"การอภิวัฒน์สยาม 2475"
กับจุดอ่อนของคณะราษฏร
กับจุดอ่อนของคณะราษฏร
หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์
(เริ่มตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2468 เจ้าของคือ นายมานิต วสุวัต และมี นายร้อยตรี บ๋วย
บุณยรัตพันธ์ เป็นบรรณาธิการ) ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน 2475
หลังการอภิวัฒน์สยาม มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรสยามชั่วคราว ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2475 และตามมาด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 วางกรอบกติกาทางการเมืองการปกครองเสียใหม่ ส่งผลให้อำนาจการปกครองของแผ่นดินซึ่งแต่เดิมเคยเป็นของพระมหากษัตริย์ตกเป็นของราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะเป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยทรงใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ทาง คือ อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี อำนาจตุลาการผ่านทางผู้พิพากษา (ศาล) ประการถัดมา ประชาชนจะได้รับสิทธิในทางการเมือง โดยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล ออกกฎหมายและเป็นปากเสียงแทนราษฎร และประการสุดท้ายราษฎรมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง สามารถแสดงความคิดเห็นภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย และมีความเสมอภาคภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน
สำหรับโครงสร้างและรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเดิมมาจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังการอภิวัฒน์หนึ่งปี รัฐบาลคณะราษฎรจึงประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 โดยเหตุผลในการตรากฎหมายฉบับนี้คือ เพื่อต้องการจัดรูปแบบงานให้เข้าลักษณะการปกครองอย่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อจะให้การบริหารราชการแผ่นดินรวบรัดและเร็วยิ่งขึ้น สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนี้ (ชูวงศ์ ฉายะบุตร. 2539. การปกครองท้องถิ่นไทย. พิมพ์ที่บริษัท พิฆเนศ พริ้นท์ติ้งเซ็นเตอร์ จำกัด : 66-67)
1. มีการจัดระเบียบการบริหารราชการออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า ส่วนกลาง คือ คณะรัฐมนตรี เช่น กระทรวง ทบวง กรม ส่วนภูมิภาค หมายถึง การส่งข้าราชการไปประจำ และส่วนท้องถิ่น หมายถึง เทศบาล
2. มีการกำหนดฐานะของกระทรวงให้เป็นทบวงการเมือง ซึ่งในบรรพหนึ่งแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเป็นกฎหมายที่มีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ระบุว่า ทบวงการเมืองเป็นนิติบุคคล อันมีนัยว่าหน่าวยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลนี้มีฐานะทางกฎหมายที่จะเป็นคู่สัญญาในทางกฎหมายได้ และมาตรา 112 แห่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการบริหารฉบับนี้ยังระบุว่า กรมซึ่งขึ้นตรงต่อกระทรวงให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วยเช่นกัน (สำหรับจังหวัดเพิ่งจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลในปี พ.ศ. 2495)
3. มีการปรับโอนอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคให้อยู่กับคณะกรมการจังหวัด และคณะกรมการอำเภอ แทนที่จะอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด (ข้าหลวงประจำจังหวัด) และนายอำเภอดังเช่นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
4. ยกเลิกมณฑลคงเหลือแต่จังหวัด อำเภอที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค
5. กำหนดราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมา ได้แก่ รูปเทศบาล (ประธาน สุวรรณมงคล และคณะ. 2537. การกำหนดอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น. รายงานการวิจัยเสนอต่อสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย : 22-23) โดยประกาศใช้ พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พุทธศักราช 2476 กำหนดให้มีเทศบาล 3 ระดับคือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล โดยมีโครงสร้างองค์กรคือ สภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีงบประมาณ ทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ มีอำนาจอิสระ ที่จะปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ตนเอง ตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ คณะราษฎร มุ่งหมายให้มีการปกครองท้องถิ่นเพียงรูปแบบเดียวคือ "เทศบาล"
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความพยายามของแนวคิดของคณะราษฎรในด้านการปกครอง นอกเหนือจากการเข้ายึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์แล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจกันและหมายถึงแนวคิดของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน นักกฎหมาจากฝรั่งเศส ที่จะแปรการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไปสู่แบบกระจายอำนาจ ยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นดังเหตุผลที่นายปรีดีให้สัมภาษณ์ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี "การอภิวัฒน์สยาม 2475" ออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย (ยุติการกระจายเสียง จากสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอนในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549)
**********
ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎรของประเทศ คือ ความผิดพลาดบกพร่องที่เหมือนกับทุกๆขบวนการเมือง และความผิดพลาดของคณะราษฎรโดยเฉพาะ ในส่วนที่ว่าเหมือนกับทุกขบวนการก็คือ ความขัดแย้งภายในขบวนการเมือง ทุกคณะพรรคการเมือง ที่ต่อสู้ระหว่างกันตามวิถีทางรัฐสภานั้น ก็มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้นๆ แม้ว่าคณะพรรคใดได้อำนาจรัฐแล้วก็ดี แต่ความขัดแย้งภายในพรรคนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้น จึงปรากฏว่าคณะพรรคมากหลาย ได้มีการแตกแยกออกเป็นหลายส่วน หรือสลายไปทั้งคณะพรรค ส่วนคณะพรรคหรือขบวนการที่ใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธนั้น ก็ปรากฏความขัดแย้งและการแตกแยกทำนองเดียวกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งสมัยระบบศักดินาแห่งมนุษยชาตินั้น เคยมีตัวอย่างที่คณะบุคคลหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ทางอาวุธต่อผู้ครองอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ภายในคณะพรรคนั้นเองก็มีบุคคลที่มีความโลภ และความริษยา ซึ่งเกิดจากรากฐานแห่งความเห็นแก่ตัวขนาดหนักนั้น ใช้วิธีทำลายคนในคณะเดียวกันเพื่อคนๆเดียวได้เป็นศูนย์กลางแห่งกิจกรรมทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า egocentrism โดยจุดอ่อนของคณะราษฎรโดยเฉพาะนั้น ก็แบ่งออกได้เป็น 4 ประการด้วยกัน คือประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาดทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ
ประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง
ประการที่ 3 นอกจากท่านหัวหน้าคณะราษฎร 3 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุระเดช พระยาฤทธิ์อาคเนย์ มีความรู้ความชำนาญการทหารสามารถนำคณะยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จแล้ว ส่วนสมาชิกหลายคนแม้มีความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับการสถาปนาประเทศ แต่ก็ขาดการชำนาญในการปฏิบัติและขาดความชำนาญในการติดต่อกับราษฎรอย่างกว้างขวาง อาทิ ผม เป็นต้น
ประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภา และเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 กันยายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน