Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (44)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (10)

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม นั่งกลาง) ถ่ายเมื่อครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต พร้อมด้วยข้าราชการในเมืองสงขลาเนื่องในงานฉลองศาลาว่าการมณฑล เมื่อแรกเปิดตั้ง ปี พ.ศ. 2439

สำหรับสภาพการกดขี่ต่างๆนั้น พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอมุมมองของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ต่อไปว่า ความกดขี่บีบคั้นต่าง ๆ ในทัศนะเจ้าพระยายมราช "มีอยู่จริง" และมีสาเหตุหลักมาจาก "การที่เลือน ๆ ลืมระฤกถึงว่าแขกเปนคนต่างชาติศาสนา มีการบังคับกวดขันในเรื่องหยุมหยิม":
**********
ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กชาย ท่านได้กราบทูลเสนอแนวทางแก้ไขว่า "ข้อสำคัญต้องกระทำให้เห็นว่า ไม่ได้มีความรังเกียจหรือเหนี่ยวรั้งในทางการศาสนา และให้เห็นว่าเป็นการปลูกฝังศิลปศาสตร์ ทั้งอุดหนุนทางศาสนาด้วย" ยิ่งไปกว่านั้น ยังกราบบังคมทูลฯ เพิ่มเติมว่า "แม้แต่เพียงจะสอนภาษามลายู หรือให้เวลาแก่เด็กที่จะไปศึกษาหาความรู้เอาเอง ก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่าสิ่งใดในการที่จะจัดหรือทำในท้องที่เช่นนี้ ประชาชนพลเมืองมักจะคอยดูแล หรือยกไปเปรียบเทียบกับวิธีดำเนินการของเจ้าพนักงานสำหรับชาวมลายู ในเขตอังกฤษติดต่อกันด้วยเสมอ" ท่านได้กราบบังคมทูลชี้ให้เห็นว่า ฝ่ายอังกฤษใช้หลักการไม่บังคับ แต่จัดไว้ให้ แล้วแต่ใครจะสมัครใจ กล่าวโดยรวมในส่วนนโยบายของอังกฤษ "ถ้าเกี่ยวข้องแก่การศาสนาแล้ว ดูเหมือนรัฐบาลอังกฤษได้พยายามเอาใจใส่จะกระทำให้ชาวมลายูเห็นว่า เป็นการช่วยเหลืออุดหนุนบำรุงเป็นอย่างดี" ตัวอย่างเช่น อังกฤษสนับสนุนการสร้างสุเหร่า "อย่างเป็นหลักฐาน" ขึ้นที่กลันตันและไทรบุรี ทำให้เป็นที่นิยมของชาวมุสลิมอย่างมาก

ท้ายที่สุด เจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลเสนอแนวทางในการจัดการศึกษาประชาบาลสำหรับมณฑลปัตตานี โดย "ควรมีหลักสูตรแลวิธีการเปนพิเศษด้วย ภูมิประเทศแลชาติบุคคล คือ ควรมีโต๊ะหะยีสำหรับสอนคัมภีร์โกรานแลกิตับประจำแบ่งเวลาให้เรียนเพื่อให้เป็นการบำรุงอุดหนุนในทางศาสนาไว้ด้วย... รวมใจความก็แปลว่า ต้องเป็นธุระทั้งการสอนศาสนา สอนภาษามลายู ภาษาไทย รวมไปด้วยกัน"

7. การเกณฑ์ต่างๆ เป็นเรื่องราวที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านอีกประเด็นหนึ่ง เพราะนอกจากมีการขอแรงสร้างถนนซึ่งทำตามประเพณีแล้ว ยังมีการเกณฑ์เป็นตำรวจ ซึ่งในเขตอังกฤษไม่มี นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับ การจัดกิจการเสือป่าอีกด้วย

การเกณฑ์ตำรวจภูธร เริ่มใช้ในมณฑลปัตตานีตั้งแต่ พ.ศ. 2450 ทำให้เกิด "การตื่นเต้น หลบหนีด้วยความไม่พอใจอยู่พักหนึ่ง" มาถึงตอนนี้แม้ประชาชนจะเริ่มชิน แต่เนื่องจากในเขตอังกฤษไม่มีการเกณฑ์ ประชาชนจึงรู้สึกถูกรบกวน เจ้าพระยายมราชชี้ว่า ในการฝึกของตำรวจ ยังมีปัญหาด้านภาษา และการบังคับบัญชาก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ดังนั้นด้วยเห็นว่าจำนวนตำรวจเกณฑ์ในเขตนี้ไม่มากมายนัก จึงกราบบังคมทูลเสนอให้มณฑลปัตตานีเป็นมณฑลพิเศษ เลิกการเกณฑ์ ใช้การจ้างโดยการรับสมัคร "ให้ระคนปนกันไปทั้งคนไทยและคนแขก"

กิจการเสือป่า กองเสือป่าที่มณฑลปัตตานีนั้น "เป็นกองใหญ่" โดยหลักการการเข้าเป็นสมาชิกไม่ใช่การบังคับ แต่เจ้าพระยายมราชก็กราบทูลว่า "ความจริงก็เป็นดูเหมือนมีมูลแห่งการบังคับทางอ้อม" ทั้งนี้เพราะมีการเลือกปฏิบัติ เช่นยกย่องหรือกีดกันไม่เท่ากันระหว่างผู้ที่สมัครเป็นสมาชิก หรือไม่เข้าเป็นสมาชิก ข้อเสนอที่กราบบังคมทูลคือ ควรให้ข้าราชการผู้ใหญ่ลงไปดูแล

8. ความยุติธรรมและการศาล เป็นความเดือดร้อนอีกประการของประชาชนในพื้นที่อันเกี่ยวข้องกับ "การพิจารณาของศาล" ใน 2 ประการ คือ (1) โต๊ะกาลีที่มีประจำศาลไม่มีความรู้ หรือไม่ก็เป็นคนไม่ซื่อสัตย์สุจริต เพราะเลือกสรรตามใจชอบ ไม่ได้เลือกตาม "ความนิยมยินดีของคนโดยมาก" (2) ผู้พิพากษาไทยไม่ใคร่เคร่งครัด ในคดีที่ควรให้เป็นไปตามทางศาสนา และไม่ให้น้ำหนักความเห็นของโต๊ะกาลีเท่าที่ควร จึง "เป็นเหตุที่จะฉุดชักหรือดึงเอาวิธีพิจารณาบางอย่างที่ควรจะเป็นไปตามทางศาสนาให้เฟือนไป"

เนื่องจากเจ้าพระยายมราชเคยเป็นผู้ปูพื้นฐานการปกครองดินแดนส่วนนี้มาตั้งแต่เริ่มการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองครั้งแรกในทศวรรษ 2430 ท่านจึงตระหนักและเข้าใจผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการเรื่องการศาลเป็นอย่างดี เดิมทีรัฐบาลปรับวิธีการตัดสินคดีทางศาสนาให้เข้ากับธรรมเนียมปฏิบัติของพื้นที่ โดยจัดให้มี "โต๊ะกาลี" ซึ่งเป็นหะยีหรือผู้รู้ทางศาสนาเป็นผู้ชี้ขาด แล้วให้ผู้พิพากษาไทยมีคำสั่งบังคับไปตามคำชี้ขาดของโต๊ะกาลี ทำนองตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ผู้ที่จะมาเป็นโต๊ะกาลีได้มาจากการประชุมราษฎรเลือกสรรขึ้นไว้คณะหนึ่ง แล้วให้โจทก์จำเลยเลือกโต๊ะกาลีที่ตนพอใจจากคณะนั้นขึ้นเป็นผู้ชำระชี้ขาดคดีตน เมื่อมีโอกาสที่ คู่ความเลือกคนที่ตนพอใจ การชำระคดีก็จะตกลงกันได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีทนายหรือมีการอุทธรณ์ยืดเยื้อไป แต่มาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงระบบเทศาภิบาลหลัง พ.ศ. 2458 มีการโอนศาลไปขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม การศาลมณฑลปัตตานีก็เปลี่ยนไปตามมณฑลชั้นใน เปลี่ยนวิธีชำระความศาสนา โดยให้มีโต๊ะกาลีประจำศาล ๆ ละ 2 คน ผลในทัศนะเจ้าพระยายมราช ก็คือการเลือกโต๊ะกาลีมาจากความเห็นของอธิบดีผู้พิพากษาและเทศาภิบาล ไม่มีการประชุมเลือกสรรระหว่างราษฎรกับหะยีผู้รู้ทางศาสนา ทำให้ได้โต๊ะกาลีที่ไม่มีความรู้ หรือบกพร่องด้านความซื่อสัตย์ อีกทั้งระบบพิจารณาแบบใหม่ ทำให้ "โต๊ะกาลีแทนที่จะเป็นผู้ชี้ขาดกลับเป็นแต่เพียงนั่งอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษา แล้วลงชื่อเป็นองค์คณะในคำตัดสินเท่านั้น" เจ้าพระยายมราชชี้ว่า "เรื่องนี้ เป็นการเคียดแค้นอยู่ในหมู่ชนชาวมลายูชั้นสูงโดยมาก" จึงได้กราบบังคมทูลเสนอให้ได้รับความพิจารณาแก้ไขของกระทรวงยุติธรรม "เป็นพิเศษ"

9. ความกดขี่บีบคั้นต่าง ๆ ในทัศนะเจ้าพระยายมราช "มีอยู่จริง" และมีสาเหตุหลักมาจาก "การที่เลือน ๆ ลืมระฤกถึงว่าแขกเปนคนต่างชาติศาสนา มีการบังคับกวดขันในเรื่องหยุมหยิม" ท่านยกตัวอย่างเช่น การสาบานถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของคนไทย หรือการเรียกร้องแรงงานเพื่อใช้สอยในช่วงถือบวช (ปอซอ) ของชาวมุสลิมในพื้นที่ และกราบบังคมทูลว่า "มีข้าราชการชั้นผู้น้อยและกรมการอำเภอบางคนมีนิสัยอัธยาศัยไม่เหมาะแก่การที่จะปกครองคนแขก..ถึงกับใช้อำนาจกดขี่ทุบตีจนมีเหตุการณ์หลายคราว ที่ถึงฟ้องร้องในโรงศาลก็มี" ซึ่งเป็นสาเหตุสร้างความแค้นจากชาวมุสลิมในพื้นที่ต่อข้าราชการไทย "เรื่องข้าราชการที่ไม่เหมาะสมแก่เมืองแขกในมณฑลปัตตานี" นี้ เจ้าพระยายมราชทูลว่าเห็นสมควรต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข อย่างไรก็ดีด้วยบริบทความยุ่งยากของสถานการณ์ในพื้นที่ในขณะนั้น จึงได้ยับยั้งไว้เพราะ "เกรงด้วยเกล้าฯ ว่าจะไม่เป็นการงดงามแก่กาละ บางทีจะกระทำให้เป็นการสมจริงแก่เหตุการณ์มากไป" แต่เฉพาะในอำนาจของกระทรวงมหาดไทยท่านได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่จะถอดถอนโยกย้ายตามควรโดยเร็วต่อไป
(ยังมีต่อ)
**********


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 มิถุนายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8