"การอภิวัฒน์สยาม 2475"
กับการเมืองของราษฎร
กับการเมืองของราษฎร
กองกำลังฝ่ายคณะราษฎร
ในที่ตั้ง ณ หลังจากยึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเอาไว้ได้ วันที่ 24 มิถุนายน 2475
ทิศทางการเมืองการปกครองในระยะแรกของการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองโดยผ่านบทบาทนำของคณะราษฎร มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนรูปแบบและความหมายของ "รัฐ" แบบใหม่ ที่แม้ยังคงใช้คำนำหน้าชื่อรัฐว่าเป็น "ราชอาณาจักร" หากทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย (โดยการสถาปนารัฐธรรมนูญ ขึ้นเป็นหลักในการปกครองประเทศ) ด้วยการประกาศในรัฐธรรมนูญฉบับแรก (ใช้เป็น "ฉบับชั่วคราว" ตามการเจรจาต่อรองระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎร) คือ "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475" ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้ "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" (หมวด 1 ข้อความทั่วไป มาตรา 1) โดยใน "มาตรา 2 ให้มีบุคคลและคณะบุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ 1. กษัตริย์ 2. สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล"
และการย้ำเรื่อง "อำนาจ" ของประเทศนั้นเอง ใน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475" ประกาศใช้ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 หน้า 529 วันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งถือเป็นฉบับ "ต่อรอง" ระหว่าง พระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎร โดยผ่านคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการแก้ไข "อำนาจอธิปไตย" (หรือใน พระราชบัญญัติธรรมนูญฯ 27 มิถุนายน 2475 ใช้ว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศ") จาก "เป็นของ" มาเป็น "มาจาก" ดังปรากฏใน บททั่วไป มาตรา 2 อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญก็มีการถกเถียงกันเป็นอันมากเกี่ยวกับการใช้คำ ระหว่าง "อำนาจ" กับ "พระราชอำนาจ" โดย พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ "เสนอให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก โดยให้เหตุผลว่า "อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า"
ประธานอนุกรรมการฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางบริหารต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ที่การบริหารใดๆ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องมีกรรมการราษฎร (ที่ต่อมาสภา ฯ มีมติให้เรียกว่ารัฐมนตรี) เป็นผู้ลงนามสนอง พระบรมราชโองการ โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งหลวงประดิษฐมนูธรรมกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารของกษัตริย์ หากความสุภาพนุ่มนวลไม่ขัดกับ ความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวน เพราะ "ไม่ต้องการให้ชอกช้ำ" เอาไว้ ในที่สุดที่ประชุมเห็นชอบให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก" (รงส. 35/2475 25 พฤศจิกายน 2475)
นั่นคือใน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ จึงบัญญไว้ใน 3 มาตราเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย ไว้เป็น
มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนีติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรสำหรับคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ถูกนำมาพิจารณาในการประชุมสภาฯครั้งที่ 41 โดยมีการลงมติใช้คำว่า "รัฐมนตรี" 28 เสียงไม่ออกเสียง 24 เสียง และมีผู้เห็นควรใช้คำอื่น 7 เสียง จึงมีผลทำให้ใช้คำว่า "รัฐมนตรี" แทน "กรรมการราษฎร" รวมทั้งใช้คำว่า "คณะรัฐมนตรี" แทน "คณะกรรมการราษฎร" และใช้คำว่า "นายกรัฐมนตรี" แทนคำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" ตลอดจนมีการกำหนดความหมายใหม่ว่า "รัฐมนตรี" หมายถึง "ข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน" มิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินอีกต่อไป เช่นที่มี "รัฐมนตรีสภา" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (รงส. 41/2475, 28 พฤศจิกายน 2475)
มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย
ทว่าคำถามที่จำเป็น ทั้งสำหรับเวลานั้นและกระทั่งในปัจจุบันคือ "รัฐชาติ" หรือ "รัฐประชาชาติ" (Nation State) ที่เกิดขึ้นพร้อมการพัฒนาการทางการเมืองใน "ระบอบรัฐธรรมนูญ" ตามแถลงการณ์ของคณะราษฎร นั้น เกิดมีขึ้นจริงหรือเข้าใกล้ความจริงแค่ไหน อย่างไร นับจากการอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน บริบทการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองจากกลุ่มอำนาจเดิม คือ พระมหากษัตริย์และขุนนางอำมาตย์ ในระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาสวามิภักดิ์ก่อนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และสืบเนื่องมาจนถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตยหลังจากนั้น ลงสู่ราษฎรผ่านการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ทั้งในการบัญญัติกฎหมาย (อำนาจนิติบัญญัติ) และการบริหารประเทศ (อำนาจบริหาร) อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของ "พลเมือง" ภายในรัฐอย่าง "เท่าเทียมกัน" นั้นสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) หัวหน้าผู้ก่อการ (คณะราษฎร) ฝ่ายพลเรือนได้กล่าวถึงความหมายของ "ชาติ" ว่า "...ชาติปัจจุบันที่ประกอบขึ้นโดยรวมหลายกลุ่ม, เผ่าพันธุ์, หลายกลุ่มชนชาติ เป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเผ่าพันธุ์และชนชาติได้มีความเคยชินและจิตสำนึกว่าเป็นสมาชิกแห่งชาติเดียวกัน ชาติดังกล่าวนั้นมีฐานะที่จะเป็นหรือเป็น 'รัฐ' อันหนึ่งเดียวของชาตินั้นได้..." (โสภา ชานะมูล, 'ชาติไทย' ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า, กรุงเทพมหานคร: มติชน, 2550)
ในช่วงแรกของการอภิวัฒน์สยามนั้น รูปแบบและโครงสร้างจาก "การปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน" เพื่อการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง (สถาบันพระมหากษัตริย์) ในสัมยรัชกาลที่ 5 ยังไม่ถูกยกเลิกไป ระบบเทศาภิบาล แม่ว่าจะมีพัฒนาการไปมากสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แต่จะเห็นว่า ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้ในพื้นที่หัวเมืองมลายูเดิม นั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนอำนาจจารีตแบบเจ้าเมือง และราษฎรที่เป็น "ทาส" และ "ไพร่" กลายเป็นหนามยอกอกทางการบ้านเมืองในลักษณะ "กบฏชาวนา" ทั้งที่เกิดขึ้นเอง และทั้งที่หนุนโดย "อำนาจท้องถิ่น"
นอกจากนั้น แม้ดูเหมือนการลุกขึ้น "แข็งข้อ" กับอำนาจรัฐรัตนโกสินทร์ในภาคอื่นๆ ของสยาม จะเบาบางกว่าในพื้นที่ "หัวเมืองชายแดนใต้" แต่กระนั้นก็ตาม การเคลื่อนไหวของราษฎรกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว (ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างภายในกลุ่มชนที่แยกย่อยลงไปอีกหลายกลุ่ม หากมีการหลอมรวมเข้าด้วยกันผ่านทาง "ความเป็นลาว" ทั้งภาษาพูด ขนบความเชื่อ และวัฒนธรรมประเพณี) ที่ตระหนักความ "ไม่ใช่คนไทย" ก็เกิดขึ้นและดำเนินต่อเนื่องมาไม่ขาดสายเช่นกัน แม้จนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 กันยายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน