"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (3)
พลโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ต้นราชสกุล "ยุคล"
บทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร เรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) นำเสนอต่อไปว่า:
**********
ทัศนะและมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐจากรายงานต่าง ๆ เป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีความเห็นอันเป็นที่ยุติของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในระดับพื้นที่ต่อประเด็นที่ว่า เหตุการณ์ความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่บ้านน้ำใสและเขาตูม มีใครเป็นผู้นำอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ความมุ่งหมายของพวก "ผู้ก่อการกำเริบ" คืออะไร และรัฐควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ทัศนะและมุมมองที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงระหว่างข้าราชการผู้ใหญ่ในพื้นที่และที่อยู่นอกพื้นที่ โดยเฉพาะในระดับสูง ดังจะได้อภิปรายข้างล่างนี้
เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ฝ่ายทหาร ให้ความสนใจกับประเด็นในทางปฏิบัติว่า เมื่อยังจับตัวหัวหน้าได้ไม่หมด ก็ไม่มีทางที่เหตุการณ์จะสงบต่อไปได้ จำเป็นต้องพิจารณาว่า จะคงกองกำลังทหารตำรวจไว้ หรือถอนออกไป และควรมี กี่กอง/กี่ส่วน ไว้ประจำที่ไหนบ้าง ฝ่ายตัวผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ทรงเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดเป็นเพราะอับดุลกาเดร์เป็นหัวหน้า "หลอกลวงพลเมือง..ซึ่งเป็นราษฎรที่ส่วนมากมีอาการค่อนข้างเป็นคนโง่เขลา." (ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกราชบุรี ถึง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม.., สำเนา (ลับ) ที่ 33/511 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465) ทางการควรหาทางจับตัวอับดุลกาเดร์ให้ได้ และเก็บตัวไว้ให้ไกลเหตุการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก สำหรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ท่านไม่เห็นเป็นเรื่องจริงจัง หากแต่เห็นเป็นกลอุบายของอับดุลกาเดร์ที่นำมาใช้หลอกประชาชนมากกว่า
ส่วนผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลปัตตานี มีความเห็นว่าเหตุร้ายที่เกิดเป็นเพราะราษฎรตามอำเภอต่าง ๆ "เป็นคนโง่เขลา ประกอบกับเป็นข้าเก่าของอับดุลกาเดร์มาด้วย" จึงถูกอับดุลกาเดร์ "ยุยงส่งเสริม" เพื่อ "ขับไล่ข้าราชการไทยที่มาเป็นผู้ปกครองไปเสียให้หมด แล้วจะได้ตั้งตัวเปนพระยาเมืองปกครองเมืองปัตตานี" (นายพันโทพระเหิมประยุทธการ ถึง พระยาเดชานุชิต วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465) และยังเห็นอีกว่าเจ้าหน้าที่ในรัฐมลายูเข้ามา "เกี่ยวข้อง" ทำให้เหตุการณ์ข้างหน้า "ไม่น่าไว้ใจ" เห็นควรตั้งกองตำรวจภูธรไว้ที่มณฑลประมาณ 300 คน สำหรับข้าราชการสายปกครอง คือ สมุหเทศาภิบาลนั้น ให้ความสนใจกับประเด็น "ผู้นำ" ในการ ก่อการเช่นกัน ซึ่งท่านแน่ใจว่าเป็นอับดุลกาเดร์ที่ "คิดจะตั้งตัว เพื่อแสวงหาอำนาจ" โดยนัดแนะกับสุลต่านกลันตัน และสุลต่านรัฐเประซึ่งเป็นเครือญาติกันเพื่อให้ความช่วยเหลือ (ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกราชบุรี ถึง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม.., สำเนา (ลับ) ที่ 33/511 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465)
ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงสุดในภูมิภาค คือ พลโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์อุปราชปักษ์ใต้นั้น ทรงมีพระดำริที่เสรีนิยมอย่างยิ่ง พระองค์ท่านยังเชื่อว่าพวกผู้ก่อการมีหัวหน้าที่ "สามารถทำการใหญ่โตให้ผลแตกหักได้" ไม่ทรงเห็นว่า "ราษฎรโง่ หลงเชื่อผู้นำ หรือถูกหลอกใช้" อีกยังทรงเห็นว่าเรื่องที่เกิดเป็นเรื่อง "เล็กน้อย" และ "การที่เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นก็เพราะเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นตื่นเต้นเกินไปกว่าความเป็นจริงที่เป็นอยู่" (ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกราชบุรี ถึง เสนาบดีกระทรวงกลาโหม.., สำเนา [ลับ] ที่ 33/511 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465) ผู้บัญชาการมณฑลทหารได้รายงานจุดยืนของสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีฯ ว่า "กระเดียดจะทรงเข้าพระทัยว่าเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับวิธีที่เงี้ยวก่อการกำเริบในมณฑลพายัพมากกว่าอื่น" (หมายเหตุผู้เขียน - ในกรณีของเงี้ยว มีความเกี่ยวพันที่ซับซ้อนของคนกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งผลประโยชน์ที่ต่างเอื้อในพื้นที่ แต่ฝ่ายเงี้ยวซึ่งเป็นคนในพื้นที่เดิมเป็นกลุ่มที่ถูกบีบคั้นที่สุด โดยเฉพาะด้านสิทธิและเศรษฐกิจ และดู เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, "คำนำ" และหน้า 31-55) ซึ่งหมายถึงว่ามีความซับซ้อนของปัญหาและกลุ่มคนในพื้นที่ที่ถูกกดขี่ที่สุดและเสียสิทธิและประโยชน์ที่มีอยู่เดิมจนไม่อาจทนได้จึงลุกขึ้นมาต่อต้าน
บันทึกลับขององค์อุปราชปักษ์ใต้สะท้อนพระดำริที่เข้าถึงสาเหตุทางภววิสัยอันเป็นเงื่อนไขที่สร้างความกดดันให้ชาวมลายูในพื้นที่มีใจออกห่างจากรัฐ ทรงตั้งข้อสังเกตว่า การคมนาคมติดต่อที่ไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้นระหว่างหัวเมืองมลายูของอังกฤษกับหัวเมืองในมณฑลปัตตานี เช่น ทางรถไฟ ทำให้ "การเทียบเปรียบระหว่างมลายูกับอังกฤษ กับคนในเขตร์เรา ย่อมเห็นจริงมากขึ้น" (อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ บอกมายัง เจ้าพระยายมราช, สำเนาลับ, กระทรวงมหาดไทย ที่ 17916 วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2465) ทรงชี้ให้เห็นว่าอังกฤษเอาคนอินเดียเข้ามาใช้แรงงานและเป็นทหารในมลายูและพม่า แต่ในสยามยังต้องอาศัยแรงงานชาวมลายูอยู่ และแม้ภาครัฐจะตระหนักถึงข้อเปรียบเทียบจุดด้อยจุดแข็งระหว่างนโยบายของสยามและอังกฤษต่อรัฐมลายูในสายตาชาวพื้นเมืองในพื้นที่และระมัดระวังอยู่บ้างแล้ว เช่น ชุบเลี้ยงพระยาเมืองเดิม และเก็บส่วยมณฑลปัตตานีต่ำกว่ามณฑลนครศรีธรรมราช แต่ก็ยังมีจุดอ่อนในการปกครองหัวเมืองมลายูของสยามในทัศนะของพระองค์ท่าน ทั้งนี้เพราะ "ความประสงค์ของเราตั้งแต่เดิมมาก็ปกครองดินแดนมลายูให้เป็นอันเดียวกันในประเทศสยาม ไม่ได้คิดถึง โปรเต็กเตอร์ (Protector)" ("การเป็นผู้อารักขา" – ผู้เขียน) จนถึงจัดการ โปรเต็กเตอร์เร็ต (Protectorate) ("รัฐในการอารักขา" – ผู้เขียน) ซึ่งอังกฤษเอาขึ้นเชิดหน้าอวดมลายูอยู่.." (ตาม "ระบบรัฐในอารักขา" ซึ่งอังกฤษใช้อยู่ในแหลมมลายูขณะนั้น ในทางทฤษฎีสุลต่านยังมีสถานะเป็นผู้ปกครองรัฐ แต่อังกฤษมาช่วยให้คำแนะนำและดำเนินการบริหารให้ พระดำริในประเด็นนี้ คล้ายอย่างยิ่งกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ที่ทรงวิจารณ์เปรียบเทียบการปกครองมลายูของอังกฤษ และการปกครองหัวเมืองมลายูของสยาม ดังความบางตอนในพระราชหัตถเลขาที่ว่า "ลักษณะการปกครองอย่างเมืองลาวก็ดี เมืองแขก 7 เมืองนี้ก็ดี เป็นการฝืนความจริงอยู่ ...คือว่า การที่ฝรั่งเขาปกครองตามแบบนี้ เขาถือว่าเจ้าเมืองเหล่านั้นเป็นเจ้าเมืองอังกฤษไปช่วยฤาไปกำกับในการปกครอง แต่ข้างเราถือว่าเป็นเมืองของเรา พวกลาวพวกแขกเป็นข้าราชการคนหนึ่ง ไม่ได้ห้ามหวงในการไปมาสมาคมกับต่างประเทศ ฤาจะมีหนังสือไปมาแห่งใดก็มิได้ .. แต่ความนั้นไม่จริง แขกฤาลาวเขาก็ถือว่าเป็นเมืองของเขา การที่เราทำเป็นว่าไว้ใจนั้นก็ไม่ได้ไว้ใจจริง ๆ ....ฝ่ายฝรั่งเขาทำเขาคิดให้เจ้าเมืองขึ้นไปเป็นสวรรค์เป็นเทวดา เกือบไม่ต้องทำอะไร มีน่าที่แต่เพียงเซ็นชื่อกับได้เงิน ข้างเราขืนใจให้มาทำการที่ไม่พอใจจะทำ แล้วซ้ำต้องเป็นตัวแมงกลางแปลงอยู่เสมอ ถ้าคิดเอาใจเราไปใส่ในน่าที่เช่นนั้นก็จะไม่เป็นที่สงบระงับใจได้ ขอให้เธอตริตรองเรื่องนี้ให้จงมาก ..มีความเสียใจที่ยังไม่มีทางความเห็น ซึ่งจะแก้อันใดในเวลานี้ เป็นแต่ขอให้ช่วยกันคิด..." จาก "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงกรมหลวงดำรงฯ", 21 พฤศจิกายน ร.ศ. 121 - ผู้เขียน).
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 เมษายน- 3 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน