Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (59)

วิกฤตการณ์การหลังการอภิวัฒน์สยาม
ก่อนการก่อตัวใหม่ของกบฏชาวนา

วันประวัติศาสตร์ 10 ธันวาคม 2475 เป็นวันเปิดสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นสัญญลักษณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ความไม่นิ่งของการเมืองสยามช่วงหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่สะท้อนให้เห็นภาพ "ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร" ตามทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์ ดังที่กล่าวถึงไปแล้วใน 2 จาก 4 ประการ คือ ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาดทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ และประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภาและเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…

ความผิดพลาดในทัศนะของนายปรีดีทั้งสองประการนั้นเอง ที่นำไปสู่การรัฐประหารเงียบหรือการรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 (นับอย่างเก่าเป็นปี พ.ศ. 2475) เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรืออาจหมายความถึงการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย พร้อมกันนั้นคณะรัฐมนตรีก็เร่งดำเนินการในลักษณะคุกคามผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 2 เมษายน ตามมาด้วยคำสั่งลงวันที่ 10 เมษายนให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ไปดูงานที่ฝรั่งเศส พร้อมค่าใช้จ่ายปีละ 1,000 ปอนด์ อันเป็นเสมือนคำสั่งเนรเทศที่สร้างความตกตะลึงพึงเพริดให้แก่สมาชิกผู้ก่อการฯ คณะราษฎรสายที่สนับสนุนนายปรีดีนั่นเอง

ตามมาด้วยการรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้เหตุผลว่า "ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลายบท คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ"

นอกจากนั้นความผิดพลาดในประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งคาบเกี่ยวกับประการที่ 4 ทำให้ช่วงเดือนกันยายน 2476 จึงมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทหารที่ยังจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกล่าว คือ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ได้เชิญนายทหารรุ่นน้อง เช่น พันตรีหลวงหาญสงคราม (จิตร อัคนิทัต), พันตรีหลวงโหมชิงชัย (เวก สู่ไชย) จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก, พันโทพระปัจจนิกพินาศ (แปลก เอกะศิริ) จากโคราช, พันโทพระเทเวศร์อำนวยฤทธิ์ (ประเสริฐ อินทุเศรษฐ) นักบินสายแดงโคกกระเทียม (ตัวแทนเจ้ากรมอากาศยาน) และ พันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุ์ประพาส) มาประชุมกันที่บ้านพันตรีหลวงหาญสงคราม แถวราชวัตร เกี่ยวกับเรื่องการยึดอำนาจแบบสายฟ้าแลบโดยให้ทหารกรุงเทพบีบพระยาพหลและพรรคพวก ส่วนทหารหัวเมืองให้เคลื่อนกำลังในเชิงขู่แล้วถอนตัวกลับเมื่อการยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ

ความไม่พอใจต่อคณะราษฎรที่คุกรุ่นมาตลอดหลังการอภิวัฒน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, อดีตอุปราชมณฑลพายัพที่เชียงใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2458-2462 และอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในปี พ.ศ. 2471) ทรงไม่พอพระทัยกลุ่มคณะราษฎรที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีกรณี นายถวัติ ฤทธิ์เดช หัวหน้ากรรมกรรถราง ผู้เช่าห้องแถวพระคลังข้างที่ ได้เป็นโจทย์ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เชื้อพระวงศ์มีความแค้นเคืองมากยิ่งขึ้น

ยิ่งในเวลาต่อมา เมื่อรัฐบาลให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ กลับสู่ประเทศไทย และมีการเชิญให้เข้าเป็นรัฐมนตรีลอยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ทำให้เกิดการคาดการณ์ไปต่างๆนานาว่า จะมีการนำ เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ของนายปรีดีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอำนาจเก่าว่ามีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์เข้ามาใช้ในแนวนโยบายของรัฐบาลนั้น จะต้องก่อความเดือดร้อนให้กับเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และผู้ที่จงรักภักดีต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแน่นอน

สำหรับฝ่ายที่ยังคงจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้านายเชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์ใหญ่ในระบอบเก่า เริ่มก่อหวอดเคลื่อนไหวโดยมีการประชุมหารืออยู่บ่อยครั้ง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวหาได้เล็ดรอดไปจากการเฝ้าสังเกตจับตาโดยคณะราษฎรแต่อย่างใด และเพื่อเป็นการปรามแนวคิดที่จะก่อการยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร พันโท หลวงพิบูลสงคราม ทำหนังสือไปถึงคณะบุคคลที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่นั้น ว่า
"..... ในฐานะที่ข้าพเจ้า เป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเตือนให้ท่านจงสงบจิตสงบใจ หากท่านยังจุ้นจ้านอีก คณะราษฎร์ตกลงจะทำการอย่างรุนแรง และจำต้องถือเอาความสงบของบ้านเมืองเป็นกฎหมายสูงสุดในการทำแก่ทาน ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาด้วยความหวังดี"
คำขาดที่ว่านี้มีไปถึงบุคคลที่คิดก่อการ ดังเช่น พระองค์เจ้าบวรเดช, พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, หม่อมเจ้าวงศ์ เนรชร, หม่อมเจ้าไขแสง ระพีพัฒน์, หม่อมเจ้าโสภณ ภาราไดย์, พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช), พระศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ทุกพระองค์และทุกคนพากันเข้าพบหลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัยที่วังปารุสกวันเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เว้นพระองค์เดียวคือพระองค์เจ้าบวรเดช ทั้งยังคงเดินทางไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดนครราชสีมาอย่างไม่ใส่ใจต่อคำขาดจากผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบจากรัฐบาลคณะราษฎร

การก่อหวอดอันเป็นสัญญาณเตือนว่าฝ่ายที่ต้องการฟื้นระบอบการปกครองเก่ายังไม่ยอมรับในความพ่ายแพ้และไม่ยอมจำนนอย่างแท้จริงต่อการอภิวัฒน์ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหรือที่เรียกว่าระบอบรัฐธรรมนูญ ใช้ชื่อเรียกว่า "คณะกู้บ้านเมือง" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลระดับหัวหน้า ดังนี้ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พลตรี พระยาเสนาสงคราม (หม่อมราชวงศ์อี๋ นพวงศ์) พลตรี พระยาทรงอักษร (ชวน ชวนะลิขิกร) พันเอก พระยาจินดาจักรรัตน์ (เจิม อาวุธ) พันเอก พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ทองคำ ไทยไชโย) และหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญคือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) สหายสนิทของพระยาพหลฯ และพระยาทรงสุรเดชเอง

นั่นหมายความว่าในอีกไม่กี่เดือนถัดจากนั้น สงครามกลางเมืองครั้งแรกหลังการอภิวัฒน์กำลังจะเกิดขึ้น และการก่อการที่ประสบความพ่ายแพ้นั่นคือ "กบฏ" ซึ่งครั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่า "กบฏเจ้า".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 กันยายน-4 ตุลาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (58)

"การอภิวัฒน์สยาม 2475"
กับจุดอ่อนของคณะราษฏร

หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ (เริ่มตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2468 เจ้าของคือ นายมานิต วสุวัต และมี นายร้อยตรี บ๋วย บุณยรัตพันธ์ เป็นบรรณาธิการ) ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2475

หลังการอภิวัฒน์สยาม มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรสยามชั่วคราว ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2475 และตามมาด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 วางกรอบกติกาทางการเมืองการปกครองเสียใหม่ ส่งผลให้อำนาจการปกครองของแผ่นดินซึ่งแต่เดิมเคยเป็นของพระมหากษัตริย์ตกเป็นของราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะเป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยทรงใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ทาง คือ อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี อำนาจตุลาการผ่านทางผู้พิพากษา (ศาล) ประการถัดมา ประชาชนจะได้รับสิทธิในทางการเมือง โดยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล ออกกฎหมายและเป็นปากเสียงแทนราษฎร และประการสุดท้ายราษฎรมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง สามารถแสดงความคิดเห็นภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย และมีความเสมอภาคภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน

สำหรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเดิมมาจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังการอภิวัฒน์หนึ่งปี รัฐบาลคณะราษฎรจึงประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 โดยเหตุผลในการตรากฎหมายฉบับนี้คือ เพื่อต้องการจัดรูปแบบงานให้เข้าลักษณะการปกครองอย่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อจะให้การบริหารราชการแผ่นดินรวบรัดและเร็วยิ่งขึ้น สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้ (ชูวงศ์  ฉายะบุตร. 2539. การปกครองท้องถิ่นไทย. พิมพ์ที่บริษัท พิฆเนศ พริ้นท์ติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด : 66-67)

1. มีการจัดระเบียบการบริหารราชการออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ส่วนกลาง คือ คณะรัฐมนตรี เช่น กระทรวง ทบวง กรม ส่วนภูมิภาค หมายถึง การส่งข้าราชการไปประจำ และส่วนท้องถิ่น หมายถึง เทศบาล

2. มีการกำหนดฐานะของกระทรวงให้เป็นทบวงการเมือง ซึ่งในบรรพหนึ่งแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นกฎหมายที่มีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ระบุว่า ทบวงการเมืองเป็นนิติบุคคล อันมีนัยว่าหน่าวยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลนี้มีฐานะทางกฎหมายที่จะเป็นคู่สัญญาในทางกฎหมายได้ และมาตรา 112 แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการบริหารฉบับนี้ยังระบุว่า กรมซึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วยเช่นกัน (สำหรับจังหวัดเพิ่งจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลในปี พ.ศ. 2495)

3. มีการปรับโอนอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคให้อยู่กับคณะกรมการจังหวัด และคณะกรมการอำเภอ แทนที่จะอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด (ข้าหลวงประจำจังหวัด) และนายอำเภอดังเช่นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

4. ยกเลิกมณฑลคงเหลือแต่จังหวัด อำเภอที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค

5. กำหนดราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมา ได้แก่ รูปเทศบาล (ประธาน สุวรรณมงคล และคณะ. 2537. การกำหนดอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น. รายงานการวิจัยเสนอต่อสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย : 22-23) โดยประกาศใช้ พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 กำหนดให้มีเทศบาล 3 ระดับคือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล โดยมีโครงสร้างองค์กรคือ สภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีงบประมาณ ทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ มีอำนาจอิสระ ที่จะปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ตนเอง ตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ คณะราษฎร มุ่งหมายให้มีการปกครองท้องถิ่นเพียงรูปแบบเดียวคือ "เทศบาล"

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความพยายามของแนวคิดของคณะราษฎรในด้านการปกครอง นอกเหนือจากการเข้ายึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์แล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจกันและหมายถึงแนวคิดของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน นักกฎหมาจากฝรั่งเศส ที่จะแปรการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไปสู่แบบกระจายอำนาจ ยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นดังเหตุผลที่นายปรีดีให้สัมภาษณ์ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี "การอภิวัฒน์สยาม 2475" ออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย (ยุติการกระจายเสียง จากสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอนในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549)
**********
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรของประเทศ คือ ความผิดพลาดบกพร่องที่เหมือนกับทุกๆขบวนการเมือง และความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ ในส่วนที่ว่าเหมือนกับทุกขบวนการก็คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการเมือง ทุกคณะพรรคการเมือง ที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น จึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลาย ได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วน หรือสลายไปทั้งคณะพรรค ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภ และความริษยา ซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัวขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนๆเดียวได้เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า egocentrism โดยจุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะนั้น ก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประการด้วยกัน คือ

ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาดทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ

ประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง

ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุระเดช พระยาฤทธิ์อาคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดการชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง อาทิ ผม เป็นต้น

ประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภา และเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 กันยายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (57)

"การอภิวัฒน์สยาม 2475"
กับการเมืองของราษฎร

กองกำลังฝ่ายคณะราษฎร ในที่ตั้ง ณ หลังจากยึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเอาไว้ได้ วันที่ 24 มิถุนายน 2475

ผลจาก "การอภิวัฒน์สยาม" อันเป็นการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตย โดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชนชาติไต/ไทในภูมิภาค ที่ในเวลานั้นคือ "ราชอาณาจักรสยาม" หรือที่ไนเวลาต่อมา (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ครึ่งทศวรรษเศษ ในสมัยที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามก้าวขึ้นสู่อำนาจ และเร่งปลุกแนวคิดชาตินิยมและสร้างฐานอำนาจทางการเมืองโดยเน้นไปที่การเชื่อฟังผู้นำ) เปลี่ยนชื่อเป็น "ราชอาณาจักรไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482

ทิศทางการเมืองการปกครองในระยะแรกของการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองโดยผ่านบทบาทนำของคณะราษฎร มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนรูปแบบและความหมายของ "รัฐ" แบบใหม่ ที่แม้ยังคงใช้คำนำหน้าชื่อรัฐว่าเป็น "ราชอาณาจักร" หากทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย (โดยการสถาปนารัฐธรรมนูญ ขึ้นเป็นหลักในการปกครองประเทศ) ด้วยการประกาศในรัฐธรรมนูญฉบับแรก (ใช้เป็น "ฉบับชั่วคราว" ตามการเจรจาต่อรองระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎร) คือ "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475" ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้ "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" (หมวด 1 ข้อความทั่วไป มาตรา 1) โดยใน "มาตรา 2 ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ 1. กษัตริย์ 2. สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล"

และการย้ำเรื่อง "อำนาจ" ของประเทศนั้นเอง ใน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475" ประกาศใช้ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 หน้า 529 วันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งถือเป็นฉบับ "ต่อรอง" ระหว่าง พระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎร โดยผ่านคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการแก้ไข "อำนาจอธิปไตย" (หรือใน พระราชบัญญัติธรรมนูญฯ 27 มิถุนายน 2475 ใช้ว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศ") จาก "เป็นของ" มาเป็น "มาจาก" ดังปรากฏใน บททั่วไป มาตรา 2 อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญก็มีการถกเถียงกันเป็นอันมากเกี่ยวกับการใช้คำ ระหว่าง "อำนาจ" กับ "พระราชอำนาจ" โดย พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ "เสนอให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก โดยให้เหตุผลว่า "อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า"

ประธานอนุกรรมการฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางบริหารต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ที่การบริหารใดๆ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องมีกรรมการราษฎร (ที่ต่อมาสภา ฯ มีมติให้เรียกว่ารัฐมนตรี) เป็นผู้ลงนามสนอง พระบรมราชโองการ โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งหลวงประดิษฐมนูธรรมกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารของกษัตริย์ หากความสุภาพนุ่มนวลไม่ขัดกับ ความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวน เพราะ "ไม่ต้องการให้ชอกช้ำ" เอาไว้ ในที่สุดที่ประชุมเห็นชอบให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก" (รงส. 35/2475 25 พฤศจิกายน 2475)

นั่นคือใน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ จึงบัญญไว้ใน 3 มาตราเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ไว้เป็น
    มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนีติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร
    มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
    มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย
สำหรับคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ถูกนำมาพิจารณาในการประชุมสภาฯครั้งที่ 41 โดยมีการลงมติใช้คำว่า "รัฐมนตรี" 28 เสียงไม่ออกเสียง 24 เสียง และมีผู้เห็นควรใช้คำอื่น 7 เสียง จึงมีผลทำให้ใช้คำว่า "รัฐมนตรี" แทน "กรรมการราษฎร" รวมทั้งใช้คำว่า "คณะรัฐมนตรี" แทน "คณะกรรมการราษฎร" และใช้คำว่า "นายกรัฐมนตรี" แทนคำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" ตลอดจนมีการกำหนดความหมายใหม่ว่า "รัฐมนตรี" หมายถึง "ข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน" มิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินอีกต่อไป เช่นที่มี "รัฐมนตรีสภา" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (รงส. 41/2475, 28 พฤศจิกายน 2475)

ทว่าคำถามที่จำเป็น ทั้งสำหรับเวลานั้นและกระทั่งในปัจจุบันคือ "รัฐชาติ" หรือ "รัฐประชาชาติ" (Nation State) ที่เกิดขึ้นพร้อมการพัฒนาการทางการเมืองใน "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ตามแถลงการณ์ของคณะราษฎร นั้น เกิดมีขึ้นจริงหรือเข้าใกล้ความจริงแค่ไหน อย่างไร นับจากการอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน บริบทการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มอำนาจเดิม คือ พระมหากษัตริย์และขุนนางอำมาตย์ ในระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาสวามิภักดิ์ก่อนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และสืบเนื่องมาจนถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตยหลังจากนั้น ลงสู่ราษฎรผ่านการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ทั้งในการบัญญัติกฎหมาย (อำนาจนิติบัญญัติ) และการบริหารประเทศ (อำนาจบริหาร) อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของ "พลเมือง" ภายในรัฐอย่าง "เท่าเทียมกัน" นั้นสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าผู้ก่อการ (คณะราษฎร) ฝ่ายพลเรือนได้กล่าวถึงความหมายของ "ชาติ" ว่า "...ชาติปัจจุบันที่ประกอบขึ้นโดยรวมหลายกลุ่ม, เผ่าพันธุ์, หลายกลุ่มชนชาติ เป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเผ่าพันธุ์และชนชาติได้มีความเคยชินและจิตสำนึกว่าเป็นสมาชิกแห่งชาติเดียวกัน ชาติดังกล่าวนั้นมีฐานะที่จะเป็นหรือเป็น 'รัฐ' อันหนึ่งเดียวของชาตินั้นได้..." (โสภา ชานะมูล, 'ชาติไทย' ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า, กรุงเทพมหานคร: มติชน, 2550)

ในช่วงแรกของการอภิวัฒน์สยามนั้น รูปแบบและโครงสร้างจาก "การปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน" เพื่อการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง (สถาบันพระมหากษัตริย์) ในสัมยรัชกาลที่ 5 ยังไม่ถูกยกเลิกไป ระบบเทศาภิบาล แม่ว่าจะมีพัฒนาการไปมากสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แต่จะเห็นว่า ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ในพื้นที่หัวเมืองมลายูเดิม นั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนอำนาจจารีตแบบเจ้าเมือง และราษฎรที่เป็น "ทาส" และ "ไพร่" กลายเป็นหนามยอกอกทางการบ้านเมืองในลักษณะ "กบฏชาวนา" ทั้งที่เกิดขึ้นเอง และทั้งที่หนุนโดย "อำนาจท้องถิ่น"

นอกจากนั้น แม้ดูเหมือนการลุกขึ้น "แข็งข้อ" กับอำนาจรัฐรัตนโกสินทร์ในภาคอื่นๆ ของสยาม จะเบาบางกว่าในพื้นที่ "หัวเมืองชายแดนใต้" แต่กระนั้นก็ตาม การเคลื่อนไหวของราษฎรกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว (ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างภายในกลุ่มชนที่แยกย่อยลงไปอีกหลายกลุ่ม หากมีการหลอมรวมเข้าด้วยกันผ่านทาง "ความเป็นลาว" ทั้งภาษาพูด ขนบความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณี) ที่ตระหนักความ "ไม่ใช่คนไทย" ก็เกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่องมาไม่ขาดสายเช่นกัน แม้จนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 กันยายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8