Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (56)

"กบฏหนองหมากแก้ว"
กบฏเจ้าผู้มีบุญ พ.ศ. 2467 (4)

กองทัพสมัยใหม่ที่เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 การมีอาวุธปืนแบบยุโรปเต็มรูปแบบ ทำให้การแข็งข้อเกิดกบฏชาวนาต้องพบกับความปราชัยทุกครั้ง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วถึง "แนวทาง" (หรืออาจจะหมายถึง "ความคิดชี้นำ") ในการลุกขึ้นสู้ของ "กบฏชาวนา" ในอดีต ที่พื้นฐานความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ยังคงยึดติดไสยศาสตร์ (ถือผี), เทวนิยม (ถือเทวดา) หรือกรทั่งสัทธรรมปฏิรูปของพุทธ (ถือธรรมที่บิดเบือน) นับจากยุคทาส, ยุคศักดินาสวามิภักดิ์/จตุสดมภ์ มาจนถึงยุคราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือแม้แต่กระทั่งช่วงต้นของยุคประชาธิปไตยที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ถือว่ามีการเผยแผ่และสืบทอดพุทธศาสนามาเป็นเวลาช้านาน นับจากการประกาศไม่ขึ้นต่อขอมของเจ้าเมือง 2 คน คือ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดแห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถุม ได้ร่วมกันกระทำการยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพง

ซึ่งนอกเหนือจากปลดแอกทางการเมืองการปกครองและทางเศรษฐกิจแล้ว ราชวงศ์พระร่วงยังปลดแอกทางวัฒนธรรม โดยก่อนอื่นสร้างภาษาเขียนผ่านทางพยัญชนะที่เรียกว่า "ลายสือไทย" และลัทธิศาสนาคือพุทธศาสนาเข้ามาแทนศาสนาพราหมณ์ของขอม โดยขอ "สังฆราชปู่ครูลุกมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช"

แนวความคิดของ "สังคมพระศรีอาริย์" จึงหยั่งรากลงดินแดนสุวรรณภูมินับแต่บัดนั้น แต่เป็นสังคมพระศรีอารย์แบบ "ปน" สวรรค์ชั้นฟ้า ที่ไม่ได้มุ่งไปสู่การ "ล่วงทุกข์" ตามพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่อย่างใด

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "เจ้าผู้มีบุญ" ในปี พ.ศ. 2467 ตามที่ปรากฏใน "ประวัติศาสตร์จังหวัดเลย" สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากเว็บไซต์ของจังหวัดเลย http://www.loei.go.th เขียนถึงแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อแข็งข้อก่อกบฏ เมื่อผู้นำสามารถสร้างความศรัทธาในหมู่ราษฎรชาวไร่ชานาในพื้นที่ได้แล้ว ยังอาศัยนิทานพื้นบ้านที่เป็นเรื่องราวจักรๆวงศ์ๆ ผสมโรงกับความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ต่างๆโดยตัวผู้นำประกาศตนเป็นผู้วิเศษ พร้อมกับเตรียมตั้งตนเป็น "เจ้า" เข้าครองแผ่นดิน ที่มีอุดมการนำพาราษฎรชาวไร่ชาวนาไปสู่สังคมในอุดมคติที่ปราศจากความทุกข์ยากเดือดร้อน
**********
ด้วยพิธีกรรมที่คณะผีบุญได้นำชาวบ้านปฏิบัติต่อเนื่องกันมามิได้ขาด ครั้นนานวันเข้า กิตติศัพท์ก็ได้เลื่องลือไปไกล ทำให้มีผู้คนสนใจหลั่งไหล เข้าไปอย่างมากมาย บ้างที่สนใจเครื่องรางของขลัง ก็ต้องตระเตรียมสิ่งของเข้าไปจัดทำเอง อาทิเช่นต้องการตะกรุดก็ต้องหาตะกั่วลูกแหไปหลอมแล้ว ตีแผ่ออกให้พระประเสริฐทำตะกรุด ที่ป่วยเจ็บได้ไข้ก็ไปอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ ที่ต้องการผ้าประเจียดก็ต้องหาผ้าฝ้ายสีขาวไปให้เจ้าฝ่าตีนแดง ครั้นคณะผีบุญได้พบผู้คนมากหน้าหลายตาและเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น เลยเกิดความเคลิบเคลิ้มหลงตนลืมตัว หนักเข้าเลยพากันริอ่านหันไปทางการบ้านการเมือง ฝันเฟื่องที่จะเป็นเจ้าเข้าครองแผ่นดิน โดยประกาศอย่างอหังการว่า จะยกกำลังเข้าตีเอาเมืองเลยได้แล้วจึงจะยกกำลังเลยไปตีเอาเมืองเวียงจันทน์ เพื่อตั้งตนเป็นเอกราช เมื่อได้ประกาศเจตนารมณ์แล้วก็เรียกอาสาสมัครมาทำการคัดเลือก ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าตนได้รับบัญชามาจากสวรรค์ ไม่ต้องมีผู้คนมากก็สามารถที่จะกระทำการใหญ่ได้ เมื่อเลือกผู้คนรวมได้ 23 คน พร้อมด้วยปืนแก๊บ 1 กระบอก ปืนคาบศิลา 2 กระบอก พร้อมด้วยหอกดาบแหลนหลาวครบครัน ครั้นได้ฤกษ์พิชัยสงคราม คณะผีบุญก็ยกพลจำนวน 23 คน ออกเดินทางจากบ้านหนองหมากแก้วแล้วมุ่งหน้าขึ้นสู่ทิศเหนืออ้อมผ่านหมู่บ้านนาหลักแล้วไปตั้งมั่นอยู่ริมลำห้วยทางด้านทิศเหนือของอำเภอวังสะพุง (บริเวณหมู่บ้านห้วยอีเลิด ห่างจากที่ตั้งอำเภอวังสะพุง ประมาณ 3 กม.)

ระหว่างนั้น หลวงพิศาลสารกิจ นายอำเภอวังสะพุงได้ติดตามความเคลื่อนไหวของคณะผีบุญโดยส่งนายบุญเลิศ เหตุเกตุ สารวัตรศึกษา (อดีตกำนันตำบลวังสะพุง ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) ออกไปสอดแนมพฤติการณ์ดูความเหิมเกริมของคณะผีบุญอย่างใกล้ชิดแทบจะเอาชีวิตไม่รอดก็หลายครั้ง แล้วให้ทำรายงานเข้ามายังอำเภอทุกระยะ หลวงพิศาลสารกิจได้ทำรายงานความเคลื่อนไหวของคณะผีบุญเข้าจังหวัดทุกระยะ ซึ่งในขณะนั้นกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่ในตัวจังหวัดเลยมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้คนที่เข้าไปกราบไหว้คณะผีบุญ ดังนั้น ทางจังหวัดเลยจึงได้ทำรายงานไปยังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พร้อมกันนั้นก็ได้รายงานขอกำลังไปยังฝ่ายทหารที่ค่ายประจักษ์ศิลปาคมอีกด้วย ถ้าหากว่ากำลังทางฝ่ายตำรวจที่อุดรมีไม่เพียงพอ ขณะนั้น พ.ต.อ.พระปราบภัยพาล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานีในสมัยนั้น ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจรีบรุดมาจากจังหวัดอุดรธานีเข้าสมทบกับกำลังของจังหวัดเลย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอำเภอวังสะพุง รีบวางแผนปราบปรามโดยด่วน ครั้นได้ทราบกำลังของคณะผีบุญพร้อมด้วยอาวุธจากนายบุญเลิศ เหตุเกตุ เป็นที่แน่นอนแล้ว กองกำลังตำรวจจากอุดรร่วมกับจังหวัดเลยและเจ้าหน้าที่อำเภอวังสะพุงก็เคลื่อนเข้าโอบล้อมคณะผีบุญทุกทิศทุกทาง ได้มีการปะทะกันเพียงเล็กน้อย คณะผีบุญก็แตกกระจัดกระจายจับผีบุญได้ทั้งคณะ แล้วควบคุมตัวขึ้นส่งฟ้องศาลฐานก่อการจลาจลสอบถามได้ความว่า พวกเขาทั้ง 4 คนที่ตั้งตนเป็นผีบุญ เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหลในนิยายพื้นเมืองของชาวอีสานเรื่อง สังข์ศิลปชัย และจำปาสี่ต้น จนหลงตนลืมตัวไป ส่วนความรู้สึกที่แท้จริงนั้น ยังมีความรักในถิ่นฐานหาได้มีความคิดเป็นกบฏต่อแผ่นดินกำเนิดก็หาไม่ คณะตุลาการได้รับฟังเรื่องราวจากผู้ที่ได้ตั้งตนเป็นผีบุญทั้ง 4 คน ได้เกิดความเห็นใจ จึงพิพากษาให้จำคุกผีบุญทั้ง 4 คน คนละ 3 ปี ส่วนบริวารให้ปล่อยตัวไป
**********
สำหรับรายละเอียดในส่วนนี้ ในกระทู้ของบล็อก OKnation ของผู้ใช้ชื่อ "จอมมารกระบี่หัก" ซึ่งโพสต์บทความชื่อ "บ้านผมก็มีกบฏ" เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 โดยอ้างอิงที่มาจากบทความชุด "กบฎในสยามประเทศ (10)" เขียนถึงบทสรุปของเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า
**********
การกระทำของกลุ่มผีบุญดังกล่าว ทำให้ราษฏรต่างทิ้งบ้านเรือนไร่นามาเฝ้ากราบไหว้ ไม่เป็นอันทำมาหากิน เมื่อมีพวกชาวบ้านมานับถือมากขึ้นก็คิดการใหญ่ ประกาศจะยกพวกเข้ายึดอำเภอวังสะพุงเป็นอันดับแรก มีการแต่งตั้งนายอำเภอ และข้าหลวงไว้ล่วงหน้า ครั้นถึงวันลงมือทำการ เจ้าหน้าที่อำเภอทราบข่าว และเตรียมการป้องกันไว้แล้ว ในที่สุดก็สามารถปราบปราม แล้วจับกุมตัวหัวหน้าผู้ก่อการได้ทุกคน

เมื่อผู้มีบุญถูกนำตัวมาสอบสวน ต่างก็ให้การรับสารภาพต้องกันว่า สาเหตุที่ตั้งตนเป็นผู้วิเศษก็เพราะได้ฟังนิทานพื้นบ้าน หรือได้อ่านนวนิยายตามหนังสือใบลานต่าง ๆ เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น ฯลฯ ทำให้เกิดอารมณ์เคลิบเคลิ้มคล้อยตาม จนเชื่อว่า มนุษย์สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ จึงเข้าญาณดูบ้าง และบริกรรมคาถาต่าง ๆ ตามแต่จะคิดได้ เพื่อให้เหมือนในนวนิยาย หรือนิทานพื้นบ้าน
**********
ทว่าการเคลื่อนไหวทางภาคอิสานและในภาคเหนือหลายครั้งในอดีต กลับปรากฏว่าประสบความพ่ายแพ้แก่อำนาจของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อย่างง่ายดายเมื่อเทียบกับการลุกขึ้นสู้ของราษฎรมุสลิมในหัวเมืองภาคใต้ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกนึกคิดในการต่อต้านของราษฎรที่มีต่ออำนาจรัฐรัตนโกสินทร์ มีความเข้มข้นและเข้มแข็งต่างกัน เนื่องจากความใกล้เคียงกันทางวัฒนธรรม ธรรมเนียม ประเพณี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคติชนที่ผูกพันกับศาสนาที่ตั้งอยู่บนรากฐานอย่างเดียวกันนั่นเอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 กันยายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8