Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (34)

บทสรุปและผลกระทบจากกรณี
"พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ"

คณะผู้สำเร็จราชการฯ แทนรัชกาลที่ 8 พ.ศ.2478 (จากซ้ายไปขวา) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ทรงเป็นประธาน, เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

แม้ว่ารัฐบาลรัตนโกสินทร์ที่เพิ่งสามารถสถาปนาการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ค่อนข้างมั่นคงแล้วภายหลังปี พ.ศ. 2445 และเมื่อพิจารณาจากดินแดนหัวเมืองประเทศราชเดิมในภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมกับสามารถเปลี่ยนหัวเมืองมลายูทั้งเจ็ดเป็นบริเวณเจ็ดหัวเมืองอันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรได้ ระหว่างปี พ.ศ. 2444 และ พ.ศ. 2449 ขณะที่อำนาจในการบริหารปกครองส่วนใหญ่อยู่ที่ขุนนางข้าราชการซึ่งถูกแต่งตั้งมาจากส่วนกลาง โดยที่ยับยั้งมิให้การที่พระยาแขกหรือเจ้าผู้ครองนคร (รายา) คบคิดขบถลุกลามขึ้นเป็นจลาจลได้ในปี พ.ศ.2444 และ พ.ศ.2445 แต่ก็มิได้ปรากฏว่าจะสร้างความสงบขึ้นในมณฑลปัตตานีได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะการที่รัฐบาลถอดยศถาบรรดาศักดิ์พระยาเมือง โยกย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการเมืองอื่น ปลดเกษียณเป็นพระยาจางวาง หรือกระทั่งยุบเมืองลงเป็นเพียงอำเภอ ไม่สามารถแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานได้ในระยะสั้น

ในปี พ.ศ.2466 เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หรือเดิม พระยาสุขุมนัยวินิต อดีตสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ให้ความเห็นต่อกรณี "พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ" ว่า "เหตุการณ์ย่อมเกิดขึ้นมาแต่เล็กๆน้อยๆแล้วรวมสุมกันขึ้นเป็นเหตุใหญ่" อีกทั้งทัศนคติของขุนนางข้าราชการบางคน"ไม่ใคร่จะรฦกว่า เป็นเมืองแขก กิจการอย่างใดที่ทำได้ในมณฑลชั้นใน ตลอดจนการเก็บภาษีอากรก็เห็นเป็นไม่สำคัญ ต่างน่าที่ก็กวดขันเร่งรัดเอาแต่ได้ ฝ่ายสมุหเทศาภิบาลหรือเจ้าพนักงานท้องที่ไม่มีกำลังพอที่จะดึงดังขัดขวางไว้ ... การวางระเบียบรีดรัด การเพิ่มภาษีอากร การเร่งเร้าต่างๆ เป็นข้อที่เกี่ยวข้อง แก่ประชาชน ถูกรบกวนอยู่เสมอ จึงทำให้ความนิยมนับถือเจ้าหน้าที่เสื่อมลง เมื่อมีใครมาหนุนหรือมีเหตุกระทบกระเทือนเข้าเล็กน้อยก็เลยหันเหไปได้ง่าย ยิ่งเป็นบุคคลที่มีชาติศาสนาแล้ว ก็ยังเป็นการง่ายยิ่งขึ้น"

และนับแต่ พ.ศ.2449 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ที่ส่อเค้าเกิดขึ้นในมณฑลปัตตานีขึ้นหลายครั้งหลายคราว เท่ากับเป็นสัญญาณบ่งบอกเกี่ยวกับกรณีพระยาแขกคบคิดขบถ ร.ศ.121 ยังหาได้สิ้นสุดลงไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดเหตุการณ์กบฏอีกหลายๆ ครั้งตามมาในช่วงปี พ.ศ. 2452 -2454 ซึ่งทางราชสำนักสยามมองว่าผู้ก่อการกบฏส่วนหนึ่งเป็นคนของอดีตพระยาเมืองปัตตานี

หมายความว่าเป้าประสงค์ที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงวางไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2439 ในอันที่จะ "เพาะปลูกคนที่จะรับราชการในพื้นบ้านเมืองเหล่านี้ ถึงว่าจะเป็นแขกต่างศาสนา ก็ให้มีน้ำใจ และอัทยาไศรย เป็นไทย เช่นข้าราชการทั้งปวง" ยังไม่สามารถปรากฏเป็นจริงขึ้น เช่นที่ใช้ได้ผลในภูมิภาคอื่นมาแล้ว

ดร. เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหรัฐอเมริกา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 ให้ความเห็นถึงการสิ้นสุดการปกครองในฐานประเทศราชของราชวงศ์ปัตตานี "…ควรบันทึกไว้อีกด้านหนึ่งด้วยว่า สำหรับนักประวัติศาสตร์มลายู ปี พ.ศ. 2445 เป็นปีของการล่มสลายครั้งสุดท้ายของชาติปัตตานี เป็นการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของรายาและการทำลายอธิราชของชาวมลายูในประเทศ ปัตตานีและการจำนำสิทธิเสรีภาพ อิสรภาพของปัตตานีในมือของสยาม ปีนี้จึงเป็นปีสุดท้ายที่โชคร้ายที่สุดของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายู ปัตตานี…" (เตช บุนนาค เขียน ภรณี กาญจนัษฐิติ แปล, การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435-2458, กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548 หน้า 195)

นอกจากนั้น จากบทกล่าวนำในบทความวิชาการ "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" โดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอไว้ดังนี้
**********
การปฏิรูปหัวเมืองทั้ง 7 ในรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่แรกเริ่มใน พ.ศ. 2439 จนถึงเมื่อประกาศตั้งมณฑลปัตตานีใน พ.ศ. 2449 ชี้ว่า รัฐบาลกลางประสบความสำเร็จในการเข้าไปจัดการบริหารปกครองดินแดนส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย โดยไม่ได้ก่อให้เกิดการต่อต้านหรือความรุนแรงในระดับราษฎรทั่วไป แต่ได้สร้างความแตกร้าวกับผู้ปกครองเดิมในส่วนบน โดยรัฐบาลได้ใช้มาตรการเด็ดขาดกับผู้นำที่คัดค้านไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิรูป ขณะเดียวกันรัฐบาลกลางก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินการด้านการทูตกับมหาอำนาจตะวันตก คือ อังกฤษที่พยายามเข้ามาแทรกแซงในกิจการในหัวเมืองส่วนนี้ โดยยืนยันอำนาจสยามในหัวเมืองทั้ง 7 และแยกความแตกต่างในสถานะของหัวเมืองทั้ง 7 ออกจากหัวเมืองมลายูชั้นนอก คือกลันตันและตรังกานู ส่วนด้านการจัดการปกครองภายใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดให้ใช้ "นโยบายผ่อนปรน" ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ในการจัดระเบียบใหม่ของเมืองเหล่านี้ โดยให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และขนบธรรมเนียมความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของท้องถิ่น  เช่น ยกเลิกการเก็บภาษีหางข้าวในปัตตานีประจำปี พ.ศ. 2445  ยกเลิกส่วนต้นไม้เงินทองใน พ.ศ. 2445 ยกเว้นเงินค่าราชการให้บุตรหลานพระยาเมือง เพิ่มเงินตอบแทนรายปีแก่พระยาเมืองและเงินเลี้ยงชีพแก่บุตรหลานญาติพระยาเมืองเดิม ยกเลิกการเกณฑ์แรงงานราษฎรในการโยธา เป็นจ่ายค่าแรงว่าจ้างแทน  เลือกสรรข้าราชการที่มีคุณสมบัติดีพิเศษมารับราชการในดินแดนนี้ จัดระบบการศาลในหัวเมืองเหล่านี้ให้สอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม โดยให้อยู่ในอำนาจของ "โต๊ะกาลี" (หมายเหตุเพิ่มเติม - ผู้รู้และเป็นที่นับถือในศาสนาอิสลาม เป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม) พระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124  และทำนุบำรุงเมืองให้เจริญทัดเทียมและเกินหน้ากลันตันและตรังกานู เป็นต้น

แนวทาง "ผ่อนปรน" เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่นสามารถป้องกันไม่ให้ความไม่พอใจต่อการปลดย้ายเจ้าเมืองเดิมที่ต่อต้านการปฏิรูปดารปกครองกลายเป็นความรุนแรงระดับมวลชนชั้นล่างได้อยู่หลายปี จนถึงปลายรัชกาลที่ 5 จึงได้เกิด "กบฏผู้วิเศษ ร.ศ. 128" (พ.ศ. 2452) ซึ่งดำเนินอยู่จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 ใน ร.ศ. 130 (พ.ศ.2454)  อย่างไรก็ดีทางการไทยแทบไม่ปรากฏหลักฐานถึงมูลเหตุที่เกี่ยวข้องเว้นแต่ที่ว่าเกี่ยวกับศาสนาอิสลามซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่าเป็นความคิดที่ฝ่ายไทยเข้าไม่ถึง หลังจากนั้นขบวนการต่อต้านนำโดยกลุ่มผู้นำทางศาสนาดังกล่าวก็ค่อย ๆ จางหายไป ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในมณฑลปัตตานีในระยะต่อมาปรากฏชัดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงที่ฐานหลัก คือศูนย์อำนาจส่วนกลางของรัฐสยามเป็นสำคัญ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงในระบบบริหารเทศาภิบาลส่วนบนภายหลังการกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. 2458 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 เมษายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8