Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (42)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (8)

เจ้าพระยายมราช (นั่ง สวมหมวกกะโล่) ถ่ายเมื่อครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็นประธานในพิธีเปิดทางรถไฟสายปากลัด พ.ศ. 2451 

ส่วนในด้านการศึกษาซึ่งอยู่ในบริบทวัฒนธรรมนั้น เจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) ให้ความสำคัญค่อนข้างสูง ดังที่ พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอไว้ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) เป็นหัวข้อใหญ่ดังนี้:
**********
6. การศึกษา เป็นประเด็นที่เจ้าพระยายมราชให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เดิมเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ดำรงตำแหน่งเสนาบดี แนวทางการจัดการศึกษาสำหรับราษฎรชาวมลายูในพื้นที่ มุ่งให้เด็กพูดภาษาไทยได้ "มากกว่าการสอนตัวหนังสือ" ส่วนการเรียนการสอนของประชาชนในพื้นที่ให้สอนไปตามประเพณี มีการตั้งโรงเรียนเพื่อผลิตครูในพื้นที่ โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน ภาษามลายู สอนพูดและเรียนภาษาไทยด้วย แต่นโยบายการจัดการศึกษาในแนวทางดังกล่าวต้องถูกกระทบเมื่อมีการประกาศใช้ พรบ.การประถมศึกษาตลอดทั่วมณฑลปัตตานีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 ซึ่งเจ้าพระยายมราชเห็นว่าเป็นที่มาสำคัญของความไม่พอใจของชาวมลายูในพื้นที่และมูลเหตุหลักหนึ่งของ "ขบถ พ.ศ. 2465" ดังที่ท่านได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า ทันทีที่ทราบว่ามีการออกประกาศจัดตั้งโรงเรียนของรัฐทั่วมณฑลปัตตานี ปฏิกิริยาแรกของท่าน คือ "ตกใจ" และได้รีบสอบถามเรื่องนี้กับสมุหเทศาปัตตานี พร้อมกับต่อว่าและเตือนถึงปัญหาที่จะตามมา ว่า "...นี่อย่างไร เจ้าคุณจึงกล้าหาญเช่นนี้ เกิดความนะ..." และเนื่องจากขณะนั้นเจ้าพระยายมราชรับผิดชอบกระทรวงนครบาลอยู่ และได้คัดค้านการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้มาตั้งแต่แรก โดยกระทรวงนครบาลไม่ยอมให้มีการใช้ พรบ. นี้ในเขตกรุงเทพฯ จึงได้ทูลความกังวลนี้ต่อองค์อุปราชภาคซึ่งทรงตอบว่า "...พวกเทศาถูกพวกศึกษาเขาจับเข้าเทียมคู่แล้วเอาแซ่หวดขากันวิ่งจนไม่รู้จะไปข้างไหน.." พระดำรัสนี้สะท้อนถึงความตระหนักในกระแสความรุนแรงของนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ผลักดันให้ขยายการศึกษาประชาบาลไปทั่วราชอาณาจักรอย่างไม่ใส่ใจถึงธรรมชาติของผู้คนและความพร้อมของท้องถิ่น มีการบังคับเก็บเงินศึกษาพลีจากชายฉกรรจ์คนละ 1 บาท และในทางปฏิบัติ เช่นที่นราธิวาส ฝ่ายศึกษาธิการใช้วิธีเก็บพร้อมเงินรัชชูปการ ทำให้ราษฎรเข้าใจว่าเป็นเงินภาษีชนิดหนึ่งที่เก็บเพิ่มจากเงินรัชชูปการ ซึ่งเดิมจ่ายอยู่คนละ 3 บาท กลายเป็น 4 บาท นับเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองให้รู้สึกเดือดร้อน

ความร้ายแรงของปัญหาการศึกษาในมณฑลปัตตานีในทัศนะของเจ้าพระยายมราชอยู่ที่การบังคับกวดขันให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนประชาบาลของรัฐซึ่งในมณฑลนี้เคร่งครัดกว่าหัวเมืองชั้นในด้วยซ้ำ ถึงขนาดพ่อแม่ที่ไม่ส่งเด็กไปโรงเรียนถูกส่งฟ้องศาล ข้อวิจารณ์ที่เจ้าพระยายมราชชี้ในประเด็น พรบ.การศึกษาภาคบังคับ ก็คือ ราษฎรยังไม่นิยมเพราะความเป็นอยู่ในการทำมาหากินในชนบทแบบเกษตร ยังต้องพึ่งกำลังของลูกวัยอายุ 10-14 ปี การเกณฑ์เด็กไปเรียนเป็นการตัดกำลังผู้ปกครอง และการคมนาคมที่ไม่สะดวกทำให้ยากลำบากต่อการให้เด็กไปเรียน นอกจากนั้นยังมีปัญหาครูไม่พอสอน บางแห่งต้องใช้ครู 1 คนต่อเด็ก 100 คน อีกทั้งงบประมาณครูก็ไม่พอ ความไม่พร้อมด้านจำนวนครูทำให้ผลการสอนไม่สัมฤทธิ์ผล ไม่สามารถทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ไม่สามารถเป็นแรงจูงใจพ่อแม่ ดังนั้นการขยายเพิ่มการศึกษาพลี จึงทำให้ราษฎรที่รู้สึกเดือดร้อนด้วยความอัตคัดขัดสนอยู่แล้ว เพิ่มความไม่พอใจยิ่งขึ้น

ด้วยภูมิหลังที่เข้าใจความสำคัญของศาสนาอิสลามสำหรับคนในพื้นที่นั้นอย่างลึกซึ้ง เจ้าพระยายมราชจึงได้กราบบังคมทูลว่า การจัดการศึกษาของรัฐในแนวทางข้างต้นเป็น "ข้อสำคัญที่เพิ่มความรังเกียจยิ่งขึ้นเป็นพิเศษกว่ามณฑลอื่น (คือ) ในทางศาสนาที่เกี่ยวข้องแก่ศาสนา" ทั้งนี้เพราะศาสนาอิสลามต่างจากพุทธศาสนาตรงที่มีข้อบังคับเด็ดขาด กล่าวคือ "สิ่งใดที่สั่งให้ทำแล้ว จำเป็นต้องทำ สิ่งใดที่เป็นข้อห้ามปรามไม่ให้ทำ ต้องไม่ให้ผู้ใดทำ ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนแล้ว เป็นความผิด..." นอกจากนั้นท่านยังแสดงความเห็นว่า "ชนชาติมลายูโดยมากเป็นคนที่เคร่งครัดในทางศาสนา ถ้าสิ่งใดเป็นเหตุให้เกิดการขัดขวางในทางศาสนาที่จะพึงปฏิบัติแล้ว ย่อมกระทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง" ท่านอธิบายว่า ด้วยเหตุนี้ ธรรมเนียมการที่เด็กตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไปต้องได้เข้าเรียนเรื่องศาสนากับโต๊ะครูและหะยีที่มีความรู้ทางศาสนาและได้รับการรับรองมาแล้วจากเมกกะ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เจ้าพระยายมราชชี้ว่าปัตตานีมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้นำทางการศึกษาศาสนาในโลกอิสลามสากลในภูมิภาค จึงทำให้พ่อแม่ชาวมลายูในพื้นที่ไม่อยากส่งลูกเข้าโรงเรียนไทย เพราะทำให้ขาดโอกาสไปเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาทางศาสนาที่เป็นที่นิยม อีกทั้งครูสอนศาสนาก็ขาดผลประโยชน์ที่ควรจะได้ด้วย ดังความในรายงาน ดังนี้ (การสะกดอักขระตามต้นฉบับ)
"มณฑลปัตตานีเปนที่ซึ่งขึ้นชื่อลือนามอยู่ในหมู่แขกทั้งหลายว่าเปนสำนักที่มีการศึกษาเล่าเรียน หรือมีนักปราชญ์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ในทางศาสนาเปนอย่างดี มีผู้ส่งบุตรหลานไปเล่าเรียนเปนสานุศิษย์กับโต๊ะหะยีปีหนึ่งตั้งหลายร้อยคน คือ คนชาวมลายูในกรุงเทพบ้าง กลันตัน ไทรบุรี เประ ในเขตร์อังกฤษแลหัวเมืองอื่น ๆ บ้าง เพราะเหตุนี้ เมื่อเด็กชนบทมลายูในมณฑลปัตตานีถูกบังคับให้เข้าเรียนหนังสือมลายู ไทยในโรงเรียนประชาบาล ผู้ปกครองโดยมากย่อมเห็นเป็นการเกียจกันในทางศาสนา เพราะว่ากระทำให้หมดโอกาสโดยไม่มีเวลาพอที่จะให้เด็กเรียนศาสนาโกรานแลกิตับอย่างหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เป็นการตัดรอนการศึกษาตลอดจนผลประโยชน์สำหรับโต๊ะหะยีนั้นด้วย" (กจช., ร.6 ม.22/15,เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ 2/1462 วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2466.)
แม้โรงเรียนประชาบาลในมณฑลปัตตานี (สมัยนั้น) จะมีหลักสูตรสอนภาษามลายู และมีครูมลายูอยู่บ้าง แต่เจ้าพระยายมราชก็ชี้ว่าครูเหล่านั้นก็ไม่มีความรู้พอที่จะสอนคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะอักษรและภาษาในคัมภีร์ต้องอาศัยผู้รู้ที่เรียนมาโดยเฉพาะ ท่านอธิบายไว้ว่า "โต๊ะหะยีเป็นเหมือนเปรียญที่ได้ศึกษามาโดยเฉพาะ และผู้ที่จะเป็นครูให้ความรู้แก่สานุศิษย์ต่อไปได้ ต้องเป็นผู้มีความรู้ซึ้ง ได้รับปริญญามาจากเมกกะแล้ว"
(ยังมีต่อ)
**********
ความพยายามสร้าง "รัฐไทย" ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวโดยปฏิเสธความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และคติชนวิทยา นั้น นับว่าเป็น "สาเหตุสำคัญของคลื่นใต้น้ำ" และการก่อหวอดความไม่พอใจ กระทั่งอาจเป็นหน่ออ่อนของแนวคิด "แบ่งแยกดินดิน/สร้างรัฐปาตานีที่เป็นเอกราช" เมื่อพิจารณาจาก "วิสัยทัศน์ยาวไกล" ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งหนึ่งในปมเงื่อนดังกล่าวอยู่ที่ "การจัดการศึกษาแบบกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง" หลัง การประกาศใช้ พรบ.การประถมศึกษาตลอดทั่วมณฑลปัตตานีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 ซึ่งเจ้าพระยายมราชเห็นว่าเป็นที่มาสำคัญของความไม่พอใจของชาวมลายูในพื้นที่และมูลเหตุหลักหนึ่งของ "ขบถ พ.ศ. 2465".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-6 มิถุนายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8