"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (2)
ที่ว่าการศาลมณฑลปัตตานี
สร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 5
บทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร เรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2552 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอต่อไปว่า:
**********
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย (วันที่ 18 มกราคม) ตำรวจกลุ่มหนึ่งที่ยะรังซึ่งไปตรวจจับนักโทษที่หนีจากเรือนจำ และได้เข้าไปในเขต บ้านน้ำใส อำเภอมายอ ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีการเตรียมการของกลุ่มตนกูอับดุลกาเดร์ที่จะเอาเมืองคืนทำนองเดียวกับข่าวข้างต้นที่ทางราชการได้รับ ครั้นต่อมาในวันที่ 30 มกราคม ขณะไปตามจับผู้ร้ายกลุ่มเดิมที่ตำบลปูเก๊ะตางอ ตำรวจได้พบชาวบ้านประมาณ 20 คนกำลังประชุมกันอยู่ ต่อมาเกิดการปะทะกัน ตำรวจสามารถจับผู้ร้ายได้ 14 คน พร้อมอาวุธเป็นมีด วันรุ่งขึ้นตำรวจกลุ่มเดิมได้กลับไปที่บ้านน้ำใสอีก และเกิดการต่อสู้กับผู้ร้าย ตำรวจอ้างว่าเห็นคนแบกปืนวิ่งไปประมาณ 40-50 คน ฝ่ายเจ้าหน้าที่กำลังน้อยกว่าจึงต้องถอย แต่ก็สามารถยิงผู้ร้ายตาย 4 คน บาดเจ็บ 1 คน แต่ภายหลังเมื่อสมุหเทศาฯ ส่งคนไปตรวจกลับไม่พบว่ามีผู้ใดตาย
ภายหลังเหตุร้ายข้างต้น มีการเตรียมการของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่อย่างรวดเร็ว ที่อำเภอมายอนายอำเภอได้ร้องขอกำลังพลและอาวุธเพิ่ม อ้างว่าพวกกบฏกำลังรวบรวมคนมา "ปล้นที่ว่าการอำเภอและโรงพัก" และอาวุธที่โรงพักมีจะไม่พอ ส่วนนายอำเภอยะรังได้ขออนุญาตจับกำนันบางคนที่มีชื่อว่าเป็นหัวหน้าใหญ่ พร้อมกับขอการสนับสนุนรถ 2 คัน วันต่อมาได้ขอกำลังตำรวจเพิ่มด่วน เพราะมีผู้ร้ายออกเก็บอาวุธชาวบ้านตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่เขาตูม และในวันที่สามก็รายงานว่าผู้ร้ายจำนวน 300 คนกำลังจะเข้าตีบ้านลานควาย ขอกำลังตำรวจช่วยด่วนอีกครั้ง ผู้ว่าราชการปัตตานีได้ตอบสนองหน่วยงานในพื้นที่โดยส่งกำลังตำรวจและเสือป่าประมาณ 30 คนออกตามจับผู้ร้ายที่ปูเก๊ะตางอ แต่ถูกผู้ร้าย 5 คนซุ่มยิงกลางทางแถบตำบลเขาตูม ส่วนผู้ร้ายหนีไปได้ ที่ยะรังผู้ว่าฯ ก็ได้ส่งกำลังตำรวจไปให้ 50 คนตามที่ร้องขอ
จากการสอบสวนประมวลเหตุการณ์ทั้งหมด ทางการพบว่ามีผู้ร้ายระดับหัวหน้าประมาณ 10 คน บางคนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทางการสามารถจับหัวหน้าได้เพียง 2 คน นอกนั้นหนีไปได้ รวมทั้งได้ข่าวว่า ตนกูอับดุลกาเดร์ก็ได้กลับกลันตันไปแล้ว ทางการยังได้จดหมายลงชื่ออับดุลกาเดร์ทำการนัดพบชาวบ้านในวันทำพิธีบุตรเข้าสุหนัตในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีข้าราชการไทยเข้าร่วมจำนวนมาก ตามข่าวที่ได้นั้น ชาวมลายูในเขตอังกฤษจะทำการขึ้นพร้อมๆกันด้วย นอกจากนั้นยังมีคำให้การของชาวบ้านเกี่ยวกับจดหมายจากสุลต่านกลันตันถึงตนกูอับดุลกาเดร์ อ้างถึงเรื่องที่นัดแนะกันไว้ ว่า "พร้อมแล้วหรือ ถ้าพร้อมแล้วให้รีบบอกโดยเร็ว"
สำหรับข้าราชการผู้ใหญ่ในพื้นที่ เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ส่อเค้าว่าจะเป็นการเตรียมการขบถ สมุหเทศาฯ ปัตตานีจึงได้ระดมกำลังตำรวจจากพื้นที่ที่ไม่สำคัญส่งไปหนุนในพื้นที่ที่เริ่มมีสัญญาณเหตุร้าย และได้ขอกำลังจากมณฑลนครศรีธรรมราชมาเพิ่มอีก 55 คน ต่อมาได้รับกำลังทหารรักษาวังจากอุปราชมณฑล 1 กองร้อย จึงส่งกองกำลังจากนครศรีธรรมราชคืน องค์อุปราชภาคเองถึงกับเสด็จลงมาประทับที่ปัตตานีและต่อมาได้ทรงส่งกำลังทหาร 1 หมวดจากจังหวัดไปเพิ่มให้ที่มายอ และให้สมุหเทศาฯ เป็นผู้ออกไปควบคุมดำเนินการด้วยตนเอง ทางการยังใช้แนวทางการแก้ปัญหาอื่นนอกเหนือจากการสืบจับผู้ร้ายและการทำการปราบปราม มีการใช้หลักรัฐศาสตร์ในการสลายกำลังฝ่ายขบถ โดยใช้ไม้นวมชักจูงราษฎรให้กลับมาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล ออกประกาศจะไม่เอาผิดใครก็ตามที่หลงเชื่อไปลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานหรือให้คำสาบานกับฝ่ายขบถแล้ว หากเข้ามาสารภาพก็จะปล่อยตัวไป วิธีนี้ทางการประเมินว่า "ได้ผลพอควร" เพราะมีราษฎรเข้ามาติดต่อมอบตัว ประมาณ 700 คน แต่ในระดับหัวหน้าไม่มี แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่จะมีความตั้งใจว่า จะยอมปล่อยตัวระดับหัวหน้าเช่นกันถ้ายอมมอบตัว เพียงแต่ต้องอยู่ในสายตา ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า "เพื่อประสงค์จะบำรุงขวัญของราษฎรให้ดีขึ้นประการหนึ่ง และเพื่อที่จะให้ราษฎรซึ่งได้ระบาทว์ ออกนอกพระราชอาณาจักรหรือทิ้งบ้านเรือนเข้าไปซุกซ่อนอยู่ตามแถบภูเขาและป่านั้น กลับมาเข้ามาตามภูมิลำเนาเดิมของตน อีกประการหนึ่ง" นอกจากนี้ยังมีนโยบายจากกรมทหารรักษาวังที่กรุงเทพฯ ให้มีคำสั่งห้ามทหารทำการยิงด้วยกระสุน "หากจำเป็นต้องใช้กระสุน ต้องรับคำสั่งก่อน" และได้มีพระกระแสพระราชทานไปยัง ผู้บังคับกองทหาร รักษาวังว่า "..ถ้าข้าราชการฝ่ายพลเรือนต้องการให้อุดหนุน จึงให้ทหารปราบปราม.. " พิจารณาจากนโยบายแล้ว กล่าวได้ว่า หน่วยงานของรัฐถูกเตือนให้ยึดหลักสันติวิธีในการแก้ปัญหา
ท้ายที่สุด ไม่มีความวุ่นวายใด ๆ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ที่บ้านน้ำใสและเขาตูมที่กล่าวมาแล้ว การเตรียมการของฝ่ายรัฐดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการเตรียมการเพื่อรักษาความสงบแทนการออกไปปราบปราม อาจกล่าวได้ว่าการกบฏครั้งนี้ เป็น "ขบถที่แท้งไป" (abortive rebellion) หรือ ขบถที่ล้มเหลวก่อนเกิด คำพิพากษาของศาล สำหรับผู้ที่ถูกจับได้จากเหตุที่เกิดที่บ้านน้ำใสและถูกส่งฟ้องข้อหาขบถทั้งหมด 15 คนมีว่า จำเลยเหล่านี้ได้กระทำการอันถือได้ว่าเข้าร่วมกับอับดุลกาเดร์ที่ถือว่าเป็นขบถจริง แต่ "การกระทำของจำเลยเป็นเพียงลักษณะผู้ร้ายที่รวบรวมกำลังเข้าต่อสู้เจ้าพนักงาน ยังไม่ทันบรรลุผลตามความมุ่งหมาย คือ แย่งพระราชอาณาเขต จึงยังไม่พอวินิจฉัยว่า ได้เกิดขบถขึ้นแล้ว.." จำเลยจึงมีความผิด "เพียงสถานพยายามก่อขบถตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 102.." จำเลยทั้งหมดถูกพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 15 ปี แต่เนื่องจากสารภาพ จึงได้รับลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 10 ปี คำตัดสินศาลอุทธรณ์ก็ยืนตามศาลชั้นต้นว่าความผิดเกิด "..ยังไม่พอจะถือว่าได้ มีการขบถเกิดขึ้นแล้ว.. จำเลยมีความผิดฐานพยายามจะก่อความผิด..."
แม้เหตุร้ายจะไม่ได้เกิดขึ้นต่อมา แต่การค้นหามูลฐานสาเหตุที่มาของ "แผนขบถ" และการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้งขึ้นในอนาคตอีกก็เป็นการบ้านสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ต้องรับมาพิจารณาต่อไป ณ จุดนี้ เราจึงได้เห็นความหลากหลายของความคิดเห็น และทัศนะในการมองและเข้าใจปัญหาของสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันมีอัตลักษณ์เฉพาะพิเศษต่างไปจากพื้นที่ของประเทศของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มต่างๆ อันจะนำไปสู่ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ปัญหาครั้งนั้นที่น่าสนใจยิ่ง.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 เมษายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน