Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (35)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465" :
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (1)

การประชุมสมุหเทศาภิบาล ประจำปี พ.ศ. 2452 

นับจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันนำไปสู่การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สำเร็จโดยพื้นฐาน คือ การรวมศูนย์อำนาจการปกครองสู่ส่วนกลางในระบบกระทรวง โดยมีศูนย์กลางทั้ง 3 ด้านคือ การปกครองผ่านทางกระทรวงมหมาดไทย การเงินการคลังผ่านทางกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (หรือที่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงการคลัง) ซึ่งเริ่มต้นจากการจัดเก็บภาษีอาการโดยส่วนกลางที่ "หอรัษฎากรพิพัฒน์" และการ "เลิกไพร่" หรือการทำลายระบบกองกำลังส่วนตัวของเจ้านายและขุนนาง หรือ "ไพร่สม" โดยเริ่มจากค่อยผ่องถ่ายเป็น "ไพร่หลวง" กระทั่งเปลี่ยนเป็นระบบเกณฑ์ทหารสมัยใหม่ผ่านทางกระทรวงกลาโหมทั้งหมด

หลังสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พัฒนาการการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการปกครองในระบบเทศาภิบาลในทศวรรษ 2460 กลับเพิ่มทวีสถานการณ์ในส่วนหัวเมืองเดิม หรือส่วนภูมิภาค "ไกลปืนเที่ยง" นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนโยบายและแนวปฏิบัติราชการของรัฐบาลส่วนกลาง กับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมลายูส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งผูกพันกับความเชื่อ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างออกไป และปะทุเป็น "ขบถ พ.ศ. 2465" ซึ่งทางฝ่ายราชสำนักสยามบันทึกข้อมูลว่า เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน รายาหรือสุลต่านองค์สุดท้ายของรัฐปาตานี ลอบติดต่อกับพรรคพวกในเขตสยาม โดยยุยงส่งเสริมให้ก่อความรุนแรงในบริเวณหัวเมืองใต้ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ขบถน้ำใส" (Surin Pitsuwan. (1985). Islam and Malay Nationalism : A case Study of the Malay-Muslims of Southern Thailand. Bangkok : Thai Khadi Research Institute, Thammasat University)

พรรณงาม เง่าธรรมสาร เขียนไว้ใน "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่อไปว่า:
**********
หลังการกราบถวายบังคมลาออกของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารภายในระบบเทศาภิบาล โดยย้ายจากการสังกัดกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดพระราชสำนัก ขึ้นตรงต่อพระองค์และโปรดให้ยุบรวมมณฑลที่อยู่ใกล้เคียงกันตั้งขึ้นเป็นภาค มีอุปราชเป็นผู้บัญชาการ กำกับดูแลสมุหเทศาภิบาลอีกชั้นหนึ่ง มณฑลปัตตานี ต้องขึ้นกับอุปราชภาคปักษ์ใต้ ซึ่งมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงลพบุรีราเมศร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นอุปราชภาค ราชการที่สำคัญต้องผ่านความเห็นชอบของอุปราชภาค จึงจะต่อไปยังเสนาบดีกระทรวง อันส่งผลให้การสั่งราชการต้องใช้เวลามากขึ้น งานล่าช้าลง และที่สำคัญก็คือ การที่สมุหเทศาภิบาลย้ายไปขึ้นกับพระมหากษัตริย์ ทำให้เสนาบดีต่างๆ เข้าใจว่าสามารถสั่งงานไปยังข้าราชการของกระทรวงในพื้นที่ได้โดยตรงต่อสมุหเทศาภิบาล โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย ฐานะของสมุหเทศาภิบาลจึงกลายเป็นคนกลาง ต้องรับคำสั่งและงานฝากจากกระทรวงต่าง ๆ แต่ "อยู่นอกสังกัด" งานที่คาบเกี่ยวกันระหว่างกระทรวงขาดการประสานตัดสินใจอย่างเป็นระบบ สมุหเทศาฯ มักได้รับคำแนะนำเพียงให้ดำเนินการไปอย่าง "พอควรพอชอบ อย่าให้เสียราชการ" (กจช. ร. 6 ม. 1/56 "เจ้าพระยายมราชจัดราชการกระทรวงมหาดไทย" พ.ศ. 2465-2468) สมุหเทศาภิบาลจึงเหมือนเจ้าไม่มีศาล ขาดที่ปรึกษา

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยา ณ มิตร) ไม่มีอำนาจและบารมีเทียบเท่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์เสนาบดีเดิม ไม่อาจเป็นที่พึ่งให้กับสมุหเทศาฯ สมุหเทศาฯ แต่ละคนต่างตีความในคำสั่งและนโยบายต่างๆ ไปตามความเห็นของตน ทำให้การปฏิบัติงานของสมุหเทศาฯ มีแนวทางที่ แตกต่างกันออกไป บางครั้ง "16-17 อย่าง" จนกลายเป็นที่ "ขบขัน" ของเจ้ากระทรวงต่างๆ เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน จนแม้จะออกจากพื้นที่ สมุหเทศาฯ ก็ไม่รู้ว่าควรจะขอลาต่อใคร ผลกระทบของการขาดอำนาจในการบังคับบัญชาข้าราชการในพื้นที่ของสมุหเทศาฯ และการขาดเอกภาพของนโยบายในระดับกระทรวง ส่งผลต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ระดับอำเภอซึ่งถูกทับถมด้วยกฎหมายที่กระทรวงต่าง ๆ "คิดและออกกฎหมายบังคับไปทุกอย่าง"

ผลเสียจากระบบงานใหม่นี้จะปรากฏให้เห็นในพื้นที่มณฑลปัตตานี ซึ่งเคยได้รับสิทธิ์ผ่อนผันในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่และประชากร ที่ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติพันธุ์ต่างภาษา ต่างศาสนาความเชื่อ มีวิถีชีวิตและแนวปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของตนมาแต่เดิม หลัง พ.ศ. 2458 เมื่อสมุหเทศาภิบาลกลายเป็นลูกไล่ที่รับนโยบายเป็นแบบเดียวกันตามแบบหัวเมืองชั้นใน การปะทะและขัดแย้งระหว่างนโยบายจากส่วนกลางกับอัตลักษณ์การดำรงอยู่ของผู้คนที่เคยมีอิสระในวิถีชีวิตความเชื่อและวัฒนธรรมในดินแดนที่มีการปกครองตนเองมาก่อนจึงปรากฏอย่างเด่นชัดขึ้น ในแง่นี้ (แผน) ขบถ? ต่อต้านรัฐสยามซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2465 จึงสะท้อน "วิกฤติอัตลักษณ์ของท้องถิ่น" ที่ถูกบีบคั้นจากนโยบายการปกครองของรัฐในบริบทของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นความเสื่อมถอยของความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลาง กับกลไกของรัฐส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ดังจะได้พิจารณาต่อไปนี้

ระหว่างวันที่ 24-31 เดือนมกราคม พ.ศ. 2465 สมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานีได้ทราบข่าวจากหลายแหล่ง เช่น จากภรรยาพระยาพิพิธเสนามาตย์ (พระยายะหริ่งเดิม ขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการ นายอำเภอสายบุรี) กำนันหลายคนในพื้นที่ และนายอำเภอยะรังว่า มีการรวมกลุ่มของชาวมุสลิมในหลายพื้นที่ "จำนวนมาก" ลงรายชื่อเป็นสมาชิกและร่วมสาบานที่จะทำการสนับสนุนตนกูอับดุลกาเดร์ อดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ถูกถอดไปในวิกฤติเหตุการณ์ปัตตานีเมื่อ ร.ศ. 120 - 121 หัวหน้าใหญ่ชื่อ "กุจิ" อยู่ที่ ตำบลปูยุด อำเภอสะบารัง และยังมีหัวหน้าอยู่ที่ ตุยง และยะรัง สามารถรวมผู้คนได้ประมาณ 1,000 - 2,000 คนเศษ เป้าหมาย คือ การรวมตัวกันตีเมืองปัตตานี โดยอาศัยกำลังจากต่างชาติ มีชาวเตอรกี กลันตัน ยะโฮร์ เประ และไทรบุรี รายงานชิ้นหนึ่งจากนายอำเภอยะรังอ้างข้อมูลจากกำนันตำบลยะรัง และตำบลประจันตะวันออก ว่าได้ข่าว "อับดุลกาเดร์จะทำการจลาจล" ได้ออกมาเกลี้ยกล่อมชักชวน "คนที่มีชื่อเสียงเชื่อว่าอยู่ยงคงกระพัน" และ "พวกหัวไม้" ให้พวกนี้ชวนชาวบ้านแถบสะบารัง ตุยง และยะรัง มาลงชื่อเป็นพรรคพวกได้คราวละ 20-30 คน เป้าหมายคือ "จะเอาปัตตานีคืน" และเรียกร้องให้ราษฎรช่วยกัน "ขับไล่ข้าราชการไทยให้หมดสิ้น" "กระทำการปั่นป่วน" "อย่าเชื่อพนักงานไทย ..อย่ายอมเสียเงินค่ารัชชูปการ ค่านา ที่ค้าง.." และว่า "ถ้ามีความพร้อมเพรียงกัน ไทยที่ปัตตานีจะไปสู้อะไรได้" รายงานฉบับนี้ได้ ส่งรายชื่อหัวหน้าก่อการที่สืบทราบใน 3 ตำบลที่กล่าวถึงมาด้วย รวม 23 คน สุดท้ายนายอำเภอยะรังร้องว่า "สถานการณ์คับขัน" ขอกำลังตำรวจเพิ่มเติมอีก 1 กองพล พร้อมอาวุธ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 เมษายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (34)

บทสรุปและผลกระทบจากกรณี
"พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ"

คณะผู้สำเร็จราชการฯ แทนรัชกาลที่ 8 พ.ศ.2478 (จากซ้ายไปขวา) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ทรงเป็นประธาน, เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

แม้ว่ารัฐบาลรัตนโกสินทร์ที่เพิ่งสามารถสถาปนาการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ค่อนข้างมั่นคงแล้วภายหลังปี พ.ศ. 2445 และเมื่อพิจารณาจากดินแดนหัวเมืองประเทศราชเดิมในภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมกับสามารถเปลี่ยนหัวเมืองมลายูทั้งเจ็ดเป็นบริเวณเจ็ดหัวเมืองอันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรได้ ระหว่างปี พ.ศ. 2444 และ พ.ศ. 2449 ขณะที่อำนาจในการบริหารปกครองส่วนใหญ่อยู่ที่ขุนนางข้าราชการซึ่งถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง โดยที่ยับยั้งมิให้การที่พระยาแขกหรือเจ้าผู้ครองนคร (รายา) คบคิดขบถลุกลามขึ้นเป็นจลาจลได้ในปี พ.ศ.2444 และ พ.ศ.2445 แต่ก็มิได้ปรากฏว่าจะสร้างความสงบขึ้นในมณฑลปัตตานีได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะการที่รัฐบาลถอดยศถาบรรดาศักดิ์พระยาเมือง โยกย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองอื่น ปลดเกษียณเป็นพระยาจางวาง หรือกระทั่งยุบเมืองลงเป็นเพียงอำเภอ ไม่สามารถแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานได้ในระยะสั้น

ในปี พ.ศ.2466 เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หรือเดิม พระยาสุขุมนัยวินิต อดีตสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ให้ความเห็นต่อกรณี "พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ" ว่า "เหตุการณ์ย่อมเกิดขึ้นมาแต่เล็กๆน้อยๆแล้วรวมสุมกันขึ้นเป็นเหตุใหญ่" อีกทั้งทัศนคติของขุนนางข้าราชการบางคน"ไม่ใคร่จะรฦกว่า เป็นเมืองแขก กิจการอย่างใดที่ทำได้ในมณฑลชั้นใน ตลอดจนการเก็บภาษีอากรก็เห็นเป็นไม่สำคัญ ต่างน่าที่ก็กวดขันเร่งรัดเอาแต่ได้ ฝ่ายสมุหเทศาภิบาลหรือเจ้าพนักงานท้องที่ไม่มีกำลังพอที่จะดึงดังขัดขวางไว้ ... การวางระเบียบรีดรัด การเพิ่มภาษีอากร การเร่งเร้าต่างๆ เป็นข้อที่เกี่ยวข้อง แก่ประชาชน ถูกรบกวนอยู่เสมอ จึงทำให้ความนิยมนับถือเจ้าหน้าที่เสื่อมลง เมื่อมีใครมาหนุนหรือมีเหตุกระทบกระเทือนเข้าเล็กน้อยก็เลยหันเหไปได้ง่าย ยิ่งเป็นบุคคลที่มีชาติศาสนาแล้ว ก็ยังเป็นการง่ายยิ่งขึ้น"

และนับแต่ พ.ศ.2449 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ที่ส่อเค้าเกิดขึ้นในมณฑลปัตตานีขึ้นหลายครั้งหลายคราว เท่ากับเป็นสัญญาณบ่งบอกเกี่ยวกับกรณีพระยาแขกคบคิดขบถ ร.ศ.121 ยังหาได้สิ้นสุดลงไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดเหตุการณ์กบฏอีกหลายๆ ครั้งตามมาในช่วงปี พ.ศ. 2452 -2454 ซึ่งทางราชสำนักสยามมองว่าผู้ก่อการกบฏส่วนหนึ่งเป็นคนของอดีตพระยาเมืองปัตตานี

หมายความว่าเป้าประสงค์ที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงวางไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2439 ในอันที่จะ "เพาะปลูกคนที่จะรับราชการในพื้นบ้านเมืองเหล่านี้ ถึงว่าจะเป็นแขกต่างศาสนา ก็ให้มีน้ำใจ และอัทยาไศรย เป็นไทย เช่นข้าราชการทั้งปวง" ยังไม่สามารถปรากฏเป็นจริงขึ้น เช่นที่ใช้ได้ผลในภูมิภาคอื่นมาแล้ว

ดร. เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 ให้ความเห็นถึงการสิ้นสุดการปกครองในฐานประเทศราชของราชวงศ์ปัตตานี "…ควรบันทึกไว้อีกด้านหนึ่งด้วยว่า สำหรับนักประวัติศาสตร์มลายู ปี พ.ศ. 2445 เป็นปีของการล่มสลายครั้งสุดท้ายของชาติปัตตานี เป็นการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของรายาและการทำลายอธิราชของชาวมลายูในประเทศ ปัตตานีและการจำนำสิทธิเสรีภาพ อิสรภาพของปัตตานีในมือของสยาม ปีนี้จึงเป็นปีสุดท้ายที่โชคร้ายที่สุดของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายู ปัตตานี…" (เตช บุนนาค เขียน ภรณี กาญจนัษฐิติ แปล, การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435-2458, กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548 หน้า 195)

นอกจากนั้น จากบทกล่าวนำในบทความวิชาการ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" โดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอไว้ดังนี้
**********
การปฏิรูปหัวเมืองทั้ง 7 ในรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่แรกเริ่มใน พ.ศ. 2439 จนถึงเมื่อประกาศตั้งมณฑลปัตตานีใน พ.ศ. 2449 ชี้ว่า รัฐบาลกลางประสบความสำเร็จในการเข้าไปจัดการบริหารปกครองดินแดนส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย โดยไม่ได้ก่อให้เกิดการต่อต้านหรือความรุนแรงในระดับราษฎรทั่วไป แต่ได้สร้างความแตกร้าวกับผู้ปกครองเดิมในส่วนบน โดยรัฐบาลได้ใช้มาตรการเด็ดขาดกับผู้นำที่คัดค้านไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิรูป ขณะเดียวกันรัฐบาลกลางก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินการด้านการทูตกับมหาอำนาจตะวันตก คือ อังกฤษที่พยายามเข้ามาแทรกแซงในกิจการในหัวเมืองส่วนนี้ โดยยืนยันอำนาจสยามในหัวเมืองทั้ง 7 และแยกความแตกต่างในสถานะของหัวเมืองทั้ง 7 ออกจากหัวเมืองมลายูชั้นนอก คือกลันตันและตรังกานู ส่วนด้านการจัดการปกครองภายใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดให้ใช้ "นโยบายผ่อนปรน" ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ในการจัดระเบียบใหม่ของเมืองเหล่านี้ โดยให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และขนบธรรมเนียมความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น  เช่น ยกเลิกการเก็บภาษีหางข้าวในปัตตานีประจำปี พ.ศ. 2445  ยกเลิกส่วนต้นไม้เงินทองใน พ.ศ. 2445 ยกเว้นเงินค่าราชการให้บุตรหลานพระยาเมือง เพิ่มเงินตอบแทนรายปีแก่พระยาเมืองและเงินเลี้ยงชีพแก่บุตรหลานญาติพระยาเมืองเดิม ยกเลิกการเกณฑ์แรงงานราษฎรในการโยธา เป็นจ่ายค่าแรงว่าจ้างแทน  เลือกสรรข้าราชการที่มีคุณสมบัติดีพิเศษมารับราชการในดินแดนนี้ จัดระบบการศาลในหัวเมืองเหล่านี้ให้สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม โดยให้อยู่ในอำนาจของ "โต๊ะกาลี" (หมายเหตุเพิ่มเติม - ผู้รู้และเป็นที่นับถือในศาสนาอิสลาม เป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม) พระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124  และทำนุบำรุงเมืองให้เจริญทัดเทียมและเกินหน้ากลันตันและตรังกานู เป็นต้น

แนวทาง "ผ่อนปรน" เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นสามารถป้องกันไม่ให้ความไม่พอใจต่อการปลดย้ายเจ้าเมืองเดิมที่ต่อต้านการปฏิรูปดารปกครองกลายเป็นความรุนแรงระดับมวลชนชั้นล่างได้อยู่หลายปี จนถึงปลายรัชกาลที่ 5 จึงได้เกิด "กบฏผู้วิเศษ ร.ศ. 128" (พ.ศ. 2452) ซึ่งดำเนินอยู่จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 ใน ร.ศ. 130 (พ.ศ.2454)  อย่างไรก็ดีทางการไทยแทบไม่ปรากฏหลักฐานถึงมูลเหตุที่เกี่ยวข้องเว้นแต่ที่ว่าเกี่ยวกับศาสนาอิสลามซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่าเป็นความคิดที่ฝ่ายไทยเข้าไม่ถึง หลังจากนั้นขบวนการต่อต้านนำโดยกลุ่มผู้นำทางศาสนาดังกล่าวก็ค่อย ๆ จางหายไป ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในมณฑลปัตตานีในระยะต่อมาปรากฏชัดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงที่ฐานหลัก คือศูนย์อำนาจส่วนกลางของรัฐสยามเป็นสำคัญ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในระบบบริหารเทศาภิบาลส่วนบนภายหลังการกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. 2458 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 เมษายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (33)

ฉาก (ต้อง) จบและผลกระทบจากกรณี
"พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ"

แถวหน้า: จากซ้าย ลำดับที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และประทับริมสุด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นับจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผลสำเร็จในขอบเขตทั้งราชอาณาจักร โดยเฉพาะในพื้นที่หัวเมืองมลายูจนทำให้อาณาจักรปาตานีเป็นส่วนดินของราชอาณาจักร (อย่างชัดเจน) ในฐานะจังหวัดหนึ่งของรัฐสยามที่พยายามสร้างความเป็น "รัฐสมัยใหม่" (modern state) ซึ่งเพิ่งจะเริ่มก่อรูปขึ้น แต่ผลอย่างสำคัญคือ รัฐโบราณก่อนพุทธศตวรรษที่ 23 ก็สิ้นสุดสถานภาพไปทีละแห่ง บางส่วนกลายเป็นรัฐอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก และอีกหลายส่วนมีลักษณะ "สิ้นชาติ" เช่นกรณีหัวเมืองมลายูที่ถึงขั้น "ไม่มีอาณาจักรปาตานีอีกต่อไป" สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในจิตใจของราษฎรคือ "อดีต" ของบูรณภาพแห่งดินแดน หรือปัจจุบันอาจใช้คำว่า "เอกราช" และความรู้สึกถึง "ความแปลกแยก" ซึ่งไม่ใช่ความเป็นไทย/สยาม

ในกรณีหัวเมืองมลายู แม้ว่ารัฐบาลสยาม (ราชสำนักรัตนโกสินทร์) สามารถปรามพระยาแขกได้อย่างรวดเร็วก่อนเกิดการต่อต้านด้วยกำลัง แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถปรับปรุงการปกครองพื้นที่เจ็ดหัวเมืองได้ทันทีก็หาไม่ เพราะถึงแม้ว่าพระยาศรีสิงหเทพจะจับพระยาตานีไป และพระยาระแงะจะ "สมัคร" ไปศึกษาราชการที่สงขลาแล้วก็ตาม ศรีตวันกรมการแขกที่ยังอยู่ ก็มิได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ที่เมืองตานี เมื่อพระยาสุขุมนัยวินิตเรียกประชุมกำนันแขกเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงการปรับปรุงการปกครอง กำนันก็ "กระด้างกระเดื่อง" ไม่ไปประชุมที่เมืองรามันห์ ถึงแม้ว่าพระยารามันห์ยอมรับกฎข้อบังคับสำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง แต่พระยาสุขุมนัยวินิตก็ "ได้ข่าวว่าพวกเก่าๆ ลาออกหลายคน" ซึ่งหมายความว่า "เราหมดคนใช้"

ที่สำคัญ คือที่เมืองสายบุรี "ราษฎรพากันบ่นมากในเรื่องทำถนน เพราะเวลานี้ กำลังเก็บเข้าอยู่ด้วย ฝ่ายพวกเจ้าเมืองคอยยุยงว่าจะทำอย่างไรได้ ข้าหลวงเขาใช้ให้ทำก็ต้องทำ คอยหาสาเหตุ แต่จะให้ราษฎร เกลียดข้าหลวง อย่างเดียว" ทั้งๆ ที่พระยาสายบุรี เป็นผู้เกณฑ์ราษฎรไปทำถนนเอง แต่ "บอกราษฎรว่า ข้าหลวงสั่งให้ทำ" และในด้านอื่นๆ ของการปรับปรุงการปกครอง รัฐบาลก็ไม่สามารถหาข้าราชการ (ขุนนางท้องถิ่น) บรรจุเข้าทำหน้าที่ได้ทันท่วงที ยังผลให้ไม่สามารถเก็บภาษีอากรทั้งหมดได้ในบริเวณเจ็ดหัวเมือง และไม่มีผู้พิพากษา ที่ทรงคุณวุฒิพอ ที่จะตัดสินคดีความ อันอาจเกิดขึ้นจากการปรับปรุงการปกครองทั้งปวงตามนโยบาย

หลังจากกรมหลวงดำรงราชานุภาพ นำรายงานต่างๆ ของข้าหลวงใหญ่ขึ้นกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงทราบ พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า
"สังเกตดูยังบกพร่องร่องแร่งมาก... เห็นว่าการกระจุกกระจิก ซึ่งยังไม่มีคนพอที่จะทำได้ดีได้ ฤาไม่ได้ประโยชน์อันใดมากนัก เป็นแต่จัดขึ้น ให้เต็มตามแบบเช่นนี้ ควรจะยกเว้นเสียบ้าง อย่าให้ราษฎรบังเกิดความเบื่อหน่ายในการที่ต้องถูกกวนกระจุกกระจิก ฤาถ้าการกระจุกกระจิกมีอยู่แต่เดิม ปลดเปลื้องเสียบ้าง ให้เห็นว่าเป็นการมีคุณสบายขึ้น รวบรวมใจความว่าให้จัดการปกครองให้เป็นอย่างง่ายๆ ยอมให้บกพร่อง ในที่ซึ่งควรจะยอมให้บกพร่อง กว่าหัวเมืองชั้นใน ไปพลางก่อน กว่าคนจะพรักพร้อมจึงค่อยจัดค่อยทำให้ตลอดไป ดีกว่าที่จะทำสิ่งละอันพันละน้อย และไม่ได้ดีเต็มที่สักอย่างเดียว"
จากนั้นรัฐบาลก็หันไปใช้ใช้นโยบาย "ประนีประนอม" ต่อพระยาแขกอีกครั้งหนึ่ง โดยยอมให้พระยาระแงะกลับไปอยู่เมืองระแงะในปี พ.ศ. 2446 หลังจากที่ได้ทำหนังสือ "ทัณฑ์บน" ไว้ว่า จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับสำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง และในปีต่อมา เมื่อพระยาวิชิตภักดี (เตงกูอับดุลกาเดร์) อดีตพระยาตานีสารภาพความผิดและสัญญาว่าจะ "ไปอยู่ทำมาหากินอย่างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง" และ "จะไม่เกี่ยวข้องแก่การบ้านเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอันขาด" แล้ว พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงอนุญาตให้กลับไปอยู่เมืองตานีได้เช่นกัน

แต่เมื่อพระยาวิชิตภักดีเดินทางไปถึงเมืองตานี ก็มีราษฎรประมาณ 500 คน นั่งเรือ 80 ลำไปรับที่ปากแม่น้ำ อีกประมาณ 2,000 คน ยืนต้อนรับอยู่บนตลิ่งสองข้างแม่น้ำตานี และมีพระสี่องค์ ฮะยีถึง 100 คน รอรับอยู่ที่บ้าน การต้อนรับอย่างเอิกเกริก เช่นนี้ ทำให้รัฐบาลรู้สึกเป็นห่วงในสถานการณ์พอที่จะส่งเรือรบหนึ่งลำไปทอดสมอที่ปากน้ำเมืองตานี เพื่อเป็นกำลังใจแก่ข้าหลวง แต่หลังจากนั้นก็ยังปรากฏว่า "มีราษฎร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน" เป็นร้อยๆ คน ไปเยี่ยมพระยาตานีไม่เว้นแต่ละวัน และมีข่าวว่าพระยาตานีเริ่มคบคิดแสวงหาพรรคพวกอีก โดยติดต่อ กับพระยากลันตัน พระยาสายบุรี และพระยายะลา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าได้รับรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองตานี พระองค์ทรงมี พระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพว่า "สังเกตดูข้าหลวงหวาดหวั่นมาก ถ้าหากว่ามีเหตุอะไรขึ้น เกือบจะไม่รู้ ที่จะทำอะไร" ในเมื่อควรจะออกกฎข้อบังคับมิให้มีการ "ซ่องสุม" ที่บ้านอับดุลกาเดร์ และทรงสรุปว่า "เมื่อจะว่ารวบยอดแล้ว เราไม่สันทัดทางพูดและทางทำในการที่จะปกครองชาติอื่น มันจะตกไปในที่กลัวไม่ควรจะกลัว กล้าไม่ควรจะกล้า ทำในทาง ที่ไม่ควรจะทำ ใจดีในที่ไม่ควรจะใจดี ถ้าจะใจร้ายขึ้นมา ก็ใช้ถ้อยคำไม่พอที่จะเกลื่อนใจร้าย ให้ปรากฏว่าเพราะจะรักษาความสุขและประโยชน์ของคนทั้งปวง ไม่รู้จักใช้อำนาจในทางที่ควรจะใช้... การที่จะทำได้โดยตรงๆ ก็เกรงอกเกรงใจอะไรไปต่างๆ โดยไม่รู้จักที่จะพูด และหมิ่นประมาทอำนาจตัวเอง เมื่อได้เห็น การเป็นเช่นนี้ นึกวิตกด้วยการที่จะปกครองเมืองมลายูเป็นอันมาก ขอให้เธอ กรมดำรงตริตรองดูให้จงดี"

สิ่งแรกที่รัฐบาลสยามดำเนินการหลังจากพระราชหัตถเลขาฉบับนี้คือ เปลี่ยนตัวข้าหลวง เรียกพระยาศักดิ์เสนีกลับ และส่งข้าหลวงคนใหม่ คือ พระยามหิบาลบริรักษ์ ไปปฏิบัติหน้าที่แทน

ในปี พ.ศ.2448 และ พ.ศ.2449 รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการขั้นสุดท้ายที่จะลบล้างลักษณะพิเศษที่ยังปรากฏอยู่ในบริเวณเจ็ดหัวเมือง และดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโดยแท้จริง เมื่อปลายปี พ.ศ.2448 กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงเสนอว่า รัฐบาลพร้อมแล้วที่จะเก็บภาษีอากรทั้งหมดในบริเวณเจ็ดหัวเมือง สมควรเลิกส่วยสาอากรที่พระยาเมืองเคยเก็บจากราษฎรตามขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม เช่น ส่วยต้นไม้เงินทองหรือส่วยกระดาน เป็นต้น และเก็บค่าราชการแทน ให้เหมือนกับส่วนอื่นของประเทศ ทั้งนี้ โดยจะเพิ่มเบี้ยหวัดประจำปีให้แก่พระยาเมืองที่ยังมีตัวอยู่ "แต่เงินที่เพิ่มนี้ เป็นพระราชทาน ให้แก่เฉพาะตัว พระยาเมืองเหล่านี้ ไม่เป็นการติดตำแหน่งต่อไปภายหน้า" ในปีต่อมา กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอให้ยกเลิกบริเวณเจ็ดหัวเมืองนี้ขึ้นเป็นมณฑล และแยกออกเป็นสามเมืองเท่านั้น คือ ปัตตานี บางนรา และยะลา มีข้าหลวงเทศาภิบาลประจำที่ปัตตานี และปลัดมณฑลสองคนประจำที่บางนราและยะลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระจุลจอมเกล้า) ทรงเห็นชอบด้วย และทรงกะตัวข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกประจำมณฑลปัตตานี พระราชทาน กรมหลวงดำรงราชานุภาพด้วย ซึ่งได้แก่ พระยาศักดิ์เสนี ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเจ็ดหัวเมืองระหว่างปี พ.ศ.2444 และ พ.ศ.2447 นั่นเอง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 30 มีนาคม-5 เมษายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (32)

การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง:
ว่าด้วยจุดยืนของราชสำนักสยาม (4)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยศสูงสุด)

(ตอนต่อ) ตอนสุดท้ายของคำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เรื่องการจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง ในบทความ "การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง" จากเว็บไซต์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
***********
พระราชประสงค์จะให้พระเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงคนแรกออกไปกำกับการจัดการหัวเมืองทั้ง 7 แต่ที่ไม่ได้แจ้งพระราชประสงค์ และตำแหน่งหน้าที่ของพระเสนีพิทักษ์ ในการนี้ให้ปรากฏในทางราชการไปแต่ทีแรกนั้น อาศัยเพราะเหตุ 2 ประการคือ
ประการที่ 1 เพราะธรรมดากิติศัพท์ ที่จะจัดการเปลี่ยนแปลงอันใด มักพาให้คนทั้งปวงสงสัยเข้าใจผิด ไปกว่าการที่จะเป็นจริง และเลื่องลืออื้อฉาวไปต่างๆ กิติศัพท์ที่เลื่องลือ เพราะความเข้าใจผิดของคนทั้งหลาย บางทีจะพาให้เกิดความหวาดหวั่นพรั่นใจ ในหัวเมืองเหล่านี้ หรือเป็นที่กินแหนงต่ออกไปจนหัวเมืองของอังกฤษ ถ้าเป็นเช่นนั้น ถึงจะมากน้อยเพียงใด ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่จะให้รำคาญขัดข้อง ในการที่จะจัดเป็นอันหาประโยชน์มิได้ จึงไม่ควรให้มีกิติศัพท์เลื่องลืออื้อฉาวขึ้นอย่างใด
ประการที่ 2 เพราะเมืองสงขลาเวลานี้ พึงจะลงมือจัดการยังไม่ทันที่จะเดินไปได้สักกี่มากน้อย การที่จะจัด จะต้องจัดเมืองสงขลา นำหน้าหัวเมืองอแขกดังได้ชี้แจงมาแล้ว ถ้าจะรีบเอะอะจัดหัวเมืองแขกขึ้นด้วยโดยทันที เกรงจะเป็นการหนักแก่ผู้จัดทั้งสองฝ่าย จะช่วยอุดหนุนติดต่อกันไม่ใคร่สะดวก ด้วยเหตุนี้ ท้องตราตามทางราชการซึ่งเป็นแค่สั่งให้พระเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงพิเศษลงไปไต่สวนการที่คั่งค้างอยู่แต่บางเรื่อง โดยหวังจะให้เป็นโอกาสแก่พระเสนีพิทักษ์ ได้ตรวจตรารู้เห็นการในบ้านเมือง แลคุ้นเคยกับผู้คนได้ที่จะตั้งต้น จัดการเปลี่ยนแปลงในหัวเมืองทั้ง 7 นี้
9. เมื่อพระเสนีพิทักษ์ลงไปถึงหัวเมืองแขกทั้ง 7 เจ้าเมืองเหล่านี้ โดยมากคงจะพากันร้องขอความอนุเคราะห์ เพื่อจะให้พ้นจากอำนาจเมืองสงขลา แลขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ คำร้องเช่นนี้จะมีก็ตาม หรือไม่มีก็ตาม เมื่อพระเสนีพิทักษ์ ได้ลงไปถึงท้องที่ ให้ถือเป็นโอกาสที่จะไต่ถามการที่เป็นอยู่ในบ้านเมือง แลความเดือดร้อนขัดข้อง ของผู้ว่าราชการหัวเมืองเหล่านี้ มีอยู่อย่างใดๆ แลรับเอาเป็นธุระโดยส่วนตัวที่จะเรียบเรียงรายงานบอกเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อจะได้ทรงพระราชดำริ ให้จัดการแก้ไขให้ดีขึ้นประการใด

10. ในการที่ได้โอกาสและคบค้าสมาคม ไต่ถามต่อผู้ว่าราชการหัวเมืองเหล่านี้ ตามที่ได้ว่ามาในข้อก่อนนั้น ควรที่จะพระเสนีพิทักษ์ จะอธิบายชี้แจงประโยชน์ในทางที่จะจัดการบ้านเมือง ให้บังเกิดความนิยมของผู้ว่าราชการกรมการเหล่านี้ ให้มีต่อข้าหลวงเสมอ ทำทางไว้เผือการที่จะจัด ถ้ายิ่งคิดอ่านถึงให้ผู้ว่าราชการเมืองเหล่านี้ มีใบบอกเข้ามาขอข้าหลวงกรมการเหล่านี้ ลงไปช่วยแนะนำราชการบ้านเมืองได้เป็นการดี เพราะถ้าอาศัยเหตุให้เป็นไปได้ด้วยการนิยม ของผู้ว่าราชการเมืองเช่นนั้นแล้ว การที่จะว่างก็จะเรียบร้อยได้โดยง่าย เพราะปิดประตูอุทธรณ์หรือความจำใจต่างๆ ได้สนิท

11. แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพระเสนีพิทักษ์ ได้ตรวจการบ้านเมืองตลอด แลได้รับรายงานของพระเสนีพิทักษ์ ตรวจจัดการเป็นที่เรียบร้อยแก่ผู้ว่าราชการเมืองแขก 7 หัวเมืองแล้ว จะได้มีท้องตรา ตั้งพระเสนีย์พิทักษ์ เป็นข้าหลวงกำกับต่อไปทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่พระเสนีย์พิทักษ์ลงไปถึง ควรตั้งหน้าสืบสวนราชการในพื้นบ้านเมือง แลคิดรู้จักผู้คนที่สำคัญๆ ในบ้านเมือง ตระเตรียมความรู้เห็นแลความสามารถในตัว ในหน้าที่ข้าหลวงกำกับหัวเมืองแขกไว้ เมื่อได้รับท้องตรานั้นเมื่อใด จะได้จัดการตลอดไป

12. การที่จะสืบสวนเอาความรู้เห็นในชั้นต้น เมื่อพระเสนีพิทักษ์ได้ลงไปถึงหัวเมืองแขกทั้ง 7 แล้วต้องตั้งใจสืบสวนการในพื้นเมือง คือในการภูมิประเทศในวิธีการปกครอง วิธีการเก็บผลประโยชน์และการที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลา แลคดีถ้อยความของราษฎร ตลอดจนความดีชั่วที่มีอยู่ในเจ้าเมืองกรมการและธรรมเนียมบ้านเมืองให้รู้โดยละเอียด และควรทำรายงานความรู้เห็น ทั้งนี้บอกส่งเข้ามาเป็นไปรเวตด้วย

13. การที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการที่จะคบค้าสมาคมกับเจ้าเมืองกรมการ แลพวกที่เป็นหัวหน้าในราษฎรคือ พ่อค้าจีนเป็นต้น การตั้งใจคบค้าสมาคมให้คุ้นเคยชอบพอไว้ตั้งแต่แรก เพราะจะเป็นกำลังได้มาก

14. การจัดหัวเมืองแขกทั้ง 7 นี้ ถึงจะจัดอย่างไรๆ คงอยู่ในต้องอาศัยเมืองสงขลา เพราะเมืองสงขลาเป็นเมืองใหญ่ แลเป็นเมืองไทยซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดต่อกัน เวลานี้พระวิจิตรวรสาสน์เป็นข้าหลวงตั้งจัดการอยู่ที่เมืองสงขลา ถ้าพระเสนีพิทักษ์รู้เห็นการในหัวเมืองแขก หรือจะคิดอ่านจัดการประการใด หรือมีความขัดข้องที่จะบอกข้อราชการให้พระเสนีพิทักษ์มีใบบอกตรงเข้ามากรุงเทพฯ แต่ราชการอย่างใดซึ่งสมควรจะให้พระวิจิตรวรสาสน์รู้เห็นไว้ด้วย ก็ให้บอกให้พระวิจิตรวรสาสน์ทราบด้วยจงทุกคราว

15. อนึ่ง การที่ออกไปในหัวเมืองแขกครั้งนี้ ควรจะระวังปากเสียงอย่างหนึ่ง คือในการที่จะกล่าวคำครหาติเตียนพระยาวิเชียรคิรี หรือกรมการเมืองสงขลา ต่อพวกแขก ถ้อยคำเหล่านี้ควรตั้งใจเว้น และอย่ากล่าวโดยไม่จำเป็น เพราะบางที จะให้พวกแขกเกิดความคิดหมิ่นประมาท ตำแหน่งผู้ว่าราชการและกรมการเมืองสงขลา (อันจะมีในภายหน้า) ได้ คำสั่งนี้จะได้รับพระราชทานให้พระเสนีพิทักษ์อ่านทราบเกล้าฯ ก่อนที่จะไปแต่ต้นฉบับจะเก็บไว้ที่ศาลาลูกขุน

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ ขอเดชะ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ที่มา กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ 5 ม.49/27 เรื่องผลประโยชน์เมืองหนองจิกและเมืองแขก 7 เมือง http://www.geocities.com/bluesing2001
***********
หลังการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการต่อต้านขัดขืนเป็นระลอกในบริเวณเจ็ดหัวเมือง เนื่องจากรายาหรือเจ้าครองนครเดิมของอาณาจักรปาตานี ตระหนักถึงการคุกคามและอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงในบูรณภาพของ "ดินแดน" เหนืออาณาจักรปาตานีที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยมีความไม่ชัดเจนในสถานะระหว่าง "ประเทศราช" หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "รัฐสยาม"

นั่นคือ ในช่วงเวลาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นระยะผ่านการก่อรูปแนวคิด "อาณาจักรปาตานี/ชาตินิยมปาตานี" เพื่อความชัดเจนของ "รัฐและบูรณภาพแห่งดินแดน”.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23-29 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (31)

การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง:
ว่าด้วยจุดยืนของราชสำนักสยาม (3)

เสนาบดีกระทรวงต่างๆ และที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ ถ่ายภาพที่ระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในคราวประชุมเทศาภิบาล พ.ศ. 2442 (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

(ตอนต่อ) คำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เรื่องการจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง ในบทความ "การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

***********
6. ความดำริที่จะจัดการในหัวเมืองแขกทั้ง 7 ต่อไปนี้
  1. เห็นควรจะให้คงเป็น 7 หัวเมือง ดังเป็นอยู่บัดนี้
  2. จะให้ข้าหลวงไทยประจำตรวจตราคอยบังคับบัญชาการในหัวเมืองแขกทั้ง 7 กองหนึ่ง
  3. การบังคับบัญชาในพื้นเมือง จะให้ผู้ว่าราชการเมืองคงมีอำนาจที่จะบังคับบัญชา รักษาการตามธรรมเนียมบ้านเมืองที่มีอยู่ ที่ข้าหลวงเห็นชอบด้วย
  4. ให้ผู้ว่าราชการเมือง มีอำนาจที่จะบังคับบัญชารักษาการ ตามกฎหมายประเพณี เว้นไว้แต่ความซึ่งโทษถึงประหารชีวิต หรือริบทรัพย์สมบัติ แลความอุทธรณ์ต้องส่งมาพิจารณา ณ ที่ศาลข้าหลวง ส่วนคำพิพากษาโทษประหารชีวิต และโทษริบทรัพย์ ข้าหลวงต้องส่งเข้ามาขอรับพระราชทาน พระบรมราชานุญาตก่อน เหมือนกับเมืองชั้นใน
  5. ส่วนภาษีอากรนั้น ให้ผู้ว่าราชการเมืองคงเก็บตามเดิม แต่ให้มีส่วนลดเป็นภาคหลวง พอที่จะใช้การข้าหลวง กำกับเมืองแขกทั้ง 7 นั้นแล เหลือส่งมาจ่ายราชการบ้าง
  6. การที่ต้องเสียส่วย หรือผลประโยชน์อันใดต่อพระยาสงขลา หรือการที่พระยาสงขลาตั้งนายหมวด นายกองลงไปควบคุมผู้คนอันใด อยู่ในหัวเมืองแขกเหล่านั้น เป็นแยกเลิกไปจัดการใหม่ แต่การควบคุมคนไทย ซึ่งออกไปอยู่ในเมืองแขก ผู้ว่าราชการเมือง ต้องพร้อมด้วยข้าหลวงเลือกสรรคนไทยเหล่านั้น ตั้งเป็นกรมการหัวหน้าคนไทยขึ้นไว้ในบ้านเมือง ทำนองกรมการจีน ให้มีมากน้อยตามส่วนคนไทยที่จะมี
  7. การที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ให้หัวเมืองแขกเหล่านี้ ส่งต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการตามเคย ส่วนใบบอกราชการต่างๆ จะบอกตรงเข้ากรุงเทพฯ หรือจะบอกต่อข้าหลวง แต่จะบอกอย่างไรก็ตาม ต้องให้ข้าหลวงทราบด้วยทุกคราว ส่วนท้องตราก็อย่างเดียวกัน
  8. บรรดาการที่จะเกี่ยวกับคนในบังคับต่างประเทศประการใด ต้องเป็นธุระในหน้าที่ของข้าหลวงโดยเฉพาะ
  9. ข้าหลวงกับหัวเมืองทั้ง 7 ให้ตั้งที่ว่าการที่เมืองสงขลาแห่งหนึ่ง ให้ตั้งที่ว่าการในหัวเมืองแขกทั้ง 7 นั้นแห่งหนึ่ง และให้หมั่นไปตรวจราชการในหัวเมืองทั้ง 7 นี้เนืองๆ ถ้าประเพณีการบ้านเมืองอย่างใดเสื่อมเสีย ไม่ควรแก่ประโยชน์ของราชการ หรือเป็นที่เดือดร้อน แก่พลเมืองอยู่ประการใด ข้าหลวงมีอำนาจที่จะตักเตือนผู้ว่าราชการเมือง แก้ไขให้เรียบร้อย
ว่าโดยสรุป การที่จะจัดในชั้นต้น เป็นดังนี้

7. เมื่อได้จัดวางการชั้นต้น เป็นดังที่ได้ว่ามาในข้อก่อนนั้นแล้ว การที่จะจัดต่อไปในหัวเมืองแขกทั้ง 7 นี้ว่าเคยย่อเป็น 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 ทำนุบำรุงให้เกิดผลประโยชน์ด้วยการค้าขาย เพาะปลูกแลการทำเหมืองแร่ ให้เจริญยิ่งขึ้นกว่าทุกวันนี้ คงต้องให้ผลประโยชน์ในการบ้านเมืองนั้น เจือจานเจ้าเมืองกรมการตามสมควรบ้าง เป็นภาคหลวงสำหรับใช้สอยราชการบ้าง ประมาณภาคหลวงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของผลประโยชน์ที่จะพึงได้
ประการที่ 2 กฎหมายแลขนบธรรมเนียมแบบแผนอย่างใดๆ ซึ่งจะได้จัดให้การเจริญขึ้นในเมืองชั้นใน จะจัดอย่างใด ขยายต่อออกไปในเมืองเหล่านั้นเมื่อใด ต้องจัดไปโดยลำดับด้วย ความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองหัวเมืองเหล่านี้ ให้เหมือนกับหัวเมืองชั้นใน เป็นแต่จะจัดให้ค่อยเป็นไปโดยลำดับ ไม่ต้องรื้อแบ่งแบบแผนเก่าโดยรุนแรง ให้เป็นที่ชอกช้ำแก่ผู้ว่าราชการเมืองประการใด
ประการที่ 3 ที่จะสมาคมแลชักชวนฝึกหัดผู้ว่าราชการหัวเมืองทั้ง 7 แลพวกเหล่ากอที่จะรับราชการต่อไป ในหัวเมืองเหล่านี้ ที่ให้สนิทสนมต่อกรุงเทพฯ อาศัยด้วยการที่ให้หมั่นไปมา หรือด้วยการที่จะสมาคม คบหากับข้าราชการไทยก็ดี โดยความมุ่งหมายในการต่อไป ที่จะเพาะปลูกคนที่จะรับราชการในพื้นบ้านพื้นเมืองเหล่านี้ ถึงว่าจะเป็นแขกต่างศาสนาก็ให้มีน้ำใจ แลอัธยาศัยเป็นไทย เช่นข้าราชการทั้งปวง 
ใจความมุ่งหมายที่จะจัดการเมืองแขกทั้ง 7 ชี้แจงมาโดยสังเขปพอให้เข้าใจดังนี้ การที่จะจัดให้เป็นดังความมุ่งหมายเช่นนี้ ประมาณดูเห็นไม่เป็นการยากอันใดนัก เพราะหัวเมืองแขกเหล่านี้ มีไทยเป็นพลเมืองอยู่เป็นอันมาก ถึงพวกแขกที่สุดจนผู้ว่าราชการเมืองที่เป็นแขก ก็มักจะรู้ภาษาไทย แลมีอัธยาศัยใกล้มาทำนองไทยอยู่โดยมาก การที่จะพูดจาด้วยการใดเป็นที่เข้าใจกับไทย พูดได้ง่ายแลเชื่อฟังง่ายกว่าหัวเมืองที่อยู่ข้างนอก อีกประการหนึ่ง การที่จะออกไปจัดครั้งนี้ ก็มิใช่การที่จะไปปราบปรามให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเดือดร้อน ว่าที่แท้การที่จะไปจัดเปลี่ยนแปลงอย่างใด เป็นการมีแต่จะให้ความดีแก่ผู้ว่าราชการแลราษฎร ในหัวเมืองเหล่านั้นยิ่งขึ้นที่สุด จนการที่จะคิดอ่านแย่งเอาผลประโยชน์เป็นภาคกลาง เมื่อคิดดูก็ไม่เป็นการเอาเปรียบกว่าทุกวันนี้ เพราะเลิกส่วนที่ต้องเสียแก่พระยาสงขลายกให้เสมอย้ายมาเท่านั้น ว่าอย่างต่ำ การที่ต้องเสียเงินทองก็เพียงเสมออยู่กับทุกวันเดียวนี้ ถ้าหากว่าข้าหลวงผู้ไปจัดการมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ต่อการที่จะจัดโดยมั่นคง และรู้จักเอาใจสั่งสอนผู้ว่าราชการกรมการ คงจะจัดการสำเร็จตลอดไปได้ ด้วยความนิยมของเจ้าเมือง กรมการ แลราษฎรพลเมืองให้แลเห็นผลที่ดีขึ้นได้โดยเร็ว

8. การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกสรรให้พระเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงออกไปหัวเมืองทั้ง 7 ครั้งนี้ เพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า พระเสนีพิทักษ์รู้ภาษามลายู ได้คุ้นเคยราชการในหัวเมืองแขกมลายูมาแต่ก่อน ทั้งพื้นอัธยาศัยและความสามารถ ก็ทรงพระราชดำริเห็นว่าพอจะสนองพระเดชพระคุณ ให้ราชการหัวเมืองเแขกทั้ง 7 เรียบร้อยเป็นไปได้ ดังพระบรมราชประสงค์ซึ่งได้ชี้แจงมาข้างต้นว่าโดยย่อคือ

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครังแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (30)

การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง:
ว่าด้วยจุดยืนของราชสำนักสยาม (2)

กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองใต้ พ.ศ. 2439

บทความ "การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มีเนื้อความต่อไปว่า
***********
ผลประโยชน์ที่พระยาสงขลาได้จากหัวเมืองแขกทั้ง 7 เมือง จะเป็นแขกหรือไทยก็ตาม มีอำนาจในบ้านเมืองเหล่านั้น สิทธิขาดตามแบบแผนเมืองประเทศราช คือ มีอำนาจที่จะเก็บภาษีอากร ตามอัตราในบ้านเมืองแลจับจ่ายใช้สอยได้โดยอำเภอใจ และมีอำนาจเหนือราษฎร สิทธิขาดทำได้จนประหารชีวิต การที่จะเกี่ยวข้องตรงต่อกรุงเทพฯ มีการตั้งแต่งผู้ว่าราชการเมือง แลกรมการผู้ใหญ่ กับส่งต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการตามธรรมเนียมเป็นสำคัญ การที่จะบอกข้อราชการอันใด ตามแบบแผนต้องบอกเมืองสงขลาเข้าอีกชั้นหนึ่ง ส่วนท้องตราแลข้อบังคับที่มีไปจากกรุงเทพฯ ตามแบบแผนก็ต้องส่งไปทางเมืองสงขลาอย่างเดียวกัน

การที่เป็นดังนี้ ถ้าพิเคราะห์ดูโดยรูปการ ก็ดูเหมือนว่าราชการเมืองแขกทั้ง 7 ถึงจะเป็นเมืองเล็กน้อย ก็ดูควรจะมีความสุขสำราญ เป็นที่พอใจของผู้ว่าราชการเมือง เพราะอำนาจแลผลประโยชน์ก็มีมาก ทั้งราชาธิปไตยก็ไม่บังคับกวดขันอันใด แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ว่าราชการเมืองแขกทั้ง 7 นี้ มีความเดือดร้อนในการที่ต้องถูกรบกวน เบียดเบียนของผู้ว่าราชการเมืองสงขลาอยู่โดยมาก พากันกระวนกระวายอยากจะขึ้นต่อกรุงเทพฯ มาช้านาน เที่ยวบ่นว่ากล่าวจะให้สำเร็จตามประสงค์อันนี

3. พิเคราะห์ดูข้อเดือดร้อน ของผู้ว่าราชการเมืองแขกทั้ง 7 ที่จะขอลาออกจากเมืองสงขลานั้น เข้าใจว่า เป็นเพราะเรื่องชำระความอุทธรณ์อย่างหนึ่ง คือถ้าโจทก์มาฟ้องร้องยังเมืองสงขลา ผู้ว่าราชการ กรมการพวกนี้ ต้องมาเป็นคู่ความ อยู่ในบังคับบัญชากรมการเมืองสงขลา ต้องเสียเงินทองในการเหล่านี้คราวละมากๆ อีกอย่างหนึ่ง เดือดร้อนที่ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ตั้งกรมการ นายหมวด นายกอง ลงไปควบคุมเกี่ยวข้องผู้คนพลเมือง ให้เป็นฝักเป็นฝ่ายประการหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งเข้าใจว่าเดือดร้อนด้วยการขอร้องกะเกณฑ์จุกจิกต่างๆ ซึ่งผู้ว่าราชการเมือง แลกรมการเมืองสงขลาอาจจะทำได้หลายคน ความเดือดร้อนเข้าใจว่า จะเป็นด้วยเหตุเหล่านี้เป็นเงินประจำปี แบ่งจากเงินที่ได้ไม่ต้องชักเนื้อเถือหนังอันใด แลเห็นว่าถ้าความเดือดร้อนแต่เรื่องเงินประจำปีแล้ว ที่ไหนผู้ว่าราชการเมืองแขกเหล่านี้จะเที่ยวบนบานขอร้องออกจากเมืองสงขลา แต่อย่างไรก็ดี ในการเรื่องนี้จะทอดทิ้งเพิกเฉยต่อไปไม่ได้

4. ที่จำเป็นจะต้องลงมือจัดการหัวเมืองแขกทั้ง 7 นี้ อาศัยเหตุ 5 ประการ คือ

ประการที่ 1 ตามเหตุการณ์เกี่ยวกับต่างประเทศ ที่ได้มีมาต่อพระราชอาณาเขตในตอนนี้ ทำให้เป็นการจำเป็นจะต้องรีบจัดแก้ไขการเสื่อมเสียทั้งปวง ซึ่งมีอยู่ในวิธีการปกครองของเรา ทำนุบำรุงราชการบ้านเมือง ให้ปรากฏแก่ตาโลกย์ทั้งหลายว่า เมืองไทยตั้งหน้าเดินไปสู่ทางเจริญด้วยลำพังโดยเต็มกำลัง การที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองดังนี้ ยิ่งจัดให้แพร่หลายออกไปได้เท่าใด ก็ชื่อว่าพระราชอาณาเขตมั่นคงออกไปโดยลำดับท้องที่ที่ได้จัดการไปนั้น

ประการที่ 2 หัวเมืองแหลมมลายู เฉพาะหัวเมืองแขกทั้งปวงนี้ อยู่ในที่ล่อแหลม นับเป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นของอ่อน ในพระราชอาณาเขต อันอาจจะบุบถลายได้ง่ายกว่าหัวเมืองไทย ซึ่งอยู่ภายในเข้ามา

ประการที่ 3 เวลานี้ พวกอังกฤษคิดจะทำการค้าขาย ตั้งหลักฐานต่อเข้ามาถึงหัวเมืองแขกในพระราชอาณาเขต การที่เราจะปิดห้ามเสียนั้นไม่ได้ ด้วยเป็นการผิดนิยมของโลกย์ มีทางแก้อยู่อย่างเดียวที่จะต้องชิงจัด ชิงเปิดการค้าขายเต็มภูมิลำเนาได้เท่าใด ก็เป็นเครื่องป้องกันชาวต่างประเทศจะเข้ามาแย่งชิงประมูลทำก็ยากขึ้น โดยจะเข้ามาทำได้บ้างเมื่อกำลังในพื้นเมืองเป็นใหญ่กว่า แลมีการปกครองดีอยู่แล้ว ทางจะเกิดเหตุเสื่อมเสียก็มีน้อย

ประการที่ 4 เพราะเหตุที่ต่างประเทศขวนขวายจะเข้ามาทำมาหากินในหัวเมืองแขกมากขึ้น ถ้าเราไม่ลงมีจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง มีทางที่จะเกิดเหตุใหญ่ง่าย ด้วยพวกที่ทำมาหากินเหล่านั้น พวกนั้นมักใช้สายบนบานขอร้องเอาสัญญาที่ฝ่ายเขาจะได้เปรียบต่างๆ จากผู้ว่าราชการเมืองแขก เอาไปเป็นหลักฐานเข้ามาอ้างเป็นเหตุที่จะทำการต่างๆ รอดอยู่ด้วยเมืองแขกประเทศราชใหญ่ เช่น กลันตัน ตรังกานู มีนิสัยเกลียดฝรั่งอยู่เป็นพื้น แลเช่นเมืองไทรเล่าก็เพราะเหตุที่ตั้งหน้าจัดการค้าขายเปิดบ้านเมือง รู้เท่าทันฝรั่ง พวกชาวต่างประเทศจึงเข้าแทรกแซงไม่ติด แต่หัวเมืองเล็กน้อย เช่น แขก 7 เมือง จะไว้ใจทั่วไปไม่ได้ ด้วยเป็นเมืองเล็กน้อย อยู่ในอำนาจเงินโดยมาก เช่น พระยาระแงะ ไปทำสัญญาขายภาษีอากรแลประโยชน์การทำเหมืองแร่ ในบ้านเมืองให้แขกสิงคโปร์ แขกนั้นเอาไปขายให้มิสเตอร์ลีซคนอังกฤษ เช่นนี้ถ้าทอดทิ้งไว้ไม่ดูแลให้แข็งแรง เหตุเช่นนี้ยังจะมีได้อีก จึงจะไม่เสื่อมเสียมากมายประการใด ก็เป็นความรำคาญแก่ราชาธิปไตยได้มากๆ

ประการที่ 5 อาศัยเหตุที่ผู้ว่าราชการเมืองแขกทั้ง 7 มีความเดือดร้อนดังได้รู้อยู่แล้วประการหนึ่ง แลอาศัยเหตุที่พวกอังกฤษคิดหาผลประโยชน์ต่อเข้ามาในหัวเมืองแขกประการหนึ่งประสมกัน ถ้าเราไปทอดทิ้ง ไม่ชิงจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นที่เรียบร้อยโดยรวดเร็ว ภายหน้าแขกพวกนี้จะประพฤติผิดร้ายแรง เช่น กู้ยืมเงิน หรือที่สุดวิ่งเข้าหาฝรั่ง ให้เป็นความลำบากเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นจำเป็นต้องรีบจัดการหัวเมืองแขกให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุดที่จะพึงทำได้

5. บางที่จะเป็นข้อสงสัยว่า หัวเมืองมลายูประเทศราช ยกเมืองไทรเสียเพราะเหตุว่าเป็นเมืองที่ได้จัดการทำนุบำรุงอยู่ในตัว เมืองตรังกานู กลันตัน เป็นเมืองใหญ่ เมืองสำคัญ และอยู่ล่อแหลม อยู่ใกล้ชิดเขตแดนอังกฤษ เหตุใดจึงไม่จัดการหัวเมืองสำคัญทั้งสองนั้น และจะจัดการเมืองแขกเล็กน้อยทั้ง 7 เมือง ซึ่งอยู่ภายในนี้ก่อนความข้อนี้จะชี้แจงให้เข้าใจได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

ประการที่ 1 เมืองกลันตัน ตรังกานู ถึงเป็นเมืองของไทย โดยแท้จริงเป็นเมืองประเทศราชเต็มบรรดาศักดิ์ ซึ่งอังกฤษดูแลอยู่ด้วยความมุ่งหมายต้องการเสมอ ถ้ายังไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใด คือ ถ้าเมืองทั้งสองยังคงรักษาการปกครองเรียบร้อยเป็นปรกติ ถ้าเราไปจู่โจมรวบรัดจัดการเกี่ยวข้องเข้าประการใด อังกฤษจะหาเหตุทำลายล้างความคิดโดยประสาที่อยากได้เมืองทั้งสอง หรืออย่างต่ำที่สุด โดยน้ำใจที่ไม่อยากให้ไทยมีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องในหัวเมืองทั้งสองนั้นยิ่งกว่าแต่ก่อน ถ้ามีเหตุปากเสียงเกิดขึ้นด้วยเช่นนี้เราจะเสียเปรียบไม่มากก็น้อย เพราะในเวลานี้ที่เราจำต้องคบค้าเอาใจอังกฤษช่วยป้องกันฝรั่งเศส การอย่างใดที่จะมีทางอริกับอังกฤษต้องระวังอย่าให้มีขึ้นได้

ประการที่ 2 เมืองสงขลาในเวลานี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ลงมือจัดการแก้ไขทำนุบำรุงให้กำเนิดไปสู่ทางเจริญ การที่จัดเมืองสงขลานี้ คงจะบังเกิดความนิยมของไพร่พลเมืองเป็นกิติศักดิ์แพร่หลายออกไป ส่วนหัวเมืองแขก 7 เมืองอยู่ใกล้ชิดกับสงขลา เมื่อการเมืองสงขลาออกเดินได้แล้ว คงจะจูงการเมืองทั้ง 7 ให้เดินตามไปโดยง่าย ถ้าความเจริญรุ่งเรืองจัดให้เป็นผลได้เท่าใด ก็คงจะเป็นอานิสงส์แพร่หลายออกไปถึงหัวเมืองกลันตัน ตรังกานู ให้เป็นทางที่จะคิดจัดต่อไปได้ภายหน้า ด้วยเหตุนี้ จึงตั้งต้นจัดการแต่ภายในออกไป คือจัดการเมืองสงขลาเป็นต้น แลหัวเมืองแขกทั้ง 7 ติดต่อออกไป ดีกว่าจะจัดหัวเมืองนอกย้อนเข้ามาหาภายใน หรือจะเอะอะเกรียวกราวจัดใหม่ตลอดกันในคราวเดียว

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (29)

การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง:
ว่าด้วยจุดยืนของราชสำนักสยาม (1)

กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (แถวยืน กอดพระอุระ) 

สถานะและวิกฤตการณ์หลายครั้งในพื้นที่ "หัวเมืองมลายู" หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า "จังหวัดชายแดนภาคใต้" มีความผันแปรมานับจากสมัยอยุธยาก็จริง หากที่ส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเชื้อชาติมลายูสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนั้น ย่อมไม่อาจละลืมการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคใกล้นับจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังการ "สำเร็จโทษ" พระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และดังได้กล่าวแล้วถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2328

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของฝ่ายไทย อาณาเขตของกรุงสุโขทัย ทางทิศใต้จดแหลมมลายู จากหลักฐานศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง ประมาณปี พ.ศ. 1837 เรียกหัวเมืองชายแดนภาคใต้ว่า "หัวเมืองมลายู" ซึ่งประกอบด้วย เมืองไทรบุรี, กลันตัน, ตรังกานู, และเมืองปัตตานี (รวมทั้งพื้นที่ปัจจุบันของจังหวัดยะลาและนราธิวาส)

ทั้งนี้ นับจากรัชสมัยของปฐมกษัตริย์ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1893 จึงมีหลักฐาน (ฝ่ายไทย) ว่าอาณาเขตทางทิศใต้จดมลายาและชวา เมื่อพระยาไสลือไท (พระมหาธรรมราชาที่ 4) เสด็จสวรรคต ราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยก็ตกต่ำลง พระราชโอรสสองพระองค์ คือ พระยาบาลเมืองและพระยารามแย่งชิงราชสมบัติกัน เป็นเหตุให้สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ต้องเสด็จขึ้นไปถึงเมืองพระบาง แล้วทรงไกล่เกลี่ยให้พระยาบาลเมืองเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยครองเมืองเมืองพิษณุโลกอันเป็นเมืองหลวง และให้พระยารามเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองเอก พระยาบาลเมืองจึงได้รับอภิเษกให้ครองกรุงสุโขทัยในฐานะประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชาที่ 4 หรือ บรมปาล หรือ พระยาบาลเมือง หรือ พระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชา (ครองราชย์ในช่วง พ.ศ. 1962-1989 และประทับที่เมืองพิษณุโลก) และเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์พระร่วง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า หัวเมืองมลายูทั้ง 4 จึงตั้งตัวเป็นอิสระจากไทยมาตลอดสมัยกรุงธนบุรี

กระทั่ง พ.ศ.2328 สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงให้เดินทัพไปตีหัวเมืองปัตตานี และรวบรวมหัวเมืองทางใต้ ทั้ง 4 เข้ามาอยู่ในความปกครองของไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยให้มีการปกครองแบบอิสระ แต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับเมืองหลวง (กรุงเทพ) 3 ปีต่อครั้ง หากไม่ส่งจะถือว่าเป็นกบฏ และได้จัดระเบียบการปกครองบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ ในขั้นต้นให้เมืองไทรบุรีและเมืองกลันตัน อยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช เมืองปัตตานี ตรังกานู อยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองสงขลา

ครั้นเมื่อเมืองสงขลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ.2334 หลังจากนั้น มีความพยายามที่จะแยกการปกครองจากราชสำนักศักดินาสยาม (ระบอบจตุสดมภ์) หลายครั้ง กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์ที่พระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือพระราชอาณาจักร สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรียกว่า "การปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน" นั้น จาก เอกสารรัชกาลที่ 5 ม.49/27 เรื่องผลประโยชน์เมืองหนองจิกและเมืองแขก 7 เมือง (ที่มา กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร http://www.geocities.com/bluesing2001) ว่าด้วย "คำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เรื่องการจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง" มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ซึ่งยังผลต่อเนื่องไปสู่ "ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง" ดังนี้
***********
ไปรเวต ที่ 262/43047 วันที่ 4 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 114
ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าฯ

ด้วยในการที่พระเสนีพิทักษ์จะออกไปราชการเมืองสงขลาคราวนี้ คำสั่งในส่วนทางราชการ จะได้รับพระราชทาน ให้เป็นข้าหลวงพิเศษ ออกไปไต่สวนความต่างๆ ซึ่งยังค้างอยู่ในหัวเมืองแขก 7 หัวเมือง มีข้อความแจ้งอยู่ในสำเนาตราพระราชสีห์ ซึ่งได้ทูลเกล้าถวายต่างหากอีกส่วนหนึ่งแล้ว

แต่คำสั่งราชการลับ ซึ่งเป็นท้องเรื่องราชการในหน้าที่พระเสนีพิทักษ์ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะได้ชี้แจงให้พระเสนีพิทักษ์เป็นที่เข้าเข้าใจพระบรมราชประสงค์ โดยใจความดังนี้ คือ

1. หัวเมืองแขก 7 หัวเมือง คือ ตานี 1 ยะหริ่ง 1 สายบุรี 1 รามัน 1 ระแงะ 1 ยะลา 1 หนองจิก 1 รวม 7 หัวเมืองนี้ เดิมรวมเป็นเมืองตานีเมืองเดียว อยู่มาครั้งหนึ่ง เมืองตานีเป็นขบถ กองทัพไทยลงไปปราบปรามมีชัยชนะ จึงโปรดฯ ให้แยกเขตแดนเมืองตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คงเรียกว่าเมืองประเทศราชเหมือนกัน แต่ให้อยู่ในบังคับบัญชาเมืองสงขลา สิทธิขาดคล้ายกับเมืองขึ้น ใช่แต่เท่านั้น ยังตั้งข้าราชการไทย ซึ่งเป็นบุตรหลานเชื้อวงศ์พระยาสงขลาในครั้งนั้น ลงไปเป็นพระยาเจ้าเมืองแขกเหล่านี้หลายหัวเมือง โดยความประสงค์ของราชาธิปไตยในเวลานั้น จะไม่ให้เมืองตานีมีกำลังใหญ่โต ซึ่งอาจจะก่อการขบถได้ดังแต่ก่อน และจะขยายอำนาจไทย ที่จะบังคับบัญชาการออกไปในหัวเมืองแขกให้สิทธิขาด การที่จัดในครั้งนั้นว่าโดยย่อคือ ตั้งใจที่จะเอกเมืองตานี ที่เป็นประเทศราชใหญ่อยู่แต่ก่อน กระจายออกเป็นหัวเมืองไทย ขึ้นเมืองสงขลา ดังนี้เป็นใจความ

2. ครั้นต่อมา อาศัยความเพิกเฉยของราชาธิปไตย และการที่พระยาสงขลาต่อๆ มา ตั้งหน้าแสวงหาประโยชน์ และอำนาจส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ในราชการ การบังคับบัญชาว่า หัวเมืองแขก 7 เมืองนี้ จึงผันแปรจากความคิดเดิม ของราชาธิปไตยมาโดยลำดับ กล่าวคือ การตั้งแต่ผู้ว่าราชการเมือง ก็ตกลงยังเป็นเลือกสรรแขกในหัวเมืองเหล่านั้น ตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมือง และสืบต่อวงศ์ตระกูลกันตามทำนอง เมืองประเทศราช ที่เป็นเมืองใหญ่อยู่โดยมาก ยังมีไทยเป็นเจ้าเมืองอยู่ แต่เมืองหนองจิกเมืองเดียว ส่วนการที่จะทำนุบำรุงอันใดออกไปจากเมืองสงขลาเป็นอันไม่มี พระยาสงขลาคงเป็นธุระ แต่การที่จะชำระความ ที่มีผู้ฟ้องร้องอุทธรณ์ผู้ว่าราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง กับที่จะเบียดเบียนเก็บผลประโยชน์ต่างๆ จากหัวเมืองแขกเหล่านี้ มาเป็นอาณาประโยชน์ของผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ด้วยวิธีกะเกณฑ์ต่างๆ ตามที่อยู่เวลานี้คือ

  1. ผู้ว่าราชการเมืองแขกเหล่านี้ ต้องแบ่งส่วนในภาษีอากรต่างๆ ให้พระยาสงขลา เมืองละมากบ้างน้อยบ้างตามกำลัง
  2. พระยาสงขลาแต่งให้นายหมวด นายกอง ออกไปตั้งควบคุมผู้คน บางหมู่บางเหล่าในเมืองเหล่านั้น เก็บเงินส่งมาเป็นอาญาประโยชน์ที่เมืองสงขลา
  3. พระยาสงขลามีที่ดินซึ่งเกิดประโยชน์ต่างๆ เช่น บ่อแร่ดีบุก เป็นต้น อยู่ในหัวเมืองเหล่านั้น และเก็บเงินจากที่เหล่านี้ เป็นอาณาประโยชน์หลายตำบล
  4. การกะเกณฑ์ขอร้องเบ็ดเตล็ดต่างๆ บางมื้อบางคราวก็มีอยู่

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (28)

"กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง ฯ" :
ว่าด้วยทัศนะของฝ่ายปะตานี (3)

พลทหารเมืองปัตตานีนุ่งผ้าถุงแล้วนุ่งผ้าตาหมากรุกแบบปูฌอปอตอง โพกผ้าที่ศีรษะ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ)

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บรรยายฉากจบของเจ้าผู้ครองนครปัตตานีคนสุดท้ายในตอนท้ายบทความพิเศษ "ประวัติศาสตร์แห่งการลวงเกี่ยวกับปัตตานี" ไว้ว่า
**********
เมื่อ (พระยาวิชิตภักดี เต็งกูอับดุลกาเดร์) เดินทางไปถึงปัตตานี มีราษฎรประมาณ 500 คน นั่งเรือ 80 ลำ ไปรับที่ปากน้ำอีกประมาณ 2,000 คน ยืนต้อนรับอยู่บนตลิ่งสองข้างแม่น้ำตานี มีฝ่ายศาสนาอีกกว่าร้อยคนรอรับอยู่ที่บ้าน และหลังจากนั้นก็มีราษฎร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นร้อยๆ คนไปเยี่ยมอดีตรายาปัตตานีผู้นี้ไม่เว้นแต่ละวัน สภาพการณ์นี้ทำให้รัฐบาลกังวลถึงกับต้องส่งเรือรบลำหนึ่งไปทอดสมอที่ปากน้ำเมืองปัตตานี

เต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดินอพยพไปพำนักอยู่ในรัฐกลันตันในเวลาต่อมาและสิ้นชีวิตที่นั่นเมื่อปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1933)
**********
และในช่วงสรุปปิดท้ายบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชี้ให้เห็นถึง "ความไม่ตรงกัน" ระหว่างเอกสารฝ่ายสยามและฝ่ายมลายูมุสลิม ให้ภาพถึง "ความเหลื่อม" หรือ "รอยแยก" ที่ไม่เป็นเพียง "ทัศนะ" หากในเวลาต่อมาพัฒนาเป็น "จุดยืน" และ "ท่าที" ต่อปัญหาหัวเมืองมลายูสยามมาอีกกว่าหนึ่งร้อยปี

คงต้องกล่าวว่า ภาพของ "ความจริง" เกี่ยวกับกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง "คบคิดขบถ" เมื่อพิจารณาจากเอกสารฝ่ายมลายูมุสลิมเป็นหลัก จะมีรายละเอียดที่สำคัญมากมาย ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีอำนาจมากกว่า กับปัตตานีซึ่งเคยเป็นเมืองประเทศราชและกำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นหัวเมือง และต่อมาเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งคงเห็นได้ชัด ปัญหาความละเอียดอ่อนทางความสัมพันธ์กับมหาอำนาจยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษก็ออกจะเด่นชัด ปัญหาการสร้างรัฐชาติไทยผ่านการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ ชนิดที่ส่งผลลดทอนอำนาจในท้องถิ่นก็ปรากฏให้เห็น

แต่ที่น่าสนใจและไม่ค่อยได้กล่าวถึงกันนัก คือรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นและรายละเอียดของการที่เหตุการณ์จบลง คงกล่าวได้ว่าพระยาศรีสหเทพมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ วิธีการที่ท่านใช้คือการลวงให้รายาปัตตานีลงนามในหนังสือยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมืองของตนเอง และเมื่อรายาปัตตานีประจักษ์ว่าตนถูกหลอกและประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วย ที่สุดก็ต้องถูกจับและบังคับด้วยกำลังให้ยินยอม เหตุการณ์จบลงโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ในขณะที่เอกสารของนักวิชาการฝ่ายไทยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะรายาปัตตานีไม่ได้รับความร่วมมือจากอังกฤษ เจ้าเมืองอื่นๆ รวมทั้งราษฎรในปัตตานีก็ไม่มีทีท่าว่าจะก่อจลาจลเพราะ "เป็นสุขมาก" แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องอธิบายว่าเหตุใดราษฎรจึงพากันมาต้อนรับยินดีกับรายาเมื่อท่านเป็นอิสระกลับมาสู่ปัตตานี ถึงขนาดรัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องส่งเรือรบมาเฝ้าระวัง ในส่วนเอกสารของฝ่ายมลายูปัตตานีระบุต่างออกไปว่า รายาปัตตานียินยอมถูกจับเพราะเห็นแก่ประชาชนของตนไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ

Syukri สรุปกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองนี้ไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีว่า "ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) ราชอาณาจักรสยามได้ยกเลิกราชวงศ์มลายูปะตานีด้วยการใช้อุบายต่างๆ ตั้งแต่นั้นมารัฐปะตานีได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามไทยโดยปริยาย"

สิ่งที่เกิดขึ้นกับปัตตานีในรอบร้อยปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อใส่ใจกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นอิสระของปัตตานี จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง "ความจริง" กับ "ความรุนแรง" ไม่ว่าความรุนแรงจะส่งผลให้ "ความจริง" ที่ปรากฏในแต่ละยุคแต่ละตอนเป็นเช่นไร

เหตุการณ์ปลายปี พ.ศ. 2444 และต้นปี 2445 ที่มักถูกเรียกกันว่า "ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง" หรือ "พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ" ในฐานะเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งอ้างอิงซึ่งจะแปรสภาพเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ของปัตตานี ไม่ว่าจะในฐานะชัยชนะแห่งการปฏิรูปการปกครองของสยาม หรือ "ความอัปยศอย่างที่สุด" ของผู้คนจำนวนหนึ่งในปัตตานี ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยประวัติศาสตร์แห่งความลวงที่ทิ้งร่องรอยไว้กับสังคมไทยเป็นเวลาร่วมหนึ่งศตวรรษ

สำหรับการเคลื่อนไหวของฝ่ายสยามก่อนหน้าที่จะลงโทษไปคุมขังซึ่งมีกำหนด 10 ปี ที่เมืองพิษณุโลกนั้น มีการส่งตัวเต็งกูอับดุลกาเดร์มายังกรุงเทพมหานครก่อนแล้ว เพื่อให้รายาองค์นี้ลงลายมือลายชื่อยอมรับในอำนาจการปกครองใหม่ของสยาม แต่เต็งกูอับดุลกาเดร์ก็ไม่ยินยอม ในที่สุดรายาพร้อมด้วยบริวารก็ถูกส่งตัวไปกักขังที่เมืองพิษณุโลก ในจำนวนนี้บางคนก็เสียชีวิตกลางทาง และบางคนก็เสียชีวิตที่เมืองพิษณุโลก

หลังจากการเต็งกูอับดุลกอเดร์ถูกกักขังอยู่นานถึง 2 ปี 9 เดือน ในปี พ.ศ. 2448 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เดินทางกลับเมืองปัตตานี แต่เมืองปัตตานีนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป คือมีการรวม 7 หัวเมืองเป็นเมืองเดียวกัน และอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าเมืองสงขลาซึ่งมีข้าหลวงใหญ่ พระยามหิบาลประจำที่เมืองปัตตานี บรรดาเจ้าเมืองก็ต่างรอรับ "เงินบำนาญ" จากรัฐบาลสยาม (เงินบำนาญที่ว่านี้ มีอยู่ในข้อตกลงของฝ่ายสยามที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบบำเหน็จบำนาญแก่รายาทั้งหลายจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต แต่ทว่าสิทธิและรายได้ในเมืองปัตตานีจะต้องมอบรัฐบาลสยามในกรุงเทพฯ และรายาปัตตานีก็ไม่ต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง "บุหงามาส" ดังเช่นที่ทำมาตั้งแต่อดีต)

ในปี พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงยุบเลิกตำแหน่งพระยาเมือง หรือเจ้าเมืองทั้ง 7 ลง คงไว้เพียง 4 หัวเมือง คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสายบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี ปกครองเมืองทั้งสี่ ขึ้นตรงต่อผู้สำเร็จราชการภาคใต้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2454  ศาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่กรุงเทพได้พิพากษาให้ยึดที่ดินจำนวน 600 แปลง ของพระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกาเดร์) เข้าเป็นทรัพย์แผ่นดิน ซึ่งกรณีดังกล่าวได้สร้างความโกรธแค้นเป็นอย่างมาก จึงมีการวางแผนที่จะสังหารข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่ไม่สำเร็จ จึงอพยพครอบครัวหนีไปอยู่ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2476

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรายาปัตตานีองค์สุดท้าย นับเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรอยแผลเก่าที่ยากจะลบเลือนและกลายเป็นความเจ็บแค้นส่งต่อไปยังผู้คนสืบเนื่องหลายชั่วคน ที่สำคัญคือเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" ในเวลาต่อมา ซึ่งก่อปัญหาให้แก่อำนาจรัฐไทยตราบจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าในท่ามกลางความขัดแย้งที่หลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น จะมีผลประโยชน์อื่นเข้าไปปะปน แต่บาดแผลในใจนั้นก็ไม่มีวันจางหายไป จากการถูกตอกย้ำเสมอมา

ในเวลาต่อมาเต็งกูอับดุลกาเดร์ ได้รับการยกย่องจากชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนว่าเป็น "วีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนให้อิสลาม".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (27)

"กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง ฯ" :
ว่าด้วยทัศนะของฝ่ายปะตานี (2)

เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารูดดีน เจ้าเมืองปาตานีคนสุดท้าย (พ.ศ. 2442-2444)ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากสยามเป็น พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช

บทความพิเศษ "ประวัติศาสตร์แห่งการลวงเกี่ยวกับปัตตานี" โดย ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนต่อไปว่า
**********
วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระยาศรีสหเทพได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกาเดร์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ได้ขอให้รายาปัตตานีลงชื่อในหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งเขียนด้วยภาษาไทย โดยแจ้งกับรายาปัตตานีว่า เนื้อหาในหนังสือฉบับนี้เป็นข้อร้องเรียนต่างๆ และแนวทางแก้ไขปัญหาของเต็งกูอับดุลกาเดร์ เพื่อจะนำเสนอต่อองค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รายาปัตตานีปฏิเสธไม่ยอมลงชื่อในหนังสือนั้นเพราะเขียนเป็นภาษาไทย พระยาศรีสหเทพให้คำมั่นว่า หนังสือนี้มิใช่หนังสือสัญญาและรายาจะไม่ถูกผูกมัดจากเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว เต็งกูอับดุลกาเดร์ยังคงปฏิเสธไม่ยอมลงนาม จนที่สุดพระยาศรีสหเทพให้เจ้าหน้าที่แปลหนังสือนั้น และอ่านให้รายาปัตตานีฟัง หลังจากอ่านแล้ว พระยาศรีสหเทพได้ให้คำมั่นอีกครั้งหนึ่งว่า ฝ่ายปัตตานีจะไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จากหนังสือดังกล่าว และยังสามารถแก้ไขได้ในภายหลังหากรายามีประสงค์

เมื่อได้ฟังคำมั่นรับรองแข็งแรง ที่สุดเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน รายาปัตตานีก็ยอมลงนามในหนังสือนั้น พระยาศรีสหเทพจึงออกเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ เมื่อไปถึงสิงคโปร์ พระยาศรีสหเทพแจ้งให้เซอร์เสวทเทนแฮมทราบว่า ปัญหาปัตตานีคลี่คลายแล้ว เพราะเต็งกูอับดุลกาเดร์ ยอมรับระเบียบการปกครองแบบใหม่ของรัฐบาลสยามในการเจรจานั้น

แต่ที่ปัตตานี หลังจากพระยาศรีสหเทพจากไป เต็งกูอับดุลกาเดร์ ได้ให้คนของตนแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นภาษามลายู ท่านตกใจเป็นล้นพ้นเมื่อพบว่าเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่พระยาศรีสิงหเทพได้อ่านให้ฟัง แม้ว่าหนังสือนั้นจะเป็นหนังสือที่จะส่งถึง สมเด็จฯ กรมหลวงดำรงราชานุภาพจริง แต่เนื้อหากลับเป็นว่า รายาปัตตานีเห็นชอบและยอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เพื่อความมั่นคงของปัตตานี และเห็นชอบให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของสยามที่มีอำนาจเด็ดขาดทุกเรื่องในปัตตานี

เมื่อรู้ว่าตนถูกหลอก รายาปัตตานีก็ให้คนของตัวเดินทางไปพบพระยาศรีสหเทพที่สิงคโปร์เพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ พระยาศรีสหเทพเตรียมกลับมาพบกับเต็งกูอับดุลกาเดร์อีกครั้งหนึ่งในที่ประชุมหารือระหว่างเจ้าเมืองมลายูต่างๆ ที่หนองจิกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ในการประชุมนี้พระยาศรีสหเทพได้ขอไม่ให้รายาปัตตานีแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้เจ้าเมืองอื่นๆ ในที่ประชุมได้ทราบ แต่รายาปัตตานีไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่หนองจิกในครั้งนั้นโดยอ้างว่าป่วย ในที่ประชุมพระยาศรีสหเทพได้ขอให้เจ้าเมืองต่างๆ ที่มายอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เจ้าเมืองทั้งนั้นปฏิเสธเว้นแต่เจ้าเมืองยะหริ่งที่สนับสนุนรัฐบาลสยาม

ก่อนกลับกรุงเทพฯ พระยาศรีสหเทพได้เดินทางมาพบรายาปัตตานี และขอให้ท่านรับรองพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 รายาปฏิเสธอีก และได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รัฐบาลสยามก็ไม่ได้ใส่ใจ ครั้นวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2444) รายาปัตตานีก็ได้รับหนังสือแจ้งจากสมเด็จฯ กรมหลวงดำรงราชานุภาพว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า ข้อบังคับสำหรับปกครองเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. 120

เต็งกูอับดุลกาเดร์ได้พยายามต่อรองกับรัฐบาลสยามเพื่อยอมให้ปัตตานีปกครองตนเองได้เช่นที่เคยเป็นมา แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วและอดีตไม่หวนคืนมา

ต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1902 (หมายเหตุเพิ่มเติม ยังอยู่ในปี พ.ศ. 2444 เนื่องจากการเปลี่ยนศักราชถือเอาวันที่ 1 เมษายน) รายาปัตตานีได้ร้องเรียนไปยังข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง เรียกร้องให้อังกฤษขอให้สยามปลดปล่อยปัตตานีให้เป็นอิสระ ทั้งยังแจ้งกับเซอร์เสวทเทนแฮมด้วยว่า หากอังกฤษไม่ให้ความร่วมมือ ชาวปัตตานีก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะก่อขบถหรือขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ

ข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์เห็นว่าปัญหาในปัตตานีจะกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษ จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงร่วมมือกับอังกฤษคลี่คลายปัญหา พระพุทธเจ้าหลวงปฏิเสธข้ออ้างที่ว่ารัฐบาลไทยไม่ใส่ใจกับปัญหาในปัตตานี และทรงเห็นว่าการขบถจะเกิดขึ้นได้ก็เพียงเพราะเจ้าเมืองมลายูได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรปเท่านั้น อันที่จริงกรุงเทพฯ ไม่ได้คิดจะร่วมมือกับอังกฤษ อีกทั้งไม่พอใจการปฏิเสธข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมืองของเจ้าเมืองมลายูที่นำโดยรายาปัตตานี และไม่พอใจการที่รายาปัตตานีขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ

ดังนั้นเช้าวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 พระยาศรีสหเทพในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้รายาปัตตานีทราบว่าท่านจะมาถึงปัตตานีในตอนบ่ายสามโมง และขอให้รายาปัตตานีเข้าพบ

หลังทำพิธีละหมาด (นมัสการ) บ่าย (อัสริ) เต็งกูอับดุลกาเดร์พร้อมด้วยคณะ 20 คน ได้เดินทางมาพบพระยาศรีสหเทพยังที่พักซึ่งมีตำรวจสยามคุ้มกันอยู่ถึง 100 คน พระยาศรีสหเทพขอให้รายาปัตตานีเข้าไปในห้อง แล้วได้อ่านข้อบังคับสำหรับปกครองเจ็ดหัวเมือง พ.ศ. 2444 ให้ท่านฟัง และขอให้ท่านลงนาม เต็งกูอับดุลกาเดร์ไม่ยอมลงนามอีกและขอเจรจากับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยซึ่งประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ รายาปัตตานีไม่ประสงค์จะทำการผิดพลาดเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว พระยาศรีสหเทพยืนยันขอให้ท่านลงนาม ให้เวลาท่าน 5 นาที ไม่เช่นนั้นจะถูกถอดถอนออกจากการเป็นเจ้าเมือง เต็งกูอับดุลกาเดร์ปฏิเสธไม่ยอมลงนามตามคำของพระยาศรีสหเทพ ท่านจึงถูกจับในที่นั้น

ในเวลานั้นผู้ติดตามรายาปัตตานีแสดงท่าทีไม่ยอมให้ท่านถูกจับ จะชิงตัวเสียจากการควบคุมของพระยาศรีสหเทพ แต่รายาปัตตานีเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้ประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อ เพราะตระหนักดีว่ามีกำลังน้อยกว่ามาก ท่านจึงถูกจับนำตัวมายังสงขลา ไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าเมืองระแงะและเจ้าเมืองสายบุรีก็ถูกจับด้วย และนำตัวมายังพิษณุโลกถูกพิพากษาจำคุก 3 ปีในข้อหา "ขัดคำสั่ง" พระมหากษัตริย์สยาม ผู้เฒ่าผู้แก่ปัตตานีที่ยังอยู่เล่ากันว่า รายาปัตตานีถูกขังไว้ที่บ่อในวัดแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก

ต่อมาเมื่ออดีตรายาปัตตานี "สารภาพความผิดและสัญญาว่าจะไปอยู่ทำมาหากินอย่างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง...จะไม่เกี่ยวข้องแก่การบ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด" พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงอนุญาตให้กลับไปปัตตานีได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (26)

"กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง ฯ" :
ว่าด้วยทัศนะของฝ่ายปะตานี (1)

อาณาจักรปาตานีหรือปะตานี พ.ศ. 2380

ในบทความพิเศษ "ประวัติศาสตร์แห่งการลวงเกี่ยวกับปัตตานี" โดย ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในปี พ.ศ. 2549) ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 08 ในบทความชื่อ "กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง : การเริ่มต้น "ความจริง" เกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง" ปัจจุบันสามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=401&Itemid=155

ดร. ชัยวัฒน์ นำเสนอมุมมองของนักประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี โดยเริ่มต้นว่าเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) นี้สำคัญต่ออนาคตของปัตตานีเป็นอย่างยิ่ง Syukri เขียนว่า "ปี ค.ศ. 1902 เป็นปีที่เมืองปะตานีสูญเสียอำนาจอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการสูญเสียอธิปไตยของบรรดารายาและชาวเมืองปะตานี สิทธิเสรีภาพและความเป็นเอกราชอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้ากรุงสยามโดยสิ้นเชิง นับเป็นปีแห่งอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี"

ดร.ชัยวัฒน์ ตั้งข้อสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้คนอย่าง Syukri รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ "อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี" โดยให้ข้อสังเกตและนำเสนอ พร้อมกับวิเคราะห์ไว้ดังนี้:
**********
จริงอยู่สิ่งที่มากับข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง หมายถึงการสิ้นสุดของเอกราชปัตตานี แต่นอกจากเหตุผลในเชิงโครงสร้างแห่งความพ่ายแพ้ของหัวเมืองซึ่งมีอดีตเป็นอาณาจักรต่อรัฐชาติสมัยใหม่แล้ว ยังจะมีคำอธิบายอื่นต่อความรู้สึก "อัปยศที่สุด" นี้หรือไม่

เพื่อตอบคำถามนี้คงต้องย้อนไปพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับปัตตานีโดยเฉพาะตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 ที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ส่งขุนนางสำคัญคือพระยาศรีสิงหเทพมาเจรจากับเจ้าเมืองมลายู เพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจของเจ้าเมืองที่เกิดขึ้น จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ที่เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน ถูกจับ ข้าพเจ้า (ดร.ชัยวัฒน์) จะพิจารณาเหตุการณ์นี้จากเอกสารของฝ่ายนักวิชาการมาเลย์มุสลิมที่ตีพิมพ์ในมาเลเซีย โดยเฉพาะงานของ Nik Anuar Nik Mahmud (1999) ซึ่งอาศัยหลักฐานเอกสารชั้นต้นมาสร้างภาพเหตุการณ์การเจรจานี้ได้อย่างน่าสนใจ และน่าจะช่วยให้เข้าใจทั้ง "ความอัปยศที่สุด" และความสัมพันธ์ระหว่าง "ความจริง" ในกรณีนี้ และปัญหาที่ "ความจริง" นี้ส่งผลต่อปัญหาความรุนแรงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาต่อมาได้

ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2440 รัฐบาลสยามทำสัญญาลับกับรัฐบาลอังกฤษ เหตุผลฝ่ายไทยคือสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 เท่ากับปล่อยให้ตอนใต้ของไทยปราศจากหลักประกัน ในขณะที่อังกฤษเห็นความจำเป็นจะสกัดกั้นอิทธิพลของเยอรมนีไม่ให้ก้าวเข้ามาทางตอนใต้ของไทย สัญญาฉบับนี้ระบุว่า ไทยจะไม่ยอมให้ชาติหนึ่งชาติใดเช่าซื้อ หรือถือกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนไทยตั้งแต่ตำบลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษก่อนเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนอังกฤษสัญญาว่าจะให้ความคุ้มครองทางทหารต่อไทยหากถูกรุกรานจากชาติอื่น ในสายตาของฝ่ายมลายูมุสลิม สัญญาลับนี้เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลสยามจัดการเปลี่ยนแปลงในหัวเมืองภาคใต้ได้สะดวกขึ้น

กรุงเทพฯ ส่งพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) (หมายเหตุเพิ่มเติม: บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ เจ้าพระยายมราช) มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลที่ปัตตานี สิ่งแรกที่พระยาสุขุมฯ ดำเนินการคือ จัดเก็บภาษีอากรฝิ่นและเหล้าใหม่ โดยแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งให้กรุงเทพฯ ต่อมามีการเก็บภาษีที่ดินโดยไม่มีใบรับรอง ทำให้เก็บภาษีได้ปีละหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2443 เริ่มเก็บภาษีส่งออกและนำเข้าโดยแบ่งให้ฝ่ายเจ้าเมืองมลายูเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายคัดค้านระบบภาษีเช่นนี้มาแต่ต้น เพราะเห็นว่าสิทธิในการจัดเก็บภาษีเป็นของเจ้าเมืองไม่ใช่รัฐบาลสยาม

เมื่อเต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน ขึ้นเป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ในปี พ.ศ. 2441 กรุงเทพฯ ก็ตัดไม่ให้รายได้ส่วนนี้แก่เจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ อีกทั้งรัฐบาลสยามยังได้เลื่อนการแต่งตั้งท่านเป็นเจ้าเมืองปัตตานีอย่างเป็นทางการออกไปอีก 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมือง พระยาสุขุมนัยวินิตเกณฑ์กำลังทหารกว่า 600 คนมาบีบบังคับการเสียภาษีของประชาชน ยิ่งกว่านั้นข้าหลวงใหญ่ผู้นี้ยังห้ามไม่ให้เจ้าเมืองลงโทษประชาชนที่ขาดละหมาด (นมัสการ) วันศุกร์ และห้ามประชาชนบริจาคทานให้มัสยิดอีกด้วย แม้เมื่อเต็งกูกามารุดดินได้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีในที่ พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช แล้ว ก็ยังไม่สามารถร้องเรียนให้รัฐบาลกรุงเทพฯ แก้ปัญหาทุกข์ร้อนต่างๆ ของปัตตานีได้ จึงร้องเรียนไปยัง Frank Swettenham (หมายเหตุเพิ่มเติม : เซอร์ แฟรงค์ เอ. เสวทเทนแฮม) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2444 ในจดหมายร้องเรียนนั้นระบุว่า การกดดัน ก่อกวนของรัฐบาลสยามที่กระทำต่อปัตตานี "กำลังนำไปสู่ความพินาศของบ้านเมืองของข้าพเจ้า" แต่เพราะอังกฤษประสงค์จะสร้างสัมพันธ์อันดีกับสยาม จึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือดังที่เจ้าเมืองประสงค์

เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน จึงเรียกประชุมเจ้าเมืองต่างๆ ที่วังจาบัง ตีกอ ในปัตตานี เพื่อหารือถึงแนวทางดำเนินการต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบที่จะก่อขบถ โดยวางแผนไว้ในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 หลังจากได้อาวุธจากสิงคโปร์ โดยหวังว่าเมื่อหัวเมืองทางใต้ลุกฮือขึ้น ฝรั่งเศสจะเข้าตีสยามจากอินโดจีนทางเหนือ สยามคงต้องยอมปล่อยหัวเมืองมลายูให้เป็นอิสระ

แต่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2444 เซอร์เสวทเทนแฮมได้พบกับเต็งกูอับดุลกาเดร์ที่สิงคโปร์ เขาได้แนะนำรายาปัตตานีให้อดทน ให้หาทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง และให้คำมั่นว่าหากฝ่ายปัตตานีทำตาม เขาจะปรึกษากับรัฐบาลอังกฤษให้หาทางคืนอำนาจให้รายาปัตตานี เต็งกูอับดุลกาเดร์ คล้อยตามความเห็นของข้าหลวงอังกฤษผู้นี้ จึงยกเลิกแผนจะก่อขบถ ขณะเดียวกัน เซอร์เสวทเทนแฮมก็ได้ห้ามส่งอาวุธจากสิงคโปร์มายังเมืองต่างๆ ในปัตตานี กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ส่งข่าวดังกล่าวให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (หมายเหตุเพิ่มเติม : ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ) พระองค์จึงทรงส่งพระยาศรีสหเทพ มายังปัตตานีเพื่อสืบความ

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระยาศรีสหเทพและคณะเดินทางมาถึงปัตตานี ได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกาเดร์ทันที รายาปัตตานีได้อธิบายให้พระยาศรีสหเทพทราบถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายไม่พอใจข้าหลวงเทศาภิบาล ปัญหาที่ประชาชนต้องประสบเพราะการกดขี่ของข้าราชการสยาม ตลอดจนผลกระทบต่อสถานภาพของเจ้าเมือง รายาปัตตานีเสนอทางออกว่า สยามควรให้ปัตตานีปกครองตนเองเช่นเดียวกับรัฐเคดาห์ ใช้กฎหมายท้องถิ่นเป็นหลักในการปกครองและใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทางราชการ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (25)

"ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง"
ว่าด้วยบันทึกของฝ่ายสยาม

ขบวนแห่กองเกียรติยศของ ราชีนีฮิเยา ผู้ครองนครปะตานี ในจดหมายเหตุ Acher theil der Orientalische Indien

จากรายงานของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2542) ซึ่งระบุว่า นับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2445 เกิดการลุกขึ้นสู้เพื่อให้ปัตตานีเป็นอิสระจากการปกครองของสยามถึง 6 ครั้ง คือ กรณี ตนกูลัมมิเด็น (พ.ศ. 2329), ระตูปะกาลัน (พ.ศ. 2349), นายเซะ และเจะบุ (พ.ศ. 2364 และ 2369), เจ้าเมืองหนองจิก (พ.ศ. 2370), เจ้าเมืองปัตตานี (ตนกูสุหลง) (พ.ศ. 2374) และ ตนกูอับดุลกาเดร์ (พระยาวิชิตภักดีฯ) (พ.ศ. 2454) หรือ "กรณีพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบฎ ร.ศ.121" และกลายเป็นเป็นจุดจบแห่งยุคสมัยรายาปัตตานี (เจ้าผู้ครองนครปัตตานี) เพราะไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นครองเมืองอีกต่อไป

หลังจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ ออกกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 แล้ว ก็เริ่มต้นการปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมืองนี้ทันทีที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง แต่งตั้งพระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ข้าหลวงเมืองลำปาง ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเจ็ดหัวเมือง เชิญสารตราแจ้งความเรื่องกฎข้อบังคับไปแจ้งพระยาแขกรับไปปฏิบัติ แต่พระยาศักดิ์เสนีได้เผชิญกับการคัดค้านโดยตรง นับแต่แรกเริ่มที่เดินทางไปถึงเมืองตานี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2444 เพราะเมื่ออ่านสารตราให้พระยาตานี (พระยาวิชิตภักดี อับดุลกาเดร์) ฟัง พระยาตานีก็แสดงตนว่าไม่เห็นชอบด้วยกับกฎข้องบังคับ ถึงกับเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อ ขอร้องให้เซอร์ แฟรงค์ สเวทเทนนั่ม ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ช่วยเหลือการแข็งข้อต่อราชสำนักที่กรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้น เสนอให้อังกฤษยึดเอาเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้น ดังได้กล่าวมาแล้ว

เหตุผลที่ ตนกู อับดุลกาเดร์ ขัดขืนพระบรมราชโองการในครั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสรุปว่า "ใน พ.ศ.2444 นั้น ประจวบเวลาพวกอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ คิดอยากรุกแดนไทยทางแหลมมลายู แต่รัฐบาลที่เมืองลอนดอนไม่อนุมัติ พวกเมืองสิงคโปร์จึงคิดอุบายหาเหตุเพื่อให้รัฐบาลที่ลอนดอนต้องยอมตามในอุบายของพวกสิงคโปร์ในครั้งนั้น อย่างหนึ่ง แต่งสายให้ไปยุยงพวกมลายูเจ้าเมืองมณฑลปัตตานีให้เอาใจออกห่างจากไทย พระยาตานี (อับดุลกาเดร์) หลงเชื่อ จึงทำการขัดแย้งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงดำรัสสั่งให้จับและถอดพระยาตานี แล้วเอาตัวขึ้นไปคุมไว้ ที่เมืองพิษณุโลก การหยุกหยิกในมณฑลปัตตานีก็สงบไป" (ดู สาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบ ระหว่าง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คลังวิทยา ภาค 3 หน้า 63)

เมื่อพระยาวิชิตภักดี อับดุลกาเดร์ ไม่ยอมให้พนักงานสรรพากรเข้าปฏิบัติการในเมืองตานี พระยาศักดิ์เสนีปล่อยเมืองตานีไว้ก่อน แล้วเดินทางต่อไปถึงเมืองระแงะ เพื่อพยายามปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับ ในเดือนมกราคม พ.ศ.2445 แต่แล้วก็ประสบกับปัญหาอีก เมื่อพระยาระแงะหาทางหลบเลี่ยง ไม่ยอมรับสารตราที่พระยาศักดิ์เสนีเชิญไป จากนั้นพระยาศักดิ์เสนีเดินทางไปถึงเมืองสายบุรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 พระยาสายบุรีได้ฟังสารตราแจ้งความเรื่องกฎข้อบังคับแล้ว ก็ตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมรับคนไทย (สยาม) จากภาคกลางเป็นปลัดยกกระบัตรหรือนายอำเภอ โดยอ้างว่ากฎข้อบังคับมิได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จำต้องเป็นคนไทย พฤติการณ์เหล่านี้ของพระยาแขก ทำให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ขุนนางที่มีอาวุโสและอำนาจบังคับบัญชาระดับสูงซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนอำนาจการปกครองจากกรุงเทพฯ ในภูมิภาคนั้น ลงความเห็นว่าพระยาแขกทั้งหลายคงได้คบคิดต่อต้านอำนาจรัฐกรุงเทพฯ กันไว้แล้ว

ต่อมาอีกไม่นาน รัฐบาลได้ใช้มาตรการที่เข้มแข็งเฉียบขาด เพื่อระงับมิให้เหตุการณ์นี้ลุกลามขึ้นเป็นกบฏได้ ทันทีที่ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ทรงได้รับโทรเลขรายงานเหตุการณ์ที่เมืองระแงะและเมืองสายบุรี ทรงมีโทรเลขสนับสนุนให้พระยาศักดิ์เสนี เริ่มต้นปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับ สำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมืองในเมืองระแงะได้ โดยไม่ต้องห่วงใยพระยาระแงะนัก เพราะ "พระยาเมืองเป็นคนไม่มีกำลังและความสามารถ ถึงอย่างไรก็พอจะจัดการหักหาญให้สำเร็จตลอดไปได้"

และทรงมีโทรเลขอีกฉบับหนึ่งชี้แจงว่า พระยาศักดิ์เสนีเป็นผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นจึงมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำหรับเมืองสายบุรีได้ สุดแล้วแต่ความเหมาะสม เมื่อพระยาศักดิ์เสนีได้รับโทรเลขสองฉบับแล้ว จึงตัดสินใจแต่งตั้งขุนนางแขกผู้หนึ่งขึ้นเป็นผู้รักษาการ แทนพระยาเมืองระแงะ และเริ่มบรรจุข้าราชการเข้าปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับในเมืองระแงะด้วย ในระยะเวลาต่อมา พระยาศักดิ์เสนีได้บรรจุข้าราชการเข้าปฏิบัติการในเมืองสายบุรีโดยมิได้รับการตกลงล่วงหน้าจากพระยาเมืองสายบุรี

ในขณะเดียวกัน กรมหลวงดำรงราชานุภาพ มิได้ทรงประมาท ทรงส่งพระศรีสิงหเทพ (เสง วิริยศิริ ต่อมาได้เป็นพระยามหาอำมาตยาธิบดี) ข้าราชการชั้นอาวุโสของกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ ลงไปช่วยพระยาศักดิ์เสนีอีกคนหนึ่ง พระยาศรีสิงหเทพเดินทางโดยเรือรบหลวง พร้อมด้วยกองกำลังตำรวจภูธรจำนวนหนึ่ง ถึงเมืองตานีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2445 และในวันเดียวกันนั้นเอง ได้ยกพลขึ้นเป็นผู้รั้งเมืองแทน แล้วส่งพระยาตานีไปยังเมืองสงขลา เมื่อพระยาตานี ถูกกักตัว ไว้ที่สงขลา เรียบร้อยแล้ว พระยาสุขุมนัยวินิตได้เดินทางไปช่วยพระยาศักดิ์เสนีแทนพระยาศรีสิงหเทพ และเมื่อทั้งสองได้จัดราชการที่เมืองตานีแล้ว จึงเดินทางต่อไปยังเมืองระแงะเพื่อ "ช่วยกันว่ากล่าวให้พระยาระแงะทำหนังสือสมัครเข้ามาศึกษาราชการในสงขลา" ซึ่งพระยาระแงะก็จำต้องปฏิบัติตาม

การปฏิบัติการอย่างเด็ดขาดเข้มงวดของขุนนางข้าราชการทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารจากส่วนกลางและทหารท้องถิ่นจากภาคใต้ตอนบนในบริเวณเจ็ดหัวเมืองครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ที่สำคัญคือเป็นการบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้พระยาแขกแต่ละคนตระหนักในอำนาจของขุนนางที่เป็นผู้แทนของรัฐบาลในท้องถิ่น โดยเป็นจุดเริ่มต้นให้ยอมรับและปฏิบัติตามกฎข้อบังคับสำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง ในเมืองปัตตานี พระยาสุขุมนัยวินิตและพระยาศักดิ์เสนีสามารถเริ่มควบคุมให้พนักงานสรรพกรเข้าจัดการเก็บภาษีอากรได้ หลังจากที่พระยาตานีถูกส่งตัวไปยังเมืองสงขลาแล้ว และเริ่มโยกย้ายกรมการเมืองเก่าๆ ออกไปจากเมือง แล้วแต่งตั้งนายอำเภอเมืองขึ้นใหม่

หลังจากนั้นพระยาสุขุมนัยวินิตและพระยาศักดิ์เสนีจึงเดินทางไปดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะเดียวกัน ที่เมืองยะหริ่ง ยะลา รามันห์ และระแงะ ตามลำดับ ฝ่ายพระยาแขกเองก็พยายามแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าตนพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ดังเช่น พระยายะหริ่งและพระยายะลา ได้ส่งบุตรชายไปให้พระยาสุขุมนัยวินิตฝึกงาน เป็นต้น ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ "พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ" ยุติลงในช่วงกลางเดือนมีนาคมและกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2445 นั้นเอง

แต่สิ่งที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์พิจารณา "ลงทัณฑ์" แก่พระยาตานี หาใช่เพียงกักบริเวณไว้ที่สงขลาเท่านั้น แต่ได้ประกาศถอดยศพระยาตานีและเนรเทศไปไกลถึงเมืองพิษณุโลก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (24)

ความสงบหัวเมืองมลายู
คลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุ

ปาตานี คือรัฐหนึ่งในหลายๆรัฐของชาวมลายูมาแต่เดิม

จากหนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ – เมืองปัตตานี เขียนโดย อนันต์ วัฒนานิกร ให้ภาพพัฒนาการการดำรงอยู่ของความขัดแย้งในภูมิภาคตอนปลายสุดของแหลมสุวรรณภูมิที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ "รัฐไทย" ช่วงรอยต่อระหว่างการปกครองสองระบอบจากระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีรูปแบบ "นครรัฐ" หรือ "รัฐศักดินาสวามิภักดิ์" ที่อำนาจการปกครองที่แท้จริงดำรงอยู่เฉพาะในเขต "รัฐใหญ่" โดยที่อำนาจการปกครองส่วนหัวเมืองและประเทศราชยังไม่เป็นเอกภาพเดียวกันทั่วราชอาณาจักร มาสู่ช่วงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อสร้าง "รัฐชาติสยาม" ที่มีลักษณะรวมศูนย์มีความเป็นเอกภาพ โดยอาศัยการดึงอำนาจการปกครองหัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองประเทศราชทั่วราชอาณาจักรเข้าสู่ศูนย์กลางการปกครองประเทศ ภายใต้ระบบเทศาภิบาลซึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งว่า เนื้อหาที่แท้จริงเป็นการล้มเลิกระบบอภิสิทธิ์และอำนาจทางการปกครองแบบจารีตที่เจ้าเมืองและเจ้าประเทศราชในเดินแดนต่างๆ เคยมีมาแต่เดิม

หลัง "กบฏหวันหมาดหลี" ในปี พ.ศ. 2380 ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปกครองหัวเมืองหรือเมืองประเทศราชภาคใต้ ล้วนวนเวียนอยู่ที่อำนาจการปกครองในฐานะ "เจ้าเมือง" ซึ่งคู่ความขัดแย้งสำคัญคือเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายจีน (ขงจื้อปนพุทธ) กับที่มีเชื้อสายมลายู (อิสลาม) โดยมีขุนนางชั้นผู้ใหญ่จากส่วนกลางเป็นผู้เชื่อมประสาน เช่นเมื่อพระยาตานี (ทองอยู่) ถึงแก่กรรมลงหลังจากไปช่วยราชการปราบกบฏ กลับมาเมืองปัตตานีแล้วไม่นาน โดยพงศาวดารเมืองสงขลากล่าวว่าในปี พ.ศ.2382 พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้แต่งตั้งให้พระยาวิชิตณรงค์ กับนายแม่น มหาดเล็ก บุตรของพระยาสงขลา (เถี้ยนจ๋ง) เป็นผู้รักษาราชการเมืองปัตตานีอยู่ชั่วคราว จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2383 จึงได้แต่งตั้งให้นิยุโซะ (โต๊ะกี) เป็นผู้ว่าราชการเมือง (เจ้าเมือง) คนต่อมา

ในส่วนท้องถิ่นเอง เกิดความขัดแย้งหลายครั้งระหว่างเชื้อสายเจ้าเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามในเรื่องอำนาจและการใช้อำนาจการปกครอง ซึ่งมีผลประโยชน์สำคัญในการครอบครองที่ดิน อำนาจในการเก็บภาษีอากรเพื่อส่งส่วนหรือบรรณาการไปยังกรุงเทพ อีกทั้งมีการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎรด้วยการเกณฑ์แรงราษฎรไปทำงานส่วนตัวเป็นระยะเวลานาน จนราษฎรไม่มีเวลาจะไปทำไร่นาของตน เจ้าเมืองบางคนประพฤติผิดแบบแผนประเพณี ฉุดคร่าอนาจารหญิง และให้บ่าวไพร่เข้ายึดครองเรือกสวนไร่นา ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว จนราษฎรพากัน อพยพหนีไปอยู่เสียที่เมืองปัตตานีบ้าง หรือเมืองเประซึ่งอยู่ในอาณัติการปกครองของอังกฤษบ้าง ขณะเดียวกันพวกอังกฤษในเกาะปีนังและสิงคโปร์ก็พยายามหาทางแทรกแซง ลอบยุยงส่งเสริมให้เจ้าเมืองต่างๆ เอาใจออกหากจากราชสำนักที่กรุงเทพ โดยหวังผนวกเอาดินแดนในแหลมมลายูตอนเหนือไปครอบครองเป็นการขยายอาณานิคม (อันเป็นนโยบายหลักของ "เจ้าลัทธิอาณานิคมเก่า" 4 ชาติที่รุกรานไปทั่วโลกรวมทั้งทวีปเอเชีย สำหรับภูมิภาคที่ปัจจุบันเรียกรวมว่า "อาเซียน" นั้น ไล่มาตั้งแต่ฝรั่งเศสทางฝั่งตะวันออกของสยาม ที่ประกอบด้วย ญวน ลาว และเขมร อังกฤษทางตะวันตก คือพม่าและอินเดีย และทางใต้คือดินแดนในแหลมมลายู ส่วนดินแดนที่เป็นหมู่เกาะใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียก็อยู่ใต้อำนาจของ ฮอลันดา ได้แก่หมู่เกาะชวา และสเปนซึ่งยึดครองหมู่เกาะฟิลิปปินส์)

จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกระบบการปกครองหัวเมืองแบบประเทศราชหรือแบบกินเมือง โดยมีเจ้าเมืองที่สืบทอดตำแหน่งต่อๆกันมาทางสายเลือดนั้น สำหรับหัวเมืองภาคใต้นั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ "บรรดาเมืองชั้นใน และ ชั้นนอก และ เมืองประเทศราช ที่แบ่งเป็นปักษ์ใต้อยู่ในกระทรวงกลาโหม ฝ่ายเหนืออยู่ในกระทรวงมหาดไทย ก็ดี และที่อยู่ในกระทรวง ต่างประเทศก็ดี ตั้งแต่นี้สืบไป ให้อยู่ในบังคับบัญชาตราราชสีห์กระทรวงมหาดไทย" และต่อมาตรากฎข้อบังคับการปกครองหัวเมืองขึ้นใช้ โดยให้เจ้าเมือง ซึ่งเคยบังคับบัญชาบ้านเมืองโดยอิสระมาขึ้นต่อข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช

ในปี พ.ศ. 2439  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงปฏิรูประบบการปกครองหัวเมืองประเทศราชเสียใหม่ สำหรับหัวเมืองปักษ์ใต้มีรูปแบบการขึ้นต่อและมีสายบังคับบัญชาตามลำดับที่เริ่มจาก "รัฐบาล" (รวมศูนย์ที่ราชสำนักผ่าน "กระทรวง" ที่สถาปนาขึ้นแทนที่ระบอบจตุสดมภ์) ลงไปที่ "ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช" จากนั้นจึงต่อไปที่ "ข้าหลวงประจำบริเวณ" "กองบัญชาการเมือง" "พระยาเมือง" และ "ยกกระบัตร ปลัดเมือง ผู้ช่วยราชการเมือง"

ต่อ มาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2444 รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ก็ได้ออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 ขึ้น มีการกำหนดตำแหน่งหน้าที่เจ้าพนักงาน ต่างๆขึ้นมา เพื่อดำเนินการบริหารราชการและให้พนักงานเจ้าหน้าที่นับตั้งแต่ 1.ผู้ว่าราชการเมือง 2.ปลัดเมือง 3.ยกกระบัตร 4.ผู้ช่วยราชการสรรพากร 5.จ่าเมือง 6.แพ่ง 7.เสมียนตราเมือง 8.ศุภมาตรา 9.นายด่านภาษีปากน้ำ 10. พธำมรงค์ 11.แพทย์

จากกฎหมายการปกครองใหม่นี้ ทำให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สามารถลดอำนาจของเจ้าเมืองในด้านการเมืองการปกครองลงได้อย่างสิ้นเชิง โดยมีขุนนางจากส่วนกลาง (ข้าราชการใหม่) เข้าทำหน้าที่ควบคุมอำนาจการบริหารบ้านเมืองไว้ทั้งหมด ตลอดถึงตัดทอนผลประโยชน์ในทางการคลัง ซึ่งแต่เดิมเจ้าเมืองเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรเอง และนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยเอง มาเป็นผู้ช่วยราชการสรรพากร ส่วนผู้ว่าราชการเมือง และวงศ์ญาติ รัฐบาลที่กรุงเทพจัดตั้งงบประมาณเป็นค่ายังชีพให้พอเพียงที่จะใช้สอยเป็นรายปี ทั้งนี้อำนาจการปกครองที่แท้จริงอยู่ที่ "ข้าหลวง" ทั้งสองระดับ

หลังการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินไม่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประกอบด้วยหัวเมืองและประเทศราช กลายเป็นมูลเหตุกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านขึ้นในหลายพื้นที่ในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2445 มีรูปแบบและรายละเอียดเฉพาะพื้นที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

สำหรับภาคใต้ ที่สุดปลายที่แหลมมลายูโดยเชื่อมต่อกับสยามด้วยหัวเมืองชายขอบพระราชอาณาเขตอย่างใหม่ เริ่มจากพระยาวิชิตภักดี (ตนกู อับดุลกาเดร์) ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามกฎข้อบังคับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมืองที่รัฐบาลเป็นผู้ตราขึ้นโดยขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้ามาเก็บภาษีอากรในท้องที่เมืองปัตตานี ทั้งยังเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อ ขอร้องให้เซอร์ แฟรงค์ สเวทเทนนั่ม ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่เมืองสิงคโปร์ช่วยเหลือการแข็งข้อต่อราชสำนักที่กรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้น เสนอให้อังกฤษยึดเอาเมืองปัตตานีเป็นเมืองขึ้น

เหตุการณ์นี้ก่อรูปและนำไปสู่ "กรณีพระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดกบฎ ร.ศ.121".


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 26 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (23)

จาก "กบฏหัวเมืองมลายู"
ถึง "กบฏหวันหมาดหลี"

การปราบปรามและการสู้รบของกรุงรัตนโกสินทร์กับเจ้าเมืองปัตตานี

ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจาก "จตุสดมภ์/ศักดินา" สู่ระบอบ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" หรือที่สำนักคิดประวัติศาสตร์จารีตใช้คำว่า "การปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน" ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น การต่อต้านจากเจ้าเมือง/เจ้าประเทศราช รวมทั้งจากการลุกขึ้นสู้ของอดีตไพร่ ภายใต้ธง "กบฏผู้มีบุญ" หาได้จำกัดอยู่เพียงหัวเมืองทางภาคเหนือและภาคอีสานเท่านั้นไม่ ความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญในดินแดนภาคใต้ของรัฐไทยก่อนจะมาเป็นสยาม ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของ "ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" สืบเนื่องมาจนถึงห้วงเวลา 15 ปี การก่อเกิดรัฐประชาธิปไตย ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2490 กระทั่งเกิดการลุกขึ้นสู้ "กบฏดุซงญอ" ในปี พ.ศ. 2491 หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 อันเป็นชัยชนะครั้งแรกของพลังปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

พัฒนาการของความขัดแย้ง การต่อต้าน และการลุกขึ้นสู้ของพื้นที่ชายแดนใต้ เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2328 สามปีหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรีโดยมีศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ หรือกรุงรัตนโกสินทร์ ปัตตานีมิได้ส่งเครื่องบรรณาการให้แก่ราชสำนักตามประเพณีนิยมของหัวเมือง/ประเทศราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงส่ง พระยาราชบังสัน (แม้น) นำทัพเรือเข้าโจมตีปัตตานี เรือรบอำนาจรัฐรัตนโกสินทร์แล่นตามลำคลองปาแปรีอันเป็นสาขาของแม่น้ำปัตตานีไปจนถึงประตูเมือง สุลต่านปัตตานีไม่ยอมจำนน พระยาราชบังสันสั่งให้เรือรบยิงถล่มประตูเมือง กระสุนปืนใหญ่ตกในเมืองหลายนัดทำให้ชาวเมืองปัตตานีล้มตายกันมาก ที่สุดปัตตานีก็ยอมแพ้ต่อสยาม

ทางราชสำนักที่กรุงเทพฯ ดำเนินการรวบรวมหัวเมืองทางภาคใต้ทั้ง 4 (เดิมเรียกว่า "หัวเมืองมลายู" มาตั้งปลายสมัยอยุธยา ซึ่งประกอบด้วย เมืองไทรบุรี, กลันตัน, ตรังกานู, และเมืองปัตตานี ซึ่งในเวลานั้นรวมจังหวัดยะลา, นราธิวาส ไว้ด้วย) เข้ามาอยู่ในความปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้งหนึ่ง โดยให้ปกครองแบบอิสระแต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับราชสำนัก 3 ปีต่อครั้ง หากไม่ส่งจะถือว่าเป็นกบฏ ทั้งยังจัดระเบียบการปกครองบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ ในขั้นต้นให้ไทรบุรีและกลันตัน อยู่ในความควบคุมดูแลของสงขลา จากกรณีนี้ได้สร้างความไม่พอใจ ให้กับเจ้าพระยาปัตตานี สุลต่าน มูตะหมัด ไม่ยอมอ่อนน้อม จึงโปรดฯให้ยกทัพไปตี เมื่อตีได้แล้วทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ต่วน กุราบิดิน (เชื้อสายสุลต่านเมืองปัตตานี) เป็นเจ้าเมือง

พ.ศ. 2334 หลังจากแต่งตั้ง เต็งกู รามิกดิน เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ขึ้นตรงต่อเมืองสงขลา ทำให้ เต็งกู รามิกดินไม่พอใจที่ถูกลดอำนาจเพราะศักดิ์ศรีน้อยกว่าเมืองสงขลา จึงทำตัวแข็งข้อไม่ขึ้นต่อเมืองสงขลา ได้ชักชวนองเชียงสือ กษัตริย์ญวนในสมัยนั้นให้นำกองทัพมาตีสยาม แต่ถูกปฏิเสธจึงหันไปสมคบคิดกับ โต๊ะ สาเยก โจรสลัดจากอินเดีย ก่อการกบฏและแยกกองทัพของเมืองปัตตานีมาตีเมืองสงขลาได้สำเร็จ หลังจากสงขลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของปัตตานีแล้ว กองทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยกทัพไปปราบปรามและยึดเมืองสงขลากลับคืนมาได้ พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งให้พระยาเมืองสงขลายกทัพไปตีเมืองปัตตานี และสามารถยึดกลับคืนมาอยู่ภายใต้การปกครองของราชสำนักที่กรุงเทพฯ ตามเดิม การต่อสู้ในครั้งนั้นนับว่ารุนแรงมาก กำลังของเมืองสงขลาสู้ไม่ได้ต้องใช้กองทัพหลวง ดังนั้น เพื่อเป็นการลิดรอนกำลังของเมืองปัตตานีให้กระจายออกไป ไม่ยุ่งยากต่อการแข็งข้อและหลีกเลี่ยงการรวมอำนาจที่จะก่อการกบฏได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2339 รัชกาลที่ 1 ทรงแก้ปัญหาด้วยการแยกเมืองปัตตานี ออกเป็น 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรี และระแงะ

สถานการณ์หลังจากนั้นแทนที่จะสงบราบคาบ กลับกลายเป็น "คลื่นใต้น้ำ" ที่มีการเคลื่อนไหวในทางลับ ต่อต้านอำนาจราชสำนักที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2380 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิด "กบฏหวันหมาดหลี" ที่หัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อปีระกา นพศก จ.ศ. 1199 (พ.ศ. 2380) กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย สมเด็จพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต มีงานถวายพระเพลิงพระบรมศพในต้นปีจอ สัมฤทธิศก จ.ศ. 1200 (พ.ศ. 2381) บรรดาเจ้าเมืองในหัวเมืองต่างๆ ได้เดินทางเข้ามาร่วมงานพระราชพิธีในพระนครกันเกือบหมด จึงไม่มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ดูแล

ตนกูมะหะหมัด สะอัด และ ตนกูอับดุลเลาะห์ เชื้อพระวงศ์แห่งมลายูได้คบคิดกับหวันหมาดหลี ซึ่งเป็นโจรสลัดอันดามันได้ยกกำลังเข้าจู่โจมเมืองไทรบุรี ฝ่ายพระยาอภัยธิเบศร (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีพร้อมข้าราชการทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายทหาร ไม่อาจรับมือกองกำลังฝ่ายกบฏได้ จึงถอยร่นมาถึงเมืองพัทลุง ทำให้ฝ่ายกบฏได้ใจบุกต่อเข้าไปตีเมืองตรัง เจ้าเมืองตรังต้านทานไม่ได้ ต้องถอยไปแจ้งข่าวแก่เมืองนคร ฝ่ายกบฏมอบหมายให้หวันหมาดหลีรักษาเมืองไว้โดยลำพังโดยทิ้งกำลังไว้ให้ส่วนหนึ่ง กองกำลังส่วนใหญ่ได้เดินทัพทางบกจากตรังข้ามไปพัทลุงและสงขลา ตีสงขลาพร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองที่เป็นมุสลิมด้วยกันอีก 7 หัวเมือง คือให้ร่วมมือกันก่อการกบฏ

ฝ่ายราชสำนักที่กรุงเทพฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวก็พิโรธ มีพระบรมราชโองการสั่งให้เจ้าเมืองต่างๆ เร่งกลับไปป้องกันดูแลเมืองของตนเอง และทรงวิตกว่า การที่กบฏสามารถประชิดสงขลาได้แล้วจะเป็นเหตุให้มุสลิมทางหัวเมืองหน้าในแถบทะเลอ่าวไทยคิดการกบฏขึ้นมาด้วย จึงโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด บุนนาค) เป็นแม่ทัพใหญ่ลงไปปราบ ในเวลาเดียวกันนั้น เจ้าเมืองสงขลา (เซ่ง) และเจ้าพระยานคร (น้อย) ยังอยู่ในระหว่างการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีสุราลัย สมเด็จพระพันปีหลวง ครั้นเมื่อทราบข่าวกบฏจึงรีบเดินทางกลับมาเกณฑ์คนที่เมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุงจัดเป็นกองทัพ มอบหมายให้พระยาอภัยธิเบศร (แสง) พระยาวิชิตสรไกร (กล่อม) พระเสนานุชิต (นุช) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยานคร (น้อย) ทั้งสามคนคุมกำลังประมาณ 4,000 คน ยกไปตีกบฏเมืองไทรบุรีได้สำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนเจ้าพระยานคร (น้อย) นั้นป่วยเป็นโรคลมไม่สามารถคุมทัพไปด้วยตนเองได้ ขณะที่ทางกรุงเทพฯ ส่งพระวิชิตณรงค์ (พัด) และพระราชวรินทร์ คุมทหารกรุงเทพฯ ประมาณ 790 คน มาช่วยรักษาเมืองสงขลาไว้ก่อน พวกกบฏมลายูที่ล้อมสงขลาอยู่เมื่อรู้ข่าวทัพนครศรีธรรมราชตีไทรบุรีแตกแล้ว และกำลังบ่ายหน้ามาช่วยเมืองสงขลาพร้อมกับทัพกรุงเทพฯ จึงเกิดความเกรงกลัว พากันหนีกลับไปโดยที่ยังไม่ได้ตีเมืองสงขลา

แม่ทัพคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช (ครุฑ บ่วงราบ) (ต่อมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมเวียงที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) เจ้าเมืองชุมพรในเวลานั้น นำกองทัพเมืองชุมพร เมืองประทิว จำนวน 1,216 คน เข้าร่วมกองทัพหลวงปราบปรามความวุ่นวายในหัวเมืองปักษ์ใต้ (กบฏหวันหมาดหลี) เมืองไทรบุรี ในบังคับบัญชา พระยาเสนาภูเบศร์ แม่ทัพหน้า

การสืบสวนภายหลัง พบว่ามีข้าราชการและขุนนางจำนวนหนึ่งที่เข้าพวกกบฏ มีการลงโทษต่างๆรวมถึงการประหารชีวิตระดับหัวหน้าก่อการจำนวนหนึ่งด้วยด้วย

จากการปราบปรามอย่างเด็ดขาดแสดงให้เจ้าผู้ครองนครเดิมเห็นว่า กำลังของราชสำนักที่กรุงเทพฯ ยังคงมีความเป็นปึกแผ่น สามารถบังคับบัญชาหัวเมืองภาคใต้ตอนบนเข้าร่วมปราบกบฏได้ มีผลต่อการ "ปราม" การเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก ดินแดน "หัวเมืองทั้ง 7" จึงเข้าสู่ช่วงเวลาสงบสันติชั่วคราว ต่อเนื่องกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองเข้าสู่ระบบมณฑลเทศาภิบาลหลังปี พ.ศ. 2435.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 19-25 มกราคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (22)

การสิ้นสุดอำนาจหัวเมืองประเทศราช
ชัยชนะของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นักโทษเงี้ยวทั้ง 16 คนที่ถูกจับกุมได้ในการจลาจลในเมืองแพร่และลำปางได้ถูกส่งตัวมาจำคุกที่กรุงเทพฯ

เมื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) พิจารณาความหนักเบาของภาระหน้าที่ที่ต้องเผชิญ ประกอบกับแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าวจากส่วนกลางที่ต้องการวางรากฐานการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยให้การปกครองหัวเมืองสามารถดำเนินการในรูปแบบ "เทศาภิบาล" การจะดำเนินคดีเป็นเด็ดขาดด้วยการสั่งประหารชีวิต "ผู้นำ" หรือผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกระดมและสนับสนุนการก่อการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธ (หรือที่ในปัจจุบันใช้คำว่า "แกนนำ") ก็เกรงว่าจะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์กับอดีตเจ้านาย/เจ้าผู้ครองนครหัวเมืองทางเหนือ ซึ่งถือเป็นเครือญาติผู้สืบสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนดังได้กล่าวมาแล้ว

ดังนั้นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงใช้วิเทโศบายด้วยการปล่อยข่าวลือว่าจะจับกุมตัวผู้อยู่ในข่ายต้องสงสัยระดับหัวหน้าเพื่อดำเนินคดีในฐานผู้ยุยงและสนับสนุนโจรเงี้ยวก่อการกบฏ เมื่อความรู้ไปถึงเจ้าพิริยเทพวงศ์ (พระยาพิริยวิไชย) พร้อมด้วยคนสนิทอีกสองคน จึงลอบหลบหนีออกจากเมืองแพร่และพื้นที่ควบคุมของกองทัพปราบกบฏ (มีหลักฐานบางแห่งอ้างว่าเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีคำสั่งคำสั่งลับมิให้กองทหารที่ตั้งสกัดอยู่รอบเมืองแพร่ขัดขวาง ทำให้การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่เป็นไปอย่างสะดวก)

หลังจากพระยาพิริยวิไชยหลบหนีไปได้ 15 วัน เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงออกคำสั่งถอดเจ้าเมืองแพร่ออกจากตำแหน่งทันที ด้วยถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ พร้อมกับสั่งอายัดทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้หลวง ที่เจ้าเมืองแพร่ค้างกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จากการเก็บภาษีอากรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยตรงไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ หลังจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย มาเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (พ.ศ. 2439-2449) มีพระประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขวิธีการเก็บภาษีอากร และได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสนอวิธีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรใหม่ยกเลิกการประมูลผูกขาดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลดำเนินการจัดเก็บเอง ครั้นเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เตรียมการในเรื่องนี้ต่อไป โดยในขณะนั้น ทางรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เพิ่งเริ่มก่อรูปและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกๆด้าน โดยในด้านการเงินการคลังได้มีการจ้าง มิสเตอร์ เอฟ.เอช. ไยลส์ และ มิสเตอร์ ดับเบิลยู เอ. เกรแฮม ชาวอังกฤษจากอินเดีย เตรียมวิธีการปรับปรุงให้เจ้าพนักงานของรัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรเอง เมื่อปี พ.ศ. 2440

สำหรับคดีความผิดฐานร่วมก่อการกบฎก็เป็นอันต้องระงับโดยปริยาย ไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นอีก เจ้าพิริยเทพวงศ์เจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้ายต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบาง จนถึงแก่พิราลัย

เมื่อทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของรัฐสยาม พระยาสุรศักดิ์มนตรีในฐานะแม่ทัพผู้มีอำนาจเต็มก็ได้จับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยทำการสอบสวนอย่างเข้มงวด โดยใช้ศาลทหารเป็นผู้พิจารณาคดี และพิจารณาลงโทษอย่างเฉียบขาด มี "เชลยกบฏ" ส่วนหนึ่งถูกส่งตัวมาพิจารณาโทษถึงขั้นจำคุกถึงกรุงเทพฯ (นักโทษเงี้ยวทั้ง 16 คนที่ถูกจับกุมได้ในการจลาจลในเมืองแพร่และลำปางได้ถูกส่งตัวมาจำคุกที่กรุงเทพฯ โดยแยกนักโทษในบังคับสยามไปจำคุกที่กองมหันตโทษ กระทรวงยุติธรรม ส่วนนักโทษในบังคับอังกฤษส่งไปจำคุกที่สถานทูตอังกฤษ) ทั้งนี้เพื่อเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" และป้องกันเจ้านายตามหัวเมืองเดิมในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนอดีต "ไพร่" เดิมในระบอบจตุสดมภ์คิดการ "กำเริบเสิบสาน" แข็งข้อต่อการเปลี่ยนผ่านการปกครองสู่ระบอบสมบูรณาญาธิราชย์

หลังการปราบปรามกบฏลงได้อย่างราบคาบ รัฐบาลสยามก็ฉวยโอกาส "ตีเหล็กเมื่องยังร้อน" เพื่อกวาดล้างอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือ โดยเข้ามาจัดการปกครองและจัดการจัดเก็บผลประโยชน์ในอดีตดินแดนที่เรียกว่า "ล้านนา" อย่างเต็มที่ มีการปฏิรูปการปกครองอย่างเต็มรูปแบบและปลดเจ้าหลวงเมืองแพร่ และยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ รวมทั้งตำแหน่งเจ้านายท้องถิ่นของแพร่ทั้งหมด  และให้ข้าราชการจากส่วนกลางเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือ ทั้งนี้อำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสยามได้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารบกมณฑลพายัพ (ค่ายกาวิละ) ที่นครเชียงใหม่ จัดตั้งกองทหารประจำการ (ค่ายสุรศักดิ์มนตรี) ขึ้นที่นครลำปาง เพื่อป้องกันมิให้มีการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก เนื่องจากเป็นหัวเมืองศูนย์กลางสามารถติดต่อกับ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์ และหัวเมืองต่างๆ ซึ่งทหารเกือบทั้งหมดเป็น "คนสยาม" ที่เกณฑ์ไปจากจากภาคกลาง

กองทหารที่ตั้งขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดลำปาง อยู่ในการบังคับบัญชาของ พันตรี หลวงพิทธยุทธยรรยง ตั้งอยู่ในบริเวณ วัดป่ารวก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 เจ้าบุญวาทย์ วงศ์วานิต อุทิศที่ดินที่ม่อนสันติสุข ริมฝั่งห้วยแม่กระติ๊บให้เป็นที่ตั้งค่ายทหาร พร้อมกับปลูกอาคารไม้ให้อีกหลังหนึ่ง แล้วจึงเคลื่อนย้ายหน่วยทหารจากวัดป่ารวกเข้ามาที่ตั้งใหม่ ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารคนแรกที่เข้ามาที่ตั้งใหม่ คือ พันตรี หลวงศัลยุทธวิธิการ (เล็ก ปาณิกบุตร) ต่อมาได้เป็น พลโทพระยากลาโหมราชเสนา และเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชได้พระราชทานนามค่ายว่า "ค่ายสุรศักดิ์มนตรี"

นับจากการสร้างค่ายทหารที่ลำปางขึ้น มีการปรับปรุงกองทหารให้เข้มแข็งและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ  เพื่อปรามเจ้าผู้ครองนคร เจ้านาย เจ้าเมือง พ่อเมือง และขุนนางในล้านนาที่คิดจะฟื้นอำนาจการปกครองในลักษณะเอกเทศหรือเจ้าประเทศราช ทำให้กลุ่มผู้ปกครองล้านนาทั้งหลายต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมในการยึดรวมล้านนาเข้ากับสยามในที่สุด

กระนั้นก็ตามผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภายหลังการผนวกเมืองแพร่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ผู้คนและลูกหลานเชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ก็เกิดการปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจจากการผลิตแบบพึ่งตนเองและส่งส่วยแก่เจ้าผู้ครองนครเดิม มาสู่รูปแบบการรับเหมาช่วงสัมปทานจากอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากนั้นราษฎรที่เคยเป็นทาส/ไพร่ที่สังกัดมูลนายในระบอบศักดินา/จตุสดมภ์ ก็กลายเป็นแรงงานรับจ้างลากจูงไม้ในป่าให้กับบริษัทฝรั่งที่ได้สัมปทานผูกขาดจากอำนาจรัฐส่วนกลาง ทำให้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเมืองแพร่จะขยายตัวดีกว่าหัวเมืองอื่นๆ ทว่าเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนฐานของการผูกขาดสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ ที่ถูกนำมาใช้หมดไปอย่างไม่มีแผนรองรับการสร้างทดแทนแต่อย่างใด ไม่ใช่เป็นการผลิตอย่างแท้จริง ป่าไม้สักเมืองแพร่ไม่นานก็หมดไป บริษัทฝรั่งก็ล่าถอยทิ้งไว้แต่ร่องรอยของความเฟื่องฟูร่ำรวยของคนในยุคหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้นสัมปทานของรัฐไทยในเวลาต่อมาที่ให้กับคนไทยกันเองยิ่งมีผลทำให้ป่าไม้เมืองแพร่หมดสิ้น ทุนที่เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ตรงนี้กลายเป็นฐานสำหรับการเมืองท้องถิ่นเมืองแพร่ในปัจจุบันที่แทบจะตัดขาดการรับรู้เรื่องราวในอดีตอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งขาดการถ่ายทอดประวัติศาสตร์แก่อนุชนรุ่นหลังให้เข้าใจและสามารถสร้างความภาคภูมิใจใน "ความเป็นมา" หรือ "กำพืด" ที่แท้จริงที่ผ่านการกัดกร่อนบ่อนทำลายลงไปในประวัติศาสตร์ที่ถูก "ตัดตอน" หรือ "กัดกร่อน" ลงไป.


โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 มกราคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8