Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (72)

"ไทยรักไทย" ผงาดพร้อม "ทักษิณ"
จุดเปลี่ยนทางการเมืองระบอบรัฐสภา


การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 เป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในระบบใหม่ ที่เรียกกันในแวดวงวิชาการทางรัฐศาสตร์หรือในทางการเมือง ว่าอยู่เงื่อนไข "รัฐธรรมนูญนิยม" หรือนัยหนึ่ง อาศัยรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นให้เป็นประชาธิปไตย "มากที่สุด" มากำหนดรูปแบบการเมืองการปกครอง โดยที่การเลือกตั้งและสร้างความเข้มแข็งแก่พรรคการเมือง อันเป็นการปูทางไปสู่เจตนารมณ์สร้างการเมืองเข้มแข็งที่ประกอบด้วยพรรคการเมือง 2 พรรค หรือมีพรรคการเมืองใหญ่จำนวนน้อย แทนที่พรรคเล็กพรรคน้อย หรือ "พรรคต่ำสิบ" จำนวนมากที่ทำให้เสียงในสภาซึ่งมีผลต่อการสนับสนุนรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารค่อนข้างไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งแบ่งเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน ภายใต้การกำกับดูแลและจัดการเลือกตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่ 1 (27 พฤศจิกายน 2540-26 พฤษภาคม 2544)

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา คือ (พรรคการเมือง/หัวหน้าพรรค จำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ/แบ่งเขตเลือกตั้ง และ ผลรวม) ไทยรักไทย/พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร: 48/200 รวม 248; ประชาธิปัตย์/นายชวน หลีกภัย: 31/97 รวม 128; ชาติไทย/นายบรรหาร ศิลปอาชา: 6/35 รวม 41; ความหวังใหม่/พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ: 8/28 รวม 36; ชาติพัฒนา/นายกร ทัพพะรังสี: 7/22 รวม 29; เสรีธรรม/นายพินิจ จารุสมบัติ: 0/14 รวม 14; ราษฎร/นายวัฒนา อัศวเหม: 0/2 รวม 2; กิจสังคม/นายสุวิทย์ คุณกิตติ:  0/1 รวม 1 และ ถิ่นไทย/ดร.พิจิตต รัตตกุล: 0/1 รวม 1

ผลงานควบคุมการเลือกตั้งที่ขึ้นชื่อลือชาของ กกต. ชุดแรกที่มี นายธีรศักดิ์ กรรณสูต เป็นประธานคนแรก คือการลบคำสบประมาทที่ว่า "กกต. คือ เสือกระดาษ" โดยการประกาศแขวนรายชื่อ 78 ว่าที่ ส.ว.ไม่ให้ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 และการตรวจสอบ-แจกใบแดงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้ง 2 ประเภทเป็นจำนวนมาก

ที่น่าสังเกต คือ จำนวนคนที่ลงคะแนนให้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อให้แก่พรรคไทยรักไทยที่นำโดย พ.ตท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นมีมากถึง 11,634,495 คะแนน ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยนายชวน หลีกภัย ได้เพียง 7,610,789 คะแนน หรือคิดเป็น 40.65% และ 26.6% ตามลำดับ

นอกจากนั้น ลักษณะพิเศษของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 หาได้เติบโตมาจากการทำงานการเมืองเป็นพื้นฐานมานาน เช่นนักการเมืองร่วมสมัยทั้งในอดีตและส่วนใหญ่ในปัจจุบัน โดยที่ประวัติส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี กับนโยบาย "ประชานิยม" ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2492 นั้น ก่อนหน้าจะลาออกจากราชการมาประกอบธุรกิจส่วนตัว เริ่มรับราชการตำรวจหลักจากสำเร็จการศึกษา โดยเริ่มงาน ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตามมาด้วย ตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามลำดับ

ในปี 2523 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ควบคู่ไปกับการรับราชการตำรวจ เช่น สืบทอดค้าขายผ้าไหมของบรรพบุรุษ 3 ชั่วคนในจังหวัดเชียงใหม่ และขยายตัวมาทำกิจการโรงภาพยนตร์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่กลับประสบความล้มเหลว เป็นหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท ในระหว่างนั้นจึงได้ลาออกจากราชการ

ต่อมาในปี 2526 จึงก่อตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ (ICSI) ซึ่งดำเนินกิจการด้านคอมพิวเตอร์และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด จนสามารถปลดหนี้สินที่มีมาแต่เดิม จนประสบความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจ วิทยุติดตามตัว ให้บริการเครื่อง คอมพิวเตอร์แก่ สำนักงานต่างๆ เป็นบริษัทผู้นำคอมพิวเตอร์เข้ามาในประเทศไทยเป็นยุคแรกๆ และเป็นผู้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทยเป็นรายแรก กระทั้งในปี 2533 จึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2533 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เบอร์หนึ่งในธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

พ.ต.ท. ทักษิณเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยการชักนำของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม ในปี 2537 โดยลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยได้โอนหุ้นให้ คุณหญิงพจมาน (ณ ป้อมเพชร) ภริยา และบุตรชาย นายพานทองแท้ กับบุตรสาวอีก 2 คน นางสาวพินทองทา นางสาวแพทองธาร และคนสนิทเข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และในปี 2538 จึงเข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ต่อจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา กระทั่งในปี 2539 ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

จุดเปลี่ยนประการสำคัญในประวัติการเมืองการปกครองไทย เริ่มต้นในปี 2541 เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิน ตัดสินใจลาออกจากพรรคพลังธรรม จากนั้นจึงดำเนินการก่อตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยคนแรก

หลังจากเข้าบริหาประเทศเป็นสมัยแรก (เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้งที่อยู่ครบวาระเป็นคนแรก) รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในสมัยแรก ดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ขนานนามว่า "นโยบายประชานิยม" ตามแนวมทางในการรณรงค์หาเสียง ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนทั้งที่เป็นกลุ่มเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร, โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการบ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

ในช่วงปี 2546 รัฐบาลประกาศนโยบายทำสงครามปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด มีผู้เสียชีวิตในช่วงนี้เป็นจำวนถึง 2,405 ราย นำไปสู่ข้อกังขาและเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนำมาใช้โจมตีในเวลาต่อมา ว่าเป็นการ "ฆ่าตัดตอน" เพื่อมิให้โยงใยไปถึงผู้บงการรายใหญ่

ส่วนนโยบายอื่นๆ ในด้านสังคม อาทิ การปราบปรามผู้มีอิทธิพล และการจำหน่ายสลากเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของรัฐบาล โดยนำรายได้จากการจำหน่ายส่วนหนึ่งไปเป็นทุนการศึกษา สำหรับเยาวชนที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่ผ่านสอบคัดเลือกในระดับอำเภอ เพื่อส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ตามสาขาที่นักเรียนทุนต้องการ โดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนแก่ราชการ ทั้งยังสามารถลดปัญหาจากการค้าหวยเถื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบการใช้เงินในส่วนนี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านเอื้ออาทร รวมทั้งแท็กซี่เอื้ออาทร ซึ่งการตอบรับในระยะแรกของการดำเนินนโยบายเป็นไปในทางบวกอย่างกว้างขวางในขอบเขตทั่วประเทศ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 31 กรกฎาคม-6 สิงหาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (71)

"รัฐบาลชวน 2" ในภาวะฟองสบู่แตก
การรับมือที่ยิ่งแก้ไขยิ่งดิ่งลงเหว


การสิ้นสุดลงรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ด้วยการลาออก มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ทั้งนี้เนื่องจากในสายตาของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจนนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจแทบไม่ต่างไปจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อม มีท่าทีที่จะบ่งชี้ว่าเป็นรัฐบาลที่น่าจะมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ดังกล่าว

หลังจาก พล.อ.ชวลิต ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมีผลทำให้เป็นการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลทั้งคณะ ขั้นตอนต่อไปสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินคือความจำเป็นต้องสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ พร้อมกับแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้ามาดูแลกระทรวงทั้งหลาย เพื่อที่จะบริหารประเทศไปข้างหน้าโดยไม่หยุดยั้งขาดตอนหรือมีสูญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเชื่อถือในสังคมนานาชาติลดน้อยถอยลงไปอีก และโดยหลักปฏิบัติของการปกครองในระบอบรัฐสภา เป็นสิทธิของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมซึ่งยังคงเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเอง

ในห้วงเวลา 3 วันนับจากการลาออกของพล.อ.ชวลิต ในวันที่ 6 พฤศจิกายน เกิดความพลิกผันที่ยิ่งกว่าอาการ "ฝุ่นตลบ" ขึ้นในแวดวงการเมืองไทย นั่นคือแรกทีเดียว พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยังมีความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลด้วยการสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงสนับสนุนจากพรรคความหวังใหม่ 125 เสียง, พรรคชาติพัฒนา 52 คน, พรรคประชากรไทย 18 เสียง, และ พรรคมวลชน 2 เสียง รวม 197 เสียง ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ 123 เสียง, พรรคชาติไทย 39 เสียง, พรรคเอกภาพ 8 เสียง, พรรคพลังธรรม 1 เสียง, และพรรคไท 1 เสียง รวมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้แก่พรรคกิจสังคม 20 เสียง และพรรคเสรีธรรม 4 เสียง สนับสนุนนายชวน หลีกภัย ด้วยเสียงทั้งสิ้นรวม 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง

แต่แล้วแต่เกิดการพลิกผันที่ต้องจากรึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยขึ้น เมื่อเกิดกลุ่มการเมืองที่เรียกกันว่า "กลุ่มงูเห่า" ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยจำนวน 12 คน ฝืนมติกรรมการบริหารพรรค หันไปเข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลตามคำชวนของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จนกระทั่งถูกพรรคประชากรไทยมีมติขับไล่ทั้งหมดออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ส่งผลให้สิ้นสุดสถานภาพ ส.ส. ตามกฎหมาย จากนั้นทั้ง 12 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ทั้ง 12 คน ยังคงสถานภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ได้ เพียงแต่หาพรรคการเมืองอื่นเข้าสังกัดภายในกำหนดเวลาเท่านั้นเอง

นายชวน หลีกภัย จึงเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สองในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 นั้นเอง และแนวทางการแก้ปัญหา "เศรษฐกิจฟองสบู่" ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ก็คือความพยายามหยุดยั้งการไหลออกของเงินด้วยการขึ้นดอกเบี้ย แต่เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในตลาดการเงินและตลาดนักลงทุนการเงิน ส่งผลให้การไหลออกของเงินก็ยังไม่ลดลง ยังคงมีการเรียกหนี้คืนอย่างหนักจากต่างประเทศ เงินบาทได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องและทำจุดต่ำสุดที่ 57.5 บาทต่อดอลลาร์ ในเดือน มกราคม 2541 ก่อนจะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 40 บาทเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 แต่รัฐบาลก็ยังคงตั้งเป้าที่จะทำให้ค่าเงินให้แข็งขึ้นไปอีก และจะยังคงนโยบายดอกเบี้ยสูงต่อไป ทั้งๆที่เงินบาทได้เข้าสู่ระดับสมดุลแล้ว และเศรษกิจเองก็กำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างรุนแรง

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2541 รัฐบาลได้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารลงเรื่อยๆ ในขณะที่แต่ละธนาคารเองก็ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงไปตามๆกัน ที่สำคัญคือไม่มีทีท่าว่าจะปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพื่อขยายการให้สินเชื่อในภาคการผลิตแต่อย่างไร เนื่องจากธนาคารถูกบังคับให้ต้องกันสำรองหนี้เสียให้ได้ตามเกณฑ์ 8.5% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง

นำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นเสมือน "ตราบาป" ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ นั่นคือการสั่งปิดกิจการชั่วคราว 56 สถาบันการเงินโดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เนื่องจากไม่สามารถสำรองตามเกณฑ์ 15 % และหลังจากถูกตรวจสอบบัญชีและประเมินราคาสินทรัพย์โดย บริษัทสอบบัญชีต่างชาติแล้ว จึงถูกปิดกิจการถาวร ปล่อยรอดมาเพียง 2 รายซึ่งถือว่ามีศักยภาพพอที่จะเข้าประมูลสินทรัพย์ ป.ร.ส. แข่งกับต่างชาติได้

จากนั้นรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปไตย ก็เร่งดำเนินการจัดประมูลขายสินทรัพย์และหนี้ที่ติดอยู่กับ ป.ร.ส. ออกไปทั้งหมด ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาชาวต่างชาติ โดยไม่มีการประนอมหนี้แต่อย่างไร

และที่เป็น "ตราบาป" ซ้ำสอง ในการประมูลขายสินทรัพย์ในปี 2541 ป.ร.ส. ดำเนินการขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินทั้งหลายในราคาต่ำมาก เพียงแค่ 20% ของมูลค่าที่แท้จริงเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่แถลงในเวลานั้นและในเวลาต่อมาว่า ต้องการขายก่อนประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันกับประเทศไทย เช่น เกาหลี อินโดนีเซีย จะทำให้ได้เงินเข้าประเทศโดยเร็ว

การปิดสถาบันการเงิน ส่งผลให้ให้ธุรกรรมการให้สินเชื่อถูกปิดวงเงินกู้ลงทันทีทันควัน ทรัพย์สินและสินทรัพย์ในครอบครองถูกยึดไปอย่างสิ้นเชิงพร้อมกับมูลหนี้ ระบบหมุนเวียนเงินตราในตลาดการเงินและการลงทุนหยุดชะงัก วงเงินสินเชื่อที่มีขนาดและปริมาณแทบจะครอบคลุมระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศถูกทำให้กลายเป็นหนี้เสีย แล้วลุกลามต่อไปยังสถาบันการเงินอื่น วัฏจักรแห่งความล่มสลายดำเนินเป็นลูกโซ่ ทั้งสินทรัพย์ที่ได้ถูกประมูลไป แล้วขายออกมาในราคาถูกกว่าท้องตลาดก็มีส่วนทำให้ราคาสินทรัพย์ที่ตกต่ำอยู่ดิ่งลงเหวไปอีก กลายเป็นภาระให้ธนาคารต้องกันสำรองมากขึ้น และแล้วธนาคารที่คนไทยหรือกลุ่มทุนของไทยเป็นเจ้าของเกือบทุกแห่งต้องลดทุนลงจนสูญเสียความเป็นเจ้าของไปในที่สุด

ความเสียหายจากปรากฏการณ์ "ฟองสบู่แตก" ในครั้งนั้น เฉพาะในภาคสถาบันการเงินก็มีการประเมินกันเป็นมูลค่านับล้านล้านบาท ยังไม่รวมการที่รัฐต้องยอมลดค่าสัมปทานให้กับธุรกิจเอกชน การล้มละลายของธุรกิจนับหมื่นแห่ง รวมถึงธุรกิจไทยที่ต้องตกไปอยู่ในมือต่างชาติ

และก่อนที่รัฐบาลชวน 2 จะพ้นวาระในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ด้วยการประกาศยุบสภาในวันที่ 9 พฤศจิกายน เพื่อการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม 2544 ด้วยรัฐธรรมนูญ 2540 ผลงานอัปยศสำหรับผู้รักประชาธิปไตยโดยน้ำมือของนักกฎหมายเจ้าแห่งหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การอนุมัติแต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร หนึ่งใน "3 ทรราช" เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2542 ท่ามกลางกระแสไม่พอใจของสังคม สื่อมวลชน และโดยเฉพาะญาติของผู้เสียชีวิต/สูญหายในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8