การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง:
ว่าด้วยจุดยืนของราชสำนักสยาม (2)
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
(พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จตรวจราชการหัวเมืองใต้ พ.ศ.
2439
บทความ "การจัดราชการเมืองแขก 7 หัวเมือง" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มีเนื้อความต่อไปว่า
***********
ผลประโยชน์ที่พระยาสงขลาได้จากหัวเมืองแขกทั้ง 7 เมือง จะเป็นแขกหรือไทยก็ตาม มีอำนาจในบ้านเมืองเหล่านั้น สิทธิขาดตามแบบแผนเมืองประเทศราช คือ มีอำนาจที่จะเก็บภาษีอากร ตามอัตราในบ้านเมืองแลจับจ่ายใช้สอยได้โดยอำเภอใจ และมีอำนาจเหนือราษฎร สิทธิขาดทำได้จนประหารชีวิต การที่จะเกี่ยวข้องตรงต่อกรุงเทพฯ มีการตั้งแต่งผู้ว่าราชการเมือง แลกรมการผู้ใหญ่ กับส่งต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการตามธรรมเนียมเป็นสำคัญ การที่จะบอกข้อราชการอันใด ตามแบบแผนต้องบอกเมืองสงขลาเข้าอีกชั้นหนึ่ง ส่วนท้องตราแลข้อบังคับที่มีไปจากกรุงเทพฯ ตามแบบแผนก็ต้องส่งไปทางเมืองสงขลาอย่างเดียวกันการที่เป็นดังนี้ ถ้าพิเคราะห์ดูโดยรูปการ ก็ดูเหมือนว่าราชการเมืองแขกทั้ง 7 ถึงจะเป็นเมืองเล็กน้อย ก็ดูควรจะมีความสุขสำราญ เป็นที่พอใจของผู้ว่าราชการเมือง เพราะอำนาจแลผลประโยชน์ก็มีมาก ทั้งราชาธิปไตยก็ไม่บังคับกวดขันอันใด แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ว่าราชการเมืองแขกทั้ง 7 นี้ มีความเดือดร้อนในการที่ต้องถูกรบกวน เบียดเบียนของผู้ว่าราชการเมืองสงขลาอยู่โดยมาก พากันกระวนกระวายอยากจะขึ้นต่อกรุงเทพฯ มาช้านาน เที่ยวบ่นว่ากล่าวจะให้สำเร็จตามประสงค์อันนี
3. พิเคราะห์ดูข้อเดือดร้อน ของผู้ว่าราชการเมืองแขกทั้ง 7 ที่จะขอลาออกจากเมืองสงขลานั้น เข้าใจว่า เป็นเพราะเรื่องชำระความอุทธรณ์อย่างหนึ่ง คือถ้าโจทก์มาฟ้องร้องยังเมืองสงขลา ผู้ว่าราชการ กรมการพวกนี้ ต้องมาเป็นคู่ความ อยู่ในบังคับบัญชากรมการเมืองสงขลา ต้องเสียเงินทองในการเหล่านี้คราวละมากๆ อีกอย่างหนึ่ง เดือดร้อนที่ผู้ว่าราชการเมืองสงขลา ตั้งกรมการ นายหมวด นายกอง ลงไปควบคุมเกี่ยวข้องผู้คนพลเมือง ให้เป็นฝักเป็นฝ่ายประการหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งเข้าใจว่าเดือดร้อนด้วยการขอร้องกะเกณฑ์จุกจิกต่างๆ ซึ่งผู้ว่าราชการเมือง แลกรมการเมืองสงขลาอาจจะทำได้หลายคน ความเดือดร้อนเข้าใจว่า จะเป็นด้วยเหตุเหล่านี้เป็นเงินประจำปี แบ่งจากเงินที่ได้ไม่ต้องชักเนื้อเถือหนังอันใด แลเห็นว่าถ้าความเดือดร้อนแต่เรื่องเงินประจำปีแล้ว ที่ไหนผู้ว่าราชการเมืองแขกเหล่านี้จะเที่ยวบนบานขอร้องออกจากเมืองสงขลา แต่อย่างไรก็ดี ในการเรื่องนี้จะทอดทิ้งเพิกเฉยต่อไปไม่ได้
4. ที่จำเป็นจะต้องลงมือจัดการหัวเมืองแขกทั้ง 7 นี้ อาศัยเหตุ 5 ประการ คือ
ประการที่ 1 ตามเหตุการณ์เกี่ยวกับต่างประเทศ ที่ได้มีมาต่อพระราชอาณาเขตในตอนนี้ ทำให้เป็นการจำเป็นจะต้องรีบจัดแก้ไขการเสื่อมเสียทั้งปวง ซึ่งมีอยู่ในวิธีการปกครองของเรา ทำนุบำรุงราชการบ้านเมือง ให้ปรากฏแก่ตาโลกย์ทั้งหลายว่า เมืองไทยตั้งหน้าเดินไปสู่ทางเจริญด้วยลำพังโดยเต็มกำลัง การที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองดังนี้ ยิ่งจัดให้แพร่หลายออกไปได้เท่าใด ก็ชื่อว่าพระราชอาณาเขตมั่นคงออกไปโดยลำดับท้องที่ที่ได้จัดการไปนั้น
ประการที่ 2 หัวเมืองแหลมมลายู เฉพาะหัวเมืองแขกทั้งปวงนี้ อยู่ในที่ล่อแหลม นับเป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นของอ่อน ในพระราชอาณาเขต อันอาจจะบุบถลายได้ง่ายกว่าหัวเมืองไทย ซึ่งอยู่ภายในเข้ามา
ประการที่ 3 เวลานี้ พวกอังกฤษคิดจะทำการค้าขาย ตั้งหลักฐานต่อเข้ามาถึงหัวเมืองแขกในพระราชอาณาเขต การที่เราจะปิดห้ามเสียนั้นไม่ได้ ด้วยเป็นการผิดนิยมของโลกย์ มีทางแก้อยู่อย่างเดียวที่จะต้องชิงจัด ชิงเปิดการค้าขายเต็มภูมิลำเนาได้เท่าใด ก็เป็นเครื่องป้องกันชาวต่างประเทศจะเข้ามาแย่งชิงประมูลทำก็ยากขึ้น โดยจะเข้ามาทำได้บ้างเมื่อกำลังในพื้นเมืองเป็นใหญ่กว่า แลมีการปกครองดีอยู่แล้ว ทางจะเกิดเหตุเสื่อมเสียก็มีน้อย
ประการที่ 4 เพราะเหตุที่ต่างประเทศขวนขวายจะเข้ามาทำมาหากินในหัวเมืองแขกมากขึ้น ถ้าเราไม่ลงมีจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง มีทางที่จะเกิดเหตุใหญ่ง่าย ด้วยพวกที่ทำมาหากินเหล่านั้น พวกนั้นมักใช้สายบนบานขอร้องเอาสัญญาที่ฝ่ายเขาจะได้เปรียบต่างๆ จากผู้ว่าราชการเมืองแขก เอาไปเป็นหลักฐานเข้ามาอ้างเป็นเหตุที่จะทำการต่างๆ รอดอยู่ด้วยเมืองแขกประเทศราชใหญ่ เช่น กลันตัน ตรังกานู มีนิสัยเกลียดฝรั่งอยู่เป็นพื้น แลเช่นเมืองไทรเล่าก็เพราะเหตุที่ตั้งหน้าจัดการค้าขายเปิดบ้านเมือง รู้เท่าทันฝรั่ง พวกชาวต่างประเทศจึงเข้าแทรกแซงไม่ติด แต่หัวเมืองเล็กน้อย เช่น แขก 7 เมือง จะไว้ใจทั่วไปไม่ได้ ด้วยเป็นเมืองเล็กน้อย อยู่ในอำนาจเงินโดยมาก เช่น พระยาระแงะ ไปทำสัญญาขายภาษีอากรแลประโยชน์การทำเหมืองแร่ ในบ้านเมืองให้แขกสิงคโปร์ แขกนั้นเอาไปขายให้มิสเตอร์ลีซคนอังกฤษ เช่นนี้ถ้าทอดทิ้งไว้ไม่ดูแลให้แข็งแรง เหตุเช่นนี้ยังจะมีได้อีก จึงจะไม่เสื่อมเสียมากมายประการใด ก็เป็นความรำคาญแก่ราชาธิปไตยได้มากๆ
ประการที่ 5 อาศัยเหตุที่ผู้ว่าราชการเมืองแขกทั้ง 7 มีความเดือดร้อนดังได้รู้อยู่แล้วประการหนึ่ง แลอาศัยเหตุที่พวกอังกฤษคิดหาผลประโยชน์ต่อเข้ามาในหัวเมืองแขกประการหนึ่งประสมกัน ถ้าเราไปทอดทิ้ง ไม่ชิงจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นที่เรียบร้อยโดยรวดเร็ว ภายหน้าแขกพวกนี้จะประพฤติผิดร้ายแรง เช่น กู้ยืมเงิน หรือที่สุดวิ่งเข้าหาฝรั่ง ให้เป็นความลำบากเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นจำเป็นต้องรีบจัดการหัวเมืองแขกให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุดที่จะพึงทำได้
5. บางที่จะเป็นข้อสงสัยว่า หัวเมืองมลายูประเทศราช ยกเมืองไทรเสียเพราะเหตุว่าเป็นเมืองที่ได้จัดการทำนุบำรุงอยู่ในตัว เมืองตรังกานู กลันตัน เป็นเมืองใหญ่ เมืองสำคัญ และอยู่ล่อแหลม อยู่ใกล้ชิดเขตแดนอังกฤษ เหตุใดจึงไม่จัดการหัวเมืองสำคัญทั้งสองนั้น และจะจัดการเมืองแขกเล็กน้อยทั้ง 7 เมือง ซึ่งอยู่ภายในนี้ก่อนความข้อนี้จะชี้แจงให้เข้าใจได้ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 เมืองกลันตัน ตรังกานู ถึงเป็นเมืองของไทย โดยแท้จริงเป็นเมืองประเทศราชเต็มบรรดาศักดิ์ ซึ่งอังกฤษดูแลอยู่ด้วยความมุ่งหมายต้องการเสมอ ถ้ายังไม่มีเหตุจำเป็นอย่างใด คือ ถ้าเมืองทั้งสองยังคงรักษาการปกครองเรียบร้อยเป็นปรกติ ถ้าเราไปจู่โจมรวบรัดจัดการเกี่ยวข้องเข้าประการใด อังกฤษจะหาเหตุทำลายล้างความคิดโดยประสาที่อยากได้เมืองทั้งสอง หรืออย่างต่ำที่สุด โดยน้ำใจที่ไม่อยากให้ไทยมีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องในหัวเมืองทั้งสองนั้นยิ่งกว่าแต่ก่อน ถ้ามีเหตุปากเสียงเกิดขึ้นด้วยเช่นนี้เราจะเสียเปรียบไม่มากก็น้อย เพราะในเวลานี้ที่เราจำต้องคบค้าเอาใจอังกฤษช่วยป้องกันฝรั่งเศส การอย่างใดที่จะมีทางอริกับอังกฤษต้องระวังอย่าให้มีขึ้นได้
ประการที่ 2 เมืองสงขลาในเวลานี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ลงมือจัดการแก้ไขทำนุบำรุงให้กำเนิดไปสู่ทางเจริญ การที่จัดเมืองสงขลานี้ คงจะบังเกิดความนิยมของไพร่พลเมืองเป็นกิติศักดิ์แพร่หลายออกไป ส่วนหัวเมืองแขก 7 เมืองอยู่ใกล้ชิดกับสงขลา เมื่อการเมืองสงขลาออกเดินได้แล้ว คงจะจูงการเมืองทั้ง 7 ให้เดินตามไปโดยง่าย ถ้าความเจริญรุ่งเรืองจัดให้เป็นผลได้เท่าใด ก็คงจะเป็นอานิสงส์แพร่หลายออกไปถึงหัวเมืองกลันตัน ตรังกานู ให้เป็นทางที่จะคิดจัดต่อไปได้ภายหน้า ด้วยเหตุนี้ จึงตั้งต้นจัดการแต่ภายในออกไป คือจัดการเมืองสงขลาเป็นต้น แลหัวเมืองแขกทั้ง 7 ติดต่อออกไป ดีกว่าจะจัดหัวเมืองนอกย้อนเข้ามาหาภายใน หรือจะเอะอะเกรียวกราวจัดใหม่ตลอดกันในคราวเดียว
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน