ฉาก (ต้อง) จบและผลกระทบจากกรณี
"พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ"
แถวหน้า: จากซ้าย ลำดับที่
5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และประทับริมสุด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นับจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผลสำเร็จในขอบเขตทั้งราชอาณาจักร โดยเฉพาะในพื้นที่หัวเมืองมลายูจนทำให้อาณาจักรปาตานีเป็นส่วนดินของราชอาณาจักร (อย่างชัดเจน) ในฐานะจังหวัดหนึ่งของรัฐสยามที่พยายามสร้างความเป็น "รัฐสมัยใหม่" (modern state) ซึ่งเพิ่งจะเริ่มก่อรูปขึ้น แต่ผลอย่างสำคัญคือ รัฐโบราณก่อนพุทธศตวรรษที่ 23 ก็สิ้นสุดสถานภาพไปทีละแห่ง บางส่วนกลายเป็นรัฐอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก และอีกหลายส่วนมีลักษณะ "สิ้นชาติ" เช่นกรณีหัวเมืองมลายูที่ถึงขั้น "ไม่มีอาณาจักรปาตานีอีกต่อไป" สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในจิตใจของราษฎรคือ "อดีต" ของบูรณภาพแห่งดินแดน หรือปัจจุบันอาจใช้คำว่า "เอกราช" และความรู้สึกถึง "ความแปลกแยก" ซึ่งไม่ใช่ความเป็นไทย/สยาม
ในกรณีหัวเมืองมลายู แม้ว่ารัฐบาลสยาม (ราชสำนักรัตนโกสินทร์) สามารถปรามพระยาแขกได้อย่างรวดเร็วก่อนเกิดการต่อต้านด้วยกำลัง แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถปรับปรุงการปกครองพื้นที่เจ็ดหัวเมืองได้ทันทีก็หาไม่ เพราะถึงแม้ว่าพระยาศรีสิงหเทพจะจับพระยาตานีไป และพระยาระแงะจะ "สมัคร" ไปศึกษาราชการที่สงขลาแล้วก็ตาม ศรีตวันกรมการแขกที่ยังอยู่ ก็มิได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ที่เมืองตานี เมื่อพระยาสุขุมนัยวินิตเรียกประชุมกำนันแขกเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงการปรับปรุงการปกครอง กำนันก็ "กระด้างกระเดื่อง" ไม่ไปประชุมที่เมืองรามันห์ ถึงแม้ว่าพระยารามันห์ยอมรับกฎข้อบังคับสำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง แต่พระยาสุขุมนัยวินิตก็ "ได้ข่าวว่าพวกเก่าๆ ลาออกหลายคน" ซึ่งหมายความว่า "เราหมดคนใช้"
ที่สำคัญ คือที่เมืองสายบุรี "ราษฎรพากันบ่นมากในเรื่องทำถนน เพราะเวลานี้ กำลังเก็บเข้าอยู่ด้วย ฝ่ายพวกเจ้าเมืองคอยยุยงว่าจะทำอย่างไรได้ ข้าหลวงเขาใช้ให้ทำก็ต้องทำ คอยหาสาเหตุ แต่จะให้ราษฎร เกลียดข้าหลวง อย่างเดียว" ทั้งๆ ที่พระยาสายบุรี เป็นผู้เกณฑ์ราษฎรไปทำถนนเอง แต่ "บอกราษฎรว่า ข้าหลวงสั่งให้ทำ" และในด้านอื่นๆ ของการปรับปรุงการปกครอง รัฐบาลก็ไม่สามารถหาข้าราชการ (ขุนนางท้องถิ่น) บรรจุเข้าทำหน้าที่ได้ทันท่วงที ยังผลให้ไม่สามารถเก็บภาษีอากรทั้งหมดได้ในบริเวณเจ็ดหัวเมือง และไม่มีผู้พิพากษา ที่ทรงคุณวุฒิพอ ที่จะตัดสินคดีความ อันอาจเกิดขึ้นจากการปรับปรุงการปกครองทั้งปวงตามนโยบาย
หลังจากกรมหลวงดำรงราชานุภาพ นำรายงานต่างๆ ของข้าหลวงใหญ่ขึ้นกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงทราบ พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า
"สังเกตดูยังบกพร่องร่องแร่งมาก... เห็นว่าการกระจุกกระจิก ซึ่งยังไม่มีคนพอที่จะทำได้ดีได้ ฤาไม่ได้ประโยชน์อันใดมากนัก เป็นแต่จัดขึ้น ให้เต็มตามแบบเช่นนี้ ควรจะยกเว้นเสียบ้าง อย่าให้ราษฎรบังเกิดความเบื่อหน่ายในการที่ต้องถูกกวนกระจุกกระจิก ฤาถ้าการกระจุกกระจิกมีอยู่แต่เดิม ปลดเปลื้องเสียบ้าง ให้เห็นว่าเป็นการมีคุณสบายขึ้น รวบรวมใจความว่าให้จัดการปกครองให้เป็นอย่างง่ายๆ ยอมให้บกพร่อง ในที่ซึ่งควรจะยอมให้บกพร่อง กว่าหัวเมืองชั้นใน ไปพลางก่อน กว่าคนจะพรักพร้อมจึงค่อยจัดค่อยทำให้ตลอดไป ดีกว่าที่จะทำสิ่งละอันพันละน้อย และไม่ได้ดีเต็มที่สักอย่างเดียว"จากนั้นรัฐบาลก็หันไปใช้ใช้นโยบาย "ประนีประนอม" ต่อพระยาแขกอีกครั้งหนึ่ง โดยยอมให้พระยาระแงะกลับไปอยู่เมืองระแงะในปี พ.ศ. 2446 หลังจากที่ได้ทำหนังสือ "ทัณฑ์บน" ไว้ว่า จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับสำหรับบริเวณเจ็ดหัวเมือง และในปีต่อมา เมื่อพระยาวิชิตภักดี (เตงกูอับดุลกาเดร์) อดีตพระยาตานีสารภาพความผิดและสัญญาว่าจะ "ไปอยู่ทำมาหากินอย่างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง" และ "จะไม่เกี่ยวข้องแก่การบ้านเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอันขาด" แล้ว พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงอนุญาตให้กลับไปอยู่เมืองตานีได้เช่นกัน
แต่เมื่อพระยาวิชิตภักดีเดินทางไปถึงเมืองตานี ก็มีราษฎรประมาณ 500 คน นั่งเรือ 80 ลำไปรับที่ปากแม่น้ำ อีกประมาณ 2,000 คน ยืนต้อนรับอยู่บนตลิ่งสองข้างแม่น้ำตานี และมีพระสี่องค์ ฮะยีถึง 100 คน รอรับอยู่ที่บ้าน การต้อนรับอย่างเอิกเกริก เช่นนี้ ทำให้รัฐบาลรู้สึกเป็นห่วงในสถานการณ์พอที่จะส่งเรือรบหนึ่งลำไปทอดสมอที่ปากน้ำเมืองตานี เพื่อเป็นกำลังใจแก่ข้าหลวง แต่หลังจากนั้นก็ยังปรากฏว่า "มีราษฎร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน" เป็นร้อยๆ คน ไปเยี่ยมพระยาตานีไม่เว้นแต่ละวัน และมีข่าวว่าพระยาตานีเริ่มคบคิดแสวงหาพรรคพวกอีก โดยติดต่อ กับพระยากลันตัน พระยาสายบุรี และพระยายะลา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าได้รับรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมืองตานี พระองค์ทรงมี พระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพว่า "สังเกตดูข้าหลวงหวาดหวั่นมาก ถ้าหากว่ามีเหตุอะไรขึ้น เกือบจะไม่รู้ ที่จะทำอะไร" ในเมื่อควรจะออกกฎข้อบังคับมิให้มีการ "ซ่องสุม" ที่บ้านอับดุลกาเดร์ และทรงสรุปว่า "เมื่อจะว่ารวบยอดแล้ว เราไม่สันทัดทางพูดและทางทำในการที่จะปกครองชาติอื่น มันจะตกไปในที่กลัวไม่ควรจะกลัว กล้าไม่ควรจะกล้า ทำในทาง ที่ไม่ควรจะทำ ใจดีในที่ไม่ควรจะใจดี ถ้าจะใจร้ายขึ้นมา ก็ใช้ถ้อยคำไม่พอที่จะเกลื่อนใจร้าย ให้ปรากฏว่าเพราะจะรักษาความสุขและประโยชน์ของคนทั้งปวง ไม่รู้จักใช้อำนาจในทางที่ควรจะใช้... การที่จะทำได้โดยตรงๆ ก็เกรงอกเกรงใจอะไรไปต่างๆ โดยไม่รู้จักที่จะพูด และหมิ่นประมาทอำนาจตัวเอง เมื่อได้เห็น การเป็นเช่นนี้ นึกวิตกด้วยการที่จะปกครองเมืองมลายูเป็นอันมาก ขอให้เธอ กรมดำรงตริตรองดูให้จงดี"
สิ่งแรกที่รัฐบาลสยามดำเนินการหลังจากพระราชหัตถเลขาฉบับนี้คือ เปลี่ยนตัวข้าหลวง เรียกพระยาศักดิ์เสนีกลับ และส่งข้าหลวงคนใหม่ คือ พระยามหิบาลบริรักษ์ ไปปฏิบัติหน้าที่แทน
ในปี พ.ศ.2448 และ พ.ศ.2449 รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการขั้นสุดท้ายที่จะลบล้างลักษณะพิเศษที่ยังปรากฏอยู่ในบริเวณเจ็ดหัวเมือง และดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโดยแท้จริง เมื่อปลายปี พ.ศ.2448 กรมหลวงดำรงราชานุภาพทรงเสนอว่า รัฐบาลพร้อมแล้วที่จะเก็บภาษีอากรทั้งหมดในบริเวณเจ็ดหัวเมือง สมควรเลิกส่วยสาอากรที่พระยาเมืองเคยเก็บจากราษฎรตามขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม เช่น ส่วยต้นไม้เงินทองหรือส่วยกระดาน เป็นต้น และเก็บค่าราชการแทน ให้เหมือนกับส่วนอื่นของประเทศ ทั้งนี้ โดยจะเพิ่มเบี้ยหวัดประจำปีให้แก่พระยาเมืองที่ยังมีตัวอยู่ "แต่เงินที่เพิ่มนี้ เป็นพระราชทาน ให้แก่เฉพาะตัว พระยาเมืองเหล่านี้ ไม่เป็นการติดตำแหน่งต่อไปภายหน้า" ในปีต่อมา กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอให้ยกเลิกบริเวณเจ็ดหัวเมืองนี้ขึ้นเป็นมณฑล และแยกออกเป็นสามเมืองเท่านั้น คือ ปัตตานี บางนรา และยะลา มีข้าหลวงเทศาภิบาลประจำที่ปัตตานี และปลัดมณฑลสองคนประจำที่บางนราและยะลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระจุลจอมเกล้า) ทรงเห็นชอบด้วย และทรงกะตัวข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกประจำมณฑลปัตตานี พระราชทาน กรมหลวงดำรงราชานุภาพด้วย ซึ่งได้แก่ พระยาศักดิ์เสนี ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเจ็ดหัวเมืองระหว่างปี พ.ศ.2444 และ พ.ศ.2447 นั่นเอง.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 30 มีนาคม-5 เมษายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน