Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (40)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (6)

 
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซ้ายสุดคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) 

พรรณงาม เง่าธรรมสาร บรรยายถึงมุมมองของเจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) เป็นการเฉพาะไว้ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) ว่า:
**********
มุมมองของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

เมื่อได้รับทราบเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่มณฑลปัตตานีครั้งแรกขณะกำลังตรวจราชการมณฑลภาคพายัพ ปฏิกิริยาแรกของเจ้าพระยายมราชคือ การไม่ยอมรับ คำอธิบายของกระทรวงมหาดไทยที่ว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเพราะราษฎรถูกยุยงจาก อับดุลกาเดร์ ซึ่งถูกยุยงจากเตอรกีอีกทอดหนึ่ง ท่านคิดว่าต้องมี "มูลเหตุจริงจัง" อะไรบางอย่าง เพราะราษฎรที่นั่น "เคยมีความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดี... มานมนาน" การที่มีอับดุลกาเดร์เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นเรื่องธรรมดา หากมีช่องทางเปิดให้

ตามการสืบค้นของเจ้าพระยายมราช ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหนังสือพิมพ์รายงานที่องค์อุปราชภาคประทานให้ รวมทั้งรายงานลับจากข้าราชการอัยการในปัตตานีและนครศรีธรรมราชที่เคยใช้สอย มีพัฒนาการการรวมกลุ่มทำนอง "อั้งยี่" ที่เรียกว่า "อะเนาะคละ" (ซึ่งแปลว่า "คลับของลูก") เกิดขึ้นในมณฑลปัตตานีย้อนหลังไปประมาณ 3 ปี โดยรับมาจากสิงคโปร์ ปีนัง และกลันตัน แต่เนื่องจากไม่ได้มีการปราบปราม ทำให้มีการขยายเครือข่ายใหญ่โตขึ้น และอับดุลกาเดร์มีโอกาสเข้ามาแทรก มีการแต่งตั้งหัวหน้าไปเกลี้ยกล่อมคนตามที่ต่างๆ ในมณฑลปัตตานี จนเลยไปถึงบ้านนา และเทพา จังหวัดสงขลาด้วย พวกที่ล้อมยิงเจ้าหน้าที่ที่บ้านน้ำใสน่าจะเป็นพวกที่ เกลี้ยกล่อมมาในกลุ่มอับดุลกาเดร์ด้วย แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจน ส่วนเหตุการณ์ที่ เกิดการยิงกันระหว่างตำรวจกับชาวบ้านนั้น มีการจับตัวได้ 100 กว่าคน แต่มีหลักฐานลงโทษได้จริงๆ เพียง 13 คน และอาวุธที่จับได้ก็เป็นเพียงปืนแก๊ป ไม่เกิน 10 กระบอก หลังสอบสวนพบว่าผู้ร้ายเป็นพวกเกเรที่คอยหนีตำรวจอยู่แล้ว และที่สำคัญผู้ใหญ่ที่เป็นเชื้อสายพระยาเมืองเดิม ไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องในขบวนการนี้ และความวุ่นวายก็ไม่ได้ระบาดไปที่อื่น ในมุมมองของเจ้าพระยายมราช ข้อใหญ่ของเหตุการณ์ ที่เกิด "..เป็นการตื่นเต้นใหญ่เกินกว่าเหตุอยู่บ้าง" และถ้าทางราชการดำเนินการโดย "ถือเอาความนิยมนับถือของชนหมู่มากเป็นใหญ่แล้ว ...แต่โดยลำพังอับดุลกาเดร์ ผู้เดียวก็จะทำอะไรได้"

สาเหตุที่นำไปสู่ปัญหามณฑลปัตตานี พ.ศ. 2465 ในทัศนะของเจ้าพระยา ยมราช สามารถแบ่งได้เป็น 9 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงระเบียบและวิธีการต่าง ๆ เป็นการ "พลั้งพลาดอยู่ หลายอย่าง" และ "รุกรนเร็วเกินไป" ในมุมมองของเจ้าพระยายมราชในสมัยที่ปัตตานียังเป็นบริเวณ (พ.ศ. 2444 - 2449) ข้าราชการถูกข้าหลวงกวดขันให้ทำงาน อย่างระมัดระวัง โดยมุ่ง "ให้เป็นที่นิยมนับถือของประชาราษฎร" มีการใช้ข้าราชการที่ มีความสามารถ และพยายามให้ทัดเทียมกับเมืองในปกครองของอังกฤษที่อยู่ติดกัน ไม่รีบร้อนที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ ๆ ในการเก็บภาษีอากร และเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ต้องฟังความเห็นของเจ้าของท้องที่เป็นหลัก แต่หลังจากประกาศเป็นมณฑล (จาก พ.ศ. 2449) และภายหลังสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กราบบังคมทูลลาออกแล้ว เจ้าหน้าที่แยกกันทำงานตามคำสั่งกระทรวงของตน และ "ต่างก็ละลืมเสีย ไม่ใคร่จะระฤกว่าเป็นเมืองแขก กิจการอย่างใดที่ทำได้ในมณฑลชั้นในทำ ตลอดจนการเก็บภาษีอากรก็เห็นเป็นไม่สำคัญ ต่างหน้าที่ก็กวดขันเร่งรัดเอาแต่ได้" สมุหเทศาภิบาลและเจ้าพนักงานระดับท้องที่ไม่มีกำลังพอที่จะคัดค้าน บางเรื่องสมุหเทศาฯ ได้เข้าไปร้องขอไม่ให้ใช้ในเขตปัตตานี แต่เจ้ากระทรวงก็ไม่รับฟัง เช่น การประกาศเก็บค่าเครื่องมือจับสัตว์น้ำ พ.ศ. 2465 เจ้าพระยายมราชรายงานสรุปประเด็นนี้ว่า "การวางระเบียบรีดรัด การเพิ่มภาษีอากร การเร่งเร้าต่าง ๆ" ทำให้ประชาชนรู้สึกเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา ตามมาด้วยการเสื่อมความนิยมนับถือเจ้าหน้าที่ "เมื่อมีใครมาหนุน หรือมีเหตุกระทบกระเทือนเข้าเล็กน้อย ก็เลยหันเหไปได้ง่าย ยิ่งเป็นบุคคลที่มีชาติศาสนาเดียวกันแล้ว ก็ยิ่งเป็นการง่ายยิ่งขึ้น."

2. เรื่องศาสนา เจ้าพระยายมราชถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะราษฎรในดินแดนนี้เคร่งครัดในศาสนามาก เมื่อเริ่มมีการจัดการปฏิรูปในระยะแรกมีการกวดขันเจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังเรื่องนี้อย่างยิ่ง เพราะ "สาเหตุอันใดที่จะเกิดเนื่องจากศาสนาแล้ว อาจเป็นเหตุร้ายแรงจนถึงที่สุด" ด้วยเหตุนี้ ข้าราชการในดินแดนนี้จึงต้องเลือกสรรเป็นพิเศษ ต้องศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาและขนบธรรมเนียมของคน หมู่ใหญ่ แต่ภายหลังเมื่อจัดราชการเป็นมณฑลขึ้นแล้ว ข้าราชการขาดจากการเลือกสรรเป็นพิเศษ จึงไม่สนใจเรียนรู้ธรรมเนียมท้องถิ่น และ "ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนบางทีจะเป็นที่เข้าใจกันว่า เป็นการจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังดึงรั้ง หรือพยายามเหยียดแขกเป็นคนไทยอย่างแรงด้วย ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด และจะทำให้บังเกิดสมประสงค์หาได้ไม่ แลถ้าเลินเล่อไม่มีความรอบคอบพอที่จะรับทราบเหตุผลเทียบเคียงกับการเป็นอยู่ใน ชาวมลายูของอังกฤษที่ใกล้เคียง มาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว อาจกระทำให้ประชาชนพลเมืองเอนเอียงไปได้มาก"

3. วิธีการจัดการกับความไม่สงบ "ใหญ่เกินกว่าเหตุที่เกิดจริง" เนื่องเพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่มีความหวาดกลัว และยึดเอาเอกสารที่พบเป็นหลักฐาน ทั้งที่ หลักฐานด้านอื่นชี้ว่าสมมติฐานบางข้อไม่เป็นจริง เช่น ข่าวที่ขู่ว่าฝ่ายกลันตันหนุนหลัง อับดุลกาเดร์ ก็ไม่มีหลักฐานอื่นสนับสนุนเลย นอกจากนั้นยังไม่มีสัญญาณแข็งข้อต่ออำนาจไทยที่อื่น ไม่มีการสะสมอาวุธ ที่สำคัญในมุมมองของเจ้าพระยายมราช ประชาชนที่เคยรู้จัก ส่วนมากไม่ได้มีความภักดีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อ 25 ปีก่อน เจ้าพระยายมราชจึงทูลเสนอให้อุปราชภาคทรงสั่งให้ถอนกองทหารวังกลับนครศรีธรรมราช เพื่อ "รักษาความสง่างาม" และให้กระทรวงมหาดไทยขอจ้างตำรวจเพิ่มแทน
(ยังมีต่อ)
**********
ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางการวิเคราะห์ ที่น่าสนใจของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร ที่พิจารณามุมมองของเจ้าพระยายมราชที่ว่า ข้อใหญ่ของเหตุการณ์ ที่เกิด "..เป็นการตื่นเต้นใหญ่เกินกว่าเหตุอยู่บ้าง" และถ้าทางราชการดำเนินการโดย "ถือเอาความนิยมนับถือของชนหมู่มากเป็นใหญ่แล้ว ...แต่โดยลำพังอับดุลกาเดร์ ผู้เดียวก็จะทำอะไรได้" ซึ่งในเวลาต่อมาภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรหมดอำนาจลงโดยพื้นฐาน ทัศนะของ "ผู้ปกครองเผด็จการของรัฐไทย" ชุดต่างๆ ล้วนพิจารณาปมความขัดแย้งใน "จังหวัดชายแดนใต้" อย่าง "เป็นการตื่นเต้นใหญ่เกินกว่าเหตุ" และไม่ใช่แค่อยู่บ้าง แต่ยิ่งนานวันยิ่งขยายความขัดแย้งให้ดูรุนแรงน่ากลัวยิ่งขึ้นทุกที กระทั้งกรณี "กบฏดุซงญอ" ระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 เมษายน พ.ศ. 2491.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8