Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (45)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (11)

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม นั่งขวาสุด) ถ่ายเมื่อครั้งเป็นขุนวิจิตรวรสาส์น และภรรยา นางตลับ วิจิตรวรสาส์น (นั่งถัดมา) ร่วมกับเจ้านาย 4 พระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2432

แนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนโยบายการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางแบบเบ็ดเสร็จของราชสำนักสยาม กับผู้นำและราษฎรทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หรือเดิมนับจากปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ เรียกว่า "หัวเมืองมลายูทั้งเจ็ด" นั้น ในบทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอแนวการดำเนินการของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต่อเนื่องในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ต่อไป
**********
ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาของพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ภายหลังการนำเสนอปัญหา 9 ประการในข้างต้น เจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลเสนอว่า "ถ้าได้มีการดัดแปลงแก้ไขกิจการบางอย่าง ดังที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณา แลทั้งวางหลักการให้แน่นอนมั่นคงสำหรับเมืองแขกเสียด้วยในบางอย่างแล้ว" ก็เห็นว่าการปกครองประชาชนและดินแดนส่วนนั้นก็จะกลับคืนสู่ "ความมั่นคงแห่งการปกครอง ความเป็นปรกติศุข ศุขเรียบร้อย.." เงื่อนไขก็คือเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ต้องช่วยกันระมัดระวังและดำเนินการโดย "ถือเอามณฑลปัตตานีเปนท้องที่พิเศษด้วยภูมิประเทศแลบุคคล กล่าวคือ

1. การที่จะเลือกสรรตั้งแต่งข้าราชการออกไปประจำมณฑลเช่นนี้ ต้องเป็นผู้มีคุณวิเศษในนิไสยอัธยาศัยอยู่ในจำพวกที่มีความสุขุมเยือกเย็น รู้จักการได้การเสีย รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาวโดยรอบคอบ ประกอบด้วยองค์เปนผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นบุคคลชนิดวู่วามหรือหนุ่มแก่ความคิด ข้อสำคัญคือ อย่าเอาผู้ที่ไม่เหมาะแก่กิจกรรมชั้นในไปไว้โดยคิดเห็นเปนท้องที่ที่มีการงานน้อยนั้นไม่ได้

2. ข้าราชการซึ่งจะรับราชการให้ได้ผลบริบูรณ์ในที่นั้น จักต้องมีคุณวุฒิอีกอย่างหนึ่งซึ่งจำเป็น ต้องรู้ภาษาพูดจาติดต่อกันได้ มิฉะนั้นย่อมเปนการลำบากในทาง บังคบบัญชาแลสมาคมกับหมู่ชน ยิ่งกว่านั้น เปนการจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่ศึกษาการสาสนาแลลัทธิประเพณีบางอย่างที่ควรจะรู้ จะเข้าใจแต่เพียงว่าแขกไม่รับพระราชทานหมูอย่างเดียวหาพอไม่”
(เน้นโดยผู้เขียน)

เพื่อสนับสนุนการรู้ภาษาถิ่นในอันที่จะสื่อสารกับราษฎร เจ้าพระยายมราชได้กราบบังคมทูลให้รื้อฟื้น "เบี้ยภาษา" (มีกำหนดอยู่ใน "กฎข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. 120" ข้อ 27 ซึ่งระบุให้ข้าราชการที่ไปรับราชการในบริเวณนั้น ภายใน 1 ปีควรพูดภาษาได้ และเมื่อถึง 3 ปีควรอ่านหนังสือมลายูได้ ถ้ามิฉะนั้นยังไม่ควรได้รับเงินเดือนเพิ่มเติมจนกว่าจะพูดและอ่านได้ภายในเวลาดังกล่าว และมอบประกาศนียบัตรให้ผู้ที่พูดหรืออ่านภาษามลายูได้ โดยให้เงินรางวัลไม่เกิน 100 บาท หรือถ้าอ่านเขียนได้ก็ให้ประกาศนียบัตรและเงินรางวัลไม่เกิน 400 บาท) ที่เคยเป็นเกณฑ์คุณสมบัติข้าราชการในบริเวณ 7 หัวเมืองมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2459 กลับมาใช้ใหม่ เพื่อที่ข้าราชการจะได้ขวนขวายศึกษาหาความรู้เป็นพิเศษ แต่ให้กำหนดว่าต้องเรียนรู้ทั้งภาษาและหนังสือ ไม่ใช่รู้เฉพาะภาษาอย่างเดียว สำหรับการสนับสนุนการศึกษาเพื่อเข้าใจในเรื่องศาสนาและธรรมเนียมประเพณีของประชาชนในพื้นที่ ท่านจะได้จัดให้มีการออก "สมุดคู่มือสำหรับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่รับราชการในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลาม" (ดังจะกล่าวข้างหน้า)

นอกจากนั้น เจ้าพระยายมราชยังกราบบังคมทูลฯ เป็นพิเศษในอีก 2 เรื่อง คือ การสร้างเอกภาพในการบริหารปกครองพื้นที่โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นศูนย์กลางประสานของหน่วยราชการกระทรวงต่าง ๆ และการฟื้นสถานะของเชื้อสายเจ้าเมืองเดิม เพื่อดึงความจงรักภักดีกลุ่มผู้นำเดิมกลับมาอยู่ฝ่ายรัฐบาล ดังนี้

1) ถ้ากระทรวงใดจะออกกฎระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับ การเก็บภาษีอากร หรือการเกณฑ์แบบใดแบบหนึ่ง ต้องให้ปรึกษากับกระทรวงมหาดไทย โดย "ต้องถือเอาความรับผิดชอบของฝ่ายเทศาภิบาล และเจ้ากระทรวงการปกครองท้องที่เปนหลักโดยเคร่งครัด" ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องรับผิดชอบหากเกิดเหตุความไม่สงบขึ้น และเป็นการวางรากฐานตามแนวทางรัฐประศาสโนบาย

2) แต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองเดิมที่ยังอยู่ มีความสามารถและจงรักภักดีขึ้นมาดำรงตำแหน่งพระยาเมืองปัตตานี (เทียบตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพิเศษ) เพื่อตัดทางที่อับดุลกาเดร์จะใฝ่ฝันกลับมานั่งตำแหน่งอีก
(ยังมีต่อ)
**********
จะเห็นว่า จุดยืนและแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นั้นนับเป็นการตกผลึกประสบการณ์การรับราชการฝ่ายปกครอง ที่ประกอบขึ้นจาก "ข้อเท็จจริง" ที่ดำรงอยู่จริง และ "การคลี่คลายขยายตัว" ของสภาวการณ์ในพื้นที่ตลอดช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง จาก "ศักดินา/จตุสดมภ์" มาสู่ "ราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ยิ่งกว่าที่ขุนนางข้าราชการอื่นในยุคสมัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด

ข้อเสนอดังกล่าว มุ่ง "รักษาผลประโยชน์ของรัฐ" หรือ "รักษาพระราชอำนาจและราชอาณาจักร" อย่างมองการณ์ไกล ยิ่งกว่าขุนนางข้าราชการในระบอบเก่า ที่เป็นเพียง "อำมาตย์" มีหน้าที่เพียงสนองนโยบายของราชสำนัก ซึ่งเห็นว่าการ "เสนอ" แนวทางการปฏิบัติราชการเป็นเรื่อง "นอกเหนืออำนาจหน้าที่" หรือกระทั่งมีลักษณะเป็น "กบฏ" เอาทีเดียว ดังตัวอย่างหลายครั้งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดเส้นทางสถาปนารัฐรัตนโกสินทร์ และอาจมีโทษทัณฑ์ลามไปถึงครอบครัว วงศ์ตระกูล หรือมิตรสหายในระดับต่างๆ กันไป แม้ว่าในหลายกรณี ผู้เสนอแนวทางปฏิบัติหรือเปลี่ยนแปลงจารีตแบบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน จะเป็นขุนนางอำมาตย์เก่าแก่ที่ประกอบคุณงามความดีในการรับราชการมากบ้องน้อยบ้างมาแล้ว หรือแม้กระทั่งที่เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ด้วยซ้ำไป ดังเช่น การเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการใน ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427 เป็นปีที่ 17 ของการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีเจ้านายและข้าราชการจำนวนหนึ่งที่รับราชการ ณ สถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน และกรุงปารีส ได้ร่วมกันลงชื่อในเอกสารกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 ทูลเกล้าฯ ถวาย ณ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก ฉอศอ ศักราช 124 ตรงกับวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2427) และ กบฏ ร.ศ. 130 หรือ กบฏเก็กเหม็ง ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2455

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ข้อเสนอของเจ้าพระยายมราช จำกัดอยู่เพียงหลักคิดและแนวปฏิบัติที่มีผลเฉพาะในพื้นที่ส่วนภูมิภาค และเฉพาะเจาะจงอยู่ที่ "ชายแดนใต้".


พิมพ์ครังแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 มิถุนายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน


ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8