ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (1)
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขณะปราศรัยทางโทรทัศน์กลางดึกวันที่ 14 ตุลาคม 2516ป จากหอพระสมุด ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานชั่วคราว?
สถานการณ์ตจ่อเนื่องในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เวลาประมาณ 17.15 น. เลขาธิการและคณะกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางออกจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต (สวนจิตรฯ) เพื่อไปพบ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ที่กองบัญชาการปราบปรามจลาจล สวนรื่นฤดี แต่ก็สวนทางกับจอมพลถนอมซึ่งได้เดินทางไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลา 17.20 น.
ช่วงนั้นกำลังตำรวจทหารของรัฐบาลยังคงดำเนินการปราบปรามมวลชนนักศึกษาประชาชนบริเวณพื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ออกกระจายเสียงประกาศของกองบัญชาการทหารสูงสุดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นเขตอันตราย และเจ้าหน้าที่จะเคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในเวลา 18.00 น. ขอให้นักเรียนนักศึกษาออกจากพื้นที่ดังกล่าว
ถึงเวลา 18.30 น. สถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์และสถานีโทรทัศน์ทุกสถานีจึงได้ถ่ายทอดแถลงการณ์การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม ซึ่งขณะนั้นฝ่ายนักศึกษาประชาชนจำนวนประมาณ 3 หมื่นคนทยอยมารวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
เวลา 21.47 น. จอมพล ประภาส จารุเสถียร พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร และครอบครัวรวมทั้งผู้ติดตามรวมทั้งสิ้น 30 คน อันประกอบด้วยบุคคลที่มาจากครอบครัวของจอมพลประภาสจำนวน 25 คน และลูกน้องที่ให้ความคุ้มครอง อีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศโดยเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด เดินทางมุ่งหน้าไป กรุงไทเป กระเป๋าเดินทางของผู้ลี้ภัยทั้งหมดมีจำนวน 56 ใบมีน้ำหนัก 1,336 กิโลกรัม
เวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม จอมพลถนอม พร้อมครอบครัวออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อลี้ภัยการเมืองไปอยู่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา
เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้รับการยอมรับว่าเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (People’s uprising) ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในยุคศตวรรษที่ 20 โดยเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาคประชาชนในประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา เช่น เหตุการณ์จลาจลที่เมืองกวางจู ในประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น
การชุมนุมของประชาชนจำนวนนับแสนเป็นการยากต่อการควบคุม ทำให้ประชาชนบางส่วนปะทะกับเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์เกิดบานปลายถึงขั้นจลาจล จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงด้วยอาวุธสงคราม รถถัง ปืนกล และก๊าซน้ำตา ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ด้วยเหตุนี้ จอมพลถนอม กิตติขจร จึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันเดียวกัน จากนั้นได้เดินทางออกนอกประเทศพร้อมจอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จและเตรียมการเลือกตั้ง โดยมี นายทวี แรงขำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทน ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
นั่นหมายความว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ยุติบทบาทแทบจะโดยสิ้นเชิงในฐานะผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้มาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500
ส่วน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 1 ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ รัฐสภา ตามมาตรา 6 แห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ภายหลังการปฏิวัติตัวเองของ จอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 299 คนดังได้กล่าวถึงมาแล้วนั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีสมาชิกลาออกไปถึง 288 คนเนื่องจากมีเสียงเรียกร้องจากนิสิตนักศึกษาและประชาชนวงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลแต่งตั้งสมาชิกสภาฯชุดใหม่และทำให้สภาที่เป็นผลมาจากการยึดอำนาจดมื่อวันที่ 17 พฤศจิกาบยน พ.ศ. 2514 ไม่สามารถดำเนินการได้ต่อไป ทำให้เหลือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียง 11 คน ไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุมได้ และต่อมาจึงสิ้นสุดวาระลงอย่างเป็นทางการเมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง สมัชชาแห่งชาติ ขึ้นตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 90 ตอนที่ 161 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 จำนวน 2,347 คน เพื่อให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติเลือกตั้งกันเอง ให้เหลือ 299 คน ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่พิจาณาและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะใช้บังคับแทนธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2515 สมัชชาแห่งชาติชุดนี้เรียกกันทั่วไปว่า "สภาสนามม้า" เนื่องจากสมัชชาแห่งชาติได้ทำการเลือกกันที่สนามม้าราชตฤณมัยสมาคม
ในการประชุมสมัชชาแห่งชาตินัดแรก วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2516 นั้น พล.ต. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม
ทั้งนี้ สมัชชาแห่งชาติได้เลือกตั้งกันเอง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2516 โดยข้าราชการพลเรือนเป็นกลุ่มที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมากที่สุด และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมติสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516 [สำหรับรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516 นี้ อ่านได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_(ประเทศไทย)_พ.ศ._2516 ซึ่งจะว่าไป การจำแนกและวิเคราะห์สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแต่ละชุด อาจจะนำไปสู่การเขียนบทความขนาดยาวที่บ่งบอกทิศทางพัฒนาการทางการเมืองของแต่ละช่วงตอนของประวัติศาสตร์การเมืองของไทยได้อย่างดีทีเดียว]
สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518 และสิ้นสุดลงเนื่องจากมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ มีด้วยกัน 2 คน ตามลำดับ คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนแรก ดำรงตำแหน่ง ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งได้ลาออกในเวลาต่อมา ที่ประชุมจึงได้เลือกนายประภาศน์ อวยชัย เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทน ดำรงตำแหน่งระหว่าง วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2517 ถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2518
ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2517 สภานิติบัญญัติฯ ได้เสนอกฎหมายยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ให้จำคุกอดีตผู้แทนราษฎร 3 คน คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจรในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน บุคคลทั้ง 3 จึงได้รับปล่อยตัวจากเรือนจำบางขวาง.
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 สิงหาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน