Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

ระลึก 'วันสตรีสากล' 8 มีนาคม สดุดี 'คลารา เซทคิน' กับเพื่อนหญิง

ระลึก 'วันสตรีสากล' 8 มีนาคม
สดุดี 'คลารา เซทคิน' กับเพื่อนหญิง


   
การเมืองในประเทศกำลังอยู่ในสภาวะ "เขาวงกตแห่งอำนาจ" อีกครั้ง เมื่อ "เสถียรภาพของรัฐบาล" กลายเป็นอย่างเดียวกับ "ความมั่นคงแห่งรัฐ" จึงเกิดอาการฝุ่นตลบขึ้นหลายๆส่วนในแวดวง "นักเลือกตั้ง" ในสภา รวมทั้งยุทธการ "เกทับ-บลั๊ฟแหลก" ของการเคลื่อนไหวนอกสภาทุกสีเสื้อ แม้ในฝ่ายประชาธิปไตยเริ่มจะมีผู้คนทั้งที่ออกหน้าออกตาในฐานะแกนนำ และทั้งที่เป็น "มวลชนคนรากหญ้า" ที่สะท้อนการเรียกร้องความแจ่มชัดในการเคลื่อนขบวน "คนเสื้อแดง" หนาหูยิ่งขึ้นทุกที

ธง "ประชาธิปไตย" กำลังถูกทดสอบในท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการ "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" ตรรกที่ "one for all" หรือ "all for one" เป็นคำถามถึงจุดยืนและท่าทีของทั้งขบวนไปโดยปริยาย และสภาพอึมครึมนี้ น่าจะยังคงครอบคลุมภาวการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทยไปอีกระยะ หนึ่ง อย่างน้อยก็กว่าจะถึงกำหนดนัดหมายของ "คนเสื้อแดง" และปรากฏการณ์ซึ่งมีการสนับสนุนในทางสากลที่กำลังกลายเป็นประเด็นร้อน นั่นคือการโต้แย้งและการเคลื่อนไหวในเสรีภาพทางความคิด ที่พุ่งเป้าไปที่ "อำมาตยาธิปไตย" ที่ฉกฉวยนำ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ไปใช้ลากไกลจากวัตถุประสงค์เดิมของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยทุกฉบับของ ประเทศไทยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ในวาระที่อีกเพียง 2 วัน ก็จะเวียนมาถึงวาระสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิโดยชอบธรรมของมนุษยชาติอีกคำรบหนึ่ง นั่นคือ การรำลึก "วันสตรีสากล" 8 มีนาคม

นับจากการล้อมสังหารนิสิตนักศึกษาและประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการทำลายขบวนการประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 องค์การประชาธิปไตยทั้งหมด หากไม่ถูกกำจัดออกไปจากบริบททางสังคม ก็ถูกควบคุม ตัดตอน-บิดเบือนเนื้อหา ไปจากเป้าหมายที่เป็นองค์ประกอบหลักของอุดมการณ์ประชาธิปไตยแทบจะโดยสิ้น เชิง มีเพียงการเคลื่อนไหวส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดชูธง "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

ทั้งนี้ไม่ต่างไปจากการเลือนความหมายของ "วันสตรีสากล" ที่หลงเหลือเพียงกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ และการประกาศ "เกียรติคุณสตรี" ในทัศนะ "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" ซึ่งเป็นเนื้อหลักของปรัชญาที่ครอบงำสังคมไทยมาตลอด ที่สำคัญ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชื่อ "คลารา เซทคิน" ก็ถูกลบเลือนไปจากสารบบของขบวนการแรงงาน และขบวนการสิทธิสตรีแทบจะโดยสิ้นเชิง อาจจะหลงเหลืออยู่บ้างก็ในหมู่ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่ไม่อยู่ใต้อิทธิพล "อำมาตยา-อภิชนาธิปไตย" หรือในหมู่ผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงาน ที่ยังคง "ซื่อสัตย์" ต่อภาระหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้แรงงาน

"คลารา เซทคิน" ผู้นำกรรมกรสตรีและนักสังคมนิยมชาวเยอรมันมีบทบาทและมีส่วนอย่างสำคัญในการ นำกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าในนครชิคาโก ก่อการประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากการทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง เพื่อแลกกับค่าตอบแทนในแรงงานเพียงน้อยนิด เมื่อตั้งครรภ์ก็ต้องถูกไล่ออกจากงาน ต่อมาขยายเป็นการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีกรรมกรหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีในหลายประเทศในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นขณะที่แนวความคิด "สังคมนิยม" เริ่มมีอิทธิพลในหมู่ผู้ใช้แรงงานในยุโรป

จากนั้น อีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้อง "3-8" ของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย รวมทั้งการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

และประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสตรีผู้ใช้แรงงาน ก็ต้องจารึกว่า ที่ประชุมได้รับรองข้อเสนอของ คลาร่า เซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล

คลารา (ไอส์เนอร์) เซทคิน เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1857 ในแคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมนี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1933 ที่กรุงมอสโคว์ ประเทศสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันกลับไปใช้ชื่อ รัสเซีย) ในปี 1917 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิก พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของเยอรมนี และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในฝ่ายซ้ายสุดขั้วของพรรคนี้ นั่นคือ สันนิบาตสปาร์ตาคิสต์ (Spartacist League) ซึ่งต่อมากลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี

แม้การต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า ที่จะมีเสรีภาพจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะถือกำเนิดมาพร้อมๆกับสังคมที่เอารัดเอาเปรียบกันมาช้านาน ก่อนขบวนการลุกขึ้นสู้ของผู้นำสตรีอย่างคลารา เซทคิน แต่การก้าวออกมายืนเด่นเป็นสง่าท้าทายอำนาจทั้งปวงที่ไม่ชอบธรรมเหล่านั้น เป็นกำลังใจและเป็นคบไฟที่ส่งยื่นให้แก่ "เสรีชน" ทั้งหญิงชายสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

ในวาระสุกดิบครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล ขอสดุดี "ผู้หญิง" ทุกคนที่ทุ่มอุทิศตนแก่สิทธิของสตรีและสิทธิของมนุษยชน ชื่อของเธอเหล่านั้น นับจาก สำราญ คำกลั่น มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และจนที่สุด จิตรา คชเดช จะคงอยู่ในใจของเสรีชนตลอดไป.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ศุกร์ 6 มีนาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
การนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8