นโยบายหลัก 2 ด้าน 6 ประการ
ต่อพลังการผลิตพื้นฐานของประเทศ
ต่อพลังการผลิตพื้นฐานของประเทศ
นโยบายที่มีผลต่อพลังการผลิตพื้นฐาน 2 ด้านของประเทศ (ส่วนขยายจาก "ข้อเสนอ 6 ข้อเพื่อสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์") มีนโยบายด้านแรงงานนอกภาคเกษตรกรรม คือภาคอุตสาหกรรมและบริการ 3 ประการ คือ
1. ใช้ "ระบบ 3-8" ในการทำงาน คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และใช้เวลาสันทนาการและเพิ่มเสริมศักยภาพในการผลิต 8 ชั่วโมง การทำงานล่วงเวลา "ต้อง" อยู่บนพื้นฐาน "ความสมัครใจ" เพียงมาตรฐานเดียว
หลักการสำคัญในประเด็นนี้ คือ คนทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน ที่จะมีชีวิต มีงานเลี้ยงชีพ และได้รับโอกาสพักผ่อนและแสวงหาความรู้เพื่อยกระดับสภานภาพของตน โดยไม่ถูกกีดกันด้วย "สภาพการบังคับของระบบการผลิต"
2. ยกเลิกระบบจ้างเหมา และยกเลิกระบบค่าแรงขั้นต่ำที่พิจารณา 3 ฝ่าย "นายจ้าง-ลูกจ้าง-รัฐ" เปลี่ยนเป็นใช้การพิจารณาค่าแรงตามโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นจริง โดยการเพิ่มเติมตัวแทน "เกษตรกร" (เนื่องจากรากฐานการผลิตของไทยยังไม่เป็นสังคมอุตสาหกรรมเต็มตัว จึงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิตทั้ง 2 ภาค มาตลอด แรงงานภาคอุตสหากรรมตามฤดูกาลนี้เอง ที่ตกอยู่ในสภาพ "จำยอม" ด้วยเหตุผลที่ว่าการมีรายได้ภาคการผลิตในเมืองบ้าง ดีกว่าไม่มีรายได้นอกฤดูทำการเกษตร) และ "ตัวแทนพรรคการเมือง" (ผลักดันในพรรคการเมืองมีระเบียบวาระ และนโยบายหลักที่ชัดเจนต่อพลังการผลิตพื้นฐานของประเทศ นอกเหนือจากนโยบายเฉพาะหน้าเพื่อหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งๆไป) เข้าไปด้วย
ปัจจุบัน "ค่าแรงขั้นต่ำ" คือมาตรฐานที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ในเงื่อนไขต่ำที่สุดของปัจจัยสี่ซึ่งวางระบบโดย "ผลประกอบการของนายทุน" และ "การสมคบกันกับรัฐปฏิกิริยา ที่เป็นปฏิปักษ์กับมวลชนผู้ใช้แรงงาน" ถูกกำหนดโดย "แรงงานขั้นต่ำ" ที่บีบบังคับให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตเหนือ "เศษเดนชีวิต" เล็กน้อย
3. ประกันการมีงานทำของพลเมืองบน พื้นฐานการผลิตจริงและทิศทางการพัฒนาประเทศ การปล่อยให้แรงงานนอกระบบ อาทิ ผู้รับใช้ในครัวเรือน พนักงานบริการในกิจการขนาดเล็ก เช่น เด็กปั๊ม ลูกจ้างร้านอาหาร และกระทั่งแรงงานไร้ฝีมือในกิจการก่อสร้างขนาดเล็ก หรือผู้รับเหมาพื้นบ้าน ถูกจำกัดรายได้ในลักษณะ "กำหนด" เองของนายจ้าง เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแรงงานข้ามชาติ ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน "ผิดกฎหมาย" และไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งประเด็นนี้มีความสัมพันธ์อย่างแยกกันไม่ออกกับปัญหาแรงงานขั้นต่ำ
นั่นหมายความว่าเป็นความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องเกิด "พรรคการเมืองของประชาชน" ที่ประกาศนโยบายชัดเจนทำนองนี้ และจะสามารถได้รับเสียงสนับสนุนหรือฐานเสียงที่เป็นสมาชิกพรรคจากผู้ใช้แรงงานขนาดมหึมาได้
สำหรับหลักนโยบายต่อภาคเกษตรกรรม 3 ประการนั้น ปรับปรุงจากบทความ "หลักนโยบาย 3 ข้อ แก้ปัญหาเกษตรกร" พิมพ์ครั้งแรก THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ปักษ์แรก มีนาคม 2553 คอลัมน์ เปิดหน้าปล่อยการ์ด มีเนื้อหาสำคัญคือ
1. สิทธิในการครอบครองปัจจัยการผลิตพื้นฐาน คือ "ที่ดิน" ต้องเป็นของเกษตรกร
2. ควบคุมต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร 4 ด้าน
- เมล็ดพันธุ์ (ปัจจุบัน ผลผลิตที่ดีมาจากเมล็ดพันธุ์ที่เป็น "หมัน")
- เครื่องจักรการเกษตร ที่อยู่ในมือกลุ่มผูกขาด
- "ปุ๋ย" ที่อยู่ในมือของกลุ่มผูกขาดที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมือง/นักการเมืองและข้าราชการ
- การจัดสรรน้ำและการชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม "เป็นหลัก"
3. การกำหนดราคาขายผลิตผลการเกษตรพื้นฐาน (ไม่ใช่เกษตรอุตสาหกรรม) อย่างเป็นธรรม ต่อผู้ผลิต คือ "เกษตรกร" เนื่องจากปัจจุบันการกำหนดราคาตกอยู่ใต้อิทธิพลของ "กลุ่มผูกขาดการส่งออก"