Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

จาก "ปรีดีฆ่าในหลวง" ถึง "ผังล้มเจ้า"

จาก "ปรีดีฆ่าในหลวง" ถึง "ผังล้มเจ้า"



นับจากการอภิวัฒน์เพื่อเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนต่อมาเปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติเป็น "ไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวพ้นความพยายามในการ "ฟื้นฟาดทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์" (นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย ณ ที่พักในอองโตนี ชานกรุง ปารีส โดย ดร. จริยวัฒน์ สันตะบุตร ในคราวครบรอบ 50 ปี การอภิวัฒน์สยาม 2475) แม้ว่าความพยายามครั้งสำคัญของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจะต้องพบกับความปราชัยในคราว "กบฏบวรเดช" ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 หากเส้นทางการโต้อภิวัฒน์ก็หาได้ถึงจุดตีบตันแต่อย่างใด

ทั้งนี้ "ธง" สำคัญที่ดูจะถูกใช้นำการเคลื่อนไหวดังกล่าว คือธง "สถาบันกษัตริย์" และทุกครั้งจะนำไปสู่การ "ยึดอำนาจการปกครอง" และ/หรือ การล้อมสังหารประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยด้วยข้อกล่าวหาที่กลายเป็น "ข้ออ้างสำเร็จรูป" คือ การประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์และการวางแผนเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว

ข้อกล่าวหา "ร้ายแรง" นี้ เริ่มขึ้นโดยเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจาก "กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล" ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ แม้ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกา ก็ยังไม่มีบทสรุปที่กระจ่างชัดเจน นำไปสู่การเกิด "ทฤษฎีสมคบคิด" หลากหลายซึ่งพยายามจะอธิบายกรณีที่เกิดขึ้น ว่าเป็นการปลงพระชนม์โดยบุคคลอื่น หรือทรงกระทำการอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง

ทั้งนี้ สำหรับทฤษฎีที่ว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ คำถามที่เกิดตามมาคือ ใครอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคต? จำเลยที่ถูกศาลฎีกาตัดสินว่ากระทำความผิดนั้น แท้จริงเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่?

กรณีสวรรคตฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ทำให้ศัตรูทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มอำนาจเก่า ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในโรงละครศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายปรีดีในเดือนสิงหาคม 2489 และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนายปรีดี ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นอีกเพียงปีเศษ คือในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 9 พฤษภาคม 2489

คณะรัฐประหารได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้า เพื่อเข้าจับกุมตัวนายปรีดี ซึ่งหลบหนีไปได้ภายใต้การอารักขาของทหารเรือและได้อาศัยฐานทัพเรือสัตหีบเป็นที่หลบภัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จึงได้ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2491 จึงออกเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังจากนั้นอีก 30 ปี ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 การชุมนุมของชมรมแม่บ้านที่ลานพระรูปทรงม้า ประท้วงรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช กรณีการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม มีการหยิบยกเอาภาพถ่ายการแสดงละครของนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ลานโพธิในเที่ยงวันที่ 4 ซึ่งเป็นละครสะท้อนเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้าผู้ประท้วงสามเณรถนอมที่นครปฐม 2 คน และถูกตีพิมพ์ในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม มีการขยายความว่า ใบหน้าผู้แสดงเป็นช่างไฟฟ้าที่กำลังถูกแขวนคอในภาพนั้นเหมือนพระบรมโอรสาธิราช เป็นการจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

จากนั้นกลุ่มจัดตั้งขวาจัดต่างๆ ได้แพร่กระจายข้อกล่าวหานี้ออกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ สถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งออกอากาศปลุกระดมความเกลียดชังที่พุ่งเป้าไปที่นิสิตนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์อย่างหนักไม่หยุดตลอด บ่ายวันที่ 5 จนเช้าวันที่ 6 มีการเรียกร้องให้จัดการกับนักศึกษาขั้นเด็ดขาด กระตุ้นความโกรธแค้นผู้ฟัง ขณะที่ นสพ.ดาวสยาม ได้ตีพิมพ์กรอบบ่ายเพิ่มเป็นพิเศษเผยแพร่เฉพาะในกรุงเทพฯ ในหน้า 1 เกือบเต็มหน้า ขยายรูปที่กล่าวหาว่าเป็นการ "แขวนคอหุ่นเหมือนฟ้าชาย"

เป็นที่มาของ "เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ" หรือการล้อมสังหารอย่างอำมหิต มีผู้เสียชีวิตเป็นทางการ 41 คน บาดเจ็บและถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก และเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองโดยคณะนายทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นผลให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ต้องพ้นจากตำแหน่ง

และล่าสุด ในการชุมนุมทางการเมืองของมวลชน "เสื้อแดง" ช่วงปี 2552-2553 ที่นำโดย "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ฝ่ายความมั่นคงโดย "ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)" ซึ่งเปลี่ยนชื่อและการบังคับบัญชาภายหลังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จาก "ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอรส.)" เป็นศูนย์ที่ตั้งขึ้นจากการประกาศพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ได้ออกมาระบุถึง "ขบวนการล้มเจ้า" คือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินการเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการเคลื่อนไหวโดยใช้สื่อสารมวลชนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเทอร์เน็ต การกล่าวหาด้วยข้อหานี้ในสังคมไทยนับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลต่อจิตวิทยามวลชนที่เคยชินกับการเสพข่าวสารด้านเดียว โดยเฉพาะความเชื่อถืออย่างไม่โต้แย้งจากการ "ตอกย้ำ" ซ้ำๆกัน หรือมีลักษณะเป็นการปลุกกระแส สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงและกำลังอาวุธเข้ากระทำต่อผู้ชุมนุมทาง การเมือง จนในที่สุดมีผู้เสียชีวิต 93 คนและบาดเจ็บประมาณ 2,000 คน

คำอธิบายล่าสุดจาก นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า "แผนผังล้มเจ้า นั้นเสนอขึ้นมาโดยฝ่ายข่าวด้านความมั่นคง แต่ยืนยันไม่ได้ว่าจากใคร"

ความแตกต่างเพียงประการเดียวจากเหตุการณ์ "สังหารหมู่" ทั้งสองครั้ง คือในปี 2519 เป็นการใช้ "กำลังจัดตั้งพลเรือน" ที่ประกอบด้วย "ลูกเสือชาวบ้าน" และกลุ่ม "นวพล" รวมทั้งกลุ่ม "กระทิงแดง" ในขณะที่ในปี 2553 ใช้ "กำลังติดอาวุธของกองทัพ" ในเครื่องแบบ

ทว่าที่เหมือนกันในทุกครั้งคือ ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ยังความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินมากเพียงใด การสอบค้นหา "ความรับผิด" ในการสร้างข่าวสารที่บิดเบือนนั้น ไม่สามารถทำความจริงให้กระจ่างได้แม้แต่ครั้งเดียว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8