Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (63)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (3)

10 ธันวาคม 2475 เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อัญเชิญรัฐธรรมนูญมาแสดงต่อราษฎรที่บริเวณสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2517 ขออนุญาตยกบทความ (2 ตอนต่อเนื่อง) จาก เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://midnightuniv.tumrai.com) มานำเสนอ เพื่อให้มองเห็นทั้งภาพรวมและรายละเอียดของรัฐธรรมนูญที่เคยเชื่อกันว่า "เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด" ฉบับหนึ่งของสังคมไทย ทั้งยังมีส่วนประกอบช่วยในการตอบโจทย์พัฒนาการทางการเมืองของไทยหลัง การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่มีลักษณะหยุดนิ่งและถอยหลังเข้าคลอง เป็นเหตุให้ปณิธานของมันสมองของ "คณะราษฎร" และเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์สยามยังคงมีลักษณะ "พายเรือในอ่าง" จนแม้เมื่อเกิดการรัฐประหารนับจากปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

ช่วงที่ 1 (บทความลำดับที่ 1284) บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html)

หมายเหตุ: ทางเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ให้อรรถาธิบายไว้ก่อนถึงเนื้อหาของบทความไว้ว่า "คงใช้เลขไทยตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ฯ " [แนะนำให้อ่านฉบับเต็มในเว็บไซต์ สำหรับเชิงอรรถและการอ้างอิง ส่วนการเน้นข้อความ  ทาง arin-article.blogspot ได้จีัดทำเพื่อให้อ่านลำดับความได้ดีขึ้น]

บทความบริบทเหตุการณ์การร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ นี้ กองบรรณาธิการฯ ได้รับมาจากผู้เขียน เดิมชื่อ: "การเมืองภาคประชาชน บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับบรรยากาศแวดล้อมทางการเมืองในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อันเป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ และไปสิ้นสุดเหตุการณ์ในช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งผู้เขียนได้มีการลำดับเหตุการณ์ก่อนหน้า อันเป็นที่มาของบริบทแวดล้อมที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ด้วยเหตุที่บทความต้นฉบับนี้มีความยาวประมาณ ๓๗ หน้า จึงได้แบ่งออกเป็น ๒ หัวเรื่องคือ
๑๒๘๔. ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว : เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗
๑๒๘๕. ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว : บริบทการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗

บทความเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา

ข้อความที่ปรากฏบนเว็บเพจนี้ ได้รักษาเนื้อความตามต้นฉบับเดิมมากที่สุด เพื่อนำเสนอเนื้อหาตามที่ผู้เขียนต้องการสื่อ กองบรรณาธิการเพียงเว้นวรรค และย่อหน้าใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอบนเว็บเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเท่านั้น

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ ๑๒๘๔ เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ (บทความทั้งหมดยาวประมาณ ๑๔.๕ หน้ากระดาษ A4)
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว:
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (1)

การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗

1. บทนำ: รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย


ตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) เชื่อว่า การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะเป็นหลักการสำคัญและเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ได้พัฒนามาเป็นลำดับและมีการสร้างสถาบันการเมืองที่เป็นอิสระ หรือกึ่งอิสระตามกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญในอันที่จะเป็นกลไกกำกับ, ตรวจสอบการทำงานตลอดจนแบบแผนการใช้อำนาจของนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง แต่ถึงแม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่ใช่หลักประกันต่อสิ่งที่เรียกว่าความเป็นประชาธิปไตย หากยังจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบตัวบทของรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่าความเป็นประชาธิปไตย (อมร จันทรสมบูรณ์, มปป. และโกสินทร์ วงศ์สุรวัฒน์, 2516)

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยย่อมมีเส้นทางที่แตกต่างไป ตามแต่สภาวะของสังคมที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคมแตกต่างกันไป ดังจะเห็นได้ว่ามีการเปรียบเปรยว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นพืชพันธุ์แปลกปลอมของต่างวัฒนธรรม ย่อมไม่อาจงอกงามได้ในสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ต้องกลับไปอ้างอิงถึงลักษณะดั้งเดิมของสังคมไทยที่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว กล่าวคือ ความเชื่อที่ว่าสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมาช้านานตามเนื้อความทางประวัติศาสตร์ ขณะที่ชุดของความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยมีสถานะเป็นเพียงประดิษฐกรรมของรัฐสมัยใหม่ ที่อาจปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยและความเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขของสัมพันธภาพทางอำนาจ

เราอาจสืบค้นการปะทะปรับเปลี่ยนชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตยในสังคมไทยในกรอบสังคมสมัยใหม่ได้ ดังคำกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ ร.ศ 103 โดยคณะเจ้านายและขุนนางชั้นสูง ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานระบอบ "คอนสติติวชั่นแนล โมนากี" (constitutional monarchy) ที่มีรูปแบบการสืบสันตติวงศ์หรือพระราชประเพณีซึ่งเป็นเครื่องประกันการสืบทอดราชสมบัติอย่างมั่นคง หรือกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีนัยต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจเชิงประเพณี

แต่คอนสติตูชั่นหรือรัฐธรรมนูญในความหมายของชนชั้นนำกับสามัญปัญญาชนมีความแตกต่างในเนื้อหาสาระกันอยู่ไม่น้อย ดังจะเห็นได้จากการเรียกร้องให้มี "คอนสติตูชั่น" (constitution/ธรรมนูญ/รัฐธรรมนูญ) ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่ชนชั้นนำสยามพยายามอธิบายว่า สยามมีธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีที่จำกัดพระราชอำนาจของระบอบราชาธิปไตยอยู่แล้ว จนกระทั่งมีการปฏิวัติสยามเมื่อ พ.ศ. 2475 เพื่อขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้อถกเถียงดังกล่าวจึงเป็นที่ยุติลงในระดับหนึ่ง (ดูรายละเอียดใน เสน่ห์ จามริก, 2529: 48-206 และบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, 2541: 35-69)

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2515 ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ มาแล้ว 9 ฉบับ แต่ก็มีห้วงเวลาที่ขาดรัฐธรรมนูญถาวรอยู่หลายครั้ง ทั้งๆ ที่ในระยะแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีความพยายามสถาปนารัฐธรรมนูญให้เป็นทั้งสัญลักษณ์ของลัทธิธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความพยายามสร้างบริบททางการเมืองที่ต่างไปจาก "ระบอบราชาธิปไตย" (มานิตย์ นวลละออ, 2541: 43-55) แต่โดยเนื้อหาสาระทางการเมือง ยังคงเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ และมีอาณาบริเวณที่จำกัดอยู่ในแวดวงข้าราชการและนักการเมือง ความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความสถาวรและไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นเครื่องยืนยันประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการเสรีประชาธิปไตยอย่างที่เป็นหลักการสากล

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 สิงหาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8