด้วย ภูมิประเทศแลชาติบุคคล คือ ควรมีโต๊ะหะยีสำหรับสอนคัมภีร์โกรานแลกิตับประจำแบ่งเวลาให้เรียนเพื่อให้เป็นการบำรุงอุดหนุนในทางศาสนาไว้ด้วย... รวมใจความก็แปลว่า ต้องเป็นธุระทั้งการสอนศาสนา สอนภาษามลายู ภาษาไทย รวมไปด้วยกัน"

7. การเกณฑ์ต่างๆ เป็นเรื่องราวที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอีกประเด็นหนึ่ง เพราะนอกจากมีการขอแรงสร้างถนนซึ่งทำตามประเพณีแล้ว ยังมีการเกณฑ์เป็นตำรวจ ซึ่งในเขตอังกฤษไม่มี นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับ การจัดกิจการเสือป่าอีกด้วย

การเกณฑ์ตำรวจภูธร เริ่มใช้ในมณฑลปัตตานีตั้งแต่ พ.ศ. 2450 ทำให้เกิด "การตื่นเต้น หลบหนีด้วยความไม่พอใจอยู่พักหนึ่ง" มาถึงตอนนี้แม้ประชาชนจะเริ่มชิน แต่เนื่องจากในเขตอังกฤษไม่มีการเกณฑ์ ประชาชนจึงรู้สึกถูกรบกวน เจ้าพระยายมราชชี้ว่า ในการฝึกของตำรวจ ยังมีปัญหาด้านภาษา และการบังคับบัญชาก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ดังนั้นด้วยเห็นว่าจำนวนตำรวจเกณฑ์ในเขตนี้ไม่มากมายนัก จึงกราบบังคมทูลเสนอให้มณฑลปัตตานีเป็นมณฑลพิเศษ เลิกการเกณฑ์ ใช้การจ้างโดยการรับสมัคร "ให้ระคนปนกันไปทั้งคนไทยและคนแขก"

กิจการเสือป่า กองเสือป่าที่มณฑลปัตตานีนั้น "เป็นกองใหญ่" โดยหลักการการเข้าเป็นสมาชิกไม่ใช่การบังคับ แต่เจ้าพระยายมราชก็กราบทูลว่า "ความจริงก็เป็นดูเหมือนมีมูลแห่งการบังคับทางอ้อม" ทั้งนี้เพราะมีการเลือกปฏิบัติ เช่นยกย่องหรือกีดกันไม่เท่ากันระหว่างผู้ที่สมัครเป็นสมาชิก หรือไม่เข้าเป็นสมาชิก ข้อเสนอที่กราบบังคมทูลคือ ควรให้ข้าราชการผู้ใหญ่ลงไปดูแล

8. ความยุติธรรมและการศาล เป็นความเดือดร้อนอีกประการของประชาชนในพื้นที่อันเกี่ยวข้องกับ "การพิจารณาของศาล" ใน 2 ประการ คือ (1) โต๊ะกาลีที่มีประจำศาลไม่มีความรู้ หรือไม่ก็เป็นคนไม่ซื่อสัตย์สุจริต เพราะเลือกสรรตามใจชอบ ไม่ได้เลือกตาม "ความนิยมยินดีของคนโดยมาก" (2) ผู้พิพากษาไทยไม่ใคร่เคร่งครัด ในคดีที่ควรให้เป็นไปตามทางศาสนา และไม่ให้น้ำหนักความเห็นของโต๊ะกาลีเท่าที่ควร จึง "เป็นเหตุที่จะฉุดชักหรือดึงเอาวิธีพิจารณาบางอย่างที่ควรจะเป็นไปตามทางศาสนาให้เฟือนไป"

เนื่องจากเจ้าพระยายมราชเคยเป็นผู้ปูพื้นฐานการปกครองดินแดนส่วนนี้มาตั้งแต่เริ่มการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองครั้งแรกในทศวรรษ 2430 ท่านจึงตระหนักและเข้าใจผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการเรื่องการศาลเป็นอย่างดี เดิมทีรัฐบาลปรับวิธีการตัดสินคดีทางศาสนาให้เข้ากับธรรมเนียมปฏิบัติของพื้นที่ โดยจัดให้มี "โต๊ะกาลี" ซึ่งเป็นหะยีหรือผู้รู้ทางศาสนาเป็นผู้ชี้ขาด แล้วให้ผู้พิพากษาไทยมีคำสั่งบังคับไปตามคำชี้ขาดของโต๊ะกาลี ทำนองตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผู้ที่จะมาเป็นโต๊ะกาลีได้มาจากการประชุมราษฎรเลือกสรรขึ้นไว้คณะหนึ่ง แล้วให้โจทก์จำเลยเลือกโต๊ะกาลีที่ตนพอใจจากคณะนั้นขึ้นเป็นผู้ชำระชี้ขาดคดีตน เมื่อมีโอกาสที่ คู่ความเลือกคนที่ตนพอใจ การชำระคดีก็จะตกลงกันได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีทนายหรือมีการอุทธรณ์ยืดเยื้อไป แต่มาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงระบบเทศาภิบาลหลัง พ.ศ. 2458 มีการโอนศาลไปขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม การศาลมณฑลปัตตานีก็เปลี่ยนไปตามมณฑลชั้นใน เปลี่ยนวิธีชำระความศาสนา โดยให้มีโต๊ะกาลีประจำศาล ๆ ละ 2 คน ผลในทัศนะเจ้าพระยายมราช ก็คือการเลือกโต๊ะกาลีมาจากความเห็นของอธิบดีผู้พิพากษาและเทศาภิบาล ไม่มีการประชุมเลือกสรรระหว่างราษฎรกับหะยีผู้รู้ทางศาสนา ทำให้ได้โต๊ะกาลีที่ไม่มีความรู้ หรือบกพร่องด้านความซื่อสัตย์ อีกทั้งระบบพิจารณาแบบใหม่ ทำให้ "โต๊ะกาลีแทนที่จะเป็นผู้ชี้ขาดกลับเป็นแต่เพียงนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษา แล้วลงชื่อเป็นองค์คณะในคำตัดสินเท่านั้น" เจ้าพระยายมราชชี้ว่า "เรื่องนี้ เป็นการเคียดแค้นอยู่ในหมู่ชนชาวมลายูชั้นสูงโดยมาก" จึงได้กราบบังคมทูลเสนอให้ได้รับความพิจารณาแก้ไขของกระทรวงยุติธรรม "เป็นพิเศษ"

9. ความกดขี่บีบคั้นต่าง ๆ ในทัศนะเจ้าพระยายมราช "มีอยู่จริง" และมีสาเหตุหลักมาจาก "การที่เลือน ๆ ลืมระฤกถึงว่าแขกเปนคนต่างชาติศาสนา มีการบังคับกวดขันในเรื่องหยุมหยิม" ท่านยกตัวอย่างเช่น การสาบานถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของคนไทย หรือการเรียกร้องแรงงานเพื่อใช้สอยในช่วงถือบวช (ปอซอ) ของชาวมุสลิมในพื้นที่ และกราบบังคมทูลว่า "มีข้าราชการชั้นผู้น้อยและกรมการอำเภอบางคนมีนิสัยอัธยาศัยไม่เหมาะแก่การที่จะปกครองคนแขก..ถึงกับใช้อำนาจกดขี่ทุบตีจนมีเหตุการณ์หลายคราว ที่ถึงฟ้องร้องในโรงศาลก็มี" ซึ่งเป็นสาเหตุสร้างความแค้นจากชาวมุสลิมในพื้นที่ต่อข้าราชการไทย "เรื่องข้าราชการที่ไม่เหมาะสมแก่เมืองแขกในมณฑลปัตตานี" นี้ เจ้าพระยายมราชทูลว่าเห็นสมควรต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่างไรก็ดีด้วยบริบทความยุ่งยากของสถานการณ์ในพื้นที่ในขณะนั้น จึงได้ยับยั้งไว้เพราะ "เกรงด้วยเกล้าฯ ว่าจะไม่เป็นการงดงามแก่กาละ บางทีจะกระทำให้เป็นการสมจริงแก่เหตุการณ์มากไป" แต่เฉพาะในอำนาจของกระทรวงมหาดไทยท่านได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะถอดถอนโยกย้ายตามควรโดยเร็วต่อไป
(ยังมีต่อ)
**********


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 มิถุนายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (43)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (9)


เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม ขวา ) ขณะดำรงยศเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เป็นผู้แทนรัฐบาล ออกเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากรัฐบาลประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2440

พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอมุมมองของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ด้านการศึกษา ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ต่อไปว่า:
**********
มีข้อมูลจากภายในของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงเวลานั้นที่สนับสนุนความเห็นของเจ้าพระยายมราชข้างต้นที่ว่า การจัดการศึกษาใหม่โดยการประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษา และการเก็บเงินศึกษาพลีเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความขัดแย้งและความเดือดร้อนต่อประชาชนในมณฑลปัตตานี นอกจากนั้นข้อมูลภายในกระทรวงศึกษาธิการยังชี้ว่า "วิกฤติ" และ "ความซับซ้อน" ของปัญหาการศึกษาที่มณฑลปัตตานีครั้งนั้นมีรากเหง้ามาจากทัศนะและการปฏิบัติงานแบบอำนาจนิยมของข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ คือสมุหเทศาฯ มณฑลปัตตานีเองอีกด้วย กล่าวคือ ในกระแสความเคลื่อนไหวเพื่อร่างพรบ. ประถมศึกษานับตั้งแต่ พ.ศ. 2456 ซึ่งมี พระบรมราชโองการให้วางโครงการศึกษาแห่งชาตินั้น นอกจากจะมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างกระทรวงนครบาลและกระทรวงศึกษาธิการ โดยกระทรวงนครบาลไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ทั่วพระราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลว่าการบังคับเกณฑ์เด็กเข้าโรงเรียนจะสร้างความเดือดร้อนแก่บิดามารดาที่ยากจนซึ่งจะขาดความช่วยเหลือด้านแรงงานจากลูกแล้ว นอกจากนั้นยังมีปัญหาการคมนาคมที่ไม่สะดวกสำหรับเด็กในชนบทที่อยู่ห่างไกล และที่สำคัญคือปัญหาการเก็บเงินศึกษาพลีราษฎรเพื่ออุดหนุนโรงเรียนประชาบาลที่จะตั้งขึ้นนั้นจะสร้างความลำบากแก่ราษฎรทั่วไป ส่วนกระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นว่า หากแม้นกรุงเทพฯ ซึ่งกระทรวงนครบาลดูแลอยู่จะไม่พร้อม ก็ไม่ควรขัดขวางไม่ใช้พระราชบัญญัตินี้ในมณฑลอื่น

ในการประชุมระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัตินี้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2464 เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการได้ยกความเห็นของสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานีที่ยื่นขอเป็น ลายลักษณ์อักษรให้มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2461 เป็นตัวอย่าง (กจช., ร.6 ศ.2/5, ที่ 29/3672 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึง พระยาจักรปาณีศรีวิสุทธิ์ ราชเลขาธิการ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2464.) คำร้องของสมุหเทศาฯ มณฑลปัตตานี ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีความล้มเหลวในการบังคับให้เด็กในเขตมณฑลปัตตานีเข้าโรงเรียน เพราะ "ผู้ปกครองไม่เอาใจใส่และนิยมให้บุตรหลานเล่าเรียนหนังสือไทย" และ "..ราษฎรหัวดื้อไม่ยอมส่งบุตรเข้าเรียน." ยิ่งกว่านั้น ในทัศนะของสมุหเทศาฯ ปัตตานี การปกครองในมณฑลปัตตานี "จะสะดวกและเรียบร้อยได้ก็เมื่อการศึกษาเจริญแล้ว" และ "สำหรับคนต่างศาสนาและภาษา.. ทำอะไรควรทำให้จริงจังและมีหลัก" ซึ่งไม่มีทางใดนอกจาก "ออกกฎหมายบังคับคนเข้าเรียนเท่านั้น" สมุหเทศาฯ ปัตตานี จึงเสนอให้มี "พระราชกำหนดกฎหมายบังคับคนเข้าเล่าเรียน" ซึ่งแม้ไม่ประกาศใช้ที่อื่น ก็ "ขอพระราชทานเปิดใช้หรือประกาศใช้ในมณฑลปัตตานีเป็นพิเศษก่อน" (กจช., ร.6 ศ.2/5, ที่ 29/3672 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึง พระยาจักรปาณีศรีวิสุทธิ์ ราชเลขาธิการ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2464.)

ด้วยทัศนะและจุดยืนเชิงอำนาจนิยมของสมุหเทศาฯ ปัตตานีข้างต้น จึงทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดปัตตานีจึงเป็นหนึ่งใน 17 มณฑล (ยกเว้นกรุงเทพฯ) ที่มีการประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษาใน พ.ศ. 2465 และมีความโดดเด่นด้วยสถิติความสำเร็จในการสามารถจัดเก็บเงินศึกษาพลีเป็นอันดับ 2 ของประเทศ (ร้อยละ 91.8) เปรียบเทียบกับมณฑลภูเก็ตซึ่งเก็บได้ต่ำสุดเป็นอันดับ 3 (ร้อยละ 58.2) (กจช., ร.6 ศ.1/24, "รายงานกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 15 ประจำปี พ.ศ. 2465" หน้า 10.) และมณฑลปัตตานีมีสถิติ ผู้ขัดขืนไม่เสียเงินศึกษาพลีเพียง 4 ราย เปรียบเทียบกับมณฑลภูเก็ตที่มีผู้ขัดขืนถึง 661 ราย (กจช., ร.6 ศ.1/24, "รายงานกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 15 ประจำปี พ.ศ. 2465" หน้า 11.) ความสำเร็จในการจัดเก็บเงินศึกษาพลีของมณฑลปัตตานี โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส เมื่อ พ.ศ. 2465 ได้รับคำชื่นชมจากเสนาบดีกระทรวงศึกษาอย่างสูง จนถึงกับประกาศให้เป็นตัวอย่างแก่จังหวัดอื่น ๆ พร้อมกับการทำนายว่า หากสามารถรักษาตัวเลขในการจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษาดังกล่าวไว้ได้ในปีต่อไป นราธิวาสก็ "จะเปนช้างเผือกได้จังหวัดหนึ่ง" (กจช., ร.6 ศธ.28/61, "มณฑลปัตตานีส่งรายงานตรวจตัดปีเงินศึกษาพลีของการศึกษาธิการ จังหวัดปัตตานี" รายงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส พ.ศ. 2465.) ในทางกลับกัน การประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษานี้ ได้ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากหนังสือพิมพ์ Pinang Gazette ว่าเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่เพิ่มความทุกข์ยากให้กับชาวมลายูปัตตานีซึ่งได้ทนแบกรับมานาน มีการอ้างว่าเด็ก ๆ ชาวมลายูไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเรียนที่มัสยิด แต่ถูกบังคับให้ต้องไปเรียนที่โรงเรียนพุทธของสยาม โดยเป้าหมายของสยาม คือ "กระบวนการค่อย ๆ เปลี่ยนปัตตานีให้เป็นสยาม" และ "ลบล้างความเชื่อในศาสนาอิสลาม" ("The object is the gradual 'Siamifying' of Patani and the stamping out of the Mohammadan Faith". จาก "The Patani Trouble", Pinang Gazette, 14 March 1923.) รวมถึงการใช้ภาษาสยามแทนภาษามลายูในป้ายประกาศสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้สร้างความรังเกียจสยามขึ้นในหมู่ชาวมลายู

ประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดในเรื่องการจัดการศึกษาในมณฑลปัตตานีในขณะนั้นอีกประเด็นหนึ่งในความเห็นเจ้าพระยายมราช คือ การบังคับเกณฑ์เด็กหญิงเข้าโรงเรียนและเข้าเรียนปะปนกับนักเรียนชายและกับครูผู้ชายซึ่งท่านเน้นว่า "เป็นไปไม่ได้" และ "เป็นเหตุหนึ่งที่ราษฎรพากันเดือดร้อนเคียดแค้นมาก รวมอยู่ในเหตุผลที่รวมกำลังดื้อดึงขัดขวางไม่ปฏิบัติตาม เพราะเป็นข้อรังเกียจร้ายแรง" เนื่องจากเข้าใจความสำคัญของศาสนาอิสลามสำหรับคนในพื้นที่นั้นอย่างลึกซึ้ง เจ้าพระยายมราชจึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า "ด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเช่นนี้ (การจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิง – ผู้เขียน) จึงเป็นเรื่องที่สนับสนุนในความไม่พอใจต่อการศึกษา เป็นเหตุหนึ่งซึ่งเป็นข้อยากในทางการที่จะต้องระวังแก้ไขในหลักการให้พอดีให้ได้" ข้อเสนอของเจ้าพระยายมราชในประเด็นนี้การศึกษาของเด็กหญิงมลายู ในพื้นที่ก็คือ ถ้าจำเป็นก็ต้องจัดโรงเรียนขึ้นเฉพาะสำหรับเด็กหญิงต่างหาก รวมตลอดทั้งครูอาจารย์ อย่าให้ปนกับผู้ชาย และหากทางการยังไม่พร้อมก็ไม่สมควรจะบังคับ ในขณะนั้น
(ยังมีต่อ)
**********
จะเห็นว่า สถานภาพทั้งของระบอบการปกครองที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านอย่าง (ค่อนข้าง) สันติ เพียงสองทศวรรษเศษ และทั้ง "ขุนนาง" ในระบอบใหม่ ก่อให้เกิดปมปัญหาไม่มากก็น้อย ตามความเห็นของเจ้าพระยายมราช ที่สนับสนุนโดยข้อมูลภายในของกระทรวงศึกษาธิการ ดังที่พรรณงาม เง่าธรรมสาร ระบุว่า "วิกฤติ" และ "ความซับซ้อน" ของปัญหาการศึกษาที่มณฑลปัตตานีครั้งนั้นมีรากเหง้ามาจากทัศนะและการปฏิบัติงานแบบอำนาจนิยมของข้าราชการระดับสูงในพื้นที่

เท่ากับสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดจาก "ขุนนางใหม่" ที่เกิดขึ้นจากการ "รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง" ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเอง.


พิมพ์คร้้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 มิถุนายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (42)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (8)

เจ้าพระยายมราช (นั่ง สวมหมวกกะโล่) ถ่ายเมื่อครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็นประธานในพิธีเปิดทางรถไฟสายปากลัด พ.ศ. 2451 

ส่วนในด้านการศึกษาซึ่งอยู่ในบริบทวัฒนธรรมนั้น เจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) ให้ความสำคัญค่อนข้างสูง ดังที่ พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอไว้ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) เป็นหัวข้อใหญ่ดังนี้:
**********
6. การศึกษา เป็นประเด็นที่เจ้าพระยายมราชให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เดิมเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับราษฎรชาวมลายูในพื้นที่ มุ่งให้เด็กพูดภาษาไทยได้ "มากกว่าการสอนตัวหนังสือ" ส่วนการเรียนการสอนของประชาชนในพื้นที่ให้สอนไปตามประเพณี มีการตั้งโรงเรียนเพื่อผลิตครูในพื้นที่ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน ภาษามลายู สอนพูดและเรียนภาษาไทยด้วย แต่นโยบายการจัดการศึกษาในแนวทางดังกล่าวต้องถูกกระทบเมื่อมีการประกาศใช้ พรบ.การประถมศึกษาตลอดทั่วมณฑลปัตตานีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 ซึ่งเจ้าพระยายมราชเห็นว่าเป็นที่มาสำคัญของความไม่พอใจของชาวมลายูในพื้นที่และมูลเหตุหลักหนึ่งของ "ขบถ พ.ศ. 2465" ดังที่ท่านได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า ทันทีที่ทราบว่ามีการออกประกาศจัดตั้งโรงเรียนของรัฐทั่วมณฑลปัตตานี ปฏิกิริยาแรกของท่าน คือ "ตกใจ" และได้รีบสอบถามเรื่องนี้กับสมุหเทศาปัตตานี พร้อมกับต่อว่าและเตือนถึงปัญหาที่จะตามมา ว่า "...นี่อย่างไร เจ้าคุณจึงกล้าหาญเช่นนี้ เกิดความนะ..." และเนื่องจากขณะนั้นเจ้าพระยายมราชรับผิดชอบกระทรวงนครบาลอยู่ และได้คัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้มาตั้งแต่แรก โดยกระทรวงนครบาลไม่ยอมให้มีการใช้ พรบ. นี้ในเขตกรุงเทพฯ จึงได้ทูลความกังวลนี้ต่อองค์อุปราชภาคซึ่งทรงตอบว่า "...พวกเทศาถูกพวกศึกษาเขาจับเข้าเทียมคู่แล้วเอาแซ่หวดขากันวิ่งจนไม่รู้จะไปข้างไหน.." พระดำรัสนี้สะท้อนถึงความตระหนักในกระแสความรุนแรงของนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ผลักดันให้ขยายการศึกษาประชาบาลไปทั่วราชอาณาจักรอย่างไม่ใส่ใจถึงธรรมชาติของผู้คนและความพร้อมของท้องถิ่น มีการบังคับเก็บเงินศึกษาพลีจากชายฉกรรจ์คนละ 1 บาท และในทางปฏิบัติ เช่นที่นราธิวาส ฝ่ายศึกษาธิการใช้วิธีเก็บพร้อมเงินรัชชูปการ ทำให้ราษฎรเข้าใจว่าเป็นเงินภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บเพิ่มจากเงินรัชชูปการ ซึ่งเดิมจ่ายอยู่คนละ 3 บาท กลายเป็น 4 บาท นับเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองให้รู้สึกเดือดร้อน

ความร้ายแรงของปัญหาการศึกษาในมณฑลปัตตานีในทัศนะของเจ้าพระยายมราชอยู่ที่การบังคับกวดขันให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนประชาบาลของรัฐซึ่งในมณฑลนี้เคร่งครัดกว่าหัวเมืองชั้นในด้วยซ้ำ ถึงขนาดพ่อแม่ที่ไม่ส่งเด็กไปโรงเรียนถูกส่งฟ้องศาล ข้อวิจารณ์ที่เจ้าพระยายมราชชี้ในประเด็น พรบ.การศึกษาภาคบังคับ ก็คือ ราษฎรยังไม่นิยมเพราะความเป็นอยู่ในการทำมาหากินในชนบทแบบเกษตร ยังต้องพึ่งกำลังของลูกวัยอายุ 10-14 ปี การเกณฑ์เด็กไปเรียนเป็นการตัดกำลังผู้ปกครอง และการคมนาคมที่ไม่สะดวกทำให้ยากลำบากต่อการให้เด็กไปเรียน นอกจากนั้นยังมีปัญหาครูไม่พอสอน บางแห่งต้องใช้ครู 1 คนต่อเด็ก 100 คน อีกทั้งงบประมาณครูก็ไม่พอ ความไม่พร้อมด้านจำนวนครูทำให้ผลการสอนไม่สัมฤทธิ์ผล ไม่สามารถทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ไม่สามารถเป็นแรงจูงใจพ่อแม่ ดังนั้นการขยายเพิ่มการศึกษาพลี จึงทำให้ราษฎรที่รู้สึกเดือดร้อนด้วยความอัตคัดขัดสนอยู่แล้ว เพิ่มความไม่พอใจยิ่งขึ้น

ด้วยภูมิหลังที่เข้าใจความสำคัญของศาสนาอิสลามสำหรับคนในพื้นที่นั้นอย่างลึกซึ้ง เจ้าพระยายมราชจึงได้กราบบังคมทูลว่า การจัดการศึกษาของรัฐในแนวทางข้างต้นเป็น "ข้อสำคัญที่เพิ่มความรังเกียจยิ่งขึ้นเป็นพิเศษกว่ามณฑลอื่น (คือ) ในทางศาสนาที่เกี่ยวข้องแก่ศาสนา" ทั้งนี้เพราะศาสนาอิสลามต่างจากพุทธศาสนาตรงที่มีข้อบังคับเด็ดขาด กล่าวคือ "สิ่งใดที่สั่งให้ทำแล้ว จำเป็นต้องทำ สิ่งใดที่เป็นข้อห้ามปรามไม่ให้ทำ ต้องไม่ให้ผู้ใดทำ ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนแล้ว เป็นความผิด..." นอกจากนั้นท่านยังแสดงความเห็นว่า "ชนชาติมลายูโดยมากเป็นคนที่เคร่งครัดในทางศาสนา ถ้าสิ่งใดเป็นเหตุให้เกิดการขัดขวางในทางศาสนาที่จะพึงปฏิบัติแล้ว ย่อมกระทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง" ท่านอธิบายว่า ด้วยเหตุนี้ ธรรมเนียมการที่เด็กตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไปต้องได้เข้าเรียนเรื่องศาสนากับโต๊ะครูและหะยีที่มีความรู้ทางศาสนาและได้รับการรับรองมาแล้วจากเมกกะ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เจ้าพระยายมราชชี้ว่าปัตตานีมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้นำทางการศึกษาศาสนาในโลกอิสลามสากลในภูมิภาค จึงทำให้พ่อแม่ชาวมลายูในพื้นที่ไม่อยากส่งลูกเข้าโรงเรียนไทย เพราะทำให้ขาดโอกาสไปเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาทางศาสนาที่เป็นที่นิยม อีกทั้งครูสอนศาสนาก็ขาดผลประโยชน์ที่ควรจะได้ด้วย ดังความในรายงาน ดังนี้ (การสะกดอักขระตามต้นฉบับ)
"มณฑลปัตตานีเปนที่ซึ่งขึ้นชื่อลือนามอยู่ในหมู่แขกทั้งหลายว่าเปนสำนักที่มีการศึกษาเล่าเรียน หรือมีนักปราชญ์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ในทางศาสนาเปนอย่างดี มีผู้ส่งบุตรหลานไปเล่าเรียนเปนสานุศิษย์กับโต๊ะหะยีปีหนึ่งตั้งหลายร้อยคน คือ คนชาวมลายูในกรุงเทพบ้าง กลันตัน ไทรบุรี เประ ในเขตร์อังกฤษแลหัวเมืองอื่น ๆ บ้าง เพราะเหตุนี้ เมื่อเด็กชนบทมลายูในมณฑลปัตตานีถูกบังคับให้เข้าเรียนหนังสือมลายู ไทยในโรงเรียนประชาบาล ผู้ปกครองโดยมากย่อมเห็นเป็นการเกียจกันในทางศาสนา เพราะว่ากระทำให้หมดโอกาสโดยไม่มีเวลาพอที่จะให้เด็กเรียนศาสนาโกรานแลกิตับอย่างหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เป็นการตัดรอนการศึกษาตลอดจนผลประโยชน์สำหรับโต๊ะหะยีนั้นด้วย" (กจช., ร.6 ม.22/15,เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ 2/1462 วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2466.)
แม้โรงเรียนประชาบาลในมณฑลปัตตานี (สมัยนั้น) จะมีหลักสูตรสอนภาษามลายู และมีครูมลายูอยู่บ้าง แต่เจ้าพระยายมราชก็ชี้ว่าครูเหล่านั้นก็ไม่มีความรู้พอที่จะสอนคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะอักษรและภาษาในคัมภีร์ต้องอาศัยผู้รู้ที่เรียนมาโดยเฉพาะ ท่านอธิบายไว้ว่า "โต๊ะหะยีเป็นเหมือนเปรียญที่ได้ศึกษามาโดยเฉพาะ และผู้ที่จะเป็นครูให้ความรู้แก่สานุศิษย์ต่อไปได้ ต้องเป็นผู้มีความรู้ซึ้ง ได้รับปริญญามาจากเมกกะแล้ว"
(ยังมีต่อ)
**********
ความพยายามสร้าง "รัฐไทย" ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวโดยปฏิเสธความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และคติชนวิทยา นั้น นับว่าเป็น "สาเหตุสำคัญของคลื่นใต้น้ำ" และการก่อหวอดความไม่พอใจ กระทั่งอาจเป็นหน่ออ่อนของแนวคิด "แบ่งแยกดินดิน/สร้างรัฐปาตานีที่เป็นเอกราช" เมื่อพิจารณาจาก "วิสัยทัศน์ยาวไกล" ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งหนึ่งในปมเงื่อนดังกล่าวอยู่ที่ "การจัดการศึกษาแบบกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง" หลัง การประกาศใช้ พรบ.การประถมศึกษาตลอดทั่วมณฑลปัตตานีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 ซึ่งเจ้าพระยายมราชเห็นว่าเป็นที่มาสำคัญของความไม่พอใจของชาวมลายูในพื้นที่และมูลเหตุหลักหนึ่งของ "ขบถ พ.ศ. 2465".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-6 มิถุนายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8