ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (9)
การรณรงค์ "สัปดาห์ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น" หน้าศูนย์การค้าราชำดำริบริเวณสี่แยกราชประสงค์ในเดือนพฤศจิกายน 2515
รัฐประหาร 2514 กับขบวนการนักศึกษา
หลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514: แม้ว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พรรคสหประชาไทยที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรคจะได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ทั้งยังมีรองหัวหน้าพรรค 3 คนที่น่าจะสามารถทำหน้าที่ฝ่ายบริหารได้อย่างมีเสถียรภาพ คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร, พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ, นายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรคก็ตาม แต่รัฐบาลก็มีปัญหาวุ่นวายตามมาไม่สิ้นสุด อันเนื่องจากการต่อรองผลประโยชน์ภายใน อีกทั้งการต่อรองนอกพรรค เนื่องจากความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติม
**********
หมายเหตุ: พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2506 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และในปี พ.ศ. 2512 นี้ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม; ในปี พ.ศ. 2514 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์; กระทั่งในปี พ.ศ. 2516 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออก จากนั้นได้รับแต่งตั้งอีกสมัยหนึ่ง แต่ดำรงตำแหน่งเพียง 12 วัน โดยเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการรัฐประหารของ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519; และเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองครั้งสุดท้าย ในรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี พ.ศ. 2522
**********
และดังได้กล่าวถึงมาแล้วว่าในการจดทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 นั้น มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ พรรคสหประชาไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคแนวร่วมเศรษฐกร พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคแนวประชาธิปไตย พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา พรรคชาวนาชาวไร่ พรรคสยามใหม่ พรรคประชาพัฒนา พรรคแรงงาน พรรคไทธิปัตย์ พรรคอิสระธรรม และ พรรคชาติประชาธิปไตยทั้งยังมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดอีกมาก ซึ่งปรากฏว่าได้รับเลือกตั้งเข้า "สภาหินอ่อน" (อันเป็นสมญานามที่เรียกขานโดยหนังสือพิมพ์สืบเนื่องมาหลายยุคหลายสมัย เนื่องจาก พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภามานานหลายสิบปี เริ่มก่อสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์และนีโอคลาสสิก โดยตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี) เป็นจำนวนถึง 70 คน
ทว่าในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอมในฐานะเป็นหัวหน้าคณะทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของตนเอง เรียกคณะของตนว่า "คณะปฏิวัติ" ประกาศยกเลิก "รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2511" ยุบสภา ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง ตามมาด้วยการประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515" ที่ประกอบด้วย "มาตรา 21" ที่มีลักษณะเดียวกับ "มาตรา 17" ใน "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502" ที่ให้อำนาจเผด็จการแก่นายกรัฐมนตรี หรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ (รัฐประหาร)" โดยข้ออ้างในคำปรารภการยึดอำนาจว่า
"ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน"ภายหลังการรัฐประหาร นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.จังหวัดชลบุรี ของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมด้วย ส.ส. อีก 2 คน จังหวัดชัยภูมิ พรรคเดียวกัน คือ นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และ นายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน นับเป็นการท้าทายอำนาจคณะรัฐประหารอย่างไม่เกรงกลัว ทว่าทั้งสามคนกลับตกเป็นจำเลยเสียเอง และถูกตัดสินจำคุกถึง 10 ปี (ได้รับการปล่อยตัวก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่นาน)
แต่แล้วการรัฐประหารครั้งนี้กลับเป็นปลุก "ขบวนการนิสิตนักศึกษา" ให้คืนกลับมาหลังจากตกอยู่ในสภาพชะงักงันมานับจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2501 และเริ่มมีการวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำกิจกรรมร่วมกัน ที่สำคัญ จากการประชุม สมาคมบริการนักศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2512 และการที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาหัวข้อ "บทบาทนักศึกษาในการพัฒนาประเทศ" ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จนนำไปสู่การก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการของ "ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)" หรือ "ศูนย์นิสิตฯ" ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "The National Student Center of Thailand (NSCT)" เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513
นอกเหนือจากกิจกรรมเป็นทางการที่ค่อนข้างจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในรูปแบบ "สโมสรฯ" ซึ่งต่างจากรูปแบบ "องค์การฯ" ที่พัฒนาขึ้นจากการรณรงค์เคลื่อนไหวในหมู่นิสิตนักศึกษากลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วงปี พ.ศ. 2511-2515 เช่น "กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในธรรมศาสตร์ที่มีลักษณะหลากหลายกว่า คือ "ชมรมนิติศึกษา" "กลุ่มเศรษฐธรรม" "กลุ่มผู้หญิง ม.ธ." และ "กลุ่มสภาหน้าโดม" นอกจากนนั้น ก็มี "สภากาแฟ" จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ "ชมรมคนรุ่นใหม่" จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในส่วนภูมิภาคก็มีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยกลุ่ม "วลัญชทัศน์" รวมทั้งนักศึกษาที่ยังไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเช่นในมหาวิทยาลัยมหิดลและ มศว.บางแสน
การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในระยะแรกยังอยู่ในขอบเขตรั้วมหาวิทยาลัย เช่นการคัดค้านฟุตบอลประเพณี หรืองานบันเทิงอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือย เช่นการจัดงาน "รับน้อง" รวมไปจนถึงการคัดค้านการประกวดนางสาวไทยที่เวทีวังสราญรมย์ อันเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์และมีลักษณะกดขี่ทางเพศสำหรับ "เพศแม่"
ระหว่างวันที่ 20-30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ศูนย์นิสิตฯ ชุดที่มี นายธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการ จัดให้มีการรณรงค์ "สัปดาห์ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น" มีนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกสถาบันเข้าร่วมเดินขบวนหลายครั้ง รวมทั้งยื่นหนังสือถึงหัวหน้ารัฐบาลให้หาทางลดการเสียเปรียบดุลการค้ากับประเทศญี่ปุ่นทุกวิถีทาง และปิดท้ายด้วยการเผาหุ่นนักธุรกิจ ข้าราชการและนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ร่วมกับพ่อค้าญี่ปุ่นที่สนามหลวงในวันที่ 30 พฤศจิกายน.
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 กรกฎาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน