Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (27)

"กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง ฯ" :
ว่าด้วยทัศนะของฝ่ายปะตานี (2)

เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารูดดีน เจ้าเมืองปาตานีคนสุดท้าย (พ.ศ. 2442-2444)ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากสยามเป็น พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช

บทความพิเศษ "ประวัติศาสตร์แห่งการลวงเกี่ยวกับปัตตานี" โดย ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนต่อไปว่า
**********
วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระยาศรีสหเทพได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกาเดร์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ได้ขอให้รายาปัตตานีลงชื่อในหนังสือฉบับหนึ่งซึ่งเขียนด้วยภาษาไทย โดยแจ้งกับรายาปัตตานีว่า เนื้อหาในหนังสือฉบับนี้เป็นข้อร้องเรียนต่างๆ และแนวทางแก้ไขปัญหาของเต็งกูอับดุลกาเดร์ เพื่อจะนำเสนอต่อองค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รายาปัตตานีปฏิเสธไม่ยอมลงชื่อในหนังสือนั้นเพราะเขียนเป็นภาษาไทย พระยาศรีสหเทพให้คำมั่นว่า หนังสือนี้มิใช่หนังสือสัญญาและรายาจะไม่ถูกผูกมัดจากเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว เต็งกูอับดุลกาเดร์ยังคงปฏิเสธไม่ยอมลงนาม จนที่สุดพระยาศรีสหเทพให้เจ้าหน้าที่แปลหนังสือนั้น และอ่านให้รายาปัตตานีฟัง หลังจากอ่านแล้ว พระยาศรีสหเทพได้ให้คำมั่นอีกครั้งหนึ่งว่า ฝ่ายปัตตานีจะไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จากหนังสือดังกล่าว และยังสามารถแก้ไขได้ในภายหลังหากรายามีประสงค์

เมื่อได้ฟังคำมั่นรับรองแข็งแรง ที่สุดเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน รายาปัตตานีก็ยอมลงนามในหนังสือนั้น พระยาศรีสหเทพจึงออกเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ เมื่อไปถึงสิงคโปร์ พระยาศรีสหเทพแจ้งให้เซอร์เสวทเทนแฮมทราบว่า ปัญหาปัตตานีคลี่คลายแล้ว เพราะเต็งกูอับดุลกาเดร์ ยอมรับระเบียบการปกครองแบบใหม่ของรัฐบาลสยามในการเจรจานั้น

แต่ที่ปัตตานี หลังจากพระยาศรีสหเทพจากไป เต็งกูอับดุลกาเดร์ ได้ให้คนของตนแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นภาษามลายู ท่านตกใจเป็นล้นพ้นเมื่อพบว่าเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่พระยาศรีสิงหเทพได้อ่านให้ฟัง แม้ว่าหนังสือนั้นจะเป็นหนังสือที่จะส่งถึง สมเด็จฯ กรมหลวงดำรงราชานุภาพจริง แต่เนื้อหากลับเป็นว่า รายาปัตตานีเห็นชอบและยอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เพื่อความมั่นคงของปัตตานี และเห็นชอบให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของสยามที่มีอำนาจเด็ดขาดทุกเรื่องในปัตตานี

เมื่อรู้ว่าตนถูกหลอก รายาปัตตานีก็ให้คนของตัวเดินทางไปพบพระยาศรีสหเทพที่สิงคโปร์เพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ พระยาศรีสหเทพเตรียมกลับมาพบกับเต็งกูอับดุลกาเดร์อีกครั้งหนึ่งในที่ประชุมหารือระหว่างเจ้าเมืองมลายูต่างๆ ที่หนองจิกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ในการประชุมนี้พระยาศรีสหเทพได้ขอไม่ให้รายาปัตตานีแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้เจ้าเมืองอื่นๆ ในที่ประชุมได้ทราบ แต่รายาปัตตานีไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่หนองจิกในครั้งนั้นโดยอ้างว่าป่วย ในที่ประชุมพระยาศรีสหเทพได้ขอให้เจ้าเมืองต่างๆ ที่มายอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เจ้าเมืองทั้งนั้นปฏิเสธเว้นแต่เจ้าเมืองยะหริ่งที่สนับสนุนรัฐบาลสยาม

ก่อนกลับกรุงเทพฯ พระยาศรีสหเทพได้เดินทางมาพบรายาปัตตานี และขอให้ท่านรับรองพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 รายาปฏิเสธอีก และได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รัฐบาลสยามก็ไม่ได้ใส่ใจ ครั้นวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2444) รายาปัตตานีก็ได้รับหนังสือแจ้งจากสมเด็จฯ กรมหลวงดำรงราชานุภาพว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า ข้อบังคับสำหรับปกครองเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. 120

เต็งกูอับดุลกาเดร์ได้พยายามต่อรองกับรัฐบาลสยามเพื่อยอมให้ปัตตานีปกครองตนเองได้เช่นที่เคยเป็นมา แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วและอดีตไม่หวนคืนมา

ต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1902 (หมายเหตุเพิ่มเติม ยังอยู่ในปี พ.ศ. 2444 เนื่องจากการเปลี่ยนศักราชถือเอาวันที่ 1 เมษายน) รายาปัตตานีได้ร้องเรียนไปยังข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง เรียกร้องให้อังกฤษขอให้สยามปลดปล่อยปัตตานีให้เป็นอิสระ ทั้งยังแจ้งกับเซอร์เสวทเทนแฮมด้วยว่า หากอังกฤษไม่ให้ความร่วมมือ ชาวปัตตานีก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะก่อขบถหรือขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ

ข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์เห็นว่าปัญหาในปัตตานีจะกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษ จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงร่วมมือกับอังกฤษคลี่คลายปัญหา พระพุทธเจ้าหลวงปฏิเสธข้ออ้างที่ว่ารัฐบาลไทยไม่ใส่ใจกับปัญหาในปัตตานี และทรงเห็นว่าการขบถจะเกิดขึ้นได้ก็เพียงเพราะเจ้าเมืองมลายูได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรปเท่านั้น อันที่จริงกรุงเทพฯ ไม่ได้คิดจะร่วมมือกับอังกฤษ อีกทั้งไม่พอใจการปฏิเสธข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมืองของเจ้าเมืองมลายูที่นำโดยรายาปัตตานี และไม่พอใจการที่รายาปัตตานีขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ

ดังนั้นเช้าวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 พระยาศรีสหเทพในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้รายาปัตตานีทราบว่าท่านจะมาถึงปัตตานีในตอนบ่ายสามโมง และขอให้รายาปัตตานีเข้าพบ

หลังทำพิธีละหมาด (นมัสการ) บ่าย (อัสริ) เต็งกูอับดุลกาเดร์พร้อมด้วยคณะ 20 คน ได้เดินทางมาพบพระยาศรีสหเทพยังที่พักซึ่งมีตำรวจสยามคุ้มกันอยู่ถึง 100 คน พระยาศรีสหเทพขอให้รายาปัตตานีเข้าไปในห้อง แล้วได้อ่านข้อบังคับสำหรับปกครองเจ็ดหัวเมือง พ.ศ. 2444 ให้ท่านฟัง และขอให้ท่านลงนาม เต็งกูอับดุลกาเดร์ไม่ยอมลงนามอีกและขอเจรจากับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยซึ่งประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ รายาปัตตานีไม่ประสงค์จะทำการผิดพลาดเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว พระยาศรีสหเทพยืนยันขอให้ท่านลงนาม ให้เวลาท่าน 5 นาที ไม่เช่นนั้นจะถูกถอดถอนออกจากการเป็นเจ้าเมือง เต็งกูอับดุลกาเดร์ปฏิเสธไม่ยอมลงนามตามคำของพระยาศรีสหเทพ ท่านจึงถูกจับในที่นั้น

ในเวลานั้นผู้ติดตามรายาปัตตานีแสดงท่าทีไม่ยอมให้ท่านถูกจับ จะชิงตัวเสียจากการควบคุมของพระยาศรีสหเทพ แต่รายาปัตตานีเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้ประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อ เพราะตระหนักดีว่ามีกำลังน้อยกว่ามาก ท่านจึงถูกจับนำตัวมายังสงขลา ไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าเมืองระแงะและเจ้าเมืองสายบุรีก็ถูกจับด้วย และนำตัวมายังพิษณุโลกถูกพิพากษาจำคุก 3 ปีในข้อหา "ขัดคำสั่ง" พระมหากษัตริย์สยาม ผู้เฒ่าผู้แก่ปัตตานีที่ยังอยู่เล่ากันว่า รายาปัตตานีถูกขังไว้ที่บ่อในวัดแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก

ต่อมาเมื่ออดีตรายาปัตตานี "สารภาพความผิดและสัญญาว่าจะไปอยู่ทำมาหากินอย่างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง...จะไม่เกี่ยวข้องแก่การบ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด" พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงอนุญาตให้กลับไปปัตตานีได้.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 กุมภาพันธ์ 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8