Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (35)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465" :
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (1)

การประชุมสมุหเทศาภิบาล ประจำปี พ.ศ. 2452 

นับจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันนำไปสู่การสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สำเร็จโดยพื้นฐาน คือ การรวมศูนย์อำนาจการปกครองสู่ส่วนกลางในระบบกระทรวง โดยมีศูนย์กลางทั้ง 3 ด้านคือ การปกครองผ่านทางกระทรวงมหมาดไทย การเงินการคลังผ่านทางกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (หรือที่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงการคลัง) ซึ่งเริ่มต้นจากการจัดเก็บภาษีอาการโดยส่วนกลางที่ "หอรัษฎากรพิพัฒน์" และการ "เลิกไพร่" หรือการทำลายระบบกองกำลังส่วนตัวของเจ้านายและขุนนาง หรือ "ไพร่สม" โดยเริ่มจากค่อยผ่องถ่ายเป็น "ไพร่หลวง" กระทั่งเปลี่ยนเป็นระบบเกณฑ์ทหารสมัยใหม่ผ่านทางกระทรวงกลาโหมทั้งหมด

หลังสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พัฒนาการการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการปกครองในระบบเทศาภิบาลในทศวรรษ 2460 กลับเพิ่มทวีสถานการณ์ในส่วนหัวเมืองเดิม หรือส่วนภูมิภาค "ไกลปืนเที่ยง" นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนโยบายและแนวปฏิบัติราชการของรัฐบาลส่วนกลาง กับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมลายูส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งผูกพันกับความเชื่อ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างออกไป และปะทุเป็น "ขบถ พ.ศ. 2465" ซึ่งทางฝ่ายราชสำนักสยามบันทึกข้อมูลว่า เต็งกู อับดุลกาเดร์ กามารุดดิน รายาหรือสุลต่านองค์สุดท้ายของรัฐปาตานี ลอบติดต่อกับพรรคพวกในเขตสยาม โดยยุยงส่งเสริมให้ก่อความรุนแรงในบริเวณหัวเมืองใต้ หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ขบถน้ำใส" (Surin Pitsuwan. (1985). Islam and Malay Nationalism : A case Study of the Malay-Muslims of Southern Thailand. Bangkok : Thai Khadi Research Institute, Thammasat University)

พรรณงาม เง่าธรรมสาร เขียนไว้ใน "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ต่อไปว่า:
**********
หลังการกราบถวายบังคมลาออกของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารภายในระบบเทศาภิบาล โดยย้ายจากการสังกัดกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดพระราชสำนัก ขึ้นตรงต่อพระองค์และโปรดให้ยุบรวมมณฑลที่อยู่ใกล้เคียงกันตั้งขึ้นเป็นภาค มีอุปราชเป็นผู้บัญชาการ กำกับดูแลสมุหเทศาภิบาลอีกชั้นหนึ่ง มณฑลปัตตานี ต้องขึ้นกับอุปราชภาคปักษ์ใต้ ซึ่งมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงลพบุรีราเมศร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นอุปราชภาค ราชการที่สำคัญต้องผ่านความเห็นชอบของอุปราชภาค จึงจะต่อไปยังเสนาบดีกระทรวง อันส่งผลให้การสั่งราชการต้องใช้เวลามากขึ้น งานล่าช้าลง และที่สำคัญก็คือ การที่สมุหเทศาภิบาลย้ายไปขึ้นกับพระมหากษัตริย์ ทำให้เสนาบดีต่างๆ เข้าใจว่าสามารถสั่งงานไปยังข้าราชการของกระทรวงในพื้นที่ได้โดยตรงต่อสมุหเทศาภิบาล โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย ฐานะของสมุหเทศาภิบาลจึงกลายเป็นคนกลาง ต้องรับคำสั่งและงานฝากจากกระทรวงต่าง ๆ แต่ "อยู่นอกสังกัด" งานที่คาบเกี่ยวกันระหว่างกระทรวงขาดการประสานตัดสินใจอย่างเป็นระบบ สมุหเทศาฯ มักได้รับคำแนะนำเพียงให้ดำเนินการไปอย่าง "พอควรพอชอบ อย่าให้เสียราชการ" (กจช. ร. 6 ม. 1/56 "เจ้าพระยายมราชจัดราชการกระทรวงมหาดไทย" พ.ศ. 2465-2468) สมุหเทศาภิบาลจึงเหมือนเจ้าไม่มีศาล ขาดที่ปรึกษา

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยา ณ มิตร) ไม่มีอำนาจและบารมีเทียบเท่าสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์เสนาบดีเดิม ไม่อาจเป็นที่พึ่งให้กับสมุหเทศาฯ สมุหเทศาฯ แต่ละคนต่างตีความในคำสั่งและนโยบายต่างๆ ไปตามความเห็นของตน ทำให้การปฏิบัติงานของสมุหเทศาฯ มีแนวทางที่ แตกต่างกันออกไป บางครั้ง "16-17 อย่าง" จนกลายเป็นที่ "ขบขัน" ของเจ้ากระทรวงต่างๆ เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน จนแม้จะออกจากพื้นที่ สมุหเทศาฯ ก็ไม่รู้ว่าควรจะขอลาต่อใคร ผลกระทบของการขาดอำนาจในการบังคับบัญชาข้าราชการในพื้นที่ของสมุหเทศาฯ และการขาดเอกภาพของนโยบายในระดับกระทรวง ส่งผลต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ระดับอำเภอซึ่งถูกทับถมด้วยกฎหมายที่กระทรวงต่าง ๆ "คิดและออกกฎหมายบังคับไปทุกอย่าง"

ผลเสียจากระบบงานใหม่นี้จะปรากฏให้เห็นในพื้นที่มณฑลปัตตานี ซึ่งเคยได้รับสิทธิ์ผ่อนผันในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่และประชากร ที่ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติพันธุ์ต่างภาษา ต่างศาสนาความเชื่อ มีวิถีชีวิตและแนวปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของตนมาแต่เดิม หลัง พ.ศ. 2458 เมื่อสมุหเทศาภิบาลกลายเป็นลูกไล่ที่รับนโยบายเป็นแบบเดียวกันตามแบบหัวเมืองชั้นใน การปะทะและขัดแย้งระหว่างนโยบายจากส่วนกลางกับอัตลักษณ์การดำรงอยู่ของผู้คนที่เคยมีอิสระในวิถีชีวิตความเชื่อและวัฒนธรรมในดินแดนที่มีการปกครองตนเองมาก่อนจึงปรากฏอย่างเด่นชัดขึ้น ในแง่นี้ (แผน) ขบถ? ต่อต้านรัฐสยามซึ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2465 จึงสะท้อน "วิกฤติอัตลักษณ์ของท้องถิ่น" ที่ถูกบีบคั้นจากนโยบายการปกครองของรัฐในบริบทของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นความเสื่อมถอยของความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลาง กับกลไกของรัฐส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ดังจะได้พิจารณาต่อไปนี้

ระหว่างวันที่ 24-31 เดือนมกราคม พ.ศ. 2465 สมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานีได้ทราบข่าวจากหลายแหล่ง เช่น จากภรรยาพระยาพิพิธเสนามาตย์ (พระยายะหริ่งเดิม ขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการ นายอำเภอสายบุรี) กำนันหลายคนในพื้นที่ และนายอำเภอยะรังว่า มีการรวมกลุ่มของชาวมุสลิมในหลายพื้นที่ "จำนวนมาก" ลงรายชื่อเป็นสมาชิกและร่วมสาบานที่จะทำการสนับสนุนตนกูอับดุลกาเดร์ อดีตเจ้าเมืองปัตตานีที่ถูกถอดไปในวิกฤติเหตุการณ์ปัตตานีเมื่อ ร.ศ. 120 - 121 หัวหน้าใหญ่ชื่อ "กุจิ" อยู่ที่ ตำบลปูยุด อำเภอสะบารัง และยังมีหัวหน้าอยู่ที่ ตุยง และยะรัง สามารถรวมผู้คนได้ประมาณ 1,000 - 2,000 คนเศษ เป้าหมาย คือ การรวมตัวกันตีเมืองปัตตานี โดยอาศัยกำลังจากต่างชาติ มีชาวเตอรกี กลันตัน ยะโฮร์ เประ และไทรบุรี รายงานชิ้นหนึ่งจากนายอำเภอยะรังอ้างข้อมูลจากกำนันตำบลยะรัง และตำบลประจันตะวันออก ว่าได้ข่าว "อับดุลกาเดร์จะทำการจลาจล" ได้ออกมาเกลี้ยกล่อมชักชวน "คนที่มีชื่อเสียงเชื่อว่าอยู่ยงคงกระพัน" และ "พวกหัวไม้" ให้พวกนี้ชวนชาวบ้านแถบสะบารัง ตุยง และยะรัง มาลงชื่อเป็นพรรคพวกได้คราวละ 20-30 คน เป้าหมายคือ "จะเอาปัตตานีคืน" และเรียกร้องให้ราษฎรช่วยกัน "ขับไล่ข้าราชการไทยให้หมดสิ้น" "กระทำการปั่นป่วน" "อย่าเชื่อพนักงานไทย ..อย่ายอมเสียเงินค่ารัชชูปการ ค่านา ที่ค้าง.." และว่า "ถ้ามีความพร้อมเพรียงกัน ไทยที่ปัตตานีจะไปสู้อะไรได้" รายงานฉบับนี้ได้ ส่งรายชื่อหัวหน้าก่อการที่สืบทราบใน 3 ตำบลที่กล่าวถึงมาด้วย รวม 23 คน สุดท้ายนายอำเภอยะรังร้องว่า "สถานการณ์คับขัน" ขอกำลังตำรวจเพิ่มเติมอีก 1 กองพล พร้อมอาวุธ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 เมษายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8