ระลึก ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน :
37 ปีใต้เงื้อมเงาของมารทมิฬ (1)
คำแถลงไว้อาลัยจากแนวร่วมอิสระมธ
ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน เป็นนักวิชาการดุษฎีบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ด้วยหัวข้อวิทยานิพนธ์ "การเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบเลือกปฏิบัติของไทย: การศึกษาด้วยการอ้างอิงเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น" (Thai Selective Social Change: A Study with Comparative Reference to Japan) อดีตหัวหน้าแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย โดยที่ใช่วงคาบเกี่ยวเหตุการณ์ 14 ตุลาคมฯ อันยิ่งใหญ่ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาททั้งทางความคิดและการขับเคลื่อนการต่อต้านเผด็จการแสะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ห่างหายจากสังคมไทยนับจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
ดร. บุญสนองถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 1.30 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย การลอบสังหารดังกล่าว เกิดขึ้นในบรรยากาศทางการเมือง "ขวาพิฆาตซ้าย" มีการลอบสังหารผู้นำชาวนา กรรมกร นิสิตนักศึกษา และนักการเมืองหัวก้าวหน้า จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และอีกเพียง 8 เดือนให้หลัง ก็เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
"ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย" เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2517 นับจากกรณีการลอบสังหารนายเมตตา อุดมเหล่า ผู้นำชาวนาแห่งมาบประชัน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2517 ซึ่งเป็นผู้นำตัวแทนประชาชนจากหลายหมู่บ้านจำนวน รวมกว่า 2,000 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลโป่ง อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งตระหนักว่าเป็นโครงการที่หาได้มีจุดมุ่งหมายมาใช้เพื่อการชลประทานในทางเกษตรกรรม หากเป็นการหล่อเลี้ยงเมืองพัทยา ที่กำลังจะมีการสร้างโรงแรมหลายแห่ง รวมทั้งสนามกอล์ฟ ทั้งนี้เกษตรกรและประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ได้เดินทางเข้ามาประท้วงรัฐบาลโดย ขอพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 กรกฎาคม และต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ต้องระงับโครงการไประยะหนึ่ง
วันที่ 23 สิงหาคม 2517 นักศึกษาคนแรกที่ถูกลอบสังหารนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อันยิ่งใหญ่ คือ นายแสง รุ่งนิรันดรกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีต 1 ใน 9 นักศึกษา อันได้แก่ แสง รุ่งนิรันดรกุล, วันชัย แซ่เตียว, บุญส่ง ชเลธร, วิสา คัญทัพ, สมพงษ์ สระกวี, สุเมธ สุวิทยะเสถียร, ชำนิ ศักดิเศรษฐ, ประเดิม ดำรงเจริญ และ กุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์ ที่ถูกคำสั่งของ ดร. ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดี ลบชื่อจากสถานภาพความเป็นนักศึกษาในกรณี "ทุ่งใหญ่นเรศวร" ซึ่งนำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516
สำหรับกรณีที่เป็นเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องและมีผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง ซึ่งมีผลกระทบไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็คือ การชุมนุมประท้วงคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ให้ย้ายนายธวัช มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการการจังหวัดพังงา ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เนื่องจากนายธวัชมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการสนับสนุนการต่อสู้ของฝ่ายนักศึกษาที่มุ่งพิทักษ์ทรัพยากรของ ประเทศในกรณีสัมปทานเหมืองบริษัทเทมโก จึงถูกกล่าวหาเสมอว่า เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ นักศึกษาประชาชนชาวพังงา รวมตัวกันชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางเพื่อคัดค้านคำสั่งในวัน ที่ 23 กันยายน 2518 การชุมนุมยืดเยื้อไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ก็เกิดเหตุร้ายเมื่อมีการวางระเบิดกลางที่ชุมนุม ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 15 คน และบาดเจ็บ 17 คน โดยที่ก่อนหน้านี้ผู้นำกรรมกรที่เปิดประเด็นความไม่ชอบ มาพากลของเหมืองบริษัทดังกล่าว คือ นายสนอง ปัญชาญ ถูกยิงเสียชีวิตที่พังงาในวันที่ 25 มกราคมมาแล้ว
ครั้นถึงวันที่ 2 เมษายน 2518 นายนิสิต จิรโสภณ อดีตนักศึกษาผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "วลัญชทัศน์" มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อดีตหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ "มาตุคาม" ช่วงปี 2517 และหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ "อธิปัตย์" ของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือศูนย์นิสิตฯ เกิดเหตุตกรถไฟเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2518 ขณะไปทำข่าวการต่อสู้ของประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งนำไปสู่กรณี "เผาจวนฯ" ตามมาด้วย นายมานะ อินทสุริยะ ผู้นำนักเรียนโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ถูกยิงตายขณะออกติดโปสเตอร์ต่อต้านฐานทัพสหรัฐที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน
ในวันที่ 8 สิงหาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ออกโทรทัศน์ชี้แจงต่อประชาชนถึงสถานการณ์ "ขวาพิฆาตซ้าย" ที่เพิ่งจะเริ่มต้น โดยยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะปราบปรามประชาชน แต่ยอมรับว่า... "การลอบสังหารผู้นำชาวนานั้น คล้ายมีขบวนการล่าสังหาร".
บทความพิเศษ โลกวันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2556
ผู้เขียน รุ่งโรจน์ "อริน" วรรณศูทร