Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (32)

การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง:
ว่าด้วยจุดยืนของราชสำนักสยาม (4)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยศสูงสุด)

(ตอนต่อ) ตอนสุดท้ายของคำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เรื่องการจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง ในบทความ "การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง" จากเว็บไซต์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
***********
พระราชประสงค์จะให้พระเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงคนแรกออกไปกำกับการจัดการหัวเมืองทั้ง 7 แต่ที่ไม่ได้แจ้งพระราชประสงค์ และตำแหน่งหน้าที่ของพระเสนีพิทักษ์ ในการนี้ให้ปรากฏในทางราชการไปแต่ทีแรกนั้น อาศัยเพราะเหตุ 2 ประการคือ
ประการที่ 1 เพราะธรรมดากิติศัพท์ ที่จะจัดการเปลี่ยนแปลงอันใด มักพาให้คนทั้งปวงสงสัยเข้าใจผิด ไปกว่าการที่จะเป็นจริง และเลื่องลืออื้อฉาวไปต่างๆ กิติศัพท์ที่เลื่องลือ เพราะความเข้าใจผิดของคนทั้งหลาย บางทีจะพาให้เกิดความหวาดหวั่นพรั่นใจ ในหัวเมืองเหล่านี้ หรือเป็นที่กินแหนงต่ออกไปจนหัวเมืองของอังกฤษ ถ้าเป็นเช่นนั้น ถึงจะมากน้อยเพียงใด ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่จะให้รำคาญขัดข้อง ในการที่จะจัดเป็นอันหาประโยชน์มิได้ จึงไม่ควรให้มีกิติศัพท์เลื่องลืออื้อฉาวขึ้นอย่างใด
ประการที่ 2 เพราะเมืองสงขลาเวลานี้ พึงจะลงมือจัดการยังไม่ทันที่จะเดินไปได้สักกี่มากน้อย การที่จะจัด จะต้องจัดเมืองสงขลา นำหน้าหัวเมืองอแขกดังได้ชี้แจงมาแล้ว ถ้าจะรีบเอะอะจัดหัวเมืองแขกขึ้นด้วยโดยทันที เกรงจะเป็นการหนักแก่ผู้จัดทั้งสองฝ่าย จะช่วยอุดหนุนติดต่อกันไม่ใคร่สะดวก ด้วยเหตุนี้ ท้องตราตามทางราชการซึ่งเป็นแค่สั่งให้พระเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงพิเศษลงไปไต่สวนการที่คั่งค้างอยู่แต่บางเรื่อง โดยหวังจะให้เป็นโอกาสแก่พระเสนีพิทักษ์ ได้ตรวจตรารู้เห็นการในบ้านเมือง แลคุ้นเคยกับผู้คนได้ที่จะตั้งต้น จัดการเปลี่ยนแปลงในหัวเมืองทั้ง 7 นี้
9. เมื่อพระเสนีพิทักษ์ลงไปถึงหัวเมืองแขกทั้ง 7 เจ้าเมืองเหล่านี้ โดยมากคงจะพากันร้องขอความอนุเคราะห์ เพื่อจะให้พ้นจากอำนาจเมืองสงขลา แลขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ คำร้องเช่นนี้จะมีก็ตาม หรือไม่มีก็ตาม เมื่อพระเสนีพิทักษ์ ได้ลงไปถึงท้องที่ ให้ถือเป็นโอกาสที่จะไต่ถามการที่เป็นอยู่ในบ้านเมือง แลความเดือดร้อนขัดข้อง ของผู้ว่าราชการหัวเมืองเหล่านี้ มีอยู่อย่างใดๆ แลรับเอาเป็นธุระโดยส่วนตัวที่จะเรียบเรียงรายงานบอกเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อจะได้ทรงพระราชดำริ ให้จัดการแก้ไขให้ดีขึ้นประการใด

10. ในการที่ได้โอกาสและคบค้าสมาคม ไต่ถามต่อผู้ว่าราชการหัวเมืองเหล่านี้ ตามที่ได้ว่ามาในข้อก่อนนั้น ควรที่จะพระเสนีพิทักษ์ จะอธิบายชี้แจงประโยชน์ในทางที่จะจัดการบ้านเมือง ให้บังเกิดความนิยมของผู้ว่าราชการกรมการเหล่านี้ ให้มีต่อข้าหลวงเสมอ ทำทางไว้เผือการที่จะจัด ถ้ายิ่งคิดอ่านถึงให้ผู้ว่าราชการเมืองเหล่านี้ มีใบบอกเข้ามาขอข้าหลวงกรมการเหล่านี้ ลงไปช่วยแนะนำราชการบ้านเมืองได้เป็นการดี เพราะถ้าอาศัยเหตุให้เป็นไปได้ด้วยการนิยม ของผู้ว่าราชการเมืองเช่นนั้นแล้ว การที่จะว่างก็จะเรียบร้อยได้โดยง่าย เพราะปิดประตูอุทธรณ์หรือความจำใจต่างๆ ได้สนิท

11. แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพระเสนีพิทักษ์ ได้ตรวจการบ้านเมืองตลอด แลได้รับรายงานของพระเสนีพิทักษ์ ตรวจจัดการเป็นที่เรียบร้อยแก่ผู้ว่าราชการเมืองแขก 7 หัวเมืองแล้ว จะได้มีท้องตรา ตั้งพระเสนีย์พิทักษ์ เป็นข้าหลวงกำกับต่อไปทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่พระเสนีย์พิทักษ์ลงไปถึง ควรตั้งหน้าสืบสวนราชการในพื้นบ้านเมือง แลคิดรู้จักผู้คนที่สำคัญๆ ในบ้านเมือง ตระเตรียมความรู้เห็นแลความสามารถในตัว ในหน้าที่ข้าหลวงกำกับหัวเมืองแขกไว้ เมื่อได้รับท้องตรานั้นเมื่อใด จะได้จัดการตลอดไป

12. การที่จะสืบสวนเอาความรู้เห็นในชั้นต้น เมื่อพระเสนีพิทักษ์ได้ลงไปถึงหัวเมืองแขกทั้ง 7 แล้วต้องตั้งใจสืบสวนการในพื้นเมือง คือในการภูมิประเทศในวิธีการปกครอง วิธีการเก็บผลประโยชน์และการที่เกี่ยวข้องกับเมืองสงขลา แลคดีถ้อยความของราษฎร ตลอดจนความดีชั่วที่มีอยู่ในเจ้าเมืองกรมการและธรรมเนียมบ้านเมืองให้รู้โดยละเอียด และควรทำรายงานความรู้เห็น ทั้งนี้บอกส่งเข้ามาเป็นไปรเวตด้วย

13. การที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการที่จะคบค้าสมาคมกับเจ้าเมืองกรมการ แลพวกที่เป็นหัวหน้าในราษฎรคือ พ่อค้าจีนเป็นต้น การตั้งใจคบค้าสมาคมให้คุ้นเคยชอบพอไว้ตั้งแต่แรก เพราะจะเป็นกำลังได้มาก

14. การจัดหัวเมืองแขกทั้ง 7 นี้ ถึงจะจัดอย่างไรๆ คงอยู่ในต้องอาศัยเมืองสงขลา เพราะเมืองสงขลาเป็นเมืองใหญ่ แลเป็นเมืองไทยซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดต่อกัน เวลานี้พระวิจิตรวรสาสน์เป็นข้าหลวงตั้งจัดการอยู่ที่เมืองสงขลา ถ้าพระเสนีพิทักษ์รู้เห็นการในหัวเมืองแขก หรือจะคิดอ่านจัดการประการใด หรือมีความขัดข้องที่จะบอกข้อราชการให้พระเสนีพิทักษ์มีใบบอกตรงเข้ามากรุงเทพฯ แต่ราชการอย่างใดซึ่งสมควรจะให้พระวิจิตรวรสาสน์รู้เห็นไว้ด้วย ก็ให้บอกให้พระวิจิตรวรสาสน์ทราบด้วยจงทุกคราว

15. อนึ่ง การที่ออกไปในหัวเมืองแขกครั้งนี้ ควรจะระวังปากเสียงอย่างหนึ่ง คือในการที่จะกล่าวคำครหาติเตียนพระยาวิเชียรคิรี หรือกรมการเมืองสงขลา ต่อพวกแขก ถ้อยคำเหล่านี้ควรตั้งใจเว้น และอย่ากล่าวโดยไม่จำเป็น เพราะบางที จะให้พวกแขกเกิดความคิดหมิ่นประมาท ตำแหน่งผู้ว่าราชการและกรมการเมืองสงขลา (อันจะมีในภายหน้า) ได้ คำสั่งนี้จะได้รับพระราชทานให้พระเสนีพิทักษ์อ่านทราบเกล้าฯ ก่อนที่จะไปแต่ต้นฉบับจะเก็บไว้ที่ศาลาลูกขุน

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ ขอเดชะ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ที่มา กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เอกสารรัชกาลที่ 5 ม.49/27 เรื่องผลประโยชน์เมืองหนองจิกและเมืองแขก 7 เมือง http://www.geocities.com/bluesing2001
***********
หลังการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการต่อต้านขัดขืนเป็นระลอกในบริเวณเจ็ดหัวเมือง เนื่องจากรายาหรือเจ้าครองนครเดิมของอาณาจักรปาตานี ตระหนักถึงการคุกคามและอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคงในบูรณภาพของ "ดินแดน" เหนืออาณาจักรปาตานีที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยมีความไม่ชัดเจนในสถานะระหว่าง "ประเทศราช" หรือเป็นส่วนหนึ่งของ "รัฐสยาม"

นั่นคือ ในช่วงเวลาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นระยะผ่านการก่อรูปแนวคิด "อาณาจักรปาตานี/ชาตินิยมปาตานี" เพื่อความชัดเจนของ "รัฐและบูรณภาพแห่งดินแดน”.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23-29 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8