Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (59)

วิกฤตการณ์การหลังการอภิวัฒน์สยาม
ก่อนการก่อตัวใหม่ของกบฏชาวนา

วันประวัติศาสตร์ 10 ธันวาคม 2475 เป็นวันเปิดสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นสัญญลักษณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ความไม่นิ่งของการเมืองสยามช่วงหลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่สะท้อนให้เห็นภาพ "ความผิดพลาดบกพร่องของคณะราษฎร" ตามทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์ ดังที่กล่าวถึงไปแล้วใน 2 จาก 4 ประการ คือ ประการที่ 1 ขาดการศึกษาถึงกฎแห่งความขัดแย้งในขบวนการเมือง ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้สมาชิกส่วนมากขาดความระมัดระวังต่อการที่สมาชิกจำนวนหนึ่งฟื้นฟาดทัศนะเผด็จการชาติศักดินาซึ่งเป็นการโต้อภิวัฒน์ หรือ counter-revolution ต่อการอภิวัฒน์ ซึ่งตนเองได้เคยพลีชีวิตร่วมกับคณะ และประการที่ 4 การเชิญข้าราชการเก่ามาร่วมบริหารประเทศนั้น ผมหวังให้ท่านเหล่านั้นก้าวหน้ามากเกินไปกว่าที่ท่านจะทำได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกระบวนการอภิวัฒน์ ถึงกับมีการปิดสภาและเลิกใช้รัฐธรรมนูญถาวร ฉบับ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 เป็นเหตุที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยของประเทศยังไม่เกิดขึ้นแท้จริงจนทุกวันนี้…

ความผิดพลาดในทัศนะของนายปรีดีทั้งสองประการนั้นเอง ที่นำไปสู่การรัฐประหารเงียบหรือการรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 (นับอย่างเก่าเป็นปี พ.ศ. 2475) เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรืออาจหมายความถึงการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย พร้อมกันนั้นคณะรัฐมนตรีก็เร่งดำเนินการในลักษณะคุกคามผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 2 เมษายน ตามมาด้วยคำสั่งลงวันที่ 10 เมษายนให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ไปดูงานที่ฝรั่งเศส พร้อมค่าใช้จ่ายปีละ 1,000 ปอนด์ อันเป็นเสมือนคำสั่งเนรเทศที่สร้างความตกตะลึงพึงเพริดให้แก่สมาชิกผู้ก่อการฯ คณะราษฎรสายที่สนับสนุนนายปรีดีนั่นเอง

ตามมาด้วยการรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้เหตุผลว่า "ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลายบท คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ"

นอกจากนั้นความผิดพลาดในประการที่ 2 คณะราษฎรคิดแต่เพียงเอาชนะทางยุทธวิธีในการยึดอำนาจรัฐเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คิดให้รอบคอบว่าจะรักษาชัยชนะไว้ได้อย่างไรจึงจะไม่ถูกการโต้อภิวัฒน์ซึ่งจะทำให้ชาติต้องเดินถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งคาบเกี่ยวกับประการที่ 4 ทำให้ช่วงเดือนกันยายน 2476 จึงมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนายทหารที่ยังจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกล่าว คือ พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ได้เชิญนายทหารรุ่นน้อง เช่น พันตรีหลวงหาญสงคราม (จิตร อัคนิทัต), พันตรีหลวงโหมชิงชัย (เวก สู่ไชย) จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก, พันโทพระปัจจนิกพินาศ (แปลก เอกะศิริ) จากโคราช, พันโทพระเทเวศร์อำนวยฤทธิ์ (ประเสริฐ อินทุเศรษฐ) นักบินสายแดงโคกกระเทียม (ตัวแทนเจ้ากรมอากาศยาน) และ พันเอกพระสิทธิเรืองเดชพล (แสง พันธุ์ประพาส) มาประชุมกันที่บ้านพันตรีหลวงหาญสงคราม แถวราชวัตร เกี่ยวกับเรื่องการยึดอำนาจแบบสายฟ้าแลบโดยให้ทหารกรุงเทพบีบพระยาพหลและพรรคพวก ส่วนทหารหัวเมืองให้เคลื่อนกำลังในเชิงขู่แล้วถอนตัวกลับเมื่อการยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ

ความไม่พอใจต่อคณะราษฎรที่คุกรุ่นมาตลอดหลังการอภิวัฒน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, อดีตอุปราชมณฑลพายัพที่เชียงใหม่ระหว่างปี พ.ศ. 2458-2462 และอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในปี พ.ศ. 2471) ทรงไม่พอพระทัยกลุ่มคณะราษฎรที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีกรณี นายถวัติ ฤทธิ์เดช หัวหน้ากรรมกรรถราง ผู้เช่าห้องแถวพระคลังข้างที่ ได้เป็นโจทย์ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เชื้อพระวงศ์มีความแค้นเคืองมากยิ่งขึ้น

ยิ่งในเวลาต่อมา เมื่อรัฐบาลให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ กลับสู่ประเทศไทย และมีการเชิญให้เข้าเป็นรัฐมนตรีลอยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ทำให้เกิดการคาดการณ์ไปต่างๆนานาว่า จะมีการนำ เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ของนายปรีดีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอำนาจเก่าว่ามีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์เข้ามาใช้ในแนวนโยบายของรัฐบาลนั้น จะต้องก่อความเดือดร้อนให้กับเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และผู้ที่จงรักภักดีต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแน่นอน

สำหรับฝ่ายที่ยังคงจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้านายเชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์ใหญ่ในระบอบเก่า เริ่มก่อหวอดเคลื่อนไหวโดยมีการประชุมหารืออยู่บ่อยครั้ง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวหาได้เล็ดรอดไปจากการเฝ้าสังเกตจับตาโดยคณะราษฎรแต่อย่างใด และเพื่อเป็นการปรามแนวคิดที่จะก่อการยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร พันโท หลวงพิบูลสงคราม ทำหนังสือไปถึงคณะบุคคลที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่นั้น ว่า
"..... ในฐานะที่ข้าพเจ้า เป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเตือนให้ท่านจงสงบจิตสงบใจ หากท่านยังจุ้นจ้านอีก คณะราษฎร์ตกลงจะทำการอย่างรุนแรง และจำต้องถือเอาความสงบของบ้านเมืองเป็นกฎหมายสูงสุดในการทำแก่ทาน ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาด้วยความหวังดี"
คำขาดที่ว่านี้มีไปถึงบุคคลที่คิดก่อการ ดังเช่น พระองค์เจ้าบวรเดช, พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, หม่อมเจ้าวงศ์ เนรชร, หม่อมเจ้าไขแสง ระพีพัฒน์, หม่อมเจ้าโสภณ ภาราไดย์, พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช), พระศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ทุกพระองค์และทุกคนพากันเข้าพบหลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัยที่วังปารุสกวันเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เว้นพระองค์เดียวคือพระองค์เจ้าบวรเดช ทั้งยังคงเดินทางไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดนครราชสีมาอย่างไม่ใส่ใจต่อคำขาดจากผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบจากรัฐบาลคณะราษฎร

การก่อหวอดอันเป็นสัญญาณเตือนว่าฝ่ายที่ต้องการฟื้นระบอบการปกครองเก่ายังไม่ยอมรับในความพ่ายแพ้และไม่ยอมจำนนอย่างแท้จริงต่อการอภิวัฒน์ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหรือที่เรียกว่าระบอบรัฐธรรมนูญ ใช้ชื่อเรียกว่า "คณะกู้บ้านเมือง" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลระดับหัวหน้า ดังนี้ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พลตรี พระยาเสนาสงคราม (หม่อมราชวงศ์อี๋ นพวงศ์) พลตรี พระยาทรงอักษร (ชวน ชวนะลิขิกร) พันเอก พระยาจินดาจักรรัตน์ (เจิม อาวุธ) พันเอก พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ทองคำ ไทยไชโย) และหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญคือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) สหายสนิทของพระยาพหลฯ และพระยาทรงสุรเดชเอง

นั่นหมายความว่าในอีกไม่กี่เดือนถัดจากนั้น สงครามกลางเมืองครั้งแรกหลังการอภิวัฒน์กำลังจะเกิดขึ้น และการก่อการที่ประสบความพ่ายแพ้นั่นคือ "กบฏ" ซึ่งครั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่า "กบฏเจ้า".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 28 กันยายน-4 ตุลาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8