Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (31)

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501:
เมื่อทหารเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองโดยการรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน 2500 แล้วก็แต่งตั้งให้ นายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นายพจน์เริ่มบทบาททางการเมืองจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2490 และเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2491 และต่อมาในปี 2492 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2495-2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและทำ หน้าที่ผู้แทนประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ และในเดือนกรกฎาคม 2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) จากภูมิหลังดังกล่าวที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสหรัฐ เป็นข้องบ่งชี้ถึงการการสร้างความชอบธรรมเพื่อรับรองรัฐบาลที่เกิดจากการทำรัฐประหารในยุคสงครามเย็น

สำหรับการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายพจน์นั้น ภารกิจสำคัญคือการพยายามสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเรียกร้องต้องการสร้างฐานกำลังของฝ่าย "โลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา" ขึ้นต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของโลกสังคมนิยมที่มีผู้นำ 2 กลุ่มคือ "ม่านเหล็ก สหภาพโซเวียต" และ "ม่านไม่ไผ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน"

ดังนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 นายพจน์จึงประกาศยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในครั้งนั้นมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคสหภูมิ ซึ่งสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์โดยตรง กับพรรคประชาธิปัตย์ ลงชิงชัยกัน ผลปรากฏว่าพรรคสหภูมิชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. มากที่สุด คือ 45 คน จาก 160 คน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะไม่ได้เป็นเสียงข้างมากในสภา

จอมพลสฤษดิ์จึงพยายามรวบรวม ส.ส. อิสระและ ส.ส. จากพรรคเล็กพรรคน้อยมารวมตัวกัน แล้วจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคชาติสังคม ที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค โดยสนับสนุนให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 มกราคม 2501 และหลังจากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพลเอก

แต่แล้วรัฐบาลผสมที่แม้จะดูว่าพรรคชาติสังคมจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร ทว่าเนื่องจากลักษณะ "มุ้งเล็กมุ้งน้อย" ในพรรครัฐบาลที่เกิดจาก "กว้าน" ส.ส. จากพรรคอื่นๆ เข้ามาเป็นฐานเสียงในสภา นำไปสู่การเมืองน้ำเน่าด้วยการต่อรองผลผลประโยชน์แลกกับการสนับสนุนรัฐบาล เป็นเหตุให้การบริหารงานราชการแผ่นดินภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีพลเอกถนอมเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง

ขณะเดียวกัน ปัญหาสำคัญสำหรับประเทศที่กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมที่กำลังพยายามพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม และการปรับปรุงกิจการสาธารณูปโภค ทำให้รัฐบาลหารายได้ได้ไม่พอเพียงกับรายจ่าย ผนวกกับมี ส.ส.บางกลุ่มต้องการให้ไทยวางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่กับสหรัฐอเมริกาจนออกนอกหน้า ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านก็พยายามเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

จากการกดดันในสภาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีพล.อ.ถนอม หรือที่มีการเรียนขานกันว่า "รัฐบาลหุ่นเชิดของจอมพลสฤษดิ์" ก็รายงานเรื่องให้จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งกำลังพักรักษาตัวหลังผ่าตัดม้าม อยู่ที่โรงพยาบาลวอเตอร์รีด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับทราบ จนที่สุดจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องเดินทางกลับเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2501 ในเช้าวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พล.อ.ถนอมประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นในเวลา 21.00 น. จอมพลสฤษดิ์ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ และภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีคำสั่ง "คณะปฏิวัติ" ให้ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกและห้ามตั้งพรรคการเมือง มีการประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน มีการจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ประกอบด้วยปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ส.ส. บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จำนวนมาก

เมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว โดยอาศัยคำสั่งคณะปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ลงนามออกประกาศคณะปฏิวัติรวม 57 ฉบับระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จนถึงการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ในวันที่ 28 มกราคม 2502 พร้อมทั้งจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 240 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญกับให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ตนเองจัดทำขึ้น และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอีกไปพร้อมกัน โดยเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มี พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานฯ

นอกจากนั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่ในการคัดเลือกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 โดยมีคณะรัฐมนตรีเพียง 14 นาย ที่มีแต่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเท่านั้น ซึ่งเท่ากับรวมศูนย์การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีหรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" นั่นเอง สำหรับรัฐมนตรีที่สำคัญ ได้แก่ พล.อ.ถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พล.ท.ประภาส จารุเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ เปิดโอกาสรวมศูนย์การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ส่งผลให้ จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งแต่งตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมตำรวจ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ ผ่านมาตรา 17 ด้วยการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง

และช่วงนี้เอง นายทหารคนหนึ่งเริ่มก้าวเข้าสู่วังวนของอำนาจทางการเมืองอย่างเงียบเชียบในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นั่นคือ พันเอกเปรม ติณสูลานนท์ รองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ กองทัพบก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข้อเสนอสำหรับวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2554



นโยบายหลัก 2 ด้าน 6 ประการ
ต่อพลังการผลิตพื้นฐานของประเทศ


นโยบายที่มีผลต่อพลังการผลิตพื้นฐาน 2 ด้านของประเทศ (ส่วนขยายจาก "ข้อเสนอ 6 ข้อเพื่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์") มีนโยบายด้านแรงงานนอกภาคเกษตรกรรม คือภาคอุตสาหกรรมและบริการ 3 ประการ คือ

1. ใช้ "ระบบ 3-8" ในการทำงาน คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และใช้เวลาสันทนาการและเพิ่มเสริมศักยภาพในการผลิต 8 ชั่วโมง การทำงานล่วงเวลา "ต้อง" อยู่บนพื้นฐาน "ความสมัครใจ" เพียงมาตรฐานเดียว

หลักการสำคัญในประเด็นนี้ คือ คนทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน ที่จะมีชีวิต มีงานเลี้ยงชีพ และได้รับโอกาสพักผ่อนและแสวงหาความรู้เพื่อยกระดับสภานภาพของตน โดยไม่ถูกกีดกันด้วย "สภาพการบังคับของระบบการผลิต"

2. ยกเลิกระบบจ้างเหมา และยกเลิกระบบค่าแรงขั้นต่ำที่พิจารณา 3 ฝ่าย "นายจ้าง-ลูกจ้าง-รัฐ" เปลี่ยนเป็นใช้การพิจารณาค่าแรงตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นจริง โดยการเพิ่มเติมตัวแทน "เกษตรกร" (เนื่องจากรากฐานการผลิตของไทยยังไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรมเต็มตัว จึงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิตทั้ง 2 ภาค มาตลอด แรงงานภาคอุตสหากรรมตามฤดูกาลนี้เอง ที่ตกอยู่ในสภาพ "จำยอม" ด้วยเหตุผลที่ว่าการมีรายได้ภาคการผลิตในเมืองบ้าง ดีกว่าไม่มีรายได้นอกฤดูทำการเกษตร) และ "ตัวแทนพรรคการเมือง" (ผลักดันในพรรคการเมืองมีระเบียบวาระ และนโยบายหลักที่ชัดเจนต่อพลังการผลิตพื้นฐานของประเทศ นอกเหนือจากนโยบายเฉพาะหน้าเพื่อหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งๆไป) เข้าไปด้วย

ปัจจุบัน "ค่าแรงขั้นต่ำ" คือมาตรฐานที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ในเงื่อนไขต่ำที่สุดของปัจจัยสี่ซึ่งวางระบบโดย "ผลประกอบการของนายทุน" และ "การสมคบกันกับรัฐปฏิกิริยา ที่เป็นปฏิปักษ์กับมวลชนผู้ใช้แรงงาน" ถูกกำหนดโดย "แรงงานขั้นต่ำ" ที่บีบบังคับให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตเหนือ "เศษเดนชีวิต" เล็กน้อย

3. ประกันการมีงานทำของพลเมืองบน พื้นฐานการผลิตจริงและทิศทางการพัฒนาประเทศ การปล่อยให้แรงงานนอกระบบ อาทิ ผู้รับใช้ในครัวเรือน พนักงานบริการในกิจการขนาดเล็ก เช่น เด็กปั๊ม ลูกจ้างร้านอาหาร และกระทั่งแรงงานไร้ฝีมือในกิจการก่อสร้างขนาดเล็ก หรือผู้รับเหมาพื้นบ้าน ถูกจำกัดรายได้ในลักษณะ "กำหนด" เองของนายจ้าง เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแรงงานข้ามชาติ ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน "ผิดกฎหมาย" และไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งประเด็นนี้มีความสัมพันธ์อย่างแยกกันไม่ออกกับปัญหาแรงงานขั้นต่ำ

นั่นหมายความว่าเป็นความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องเกิด "พรรคการเมืองของประชาชน" ที่ประกาศนโยบายชัดเจนทำนองนี้ และจะสามารถได้รับเสียงสนับสนุนหรือฐานเสียงที่เป็นสมาชิกพรรคจากผู้ใช้แรงงานขนาดมหึมาได้

สำหรับหลักนโยบายต่อภาคเกษตรกรรม 3 ประการนั้น ปรับปรุงจากบทความ "หลักนโยบาย 3 ข้อ แก้ปัญหาเกษตรกร" พิมพ์ครั้งแรก THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ปักษ์แรก มีนาคม 2553 คอลัมน์ เปิดหน้าปล่อยการ์ด มีเนื้อหาสำคัญคือ

1. สิทธิในการครอบครองปัจจัยการผลิตพื้นฐาน คือ "ที่ดิน" ต้องเป็นของเกษตรกร

2. ควบคุมต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร 4 ด้าน
  • เมล็ดพันธุ์ (ปัจจุบัน ผลผลิตที่ดีมาจากเมล็ดพันธุ์ที่เป็น "หมัน")
  • เครื่องจักรการเกษตร ที่อยู่ในมือกลุ่มผูกขาด
  • "ปุ๋ย" ที่อยู่ในมือของกลุ่มผูกขาดที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมือง/นักการเมืองและข้าราชการ
  • การจัดสรรน้ำและการชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม "เป็นหลัก"

3. การกำหนดราคาขายผลิตผลการเกษตรพื้นฐาน (ไม่ใช่เกษตรอุตสาหกรรม) อย่างเป็นธรรม ต่อผู้ผลิต คือ "เกษตรกร" เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดราคาตกอยู่ใต้อิทธิพลของ "กลุ่มผูกขาดการส่งออก"

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข้อเสนอ 6 ข้อ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์



ข้อเสนอ 6 ข้อ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์
(ปรับปรุงครั้งที่ 4)



1. รัฐประชาธิปไตยที่แยกอำนาจอธิปไตย ออกเป็น 3 ส่วนอย่างเด็ดขาด บนหลักตรวจสอบและคานอำนาจ ในระบบ "งูกินหาง" หรืออธิบายแบบภาษารากหญ้า คือ "ข้าไล่เอ็ง เอ็งไล่มัน และมันไล่ข้า" ไม่ใช่แบบ "อำนาจอภิอธิปไตย" อันเรียกขานกันในรอบ 3 ปีมานี้ว่า "ตุลาการวิบัติ" และแทบจะดำรงคงอยู่ในลักษณะ "แตะต้องไม่ได้" ประการสำคัญที่สุด "ผู้แทนปวงชน" ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น โดย "สภาผู้แทนราษฎร" เลือกตั้งมาจากเขตการเลือกตั้งตามจำนวนประชากร และ "สภาผู้แทนจังหวัด" เลือกตั้งโดยตรงประกอบด้วยผู้แทนจังหวัดละ 2 คน ทำหน้าที่ "วุฒิสภา" แบบเดิม

2. สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง ประการแรก "ประมุขฝ่ายบริหาร" หรือ "นายกรัฐมนตรี" โดยตรง และเป็นตำแหน่งที่อยู่บนหลักการที่ว่า ไม่สามารถดำเนินการอย่างอื่นในการถอดถอนได้ เว้นไว้เสียแต่ด้วยกระบวนการอันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในทำนองเดียวกับกระบวนการยื่นถอดถอน (impeachment) โดยสภาผู้แทนฯในสหรัฐอเมริกา และให้ "สภาผู้แทนจังหวัด" กับ "ศาลฎีกา" ดำเนินการพิจารณาถอดถอนร่วมกัน และประการที่สอง การเลือกตั้ง "ผู้ว่าราชการจังหวัด" โดยตรง และรับรองใน "สิทธิอัตวินิจฉัยทางประชาชาติ" โดยยึดหลักท้องถิ่นมีความแตกต่างจากส่วนกลาง ทั้งทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

3. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ซึ่งเคยเสนอความคิดเห็นเบื้องต้น - ไม่ใช่ในฐานะนักกฎหมาย - ไว้ในบทความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ความเห็น 3 ประการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม หรือที่ http://forum1.arinwan.com/index.php?topic=244.0) โดยที่ผมเรียกร้องในประเด็นหลักถึง "ระบบกล่าวหา" ที่พิจารณาจาก "ผู้ต้องหาผิด จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์" ซึ่งเป็นกระบวนการยุติที่แทบไม่พบในอารยะประเทศและเป็นประชาธิปไตย อีกต่อไปแล้ว; ประเด็นถัดมา คือความเป็นไปได้ของการนำ "ระบบลูกขุน" มาใช้ในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้พิจารณาคดีที่มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการความเสมอภาคและหลักการ เสรีภาพ ด้วยการ "ลงคะแนนเสียง" อย่างเป็น "ประชาธิปไตย"; ประเด็นถัดมา การรับรอง "ประมุขฝ่ายตุลาการ" ที่ผ่าน "รัฐสภา"; และประเด็นสุดท้าย การนำ "ระบบศาลเดี่ยว" มาใช้ ซึ่งประกอบไปด้วย ศาลชั้นต้น ศาลชั้นกลาง คือ "ศาลอุทธรณ์" และศาลสูง คือ "ศาลฎีกา" ทั้งนี้หมายความว่า "ศาลอื่น" ไม่มีอำนาจในการพิพากษาอรรถคดี

4. "องค์กรอิสระทั้งหมด" ต้องออกจากรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้เป็นอำนาจอธิปไตย ไม่สามารถใช้อำนาจที่เป็นของปวงชนได้ตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตย นั่นคือองค์การทางการเมืองการปกครองใด "ต้อง" เกิดขึ้นและดำเนินงานภายใต้การตรวจสอบได้โดยผู้แทนปวงชน

5. โดยอาศัย "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475; "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม" ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 นั้น ปรากฏว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ปราศจาก "องคมนตรี" ทั้งนี้บทบัญญัติว่าด้วย "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" นั้นบัญญัติไว้ดังนี้

ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว)
  • มาตรา ๕ ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน

รัฐธรรมนูญ 2475
  • มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ 2489
  • มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้นและในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว

นั่นคือ ในการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (แห่งรัฐ) นั้น องค์กรทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรที่ปฏิบัติพระราชภาระแทนพระองค์ ล้วนมาจากกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ทั้งนี้ในส่วน "องคมนตรี" นั้น เป็นพระราชอำนาจในพระองค์ ที่จะทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย เพื่อเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ โดยหาได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เช่นในอดีตที่ประเทศสยามและหรือประเทศไทยในเวลาต่อมา มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศมาแล้วถึง 2 ฉบับ รวมทั้งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองอีก 1 ฉบับ โดยเป็นที่รับรองกันไม่เพียงในเฉพาะแวดวงรัฐศาสตร์ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ เป็นประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญในสมัยหลัง ซึ่งมักจะมีรากฐาน หรืออิงแนวคิดพื้นฐานมาจาก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัน ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม"

6. การประกาศไว้ใน "บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" (ไม่ใช่เพียงใน "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ที่อาจถูก "ฉีก" โดยการทำรัฐประหาร) ยืนยันอำนาจอธิปไตยที่ "เป็นของปวงชนชาวไทย" ซึ่งกินความไปถึง "รูปแบบ" และ "กระบวนการ" ทางการเมืองการปกครองทั้งมวลที่มีที่มาอยู่บนหลักการ "เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" จึงสมควรให้มีบทบัญญัติที่อยู่เหนือ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ให้ประชาชน "มีสิทธิเสรีภาพเต็มสมบูรณ์ ในอันที่จะลุกขึ้นต่อต้าน คัดค้านและตอบโต้ ทุกความพยายามในอันที่จะทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย" ทั้งนี้มีบทบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นการประกาศเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ให้การเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตยที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย เป็นความผิดซึ่งประชาชนทุกคนสามารถกล่าวโทษและต่อต้านคัดค้านได้; นอกจากนี้ โดยหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ให้มีการรณรงค์ทั้งในและนอกสภา ในอันที่จะกำจัดอย่างสิ้นเชิง ซึ่ง "คำสั่งทั้งหลายโดยการรัฐประหารซึ่งไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย" ซึ่งได้แก่ "ประกาศคณะปฏิวัติ" และ/หรือ คำสั่งหรือประกาศอื่นใดในทำนองเดียวกัน

ถึงตรงนี้ เราควรต้องย้ำกับทุกคนทุกฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่นั้นรู้ดีอยู่แล้วว่า เลือกกี่ครั้งกี่ครั้งก็คนที่เอื้อประโยชน์รูปธรรมให้แก่ประชาชน ย่อมได้รับความสนับสนุนจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

คำถามคือ แล้ว "เรา" ประชาชนผู้ยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย กับบุคลากรทางการเมืองในระบบ จะทำอย่างไร - เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากอย่างเช่น... การรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) …หรือ การรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

หลักประกันที่ว่านี้ มีเงื่อนไขที่ถึงพร้อม 2 ประการด้วยกัน คือ

1. การบัญญัติเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ไม่อาจทำลายได้ และกฎหมายนั้นมีลักษณะเป็น "สัญญาประชาคม" นั่นคือ "รัฐธรรมนูญประชาชน ที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์"

2. สำนึกประชาธิปไตยในหมู่ประชาชน ที่ก่อรูปและพัฒนาทั้งในด้านกว้างและระดับลึก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าใจลึกซึ้งและยึดกุม ความหมายของวลีที่ว่า "เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน"...

นั่นหมายความว่า... ถ้าเพียงแต่ได้อำนาจรัฐมาโดยผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่สามารถมีหลักประกันที่จะพิทักษ์อำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเอาไว้ได้ ก็ป่วยการที่จะยืนยันถึงสิ่งที่เรียกกันว่า "ประชาธิปไตยกินได้"

พูดอย่างถึงที่สุด สำหรับ พ.ศ. นี้ คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็นอีกต่อไป ที่จะทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในประเด็นอันเป็นหัวใจของ "การเมืองการปกครอง"

คำถามมีประการเดียว - ก็พวกเราที่ตระหนักรู้ในเหตุและปัจจัยของอุปสรรคในการสร้างประชาธิปไตยนั้นเอง - มีความเข้าใจและยึดกุมความสำคัญของ "อำนาจรัฐ" แค่ไหนมากกว่า

ด้วยภราดรภาพ
รุ่งโรจน์ 'อริน' วรรณศูทร
22 เมษายน 2554
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8