Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (46)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (12)

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม แถวยืนที่สองจากขวา) ถ่ายเมื่อครั้งเป็นขุนวิจิตรวรสาส์น  ตามเสด็จสมเด็จกรมหลวงดำรงราชานุภาพและกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้แทนพระองค์ไปเยี่ยมแกรนดยุคซาเรวิช รัชทายาทจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2434

เมื่อราชสำนักสยามได้รับรายงานของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงสภาพการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานั้นในพื้นที่ "จังหวัดชายแดนใต้" แล้ว ท่าทีและการตัดสินใจที่เกิดขึ้น นับว่ามีนัยสำคัญที่ส่งผลต่อนโยบายในการจัดการการปกครองและบริบทอื่นๆ ในอันที่จะแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามหรือขยายปัญหาต่อเนื่องตามมา โดยบทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอและวิเคราะห์ไว้ใน "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6"
**********
การตัดสินใจเชิงนโยบายของราชสำนักสยาม

รายงานอันลุ่มลึกด้วยเนื้อหาที่สะท้อนความเข้าใจถึงอัตลักษณ์พิเศษด้าน ต่าง ๆ ของสังคมที่เป็นมณฑลปัตตานีในทศวรรษ 2460 ของเจ้าพระยายมราชข้างต้น ตามมาด้วยความเร่าร้อนที่จะให้การแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลงอย่างรวดเร็ว วันรุ่งขึ้นหลังจากกราบบังคมทูลเสนอรายงานข้างต้น เจ้าพระยายมราชได้มีหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลอีกฉบับหนึ่งว่า ด้วยรู้สาเหตุแน่ชัดถึงความเดือดร้อนแล้ว และด้วยได้รับทราบจากสมเด็จอุปราชภาคปักษ์ใต้ว่า อับดุลกาเดร์ได้ยื่นหนังสือต่อข้าหลวงอังกฤษที่สิงคโปร์ เพื่อขอความช่วยเหลืออีกครั้ง จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตให้ปัตตานีได้รับการแก้ไขโดยรีบด่วน เพราะ "การที่จะคิดค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงใช้วิธีกลบเกลื่อนทีละเล็กละน้อยนั้น อาจไม่ทันกับความต้องการ บางทีจะทำให้พวกแขกเห็นไปว่าผู้หลักผู้ใหญ่ ก็ทราบดีอยู่แล้ว แต่แกล้งรั้งรอเอาไว้ด้วยความลำเอียงช่วยเหลือแก่ข้าราชการ จะให้ดำเนินการรุนแรงต่อไป..ถ้ามีความคิดเช่นนี้ก็จะเกิดทิฏฐิดึงดันขึ้น จะไม่ระงับอยู่ได้" เจ้าพระยายมราชยังได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตโยกย้ายข้าราชการในมณฑลปัตตานีโดยด่วน ดังความว่า

.....เป็นการจำเปนที่จะต้องรีบเร่งจัดการรุถ่ายเสียงโดยด่วน ...ที่จะกลบเกลื่อนปกปิดอย่างไรก็คงไม่สิ้นเสียงได้ จึงควรทำให้เห็นว่า ตรงไปตรงมา เพราะเหตุว่าข้าราชการชุดนี้เปนผู้ที่ได้รับราชการมานาน มีความมึนชาเชื่องซึมจนเห็นว่าแขกเปนพลเมืองธรรมดา หลงลืมไปว่าลักษณะหนึ่งต่างหากจากการปกครองคนไทย ข้อสำคัญอันรุนแรงก็คือ ต่างฝ่ายต่างอาจเห็นเปนศัตรูกันและกัน ไม่เปนที่พึ่งพาอาศรัยไว้วางใจอุปถัมภ์ค้ำชูกันได้อย่างพ่อบ้าน ลูกบ้าน เนื่องจากเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แลต่างถือเอาเปนข้อขุ่นแค้นกัน... (กจช., ร.6 ม.22/12, เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สำเนาที่ 902 ที่ 5/1854 วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2466)

นอกจากจะกราบบังคมทูลขอให้เปลี่ยนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลและข้าราชการอีกหลายตำแหน่ง รวมทั้งข้าราชการผู้น้อยด้วยแล้ว เจ้าพระยายมราชยังกราบบังคมทูลให้ระงับประกาศประกาศการเก็บภาษีศก 111 (เรื่องการเก็บอากรเครื่องมือจับสัตว์น้ำ) เพื่อระงับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกที่มณฑลปัตตานีเป็นการชั่วคราว ส่วนการศึกษาและการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับศาสนา ได้ขอพระราชทานให้เจ้ากระทรวงรีบสั่งการแก้ไขโดยเร็ว

ด้วยน้ำหนักของข้อมูลและเหตุผลอันประกอบขึ้นจากความรอบรู้อย่างลุ่มลึกถึงอัตลักษณ์ทางวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อที่ผูกพันกับศาสนาของประชาชนในภูมิภาคนั้น ดังแสดงปรากฏในรายงาน และด้วยสถานะความสัมพันธ์อันเป็นพิเศษระหว่างเจ้าพระยายมราชกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ซึ่งกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้ทรงวิเคราะห์ไว้อย่างพิสดารและทรงสรุปไว้ว่า นอกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จะทรงใช้สอยเจ้าพระยายมราชในฐานะเสนาบดีและมุขมนตรีแล้ว ยังทรงยกย่องในฐานะอาจารย์และปราชญ์ และทรงชุบเลี้ยงในฐานะพระสหายและข้าในสกุล อีกด้วย (กรมหมื่นพิยลาภพฤฒิยากร, ประวัติเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), ภาคที่ 2 ตอนที่ 5,  หน้า 150) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระราชกระแสถึงเจ้าพระยายมราชด้วยความไว้วางพระทัยอย่างเต็มเปี่ยม ความว่า

....ได้อ่านรายงานของเจ้าพระยายมราชฉบับนี้แล้วโดยถ้วนถี่ เห็นว่าเจ้าพระยายมราชได้พิจารณากิจการโดยละเอียดและประกอบด้วยความรู้พิเศษอันได้เคยมีมา แต่เมื่อครั้งมีน่าที่เปนผู้ปกครองหัวเมืองมลายู เปนผู้รอบรู้และสันทัดแก่การงานสำหรับหัวเมืองเหล่านี้อย่างดีหาที่เปรียบได้โดยยาก....

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมอบให้เจ้าพระยายมราชจัดราชการทั้งหมด ดังพระราชกระแสความว่า "เราเชื่อว่าเจ้าพระยายมราชคงจะจัดดำเนินการดัดแปลงไปให้เหมาะแก่ภูมิประเทศและสภาพแห่งมณฑลปัตตานีได้ และเราขอกล่าวที่นี้ว่า เราวางใจในตัวเจ้าพระยายมราชโดยบริบูรณ์ทีเดียว" อย่างไรก็ดี เนื่องจากยังมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ด้วยเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงทรงมอบให้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เป็นประธานเรียกประชุมเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาข้อราชการตามที่ปรากฏในรายงานเจ้าพระยายมราช โดยมีพระราชกระแสให้ดำเนินการ ดังนี้ "...ปฤกษาหาฤากันในเรื่องที่จะแก้ไขดัดแปลงวิธีดำเนินไปโดยสะดวก อย่าให้ติดขัด หรือเปนเหตุเดือดร้อนแก่ประชาชนในมณฑลนั้นได้ต่อไป ให้ผู้เปนประธานและเสนาบดีทุกคนถือว่า นี่ เปนราชการสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งอาจให้ผลร้ายดีได้เปนอันมากในทางปกครอง และความมั่นคงความสงบแห่งพระราชอาณาจักร ฉะนั้น จงเอาประโยชน์แห่งราชการทั่วไปเปนใหญ่ ยิ่งกว่าเปนห่วงอำนาจวาสนาส่วนตัว หรือกระทรวงของตนโดยจำเพาะ หาไม่จะต้องพระราชตำหนิเปนแน่แท้ .."
(ยังมีต่อ)
**********
ที่น่าสนใจ และอาจถือเป็นหลักในการพิจารณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ในเวลาต่อมา คือ ท่าทีที่ "จริงใจ" และ "จริงจัง" ของราชสำนักสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อปัญหาการปกครองที่มีความละเอียดอ่อนทางด้านชาติพันธุ์ ความเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนธรรม ตลอดจนขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ซึ่งพิจารณาได้จาก "การรับฟัง" รายงานของเจ้าพระยายมราช ทั้งในเชิงข้อเท็จจริง และในบริบทของการวิเคราะห์รากและแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ปัญหาต่างๆ ลุล่วงไปด้วยดี

และที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ คือ ข้อเสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทุกระดับในพื้นที่ ถึงขั้นเปลี่ยนตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑล พร้อมกับให้ระงับประกาศประกาศการเก็บภาษีศก 111 เป็นการชั่วคราวนั้น นับเป็นจุดยืนและแนวทางในอันที่จะระงับมิให้ความขัดแย้งในพื้นพื้นที่ขยายตัวบานปลายออกไป ดังที่เคยเกิดขึ้นหรือส่อเค้าว่าจะเกิดขึ้นมาแล้ว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 มิถุนายน-5 กรกฎาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8