การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง:
ว่าด้วยจุดยืนของราชสำนักสยาม (1)
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (แถวยืน กอดพระอุระ)
สถานะและวิกฤตการณ์หลายครั้งในพื้นที่ "หัวเมืองมลายู" หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า "จังหวัดชายแดนภาคใต้" มีความผันแปรมานับจากสมัยอยุธยาก็จริง หากที่ส่งอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเชื้อชาติมลายูสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนั้น ย่อมไม่อาจละลืมการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคใกล้นับจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังการ "สำเร็จโทษ" พระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และดังได้กล่าวแล้วถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2328
ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของฝ่ายไทย อาณาเขตของกรุงสุโขทัย ทางทิศใต้จดแหลมมลายู จากหลักฐานศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง ประมาณปี พ.ศ. 1837 เรียกหัวเมืองชายแดนภาคใต้ว่า "หัวเมืองมลายู" ซึ่งประกอบด้วย เมืองไทรบุรี, กลันตัน, ตรังกานู, และเมืองปัตตานี (รวมทั้งพื้นที่ปัจจุบันของจังหวัดยะลาและนราธิวาส)
ทั้งนี้ นับจากรัชสมัยของปฐมกษัตริย์ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1893 จึงมีหลักฐาน (ฝ่ายไทย) ว่าอาณาเขตทางทิศใต้จดมลายาและชวา เมื่อพระยาไสลือไท (พระมหาธรรมราชาที่ 4) เสด็จสวรรคต ราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยก็ตกต่ำลง พระราชโอรสสองพระองค์ คือ พระยาบาลเมืองและพระยารามแย่งชิงราชสมบัติกัน เป็นเหตุให้สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ต้องเสด็จขึ้นไปถึงเมืองพระบาง แล้วทรงไกล่เกลี่ยให้พระยาบาลเมืองเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยครองเมืองเมืองพิษณุโลกอันเป็นเมืองหลวง และให้พระยารามเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองเอก พระยาบาลเมืองจึงได้รับอภิเษกให้ครองกรุงสุโขทัยในฐานะประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชาที่ 4 หรือ บรมปาล หรือ พระยาบาลเมือง หรือ พระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชา (ครองราชย์ในช่วง พ.ศ. 1962-1989 และประทับที่เมืองพิษณุโลก) และเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์พระร่วง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า หัวเมืองมลายูทั้ง 4 จึงตั้งตัวเป็นอิสระจากไทยมาตลอดสมัยกรุงธนบุรี
กระทั่ง พ.ศ.2328 สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงให้เดินทัพไปตีหัวเมืองปัตตานี และรวบรวมหัวเมืองทางใต้ ทั้ง 4 เข้ามาอยู่ในความปกครองของไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยให้มีการปกครองแบบอิสระ แต่ต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับเมืองหลวง (กรุงเทพ) 3 ปีต่อครั้ง หากไม่ส่งจะถือว่าเป็นกบฏ และได้จัดระเบียบการปกครองบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ ในขั้นต้นให้เมืองไทรบุรีและเมืองกลันตัน อยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช เมืองปัตตานี ตรังกานู อยู่ในความควบคุมดูแลของเมืองสงขลา
ครั้นเมื่อเมืองสงขลาตกอยู่ภายใต้อำนาจของเมืองปัตตานี ในปี พ.ศ.2334 หลังจากนั้น มีความพยายามที่จะแยกการปกครองจากราชสำนักศักดินาสยาม (ระบอบจตุสดมภ์) หลายครั้ง กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์ที่พระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือพระราชอาณาจักร สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรียกว่า "การปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน" นั้น จาก เอกสารรัชกาลที่ 5 ม.49/27 เรื่องผลประโยชน์เมืองหนองจิกและเมืองแขก 7 เมือง (ที่มา กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร http://www.geocities.com/bluesing2001) ว่าด้วย "คำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เรื่องการจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง" มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ซึ่งยังผลต่อเนื่องไปสู่ "ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง" ดังนี้
***********
ไปรเวต ที่ 262/43047 วันที่ 4 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 114ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าฯ
ด้วยในการที่พระเสนีพิทักษ์จะออกไปราชการเมืองสงขลาคราวนี้ คำสั่งในส่วนทางราชการ จะได้รับพระราชทาน ให้เป็นข้าหลวงพิเศษ ออกไปไต่สวนความต่างๆ ซึ่งยังค้างอยู่ในหัวเมืองแขก 7 หัวเมือง มีข้อความแจ้งอยู่ในสำเนาตราพระราชสีห์ ซึ่งได้ทูลเกล้าถวายต่างหากอีกส่วนหนึ่งแล้ว
แต่คำสั่งราชการลับ ซึ่งเป็นท้องเรื่องราชการในหน้าที่พระเสนีพิทักษ์ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะได้ชี้แจงให้พระเสนีพิทักษ์เป็นที่เข้าเข้าใจพระบรมราชประสงค์ โดยใจความดังนี้ คือ
1. หัวเมืองแขก 7 หัวเมือง คือ ตานี 1 ยะหริ่ง 1 สายบุรี 1 รามัน 1 ระแงะ 1 ยะลา 1 หนองจิก 1 รวม 7 หัวเมืองนี้ เดิมรวมเป็นเมืองตานีเมืองเดียว อยู่มาครั้งหนึ่ง เมืองตานีเป็นขบถ กองทัพไทยลงไปปราบปรามมีชัยชนะ จึงโปรดฯ ให้แยกเขตแดนเมืองตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คงเรียกว่าเมืองประเทศราชเหมือนกัน แต่ให้อยู่ในบังคับบัญชาเมืองสงขลา สิทธิขาดคล้ายกับเมืองขึ้น ใช่แต่เท่านั้น ยังตั้งข้าราชการไทย ซึ่งเป็นบุตรหลานเชื้อวงศ์พระยาสงขลาในครั้งนั้น ลงไปเป็นพระยาเจ้าเมืองแขกเหล่านี้หลายหัวเมือง โดยความประสงค์ของราชาธิปไตยในเวลานั้น จะไม่ให้เมืองตานีมีกำลังใหญ่โต ซึ่งอาจจะก่อการขบถได้ดังแต่ก่อน และจะขยายอำนาจไทย ที่จะบังคับบัญชาการออกไปในหัวเมืองแขกให้สิทธิขาด การที่จัดในครั้งนั้นว่าโดยย่อคือ ตั้งใจที่จะเอกเมืองตานี ที่เป็นประเทศราชใหญ่อยู่แต่ก่อน กระจายออกเป็นหัวเมืองไทย ขึ้นเมืองสงขลา ดังนี้เป็นใจความ
2. ครั้นต่อมา อาศัยความเพิกเฉยของราชาธิปไตย และการที่พระยาสงขลาต่อๆ มา ตั้งหน้าแสวงหาประโยชน์ และอำนาจส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ในราชการ การบังคับบัญชาว่า หัวเมืองแขก 7 เมืองนี้ จึงผันแปรจากความคิดเดิม ของราชาธิปไตยมาโดยลำดับ กล่าวคือ การตั้งแต่ผู้ว่าราชการเมือง ก็ตกลงยังเป็นเลือกสรรแขกในหัวเมืองเหล่านั้น ตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมือง และสืบต่อวงศ์ตระกูลกันตามทำนอง เมืองประเทศราช ที่เป็นเมืองใหญ่อยู่โดยมาก ยังมีไทยเป็นเจ้าเมืองอยู่ แต่เมืองหนองจิกเมืองเดียว ส่วนการที่จะทำนุบำรุงอันใดออกไปจากเมืองสงขลาเป็นอันไม่มี พระยาสงขลาคงเป็นธุระ แต่การที่จะชำระความ ที่มีผู้ฟ้องร้องอุทธรณ์ผู้ว่าราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง กับที่จะเบียดเบียนเก็บผลประโยชน์ต่างๆ จากหัวเมืองแขกเหล่านี้ มาเป็นอาณาประโยชน์ของผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ด้วยวิธีกะเกณฑ์ต่างๆ ตามที่อยู่เวลานี้คือ
- ผู้ว่าราชการเมืองแขกเหล่านี้ ต้องแบ่งส่วนในภาษีอากรต่างๆ ให้พระยาสงขลา เมืองละมากบ้างน้อยบ้างตามกำลัง
- พระยาสงขลาแต่งให้นายหมวด นายกอง ออกไปตั้งควบคุมผู้คน บางหมู่บางเหล่าในเมืองเหล่านั้น เก็บเงินส่งมาเป็นอาญาประโยชน์ที่เมืองสงขลา
- พระยาสงขลามีที่ดินซึ่งเกิดประโยชน์ต่างๆ เช่น บ่อแร่ดีบุก เป็นต้น อยู่ในหัวเมืองเหล่านั้น และเก็บเงินจากที่เหล่านี้ เป็นอาณาประโยชน์หลายตำบล
- การกะเกณฑ์ขอร้องเบ็ดเตล็ดต่างๆ บางมื้อบางคราวก็มีอยู่
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน