การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง:
ว่าด้วยจุดยืนของราชสำนักสยาม (3)
เสนาบดีกระทรวงต่างๆ
และที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ ถ่ายภาพที่ระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในคราวประชุมเทศาภิบาล พ.ศ. 2442 (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(ตอนต่อ) คำกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เรื่องการจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง ในบทความ "การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
***********
6. ความดำริที่จะจัดการในหัวเมืองแขกทั้ง 7 ต่อไปนี้- เห็นควรจะให้คงเป็น 7 หัวเมือง ดังเป็นอยู่บัดนี้
- จะให้ข้าหลวงไทยประจำตรวจตราคอยบังคับบัญชาการในหัวเมืองแขกทั้ง 7 กองหนึ่ง
- การบังคับบัญชาในพื้นเมือง จะให้ผู้ว่าราชการเมืองคงมีอำนาจที่จะบังคับบัญชา รักษาการตามธรรมเนียมบ้านเมืองที่มีอยู่ ที่ข้าหลวงเห็นชอบด้วย
- ให้ผู้ว่าราชการเมือง มีอำนาจที่จะบังคับบัญชารักษาการ ตามกฎหมายประเพณี เว้นไว้แต่ความซึ่งโทษถึงประหารชีวิต หรือริบทรัพย์สมบัติ แลความอุทธรณ์ต้องส่งมาพิจารณา ณ ที่ศาลข้าหลวง ส่วนคำพิพากษาโทษประหารชีวิต และโทษริบทรัพย์ ข้าหลวงต้องส่งเข้ามาขอรับพระราชทาน พระบรมราชานุญาตก่อน เหมือนกับเมืองชั้นใน
- ส่วนภาษีอากรนั้น ให้ผู้ว่าราชการเมืองคงเก็บตามเดิม แต่ให้มีส่วนลดเป็นภาคหลวง พอที่จะใช้การข้าหลวง กำกับเมืองแขกทั้ง 7 นั้นแล เหลือส่งมาจ่ายราชการบ้าง
- การที่ต้องเสียส่วย หรือผลประโยชน์อันใดต่อพระยาสงขลา หรือการที่พระยาสงขลาตั้งนายหมวด นายกองลงไปควบคุมผู้คนอันใด อยู่ในหัวเมืองแขกเหล่านั้น เป็นแยกเลิกไปจัดการใหม่ แต่การควบคุมคนไทย ซึ่งออกไปอยู่ในเมืองแขก ผู้ว่าราชการเมือง ต้องพร้อมด้วยข้าหลวงเลือกสรรคนไทยเหล่านั้น ตั้งเป็นกรมการหัวหน้าคนไทยขึ้นไว้ในบ้านเมือง ทำนองกรมการจีน ให้มีมากน้อยตามส่วนคนไทยที่จะมี
- การที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ให้หัวเมืองแขกเหล่านี้ ส่งต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการตามเคย ส่วนใบบอกราชการต่างๆ จะบอกตรงเข้ากรุงเทพฯ หรือจะบอกต่อข้าหลวง แต่จะบอกอย่างไรก็ตาม ต้องให้ข้าหลวงทราบด้วยทุกคราว ส่วนท้องตราก็อย่างเดียวกัน
- บรรดาการที่จะเกี่ยวกับคนในบังคับต่างประเทศประการใด ต้องเป็นธุระในหน้าที่ของข้าหลวงโดยเฉพาะ
- ข้าหลวงกับหัวเมืองทั้ง 7 ให้ตั้งที่ว่าการที่เมืองสงขลาแห่งหนึ่ง ให้ตั้งที่ว่าการในหัวเมืองแขกทั้ง 7 นั้นแห่งหนึ่ง และให้หมั่นไปตรวจราชการในหัวเมืองทั้ง 7 นี้เนืองๆ ถ้าประเพณีการบ้านเมืองอย่างใดเสื่อมเสีย ไม่ควรแก่ประโยชน์ของราชการ หรือเป็นที่เดือดร้อน แก่พลเมืองอยู่ประการใด ข้าหลวงมีอำนาจที่จะตักเตือนผู้ว่าราชการเมือง แก้ไขให้เรียบร้อย
7. เมื่อได้จัดวางการชั้นต้น เป็นดังที่ได้ว่ามาในข้อก่อนนั้นแล้ว การที่จะจัดต่อไปในหัวเมืองแขกทั้ง 7 นี้ว่าเคยย่อเป็น 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 ทำนุบำรุงให้เกิดผลประโยชน์ด้วยการค้าขาย เพาะปลูกแลการทำเหมืองแร่ ให้เจริญยิ่งขึ้นกว่าทุกวันนี้ คงต้องให้ผลประโยชน์ในการบ้านเมืองนั้น เจือจานเจ้าเมืองกรมการตามสมควรบ้าง เป็นภาคหลวงสำหรับใช้สอยราชการบ้าง ประมาณภาคหลวงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของผลประโยชน์ที่จะพึงได้
ประการที่ 2 กฎหมายแลขนบธรรมเนียมแบบแผนอย่างใดๆ ซึ่งจะได้จัดให้การเจริญขึ้นในเมืองชั้นใน จะจัดอย่างใด ขยายต่อออกไปในเมืองเหล่านั้นเมื่อใด ต้องจัดไปโดยลำดับด้วย ความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองหัวเมืองเหล่านี้ ให้เหมือนกับหัวเมืองชั้นใน เป็นแต่จะจัดให้ค่อยเป็นไปโดยลำดับ ไม่ต้องรื้อแบ่งแบบแผนเก่าโดยรุนแรง ให้เป็นที่ชอกช้ำแก่ผู้ว่าราชการเมืองประการใด
ประการที่ 3 ที่จะสมาคมแลชักชวนฝึกหัดผู้ว่าราชการหัวเมืองทั้ง 7 แลพวกเหล่ากอที่จะรับราชการต่อไป ในหัวเมืองเหล่านี้ ที่ให้สนิทสนมต่อกรุงเทพฯ อาศัยด้วยการที่ให้หมั่นไปมา หรือด้วยการที่จะสมาคม คบหากับข้าราชการไทยก็ดี โดยความมุ่งหมายในการต่อไป ที่จะเพาะปลูกคนที่จะรับราชการในพื้นบ้านพื้นเมืองเหล่านี้ ถึงว่าจะเป็นแขกต่างศาสนาก็ให้มีน้ำใจ แลอัธยาศัยเป็นไทย เช่นข้าราชการทั้งปวงใจความมุ่งหมายที่จะจัดการเมืองแขกทั้ง 7 ชี้แจงมาโดยสังเขปพอให้เข้าใจดังนี้ การที่จะจัดให้เป็นดังความมุ่งหมายเช่นนี้ ประมาณดูเห็นไม่เป็นการยากอันใดนัก เพราะหัวเมืองแขกเหล่านี้ มีไทยเป็นพลเมืองอยู่เป็นอันมาก ถึงพวกแขกที่สุดจนผู้ว่าราชการเมืองที่เป็นแขก ก็มักจะรู้ภาษาไทย แลมีอัธยาศัยใกล้มาทำนองไทยอยู่โดยมาก การที่จะพูดจาด้วยการใดเป็นที่เข้าใจกับไทย พูดได้ง่ายแลเชื่อฟังง่ายกว่าหัวเมืองที่อยู่ข้างนอก อีกประการหนึ่ง การที่จะออกไปจัดครั้งนี้ ก็มิใช่การที่จะไปปราบปรามให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเดือดร้อน ว่าที่แท้การที่จะไปจัดเปลี่ยนแปลงอย่างใด เป็นการมีแต่จะให้ความดีแก่ผู้ว่าราชการแลราษฎร ในหัวเมืองเหล่านั้นยิ่งขึ้นที่สุด จนการที่จะคิดอ่านแย่งเอาผลประโยชน์เป็นภาคกลาง เมื่อคิดดูก็ไม่เป็นการเอาเปรียบกว่าทุกวันนี้ เพราะเลิกส่วนที่ต้องเสียแก่พระยาสงขลายกให้เสมอย้ายมาเท่านั้น ว่าอย่างต่ำ การที่ต้องเสียเงินทองก็เพียงเสมออยู่กับทุกวันเดียวนี้ ถ้าหากว่าข้าหลวงผู้ไปจัดการมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อ เอาใจใส่ต่อการที่จะจัดโดยมั่นคง และรู้จักเอาใจสั่งสอนผู้ว่าราชการกรมการ คงจะจัดการสำเร็จตลอดไปได้ ด้วยความนิยมของเจ้าเมือง กรมการ แลราษฎรพลเมืองให้แลเห็นผลที่ดีขึ้นได้โดยเร็ว
8. การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกสรรให้พระเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงออกไปหัวเมืองทั้ง 7 ครั้งนี้ เพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า พระเสนีพิทักษ์รู้ภาษามลายู ได้คุ้นเคยราชการในหัวเมืองแขกมลายูมาแต่ก่อน ทั้งพื้นอัธยาศัยและความสามารถ ก็ทรงพระราชดำริเห็นว่าพอจะสนองพระเดชพระคุณ ให้ราชการหัวเมืองเแขกทั้ง 7 เรียบร้อยเป็นไปได้ ดังพระบรมราชประสงค์ซึ่งได้ชี้แจงมาข้างต้นว่าโดยย่อคือ
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครังแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน