Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (26)

"กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง ฯ" :
ว่าด้วยทัศนะของฝ่ายปะตานี (1)

อาณาจักรปาตานีหรือปะตานี พ.ศ. 2380

ในบทความพิเศษ "ประวัติศาสตร์แห่งการลวงเกี่ยวกับปัตตานี" โดย ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในปี พ.ศ. 2549) ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 08 ในบทความชื่อ "กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง : การเริ่มต้น "ความจริง" เกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง" ปัจจุบันสามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.peace.mahidol.ac.th/th/index.php?option=com_content&task=view&id=401&Itemid=155

ดร. ชัยวัฒน์ นำเสนอมุมมองของนักประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี โดยเริ่มต้นว่าเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) นี้สำคัญต่ออนาคตของปัตตานีเป็นอย่างยิ่ง Syukri เขียนว่า "ปี ค.ศ. 1902 เป็นปีที่เมืองปะตานีสูญเสียอำนาจอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการสูญเสียอธิปไตยของบรรดารายาและชาวเมืองปะตานี สิทธิเสรีภาพและความเป็นเอกราชอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้ากรุงสยามโดยสิ้นเชิง นับเป็นปีแห่งอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี"

ดร.ชัยวัฒน์ ตั้งข้อสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้คนอย่าง Syukri รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ "อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี" โดยให้ข้อสังเกตและนำเสนอ พร้อมกับวิเคราะห์ไว้ดังนี้:
**********
จริงอยู่สิ่งที่มากับข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง หมายถึงการสิ้นสุดของเอกราชปัตตานี แต่นอกจากเหตุผลในเชิงโครงสร้างแห่งความพ่ายแพ้ของหัวเมืองซึ่งมีอดีตเป็นอาณาจักรต่อรัฐชาติสมัยใหม่แล้ว ยังจะมีคำอธิบายอื่นต่อความรู้สึก "อัปยศที่สุด" นี้หรือไม่

เพื่อตอบคำถามนี้คงต้องย้อนไปพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับปัตตานีโดยเฉพาะตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 ที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ส่งขุนนางสำคัญคือพระยาศรีสิงหเทพมาเจรจากับเจ้าเมืองมลายู เพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจของเจ้าเมืองที่เกิดขึ้น จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ที่เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน ถูกจับ ข้าพเจ้า (ดร.ชัยวัฒน์) จะพิจารณาเหตุการณ์นี้จากเอกสารของฝ่ายนักวิชาการมาเลย์มุสลิมที่ตีพิมพ์ในมาเลเซีย โดยเฉพาะงานของ Nik Anuar Nik Mahmud (1999) ซึ่งอาศัยหลักฐานเอกสารชั้นต้นมาสร้างภาพเหตุการณ์การเจรจานี้ได้อย่างน่าสนใจ และน่าจะช่วยให้เข้าใจทั้ง "ความอัปยศที่สุด" และความสัมพันธ์ระหว่าง "ความจริง" ในกรณีนี้ และปัญหาที่ "ความจริง" นี้ส่งผลต่อปัญหาความรุนแรงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาต่อมาได้

ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2440 รัฐบาลสยามทำสัญญาลับกับรัฐบาลอังกฤษ เหตุผลฝ่ายไทยคือสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 เท่ากับปล่อยให้ตอนใต้ของไทยปราศจากหลักประกัน ในขณะที่อังกฤษเห็นความจำเป็นจะสกัดกั้นอิทธิพลของเยอรมนีไม่ให้ก้าวเข้ามาทางตอนใต้ของไทย สัญญาฉบับนี้ระบุว่า ไทยจะไม่ยอมให้ชาติหนึ่งชาติใดเช่าซื้อ หรือถือกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนไทยตั้งแต่ตำบลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษก่อนเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนอังกฤษสัญญาว่าจะให้ความคุ้มครองทางทหารต่อไทยหากถูกรุกรานจากชาติอื่น ในสายตาของฝ่ายมลายูมุสลิม สัญญาลับนี้เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลสยามจัดการเปลี่ยนแปลงในหัวเมืองภาคใต้ได้สะดวกขึ้น

กรุงเทพฯ ส่งพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) (หมายเหตุเพิ่มเติม: บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ เจ้าพระยายมราช) มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลที่ปัตตานี สิ่งแรกที่พระยาสุขุมฯ ดำเนินการคือ จัดเก็บภาษีอากรฝิ่นและเหล้าใหม่ โดยแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งให้กรุงเทพฯ ต่อมามีการเก็บภาษีที่ดินโดยไม่มีใบรับรอง ทำให้เก็บภาษีได้ปีละหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2443 เริ่มเก็บภาษีส่งออกและนำเข้าโดยแบ่งให้ฝ่ายเจ้าเมืองมลายูเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายคัดค้านระบบภาษีเช่นนี้มาแต่ต้น เพราะเห็นว่าสิทธิในการจัดเก็บภาษีเป็นของเจ้าเมืองไม่ใช่รัฐบาลสยาม

เมื่อเต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน ขึ้นเป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ในปี พ.ศ. 2441 กรุงเทพฯ ก็ตัดไม่ให้รายได้ส่วนนี้แก่เจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ อีกทั้งรัฐบาลสยามยังได้เลื่อนการแต่งตั้งท่านเป็นเจ้าเมืองปัตตานีอย่างเป็นทางการออกไปอีก 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมือง พระยาสุขุมนัยวินิตเกณฑ์กำลังทหารกว่า 600 คนมาบีบบังคับการเสียภาษีของประชาชน ยิ่งกว่านั้นข้าหลวงใหญ่ผู้นี้ยังห้ามไม่ให้เจ้าเมืองลงโทษประชาชนที่ขาดละหมาด (นมัสการ) วันศุกร์ และห้ามประชาชนบริจาคทานให้มัสยิดอีกด้วย แม้เมื่อเต็งกูกามารุดดินได้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีในที่ พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช แล้ว ก็ยังไม่สามารถร้องเรียนให้รัฐบาลกรุงเทพฯ แก้ปัญหาทุกข์ร้อนต่างๆ ของปัตตานีได้ จึงร้องเรียนไปยัง Frank Swettenham (หมายเหตุเพิ่มเติม : เซอร์ แฟรงค์ เอ. เสวทเทนแฮม) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2444 ในจดหมายร้องเรียนนั้นระบุว่า การกดดัน ก่อกวนของรัฐบาลสยามที่กระทำต่อปัตตานี "กำลังนำไปสู่ความพินาศของบ้านเมืองของข้าพเจ้า" แต่เพราะอังกฤษประสงค์จะสร้างสัมพันธ์อันดีกับสยาม จึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือดังที่เจ้าเมืองประสงค์

เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน จึงเรียกประชุมเจ้าเมืองต่างๆ ที่วังจาบัง ตีกอ ในปัตตานี เพื่อหารือถึงแนวทางดำเนินการต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบที่จะก่อขบถ โดยวางแผนไว้ในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 หลังจากได้อาวุธจากสิงคโปร์ โดยหวังว่าเมื่อหัวเมืองทางใต้ลุกฮือขึ้น ฝรั่งเศสจะเข้าตีสยามจากอินโดจีนทางเหนือ สยามคงต้องยอมปล่อยหัวเมืองมลายูให้เป็นอิสระ

แต่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2444 เซอร์เสวทเทนแฮมได้พบกับเต็งกูอับดุลกาเดร์ที่สิงคโปร์ เขาได้แนะนำรายาปัตตานีให้อดทน ให้หาทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง และให้คำมั่นว่าหากฝ่ายปัตตานีทำตาม เขาจะปรึกษากับรัฐบาลอังกฤษให้หาทางคืนอำนาจให้รายาปัตตานี เต็งกูอับดุลกาเดร์ คล้อยตามความเห็นของข้าหลวงอังกฤษผู้นี้ จึงยกเลิกแผนจะก่อขบถ ขณะเดียวกัน เซอร์เสวทเทนแฮมก็ได้ห้ามส่งอาวุธจากสิงคโปร์มายังเมืองต่างๆ ในปัตตานี กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ส่งข่าวดังกล่าวให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (หมายเหตุเพิ่มเติม : ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ) พระองค์จึงทรงส่งพระยาศรีสหเทพ มายังปัตตานีเพื่อสืบความ

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระยาศรีสหเทพและคณะเดินทางมาถึงปัตตานี ได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกาเดร์ทันที รายาปัตตานีได้อธิบายให้พระยาศรีสหเทพทราบถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายไม่พอใจข้าหลวงเทศาภิบาล ปัญหาที่ประชาชนต้องประสบเพราะการกดขี่ของข้าราชการสยาม ตลอดจนผลกระทบต่อสถานภาพของเจ้าเมือง รายาปัตตานีเสนอทางออกว่า สยามควรให้ปัตตานีปกครองตนเองเช่นเดียวกับรัฐเคดาห์ ใช้กฎหมายท้องถิ่นเป็นหลักในการปกครองและใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทางราชการ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8