ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (11)
วันที่ 14 ตุลาคม เวลา 13.00 น. ประชาชนขับรถขนขยะของเทศบาลนครกรุงเทพ พุ่งเข้าชนรถถังที่รัฐบาลถนอม-ประภาสสั่งเข้าปราบปรามการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
กับเลือดเนื้อและชีวิตวีรชน 14 ตุลาฯ
แล้ว "สลักระเบิด" อันนำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยก็มาถึง เริ่มต้นเมื่อกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกเดินแจกใบปลิวและหนังสือแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ในระหว่างการเคลื่อนไปมีการชูโปสเตอร์ที่มีข้อความสะท้อนเนื้อหาความคับข้องใจกับการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ อาทิ "น้ำตาเราตกใน เมื่อเราไร้รัฐธรรมนูญ" "จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย" "จงปลดปล่อยประชาชน" ฯลฯ จนถึงเวลาประมาณ 15.00 น. ขณะที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญกำลังแจกใบปลิวและเอกสารแก่ประชาชนบริเวณตลาดประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้ติดตามมาตลอดทางก็ได้รับคำสั่งให้เข้าจับกุมทันที รวม 11 คน (มีบางคนหลบหนีการจับกุมไปได้) คือ
- นายธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
- นายนพพร สุวรรณพานิช ประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร มหาราษฎร์
- นายทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายมนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นายปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายชัยวัฒน์ สุระวิชัย วิศวกรสุขาภิบาล (จุฬา) อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- นายบุญส่ง ชเลธร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นายวิสา คัญทัพ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นายบัณฑิต เองนิลรัตน์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เวลา 00.30 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม ทั้ง 11 คนก็ถูกนำตัวขึ้นรถไปเพื่อไปกักกันตัวที่โรงเรียนพลตำรวจนครบางเขนร่วมกับผู้ต้องหาในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และผู้ต้องหาเนรเทศ เมื่อไปถึงก็ถูกแยกห้องขังเพื่อป้องกันมิให้ปรึกษากัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ถูกจับกุม ว่า "ขัดขืนคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4" และเพิ่มข้อหา "ขบถภายในราชอาณาจักร" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
และนับจากเช้าวันที่ 7 ตุลาคม นั่นเอง ที่สถานการณ์ขยายตัวไปสู่การชุนมนุมใหญ่ทั่วประเทศของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผระชาชนวงการต่าง เมื่อศูนย์นิสิตฯ เรียกประชุมกรรมการเป็นกรณีฉุกเฉิน และมีมติให้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจับกุมของรัฐบาลเผด็จการ "ถนอม- ประภาส" ในเวลา 13.00 น. โดยยืนยันว่า "จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม"
ต่อมาในเวลา 14.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลหัวหมากเข้าจับกุมตัว นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากหอพักไปสอบสวนที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล 2 เพิ่มอีกคนหนึ่ง โดยตั้งข้อหาเช่นเดียวกัน ทั้งที่นายก้องเกียรติหาไม่ได้ร่วมลงชื่อในเอกสารของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ไปร่วมแจกใบปลิวและหนังสือร่วมกับกลุ่มฯ ในวันที่ 6 ตุลาคมแต่อย่างใด
และในวันที่ 8 ตุลาคม เวลา 10.30 น. ผู้ต้องหา "13 กบฏรัฐธรรมนูญ" คนสุดท้าย นายไขแสง สุกใส เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่กองบังคับตำรวจสันติบาล 2 และกล่าวว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ จะเอาไปประหารชีวิตก็ยอม
**********
(สถานการณ์วันต่อวันเคยลงตีพิมพ์ใน โลกวันนี้ วันสุข ปลายปี พ.ศ. 2552 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2553 ไว้แล้ว) จนถึงเวลาประมาณ 09.00 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจการณ์สถานการณ์การลุกขึ้นสู้ของนิสิตนักศึกษา ประชาชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเณสะพานผ่านพิภพลีลา และหน้ากรมประชาสัมพันธ์ แล้วรายงานข่าวโดยตรงมาถึงจอมพลถนอมและจอมพลประภาสว่า มีการซ่องสุมอาวุธและผู้คนไว้ใต้ตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามแผนของคอมมิวนิสต์ จากนั้น ในเวลา 09.30 น. รัฐบาลออกอากาศแถลงการณ์ว่า "พวกก่อการจลาจล (พกจ.)" บุกรุกเขตพระราชฐาน และทำร้ายตำรวจ แต่แล้วกลับยิ่งส่งผลให้ประชาชนที่ไม่เชื่อถือจากการฟังข่าวด้านเดียวจากทางรัฐบาล ทยอยกันออกจากบ้านเพื่อจะได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง โดยมีจำนวนมากขึ้นทุกที และทั้งหมดนั้นเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลถนอม-ประภาส-ณรงค์ ไปโดยปริยาย ในเว็บไซต์ www.14tula.com บันทึกเหตุการณ์ไว้ดังนี้ (http://www.14tula.com/remember/day14/day14_9.htm)
ตลอดทั้งวันเหตุการณ์ลุกลามออกไปจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทหารและตำรวจออกปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ มีการต่อสู้ปะทะกันตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงสนามหลวง โดยเฉพาะที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร กองสลากกินแบ่ง โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตึก ก.ต.ป. กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า รวมทั้งบริเวณสถานีตำรวจชนะสงครามและย่านบางลำภู
นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ก็เริ่มตอบโต้กลับรุนแรงมากขึ้น มีการยิงและปาระเบิดขวดตอบโต้ทหารตำรวจเป็นบางจุด มีการบุกเข้ายึดและทำลายสถานที่บางแห่งที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเผด็จการคณาธิปไตย สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ตึก ก.ต.ป. และป้อมยามถูกเผา บางคนได้ขับรถเมล์ รถขยะ และรถบรรทุกขนขยะของเทศบาลวิ่งเข้าชนรถถัง ศพวีรชนที่สละชีวิตหลายคนถูกแห่เพื่อเป็นการประจานความทารุณของทหารตำรวจและชักชวนให้ประชาชนไปร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักศึกษาก็ลำเลียงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลศิริราชทางเรือตลอดเวลา
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกแถลงการณ์โจมตีนักศึกษาประชาชนผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีคำสั่งให้ปิดสถาบันการศึกษาของรัฐทุกแห่งในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมทั้งประกาศไม่ให้ประชาชนออกนอกบ้านในเวลากลางคืน.
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 1-7 สิงหาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน