Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (66)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (6)

16 ตุลาคม 2516 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นำคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญานก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (ภาพจาก http://www.14tula.com/images/gallery/images_event/g182_jpg.jpg)

บทความลำดับที่ 1284 บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html) ทิ้งท้ายไว้ก่อนจะนำเสนอตอนที่สองของบทความชุดนี้ดังนี้
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว :
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (5)


การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗


ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้ ยังมีนัยสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไทย ดัง นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2538) ตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาคม 2516 มีพลังผลักดันจากอุดมการณ์ชาตินิยม และสามารถกระตุ้นเร้าพลังของคนชั้นกลางที่เติบโตจากกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะเกือบสองทศวรรษ ให้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้เองที่เห็นว่าระบบทุนนิยมโลก มีการเอารัดเอาเปรียบผ่านนายทุนขุนศึกเพื่อเอารัดเอาเปรียบคนในชาติ ในแง่นี้จะต้องต่อสู้โดยการใช้ประชาธิปไตยคือ "…ให้โอกาสแก่คนทุกหมู่เหล่า ซึ่งมีความหลากหลายในด้านผลประโยชน์อื่นๆ อยู่มาก ได้เข้ามาจัดการปกครองตนเอง ไม่ต้องตกเป็นทาสของเผด็จการทหารตลอดไป…" (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538 (ค): น. 180)

แม้การบ่งชี้ว่าชนชั้นกระฎุมพีใหม่มีบทบาทสำคัญ และเป็นประกันให้กับความสำเร็จในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (เบ็น แอนเดอร์สัน, 2541: น. 115) แต่ก็อาจทำให้มองข้ามความหลากหลายของขบวนการ 14 ตุลาฯ ซึ่งเสน่ห์เห็นว่ามีลักษณะเป็นการปฏิวัติ (เสน่ห์ จามริก, 2530: น. 149-184) และภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติที่มาจากประชาชน ก็น่าจะนำพาความมั่นคงและมีเสถียรภาพทั้งเศรษฐกิจและการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชนชั้นกลางก็เปลี่ยนใจ ยอมรับความชอบธรรมของคณะทหารในอีกสามปีต่อมา แอนเดอร์สันกล่าวว่า คนชั้นกลางสนับสนุนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยความเงียบ ยิ่งตอกย้ำอาการลงแดงของชนชั้นกระฎุมพีใหม่ที่เห็นว่า ความพลิกผันปั่นป่วนทางอุดมการณ์คุกคามความมั่นคงในชีวิต แบบกระฎุมพี (เบ็น แอนเดอร์สัน, 2541: น. 124-137)

จะเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญไม่ใช่หลักประกันของความเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญในความหมายอย่างกว้างๆ เป็นเรื่องของกติกา การกำหนดข้อตกลงเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองหรือรัฐกับประชาชน รัฐธรรมนูญจึงมีนัยเป็นเครื่องกำหนด สิทธิและหน้าที่ ระหว่างคนสองกลุ่ม (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2536: น. 38-41) นอกจากนี้ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมักจะถูกล้มล้างเสมอ เพราะโดยจารีตของรัฐธรรมนูญในวัฒนธรรมไทยแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญอาจถูกยกเลิกและเขียนใหม่ได้โดยไม่ขัดเขิน เพราะรัฐธรรมนูญมักจะถูกอ้างอิงกับความเหมาะสมของยุคสมัย.
**********
เมื่อพิจารณาถึงย่อหน้าสุดท้ายของบทความชิ้นนี้ ประเด็นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจคือ การติดยึดกับแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในสังคมไทย ที่จารีตการปกครองในระบอบศักดินานิยม/จตุสดมภ์-ราชาธิปไตย/สมบูณาญาสิทธิราชย์ ที่ชนชั้นสูงในทั้งสองระบบสังคมนั้นคือผู้ครอบงำบงการโครงสร้างทั้งหมด คือ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรม เสียจนกระทั่งทำให้ราษฎรสามัญ (หรือ ประชาชน) ไม่อาจมองเห็นและทำความเข้าใจถึงบริบทที่ ประชาชนสามารถตัดสินอนาคตของตนเองได้ แล้วกลายเป็นเพียงผู้ถูกปกครอง หรือหมากหรือตัวประกันทางการเมืองระหว่างขั้วอำนาจนิยมของแต่ละวิวัฒนาการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

สำหรับบทความตอนต่อไป เป็นบทความลำดับที่ 1285ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนโดยผู้เขียนคนเดียวกัน (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999645.htmll)

ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว:
บทเรียนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (1)

การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗

3. วิวาทะสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ


ได้กล่าวมาแล้วว่า กรอบการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ตกอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลจะต้องเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้แต่งตั้งให้จอมพลประภาส จารุเสถียรเป็น ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการฯ ชุดนี้ร่างถึงหมวดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ของชนชาวไทยเท่านั้น (รัฐสภาสาร, 21:10, 2516) แต่เมื่อเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 และตั้ง รัฐบาลใหม่ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ยังคงต้องยึดตามหลักการของธรรมนูญการปกครองฯ

รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2516 มีนายประกอบ หุตะสิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการอีก 17 คน คณะกรรมการชุดนี้ยึดหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 และ พ.ศ. 2511 เป็นต้นแบบ และเพิ่มเติมลักษณะระบอบการปกครองที่ต้องเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์ การกำหนดเสรีภาพของประชาชนและการปกครองท้องถิ่น (ประชาชาติ, 1:14, 21 กุมภาพันธ์ 2517)

แต่ในส่วนของสภานิติบัญญัติที่ได้รับการแต่งตั้งสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งยังไม่หมดวาระ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นสภาตรายาง เป็นมรดกเผด็จการ ไม่สมควรที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติชุดนี้ลาออก เมื่อสมาชิกสภาฯ ลาออกจนมีสมาชิกเหลือน้อย ไม่สามารถเรียกประชุมได้ครบองค์ประชุมจึงมีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสีย โดยอาศัยอำนาจตามธรรมนูญการปกครองฯ มาตรา 22 ซึ่งระบุว่าเป็นการวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.14-18) จากนั้นสมัชชาแห่งชาติจึงได้เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 2 ขึ้นมาทำหน้าที่แทน

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (65)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (5)

กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเริ่มออกเดินแจกใบปลิว วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 10.00 น. และในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ก็เริ่มต้น อันนำไปสู่การปฏิวัติประชาชนในสัปดาห์ถัดมา 

ถึงอย่างไรก็ตาม ยังคงมีเนื้อหาที่อาจนำความสับสนทางรัฐศาสตร์เกี่ยวกับการใช้คำว่า "ปฏิวัติ" และ "รัฐประหาร" ในบทความลำดับที่ 1284 บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html) อีกหลายครั้ง ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีในคอลัมน์ "พายเรือในอ่าง" ผู้เขียนพยายามทำความชัดเจดในบริบทเกี่ยงวกับการ "ยึดอำนาจรัฐ (การปกครอง)" ไว้แล้วหลายครั้ง

แต่ที่สำคัญ หากไม่นับการทำสงครามประชาชนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในห้วงเวลาประมาณ 3 ทศวรรษหลังกึ่งพุทธกาล การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม ในปี พ.ศ. 2516 นี้เองที่มีการใช้คำว่า "การปฏิวัติประชาชน" เป็นครั้งแรก
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว :
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (3)

การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗


1. บทนำ: รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ต่อ)

ถ้าหากพิจารณาโดยเงื่อนไขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถกำกับหรือควบคุมฝ่ายบริหารได้เลย เสถียรภาพของรัฐบาลจึงค่อนข้างมั่นคง อย่างไรก็ดีมีการรวมตัวเป็นกลุ่มภายในพรรคสหประชาไทยเพื่อช่วงชิงและแข่งขันการสั่งสมอำนาจ ทำให้ระบอบถนอมประภาส ไม่สามารถบริหารได้โดยสะดวกราบรื่น เนื่องจากการใช้ระบอบรัฐสภาเป็นเพียงการสร้างฐานอำนาจนอกระบบราชการเท่านั้น ประกอบกับปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาจากภัยคอมมิวนิสต์กลายเป็นปัจจัยและเหตุผลที่ทำให้กลุ่มถนอมประภาสตัดสินใจปฏิวัติยึดอำนาจตัวเอง เพื่อให้อำนาจและผลประโยชน์ในกลุ่มของตัวเอง (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 365-366) ประกอบกับข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานนิรโทษกรรมแก่จอมพลถนอมและคณะ ที่ได้ก่อการปฏิวัติเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งข่าวลือนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์เมื่อ พ.ศ. 2501 กับการปฏิวัติครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2526: น. 196)

คณะปฏิวัติของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ยังถูกท้าทายความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมา โดยอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน ได้แก่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน, นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ,และนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฎ แม้ว่าในที่สุดการตีความและพิจารณาของศาลทำให้ทั้งสามตกเป็นจำเลย และถูกจำคุกในที่สุด แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตความขัดแย้งอยู่ในแวดวงราชการอีกต่อไป (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 365-366)

ความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความคับแคบของฐานการเมืองที่คงอยู่บนระบบราชการและชนชั้นนำแล้ว ยังสะท้อนถึงการประเมินพลังทางเศรษฐกิจและสังคมของคนชั้นกลางที่เพิ่งเติบโตไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย กล่าวคือ การละเลยพลังทางเศรษฐกิจสังคมใหม่ที่เติบโตตั้งแต่ต้นพุทธทศวรรษ250012 ซึ่งเริ่มไม่พอใจต่อสภาพทางสังคมภายใต้ระบอบการเมืองอภิสิทธิชนที่ส่งผลต่อ "ระบอบถนอม-ประภาส" โดยตรง (เสน่ห์ จามริก, 2541: น. 17-20) กระบวนการทางเมืองระหว่างทศวรรษ 2510-2520 จึงเป็นการจัดสรรสัมพันธภาพทางอำนาจของสังคมไทยเสียใหม่ (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 349)

เมื่อหลักการสิทธิเสรีภาพที่เคยตราไว้ในรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า ขบวนการ 14 ตุลาฯ แสดงให้เห็นความต้องการทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมของรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในจดหมายของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนในนามนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง เพื่อให้มีกติกาหมู่บ้านโดยเร็ว. อนุสนธิจากจดหมายนายป๋วย ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของปัญญาชนเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นนายป๋วย ยังได้เขียนบันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี เพื่อเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2528: น. 68-69) ส่วนนายป๋วยก็ถูกตอบโต้จากผู้มีอำนาจขณะนั้นจนเกือบถูกลงโทษทางวินัย

คณะปฏิวัติยังมีความขัดแย้งกับสถาบันตุลาการในกรณี ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ซึ่งถูกมองจากสถาบันตุลาการว่า มีนัยของการแทรกแซงสถาบันตุลาการ และเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารเข้ามากำกับคณะกรรมการตุลาการ ฝ่ายตุลาการตอบโต้อย่างรุนแรงจนคณะปฏิวัติต้องออกประกาศย้อนหลัง เพื่อยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าวภายหลังจากประกาศใช้เพียงวันเดียว13 ไม่เพียงแต่สะท้อนความเสื่อมถอยของอำนาจคณะปฏิวัติ แต่ยังแสดงความรู้สึกของประชาชนที่เข้าร่วมประท้วงแผนการรวมอำนาจตุลาการอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2515 โดยเฉพาะบทบาทของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ก่อตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 และมีบทบาทแข็งขันในยุคของนายธีรยุทธ บุญมี จากการกระตุ้นรณรงค์ให้รักชาติ, การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น, และกรณีการต่อต้านการล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวคัดค้านการลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานการรวมตัวและตั้งรับการชุมนุมในครั้งต่อๆ มา จนนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ในนิทรรศการวันรพี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2516 เพื่อรำลึกถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวง ราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระบิดาแห่งกฎหมายไทย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับตัวอย่างขึ้น เผยแพร่และได้รับการตอบสนองอย่างดี จนถึงกับมีบางท่านกล่าวว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรยึดเอาแบบอย่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนักศึกษา เพื่อเป็น "ตัวอย่างแห่งความรวดเร็ว" และถ้าพิจารณาแล้วจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนักศึกษาเลยก็ได้ แต่ต้องแก้ไขในบางประเด็น (นเรศ นโรปกรณ์, 2516: น. 146-157)

ในส่วนของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ (ศนท.) ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ศนท. เพื่อชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลทำการร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ภายในหกเดือน (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2516; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2541)
**********
มาถึงตรงนี้ การวิเคราะห์ของสำนักคิดกระแสหลักก็ยังคงให้ความสำคัญกับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะสามารถสถาปนาระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5-11 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (64)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (4)

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2514 เป็นการยึดอำนาจตัวเองโดยจอมพลถนอม กิติตขจร เหมือนรัฐประหาร พ.ศ. 2494 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

บทความลำดับที่ 1284 บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html) นำเสนอต่อไปว่า เป็นที่น่าสังเกคว่า ในบทความชิ้นนี้ นอกเหนือจากใช้คำ เช่น "ฝ่ายก้าวหน้า" แล้ว ยังใช้คำว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 อีกด้วย
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว:
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (2)


การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗

1. บทนำ: รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ต่อ)

ระบอบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สืบเนื่องมาถึงจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะปกครองประเทศภายใต้กรอบของธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสถานะเป็น "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" เป็นเวลาถึง 9 ปี 5 เดือน จึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในระยะเวลาเพียง 3 ปี 4 เดือน 28 วัน (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2521, น.1) จอมพลถนอม กิตติขจรและคณะก็กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองอีกครั้ง โดยประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 และแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้พลเอกประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญอย่างล่าช้า ดังการประชุมครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2516 ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญถึงเพียงหลักการของรัฐธรรมนูญหมวดที่ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในส่วนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา (รัฐสภาสาร, 21:10, 2516) และประมาณระยะเวลาที่จะร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จภายใน 3 ปี (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.7 และรายงานการประชุมคณะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 4/2516 ใน รัฐสภาสาร, 21:5, เมษายน 2516)

ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนนำโดยกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา ได้ก่อตั้งกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยเร็ว เหตุการณ์ได้ลุกลามไปจนเป็นกรณี 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยคหรือวันมหาประชาปิติ มีผลให้รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจรต้องลาออก และจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งถูกขนานนามว่าสามทรราชย์ (สะกดตามต้นฉบับ) พร้อมด้วยครอบครัว ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์และเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศใช้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 แต่ขณะเดียวกันก็มีความพยายามแก้ไขให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็น "ประชาธิปไตย" มากขึ้น ดังเช่นการตั้ง สมัชชาแห่งชาติ เพื่อเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติชุดใหม่ และการเสนอให้มีการลงประชามติว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้กติกาของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 นั้น ก็เพื่อลดความระส่ำระสายของระบบราชการ หรืออีกนัยหนึ่งระบอบอำมาตยาธิปไตย และรักษาความต่อเนื่อง ตลอดจนจำกัดขอบเขตของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 14 ตุลาคมมิให้เกินความควบคุม (เสน่ห์ จามริก, 2529: น.373)

ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของกลุ่มต่างๆ เพื่อผลักดันให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระเป็นไปตามความต้องการของตน นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง "กลุ่มอนุรักษ์นิยม" กับ "ฝ่ายก้าวหน้า" ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ เช่น กลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และนักการเมืองในสายเสรีนิยมและสังคมนิยม อันนำไปสู่ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเด็น

สภาพการเมืองแบบเปิดภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้นักศึกษาและประชาชนเกิดความตื่นตัวทางการเมือง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพลังอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า จนในที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังผลให้รัฐธรรมนูญที่กล่าวกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยฉบับหนึ่งต้องยกเลิกไป (กระมล ทองธรรมชาติ, 2524: น. 49-50) ดังนั้นการพิจารณาที่มาของวิวาทะและสถานะของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 จึงไม่อาจแยกระหว่างบริบททางสังคมที่อยู่รายรอบ และสร้างข้อเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและขัดแย้งทางสังคมที่ปรากฏออกมาในระหว่างนั้น

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับการแข่งขันทางอำนาจระหว่าง "ข้าราชการประจำ" กับ "นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง" โดยเฉพาะระหว่าง "คณะทหาร" กับ "พรรคการเมือง" (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2536: น.68) ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจ "อายุการใช้งาน" ของรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอีกโสตหนึ่ง

คำถามสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตมักจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เหตุใดจึงมีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับถาวร จนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516?

ก่อนที่จอมพลถนอม กิตติขจร จะปฏิวัติตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 กรอบกติกาทางการเมืองถูกจำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งใช้เวลาร่างถึง 9 ปี 5 เดือน (นับตั้งแต่การใช้ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ดู เชาวนะ ไตรมาศ, 2540: น. 13) การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้คณะปฏิวัติต้องขยายฐานอำนาจเข้าสู่รัฐสภา ผ่านวุฒิสมาชิกและสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะปฏิวัติควบคุมฝ่ายบริหารผ่านระบอบรัฐสภา โดยผ่านพรรคสหประชาไทยที่เป็นพรรคเสียงข้างมาก
**********
สำหรับการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดมีหรือไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนั้น ผู้เขียน (อริน) ยังคงยึดหลักที่ว่า (1) ผู้แทนปวงชนทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง และ (2) ไม่มีองค์กรนอกอำนาจอธิปไตยอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่นในรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรกของสยามและไทย คือ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินชั่วคราว), รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 และ รัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489 นั้น ทั้ง 3 ฉบับไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยองคมนตรี.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 29 สิงหาคม-4 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (63)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (3)

10 ธันวาคม 2475 เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อัญเชิญรัฐธรรมนูญมาแสดงต่อราษฎรที่บริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2517 ขออนุญาตยกบทความ (2 ตอนต่อเนื่อง) จาก เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://midnightuniv.tumrai.com) มานำเสนอ เพื่อให้มองเห็นทั้งภาพรวมและรายละเอียดของรัฐธรรมนูญที่เคยเชื่อกันว่า "เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด" ฉบับหนึ่งของสังคมไทย ทั้งยังมีส่วนประกอบช่วยในการตอบโจทย์พัฒนาการทางการเมืองของไทยหลัง การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่มีลักษณะหยุดนิ่งและถอยหลังเข้าคลอง เป็นเหตุให้ปณิธานของมันสมองของ "คณะราษฎร" และเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์สยามยังคงมีลักษณะ "พายเรือในอ่าง" จนแม้เมื่อเกิดการรัฐประหารนับจากปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

ช่วงที่ 1 (บทความลำดับที่ 1284) บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html)

หมายเหตุ: ทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ให้อรรถาธิบายไว้ก่อนถึงเนื้อหาของบทความไว้ว่า "คงใช้เลขไทยตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ฯ " [แนะนำให้อ่านฉบับเต็มในเว็บไซต์ สำหรับเชิงอรรถและการอ้างอิง ส่วนการเน้นข้อความ  ทาง arin-article.blogspot ได้จีัดทำเพื่อให้อ่านลำดับความได้ดีขึ้น]

บทความบริบทเหตุการณ์การร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ นี้ กองบรรณาธิการฯ ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ: "การเมืองภาคประชาชน บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับบรรยากาศแวดล้อมทางการเมืองในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อันเป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ และไปสิ้นสุดเหตุการณ์ในช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งผู้เขียนได้มีการลำดับเหตุการณ์ก่อนหน้า อันเป็นที่มาของบริบทแวดล้อมที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ด้วยเหตุที่บทความต้นฉบับนี้มีความยาวประมาณ ๓๗ หน้า จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ หัวเรื่องคือ
๑๒๘๔. ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว : เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
๑๒๘๕. ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว : บริบทการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๘๔ เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ (บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว:
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (1)

การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗

1. บทนำ: รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย


ตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) เชื่อว่า การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะเป็นหลักการสำคัญและเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ได้พัฒนามาเป็นลำดับและมีการสร้างสถาบันการเมืองที่เป็นอิสระ หรือกึ่งอิสระตามกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญในอันที่จะเป็นกลไกกำกับ, ตรวจสอบการทำงานตลอดจนแบบแผนการใช้อำนาจของนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง แต่ถึงแม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่ใช่หลักประกันต่อสิ่งที่เรียกว่าความเป็นประชาธิปไตย หากยังจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบตัวบทของรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่าความเป็นประชาธิปไตย (อมร จันทรสมบูรณ์, มปป. และโกสินทร์ วงศ์สุรวัฒน์, 2516)

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยย่อมมีเส้นทางที่แตกต่างไป ตามแต่สภาวะของสังคมที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคมแตกต่างกันไป ดังจะเห็นได้ว่ามีการเปรียบเปรยว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นพืชพันธุ์แปลกปลอมของต่างวัฒนธรรม ย่อมไม่อาจงอกงามได้ในสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ต้องกลับไปอ้างอิงถึงลักษณะดั้งเดิมของสังคมไทยที่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว กล่าวคือ ความเชื่อที่ว่าสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมาช้านานตามเนื้อความทางประวัติศาสตร์ ขณะที่ชุดของความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยมีสถานะเป็นเพียงประดิษฐกรรมของรัฐสมัยใหม่ ที่อาจปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยและความเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขของสัมพันธภาพทางอำนาจ

เราอาจสืบค้นการปะทะปรับเปลี่ยนชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตยในสังคมไทยในกรอบสังคมสมัยใหม่ได้ ดังคำกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ ร.ศ 103 โดยคณะเจ้านายและขุนนางชั้นสูง ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานระบอบ "คอนสติติวชั่นแนล โมนากี" (constitutional monarchy) ที่มีรูปแบบการสืบสันตติวงศ์หรือพระราชประเพณีซึ่งเป็นเครื่องประกันการสืบทอดราชสมบัติอย่างมั่นคง หรือกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีนัยต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจเชิงประเพณี

แต่คอนสติตูชั่นหรือรัฐธรรมนูญในความหมายของชนชั้นนำกับสามัญปัญญาชนมีความแตกต่างในเนื้อหาสาระกันอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการเรียกร้องให้มี "คอนสติตูชั่น" (constitution/ธรรมนูญ/รัฐธรรมนูญ) ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่ชนชั้นนำสยามพยายามอธิบายว่า สยามมีธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีที่จำกัดพระราชอำนาจของระบอบราชาธิปไตยอยู่แล้ว จนกระทั่งมีการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 เพื่อขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้อถกเถียงดังกล่าวจึงเป็นที่ยุติลงในระดับหนึ่ง (ดูรายละเอียดใน เสน่ห์ จามริก, 2529: 48-206 และบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, 2541: 35-69)

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2515 ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ มาแล้ว 9 ฉบับ แต่ก็มีห้วงเวลาที่ขาดรัฐธรรมนูญถาวรอยู่หลายครั้ง ทั้งๆ ที่ในระยะแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีความพยายามสถาปนารัฐธรรมนูญให้เป็นทั้งสัญลักษณ์ของลัทธิธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความพยายามสร้างบริบททางการเมืองที่ต่างไปจาก "ระบอบราชาธิปไตย" (มานิตย์ นวลละออ, 2541: 43-55) แต่โดยเนื้อหาสาระทางการเมือง ยังคงเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ และมีอาณาบริเวณที่จำกัดอยู่ในแวดวงข้าราชการและนักการเมือง ความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความสถาวรและไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นเครื่องยืนยันประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการเสรีประชาธิปไตยอย่างที่เป็นหลักการสากล

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 สิงหาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (62)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (2)

เหตุที่สภานี้ได้รับสมญาว่า "สภาสนามม้า" เนื่องจากเลือกกันที่สนามม้าราชตฤณมัยหรือ “สนามม้านางเลิ้ง” ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่พอจะรองรับการประชุมได้

สัญญา ธรรมศักดิ์: นายกรัฐมนตรี
จากอธิการบดีและองคมนตรีสู่นายกรัฐมนตรี

สำหรับที่มาของนายกรัฐมนตรีช่วงรอยต่อการสิ้นสุดของระบอบเผด็จการทหารถนอม-ประภาส คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (5 เมษายน พ.ศ. 2450 - 6 มกราคม พ.ศ. 2545) อดีตประธานศาลฎีกา และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 19.00 น. หลังจากถวายบังคมลาออกของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งขณะนั้นกำลังดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (1 เมษายน พ.ศ. 2514 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516) และองคมนตรี (สมัยที่ 3 ระหว่าง 15 ธ.ค. 2515 - 14 ต.ค. 2516) อยู่ หลังจากได้มีประกาศแต่งตั้งไป กลุ่มผู้ชุมนุมที่ประกอบด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยบางส่วนได้โห่ร้องด้วยความดีใจ แต่บางส่วนก็ยังไม่ปักใจเชื่อ และการปะทะกันก็ยังต่อเนื่องอยู่ จนถึงเวลา 23.15 น. นายสัญญากล่าวคำปราศรัยจากหอพระสมุด ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่า
"พี่น้องชาวไทย นิสิต นักศึกษาและประชาชนชาวไทยที่รักทั้งหลาย ด้วยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ในวันนี้ให้ข้าพเจ้าเข้ารับภาระหน้าที่อันหนัก เป็นนายกรัฐมนตรีแม้จะเป็นระยะเวลาที่ยากลำบากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี ข้าพเจ้าก็รับพระบารมีใส่เกล้า ฯ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและจะทำงานโดยเต็มสติกำลังความสามารถ ในชั้นแรกและที่เป็นการด่วนอย่างยิ่งในวันนี้ก็คือข้าพเจ้าขอร้องให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย ทั้งที่เป็นทหารตำรวจ นิสิต นักศึกษา และประชาชนขอให้รักษาความสงบเรียบร้อยโดยพลัน ทั้งนี้เพื่อประชาชนและเพื่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของเรา ข้าพเจ้าขอสัญญาว่าจะให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ และข้าพเจ้าคาดคิดว่าไม่ควรจะเกิน 6 เดือน นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะเชื้อเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิมีคุณธรรมความสามารถความซื่อสัตย์สุจริตประกอบเข้าเป็นคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ ขอให้ท่านข้าราชการประจำทุกท่าน ไม่ว่าในตำแหน่งใดได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ท่านมีอยู่ในปัจจุบันต่อไปตามเดิมทุกประการ"
หลังพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมแล้วนั้น นายสัญญาจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีรวม 28 คน อาทิเช่น พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ) นายประกอบ หุตะสิงห์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม) พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข)

ถัดมาอีกสองวัน คือในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 16.00 น. นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ตามมาด้วยการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่ 1 ซึ่งมีอายุระหว่าง พ.ศ. 2515-2516) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม

นอกจากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม ยังแต่งตั้งให้ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการรักษาความสงบ ตามมาด้วยการที่รัฐบาลประกาศยึดทรัพย์สินของจอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร พันเอก ณรงค์ กิตติขจร และภรรยาของทั้ง 3 คน

สัญญา ธรรมศักดิ์: นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1
"สภาสนามม้า" และ "สภานิติบัญญัดติแห่งชาติ"


สำหรับที่มาของ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชุดที่ 2)" ที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นั้น ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้าเขียนไว้ว่า [http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_(พิษณุ_สุ่มประดิษฐ์)]:

การปฏิวัติของประชาชนในครั้งนี้ไม่มีการยกเลิกธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 แต่ที่มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นใหม่ก็เพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งสมัยของจอมพล ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ลาออกจากตำแหน่งตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในขณะนั้น เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลแต่งตั้งสมาชิกชุดใหม่ก่อนที่จะมีการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นการเด็ดขาดลงไป ทำให้เหลือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียง 11 คน ไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้จึงมีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น จำนวน 2,347 คน ตามพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2516 เพื่อให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติเลือกตั้งกันเองให้เหลือ 299 คน เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจาณาและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะใช้บังคับแทนธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 สมัชชาแห่งชาติชุดนี้เรียกกันทั่วไปว่า "สภาสนามม้า" ทั้งนี้ สภาสมัชชาแห่งชาติได้เลือกตั้งกันเอง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2516 โดยข้าราชการพลเรือนเป็นกลุ่มที่ได้รับเลือกเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติมากที่สุด และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมติสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2516

สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518 สิ้นสุดลงเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 สาเหตุที่สภานี้มีชื่อเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า "สภาสนามม้า" เนื่องจากเลือกกันที่สนามม้าราชตฤนมัย (ไม่อาจหาสถานที่ที่จะรองรับผู้เข้าประชุมได้จำนวนมากขนาดนั้นได้ จึงต้องใช้สนามราชตฤณมัย แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ "สนามม้านางเลิ้ง" เป็นสถานที่จัดการประชุม) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ มี 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภาคนแรก ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ต่อจากนั้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกและเลือกประธานกันใหม่มี นายประภาศน์ อวยชัย เป็นประธานสภา ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518

สำหรับผลงานด้านนิติบัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ มีการตรารัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้จำนวน 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2518 และตราพระราชบัญญัติประมาณ 120 ฉบับ พระราชบัญญัติที่สำคัญ เช่น พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2517 ฯลฯ

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 สิงหาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (61)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (1)

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขณะปราศรัยทางโทรทัศน์กลางดึกวันที่ 14 ตุลาคม 2516ป จากหอพระสมุด ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ถนอม กิตติขจร: บทบาทที่สิ้นสุด
ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานชั่วคราว?


สถานการณ์ตจ่อเนื่องในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เวลาประมาณ 17.15 น. เลขาธิการและคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต (สวนจิตรฯ) เพื่อไปพบ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่กองบัญชาการปราบปรามจลาจล สวนรื่นฤดี แต่ก็สวนทางกับจอมพลถนอมซึ่งได้เดินทางไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลา 17.20 น.

ช่วงนั้นกำลังตำรวจทหารของรัฐบาลยังคงดำเนินการปราบปรามมวลชนนักศึกษาประชาชนบริเวณพื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ออกกระจายเสียงประกาศของกองบัญชาการทหารสูงสุดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นเขตอันตราย และเจ้าหน้าที่จะเคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในเวลา 18.00 น. ขอให้นักเรียนนักศึกษาออกจากพื้นที่ดังกล่าว

ถึงเวลา 18.30 น. สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์และสถานีโทรทัศน์ทุกสถานีจึงได้ถ่ายทอดแถลงการณ์การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม ซึ่งขณะนั้นฝ่ายนักศึกษาประชาชนจำนวนประมาณ 3 หมื่นคนทยอยมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เวลา 21.47 น. จอมพล ประภาส จารุเสถียร พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร และครอบครัวรวมทั้งผู้ติดตามรวมทั้งสิ้น 30 คน อันประกอบด้วยบุคคลที่มาจากครอบครัวของจอมพลประภาสจำนวน 25 คน และลูกน้องที่ให้ความคุ้มครอง อีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศโดยเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด เดินทางมุ่งหน้าไป กรุงไทเป กระเป๋าเดินทางของผู้ลี้ภัยทั้งหมดมีจำนวน 56 ใบมีน้ำหนัก 1,336 กิโลกรัม

เวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม จอมพลถนอม พร้อมครอบครัวออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อลี้ภัยการเมืองไปอยู่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้รับการยอมรับว่าเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (People’s uprising) ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในยุคศตวรรษที่ 20 โดยเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาคประชาชนในประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา เช่น เหตุการณ์จลาจลที่เมืองกวางจู ในประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

การชุมนุมของประชาชนจำนวนนับแสนเป็นการยากต่อการควบคุม ทำให้ประชาชนบางส่วนปะทะกับเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์เกิดบานปลายถึงขั้นจลาจล จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงด้วยอาวุธสงคราม รถถัง ปืนกล และก๊าซน้ำตา ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ด้วยเหตุนี้ จอมพลถนอม กิตติขจร จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันเดียวกัน จากนั้นได้เดินทางออกนอกประเทศพร้อมจอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จและเตรียมการเลือกตั้ง โดยมี นายทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

นั่นหมายความว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ยุติบทบาทแทบจะโดยสิ้นเชิงในฐานะผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้มาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

ส่วน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 1 ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ รัฐสภา ตามมาตรา 6 แห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ภายหลังการปฏิวัติตัวเองของ จอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 299 คนดังได้กล่าวถึงมาแล้วนั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีสมาชิกลาออกไปถึง 288 คนเนื่องจากมีเสียงเรียกร้องจากนิสิตนักศึกษาและประชาชนวงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลแต่งตั้งสมาชิกสภาฯชุดใหม่และทำให้สภาที่เป็นผลมาจากการยึดอำนาจดมื่อวันที่ 17 พฤศจิกาบยน พ.ศ. 2514 ไม่สามารถดำเนินการได้ต่อไป ทำให้เหลือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียง 11 คน ไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุมได้ และต่อมาจึงสิ้นสุดวาระลงอย่างเป็นทางการเมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง สมัชชาแห่งชาติ ขึ้นตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 90 ตอนที่ 161 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 จำนวน 2,347 คน เพื่อให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติเลือกตั้งกันเอง ให้เหลือ 299 คน ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่พิจาณาและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะใช้บังคับแทนธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2515 สมัชชาแห่งชาติชุดนี้เรียกกันทั่วไปว่า "สภาสนามม้า" เนื่องจากสมัชชาแห่งชาติได้ทำการเลือกกันที่สนามม้าราชตฤณมัยสมาคม

ในการประชุมสมัชชาแห่งชาตินัดแรก วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2516 นั้น พล.ต. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม

ทั้งนี้ สมัชชาแห่งชาติได้เลือกตั้งกันเอง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2516 โดยข้าราชการพลเรือนเป็นกลุ่มที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมากที่สุด และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมติสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516 [สำหรับรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516 นี้ อ่านได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_(ประเทศไทย)_พ.ศ._2516 ซึ่งจะว่าไป การจำแนกและวิเคราะห์สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่ละชุด อาจจะนำไปสู่การเขียนบทความขนาดยาวที่บ่งบอกทิศทางพัฒนาการทางการเมืองของแต่ละช่วงตอนของประวัติศาสตร์การเมืองของไทยได้อย่างดีทีเดียว]

สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518 และสิ้นสุดลงเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ มีด้วยกัน 2 คน ตามลำดับ คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนแรก ดำรงตำแหน่ง ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งได้ลาออกในเวลาต่อมา ที่ประชุมจึงได้เลือกนายประภาศน์ อวยชัย เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทน ดำรงตำแหน่งระหว่าง วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518

ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2517 สภานิติบัญญัติฯ ได้เสนอกฎหมายยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ให้จำคุกอดีตผู้แทนราษฎร 3 คน คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจรในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน บุคคลทั้ง 3 จึงได้รับปล่อยตัวจากเรือนจำบางขวาง.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 สิงหาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (60)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (11)

วันที่ 14 ตุลาคม เวลา 13.00 น. ประชาชนขับรถขนขยะของเทศบาลนครกรุงเทพ พุ่งเข้าชนรถถที่รัฐบาลถนอม-ประภาสสั่งเข้าปราบปรามการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 

ถนอม กิตติขจร: นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5
กับเลือดเนื้อและชีวิตวีรชน 14 ตุลาฯ


แล้ว "สลักระเบิด" อันนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยก็มาถึง เริ่มต้นเมื่อกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกเดินแจกใบปลิวและหนังสือแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ในระหว่างการเคลื่อนไปมีการชูโปสเตอร์ที่มีข้อความสะท้อนเนื้อหาความคับข้องใจกับการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ อาทิ "น้ำตาเราตกใน เมื่อเราไร้รัฐธรรมนูญ" "จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย" "จงปลดปล่อยประชาชน" ฯลฯ จนถึงเวลาประมาณ 15.00 น. ขณะที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญกำลังแจกใบปลิวและเอกสารแก่ประชาชนบริเวณตลาดประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้ติดตามมาตลอดทางก็ได้รับคำสั่งให้เข้าจับกุมทันที รวม 11 คน (มีบางคนหลบหนีการจับกุมไปได้) คือ
  1. นายธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
  2. นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
  3. นายนพพร สุวรรณพานิช ประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร มหาราษฎร์
  4. นายทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  5. นายมนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  6. นายปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. นายชัยวัฒน์ สุระวิชัย วิศวกรสุขาภิบาล (จุฬา) อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
  8. นายบุญส่ง ชเลธร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  9. นายวิสา คัญทัพ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  10. นายบัณฑิต เองนิลรัตน์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  11. นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งหมดถูกนำไปควบคุมตัวและสอบสวนที่สันติบาล กอง 2 กรมตำรวจ ปทุมวัน ตกเย็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลก็ยกกำลังเข้าค้นบ้านและสถานที่ที่ผู้ถูกจับกุมมีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตั้งข้อหา "มั่วสุ่มชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง"

เวลา 00.30 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม ทั้ง 11 คนก็ถูกนำตัวขึ้นรถไปเพื่อไปกักกันตัวที่โรงเรียนพลตำรวจนครบางเขนร่วมกับผู้ต้องหาในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และผู้ต้องหาเนรเทศ เมื่อไปถึงก็ถูกแยกห้องขังเพื่อป้องกันมิให้ปรึกษากัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ถูกจับกุม ว่า "ขัดขืนคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4" และเพิ่มข้อหา "ขบถภายในราชอาณาจักร" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

และนับจากเช้าวันที่ 7 ตุลาคม นั่นเอง ที่สถานการณ์ขยายตัวไปสู่การชุนมนุมใหญ่ทั่วประเทศของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผระชาชนวงการต่าง เมื่อศูนย์นิสิตฯ เรียกประชุมกรรมการเป็นกรณีฉุกเฉิน และมีมติให้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจับกุมของรัฐบาลเผด็จการ "ถนอม- ประภาส" ในเวลา 13.00 น. โดยยืนยันว่า "จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม"

ต่อมาในเวลา 14.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลหัวหมากเข้าจับกุมตัว นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากหอพักไปสอบสวนที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล 2 เพิ่มอีกคนหนึ่ง โดยตั้งข้อหาเช่นเดียวกัน ทั้งที่นายก้องเกียรติหาไม่ได้ร่วมลงชื่อในเอกสารของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ไปร่วมแจกใบปลิวและหนังสือร่วมกับกลุ่มฯ ในวันที่ 6 ตุลาคมแต่อย่างใด

และในวันที่ 8 ตุลาคม เวลา 10.30 น. ผู้ต้องหา "13 กบฏรัฐธรรมนูญ" คนสุดท้าย นายไขแสง สุกใส เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่กองบังคับตำรวจสันติบาล 2 และกล่าวว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ จะเอาไปประหารชีวิตก็ยอม
**********
(สถานการณ์วันต่อวันเคยลงตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ วันสุข ปลายปี พ.ศ. 2552 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2553 ไว้แล้ว)

จนถึงเวลาประมาณ 09.00 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจการณ์สถานการณ์การลุกขึ้นสู้ของนิสิตนักศึกษา ประชาชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเณสะพานผ่านพิภพลีลา และหน้ากรมประชาสัมพันธ์ แล้วรายงานข่าวโดยตรงมาถึงจอมพลถนอมและจอมพลประภาสว่า มีการซ่องสุมอาวุธและผู้คนไว้ใต้ตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามแผนของคอมมิวนิสต์ จากนั้น ในเวลา 09.30 น. รัฐบาลออกอากาศแถลงการณ์ว่า "พวกก่อการจลาจล (พกจ.)" บุกรุกเขตพระราชฐาน และทำร้ายตำรวจ แต่แล้วกลับยิ่งส่งผลให้ประชาชนที่ไม่เชื่อถือจากการฟังข่าวด้านเดียวจากทางรัฐบาล ทยอยกันออกจากบ้านเพื่อจะได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง โดยมีจำนวนมากขึ้นทุกที และทั้งหมดนั้นเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลถนอม-ประภาส-ณรงค์ ไปโดยปริยาย ในเว็บไซต์ www.14tula.com บันทึกเหตุการณ์ไว้ดังนี้ (http://www.14tula.com/remember/day14/day14_9.htm)

ตลอดทั้งวันเหตุการณ์ลุกลามออกไปจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทหารและตำรวจออกปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ มีการต่อสู้ปะทะกันตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงสนามหลวง โดยเฉพาะที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร กองสลากกินแบ่ง โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตึก ก.ต.ป. กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า รวมทั้งบริเวณสถานีตำรวจชนะสงครามและย่านบางลำภู

นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ก็เริ่มตอบโต้กลับรุนแรงมากขึ้น มีการยิงและปาระเบิดขวดตอบโต้ทหารตำรวจเป็นบางจุด มีการบุกเข้ายึดและทำลายสถานที่บางแห่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเผด็จการคณาธิปไตย สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ตึก ก.ต.ป. และป้อมยามถูกเผา บางคนได้ขับรถเมล์ รถขยะ และรถบรรทุกขนขยะของเทศบาลวิ่งเข้าชนรถถัง ศพวีรชนที่สละชีวิตหลายคนถูกแห่เพื่อเป็นการประจานความทารุณของทหารตำรวจและชักชวนให้ประชาชนไปร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักศึกษาก็ลำเลียงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลศิริราชทางเรือตลอดเวลา

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกแถลงการณ์โจมตีนักศึกษาประชาชนผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีคำสั่งให้ปิดสถาบันการศึกษาของรัฐทุกแห่งในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมทั้งประกาศไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้านในเวลากลางคืน.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 สิงหาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (59)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (10)

ภาพการ์ตูนล้อเลียนการเมืองกรณีทุ่งใหญ่นเรศวรโดย ประยูร จรรยาวงษ์ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 

ถนอม กิตติขจร: นายกฯ สมัยที่ห้า
กรณีทุ่งใหญ่ฯและการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

ปลายปี พ.ศ. 2515 นั้นเอง หลังจากการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม อาทิ การรณรงค์ใช้ผ้าดิบ การรณรงค์ไม่ใช้สินค้าญี่ปุ่น การคัดค้านความฟุ่มเฟือยในกิจกรรมฟุตบอลประเพณี รวมถึงการประกวดนางสาวไทย ดังได้กล่าวมาแล้ว ขบวนการนิสิตนักศึกษาก็มีโอกาสยกระดับความรับรู้และการเคลื่อนไหวไปสู่การเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐโดยตรงเป็นครั้งแรก อันเป็นการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะการเมืองมากกว่าครั้งใดๆ จากการเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาหลายสถาบันร่วมเดินขบวนประท้วง "ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299" ที่ "ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะตุลาการ ซึ่งแต่เดิมประกาศศาลฎีกาเป็นประธานคณะตุลาการ ส่วนกรรมการตุลาการ 9 คนนั้น เฉพาะกรรมการที่คณะผู้พิพากษาเป็นผู้เลือก 4 คน เปลี่ยนเป็นให้รัฐมนตรีเป็นผู้เลือก"

การประท้วงเริ่มขึ้นโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬา และรามคำแหง ต่อมา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) หรือ ศูนย์นิสิตฯ จึงเข้าร่วมด้วย และขยายตัวไปยังนิสิตนักศึกษาสถาบันอื่นๆ มีการชุมนุมข้ามคืนที่หน้าศาลอาญา สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ในที่สุดรัฐบาลเผด็จการในขณะนั้นก็ยอมยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว นั้นหมายความว่า ปัญหาสิทธิเสรีภาพได้กลายเป็นประเด็นใจกลางในการขับเคลื่อนขบวนการนิสิตนักศึกษาไปแล้ว

จากนั้นในระหว่างวันที่ 5-20 มกราคม พ.ศ. 2516 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยก็จัดการรณรงค์ให้มี "ปักษ์เลิกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของต่างประเทศ" โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปลุกเร้าเพื่อเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยที่นิยมใช้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ที่เป็นความฟุ่มเฟือย นำไปสู่การเสียเปรียบดุลการค้ากับนานาชาติ ซึ่งนอกเหนือจากมหาออำนาจทางเศรษฐกิจในซีกโลกตะวันตก การเคลื่อนไหวครั้งนี้เน้นไปที่สินค้าอุปโภคบริโภคจากญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายสำคัญ

ถัดมาในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 ชนวนเหตุอันสำคัญที่ขยายความเอือมระอาในระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีดาราหญิงชื่อดังในขณะนั้นคือ นางเมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิงจากป่าสงวน "ทุ่งใหญ่นเรศวร" จุดกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือเปิดโปงเบื้องหลังเบื้องลึกชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ตามมาด้วยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในนาม "ชมรมคนรุ่นใหม่" ได้จัดพิมพ์หนังสือ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ซึ่งมีการพิมพ์ข้อความลอยๆ ว่า "สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกเป็นที่ไม่ไว้ใจ" ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นการเสียดสีการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุด และ จอมพลประภาส จารุเสถียร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละหนึ่งปี โดยที่จอมพลถนอมนั้นเคยได้รับการต่ออายุมาก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว ทางมหาวิทยาลัยโดย ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี จึงสั่งลบชื่อนักศึกษาที่เป็นแกนนำ 9 คนออกจากทะเบียนนักศึกษา

นักศึกษาทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายแสง รุ่งนิรันดรกุล (ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2517) นายวันชัย แซ่เตียว, นายบุญส่ง ชเลธร, นายวิสา คัญทัพ, นายสมพงษ์ สระกวี, นายสุเมธ สุวิทยะเสถียร, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ, นายประเดิม ดำรงเจริญ และ นางสาวกุลปราณี เมฆศรีสวัสดิ์

ผลก็คือ แทบจะในทันทีทันใด เกิดการประท้วงคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยฯ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วขยายตัวไปสู่นิสิตนักศึกษาสถาบันอื่นๆ ที่เริ่มต้นจากกลุ่มกิจกรรมอิสระที่ค่อยยกระดับความสนใจมาสู่ปัญหาทางการเมืองการปกครองมากขึ้น ในที่สุดศูนย์นิสิตฯ ก็ประกาศตัวสนับสนุนและมีมติให้เดินขบวนในวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 มีนิสิตนักศึกษากว่า 5 หมื่นคน ทั้งจากสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชนหลายสถาบันได้มาร่วมชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีขนาดใหญ่และมีปริมาณผู้เข้าร่วมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมานับจากก่อนการยึดอำนาจการปกครองโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี พ.ศ. 2500 โดยในครั้งนี้ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างออกหน้าเป็นครั้งแรก

ข้อเรียกร้องในระยะแรก เพียงต้องการให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงยกเลิกคำสั่งลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คนและรับเข้าศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่มีการยกระดับข้อเรียกร้องในเวลาต่อมา ให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนและให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนอีกด้วย ผลที่ได้จากการเรียกร้องมีเพียง ดร.ศักดิ์ยอมลาออก ส่วนนอกนั้นไม่มีคำตอบจากรัฐบาล!

จะเห็นว่าขบวนการการเคลื่อนไหวที่มีต้นกำเนิดจากการการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านต่างๆ ทั้งชีวิตและสังคมของนิสิตนักศึกษที่มีลักษณะเป็นเอกเทศ เป็นอิสระแยกจากกัน มีการเคลื่อนไหวนับจากการประท้วงทางด้านวัฒนธรรม ไปสู่การประท้วงทางการเมืองเฉพาะกรณี ซึ่งส่งผลให้องค์กรที่มีลักษณะเป็นทางการคือ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยต้อง "ตกกระไดพลอยโจน" เข้าร่วมและกลายเป็น "ผู้นำ" ทางนิตินัยอย่างไม่มีทางเลือก กระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในกระบวนการทางความคิดของคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย และแม้แต่ปัญญาชนร่วมสมัยบางส่วน เกิดการตกผลึกและรวมศูนย์ไปสู่การเคลื่อนไหวทั่วไปทางการเมือง ซึ่งหมายความว่า "ศูนย์นิสิตฯ" เป็นองค์การจัดตั้งของนิสิตนักศึกษาที่มีเนื้อหาทางการเมืองอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด หาใช่การ "ถูกล้างสมอง" หรือ "ถูกปลุกปั่นยุยง" โดยอำนาจการเมืองนอกระบบ หรือภายใต้ข้อหา "คอมมิวนิสต์" แต่อย่างใดไม่

เมื่อเห็นรัฐบาลใช้ท่าทีเมินเฉยต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย ในที่สุดก็มีก่อตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ขึ้น โดยในขั้นแรกมีการรวบรวมรายชื่อหลากหลายอาชีพหลายวงการ ประชุมร่างแถลงการณ์ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำเป็นใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2516 เวลา 09.15 น. กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 20 คน รวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสา บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฯ เพื่อนำใบปลิวเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแจกกับประชาชน ที่ปกหน้าของหนังสือได้อัญเชิญ พระราชหัตถเลขาการสละราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีไปถึงคณะราษฎร มีความว่า
"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร."
(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25-31 กรกฎาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8