จากประธาน "คมช." สู่หัวหน้าพรรค "มาตุภูมิ"
ชีวิตและงาน
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นบุตรของ พันเอกสนั่น (เดิมนามสกุล อหะหมัด จุฬา) และ นางมณี บุญยรัตกลิน เติบโตในครอบครัวมุสลิมในจังหวัดปทุมธานี (บิดานับถือนิกายชีอะห์) แต่ตัวพลเอกสนธินับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์ตามมารดา ต้นตระกูลคือเฉกอะหมัด หรือ เจ้าพระยาบวรราชนายก ขุนนางเชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีและสมุหนายกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ลูกหลานบางส่วนเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เช่น ตระกูลบุนนาค ตระกูลจุฬารัตน์ โดยนามสกุลบุญยรัตกลิน (อ่านว่า บุน-ยะ-รัด-กะ-ลิน) จริงๆแล้วคือบุณยรัตกลิน แต่พิมพ์ผิดเป็น "ญ" นั้น เป็นนามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ลำดับที่ 2798 มีที่มาจากการที่หนึ่งในสาแหรกฝั่งย่าเป็นทหารเรือสังกัดพรรคกลิน คือ น.ต.หลวงพินิจกลไก (บุญรอด) หรือชื่อมุสลิมว่า อับดุลเลาะห์ อหะหมัดจุฬา
พล.อ.สนธิมีภรรยาทั้งหมด 3 คนภรรยาคนแรกชื่อ สุกัญญา จดทะเบียนสมรสขณะที่ พล.อ.สนธิยังเป็นพันโท ภรรยาคนที่สองชื่อ ปิยะดา จดทะเบียนสมรสเมื่อเป็นนายพล ภรรยาคนที่สามชื่อ วรรณา ปัจจุบันอาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมดแม้ว่าการมีภรรยาสามคนจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศไทยก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 พล.อ.สนธิให้เหตุผลที่ไม่ยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินของภรรยาคนที่ 3 ต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางกฎหมาย
พล.อ.สนธิเข้าศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมทหาร (รุ่นที่ 6) และศึกษาต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เหล่าทหารราบ (รุ่นที่ 17) และได้ศึกษาในระดับอุดมศึกษาสำหรับปริญญาโท สาขาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (การทหาร) โรงเรียนเสนาธิการทหารบก สถาบันวิชาการทหารบกชั้นสูงและวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 42) และระดับปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ (สาขาวิชาการเมือง) มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่นแรกของคณะ โดยมีพลเอกสนธิเป็นประธานรุ่นที่มีอายุมากที่สุดคือ 63 ปี
เริ่มต้นชีวิตการรับราชการจากผู้บังคับหมวดปืนเล็กกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบ ศูนย์การทหารราบ, พ.ศ.2512 เป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็กกองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กองพลอาสาสมัครเสือดำ, พ.ศ.2513 เป็นรองผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 9 กาญจนบุรี นายทหารคนสนิทแม่ทัพภาคที่ 4 (พล.ท.ปิ่น ธรรมศรี ในขณะนั้น), พ.ศ.2526 เป็นผู้บังคับกองพันรบพิเศษที่ 2 กรมรบพิเศษที่ 1 รองผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1, พ.ศ.2530 เป็นผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 รองผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1, พ.ศ.2542 เป็นผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 รองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, พ.ศ.2545 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษและในปี พ.ศ.2548 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารบก
ที่สำคัญ นับเป็นผู้บัญชาการทหารบกไทยคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม
วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 พล.อ.สนธิประกาศตัวเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วจึงแปรรูปคณะรัฐประหารและเปลี่ยนฐานะไปเป็น ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
หลังเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2550 พล.อ.สนธิได้รับพระราชทานโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่คณะรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ตั้งมาเองกับมือ
ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีมีทรัพย์สิน 38,796,977 บาท ประกอบด้วยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ 10,241,195 บาท เงินฝากในสถาบันการเงินอื่น 13,355,541 บาท หลักทรัพย์รัฐบาล และรัฐบาลค้ำประกัน 142,600 บาท หลักทรัพย์จดทะเบียนและรับอนุญาต 6,393,240 บาท หลักทรัพย์และเงินลงทุนอื่น 4,664,400 บาท สิ่งปลูกสร้าง 1 หลัง มูลค่า 4 ล้านบาท สำหรับภรรยาทั้ง 2 คนที่จดทะเบียนสมรสคือ นางสุกัญญามีทรัพย์สินกว่า 14 ล้านบาท และ นางปิยะดา 42 ล้านบาท บุตรสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกว่า 3 แสนบาท
รวมทั้งครอบครัว มีทรัพย์สินกว่า 94 ล้านบาท
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 พล.อ.สนธิจัดแถลงข่าว ประกาศเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งก่อตั้งโดยนักการเมืองมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายภาคใต้ ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายที่ฐานเสียงในพื้นที่
สาแหรกบรรพบุรุษ
หนังสือ "ชีวิตและผลงาน พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก" เขียนถึงที่มาที่ไปของนามสกุลนี้ว่า เป็นการขอยืมมาเพราะเดิมนั้น บิดาของพลเอกสนธิ คือ พันเอกสนั่น บุญยรัตกลิน ใช้นามสกุล "อหะหมัดจุฬา" แต่เนื่องจากนโยบายของรัฐสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่กำหนดให้ข้าราชการที่ใช้ "...นามสกุลที่ไม่คล้ายกับคนไทยให้เปลี่ยน ห้ามใช้" พันเอกสนั่นจึงมาใช้นามสกุลแม่โดยในหนังสือบันทึกไว้ตามคำพูดของพลเอกสนธิ ว่า "นามสกุลจริงๆของคุณย่าคือ 'บุณยรัตกลิน' ในสมัยก่อนเป็น 'ณ' แต่ไม่รู้ว่าพิมพ์ผิดอย่างไร เลยกลายมาเป็น 'ญ' ฉะนั้นอาน้องของคุณพ่อทั้ง 2 คน ก็ยังใช้ 'ณ' อยู่ มันผิดมาเรื่อย จนกระทั่งผมเลยกลายเป็น 'ญ' ทาง คุณพ่อพี่เกาะ (พลเอกสมทัต อัตนันทน์) เป็นคนให้คุณพ่อผมใช้นามสกุลนี้ คุณพ่อก็เลยไปขอจากน้องย่าหรือพี่ของย่าไม่ทราบขอมาใช้นามสกุลนี้ แล้วก็ใช้มาโดยตลอด..."
พลเอกสนธิเป็นมุสลิม "ชีอะห์อิสนาอะชะรี" (นิกายสิบสองอิหม่าม) สายเฉกอะหมัด ซึ่งมาแต่อาณาจักรเปอร์เซีย-อิหร่านและรับราชการจนได้เป็นที่ "เจ้าพระยาบวรราชนายก" เพราะความดีความชอบในการปราบปรามกบฏแขกปักษ์ใต้สมัยแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง
เฉกอะหมัด มีเชื้อสายต่อมาคือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) มีลูกต่อมา คือ เจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) ที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ต่อมามีลูกคือ พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) จางวางกรมล้อมพระราชวัง และให้ว่าที่กรมอาสาจามและอาญาญี่ปุ่นในแผ่นดินพระเจ้าอยู่บรมโกศ
"พระ ยาเพ็ชรพิไชย" นี่เอง ที่ตอนหลังได้เข้ามานับถือศาสนาพุทธทำให้ลูกสืบสายสกุลแบ่งแยกออกเป็น 2 สาย คือ สายของพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) ที่นับถืออิสลามต่อไป และสายของเจ้า พระยามหาเสนา (เสน) ที่นับถือพุทธตามพ่อ โดยสายพุทธนั้นต่อมา ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "บุนนาค" และต่อมายังมีการแตกจากสายนี้ไปเป็นหลายสาย เช่น นามสกุล "จุฬารัตน" "ศรีเพ็ญ" "บุรานนท์" "จาติกรัตน์"
เชน บุตรชายคนที่ 2 ของเจ้าพระยาเพชรพิไชยยังคงนับถือศาสนาอิสลาม จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เป็นพระยาวิชิตณรงค์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี มีบุตรชื่อ ก้อนแก้ว (มุฮัมมัตมะอซูม) เป็นต้นตระกูล อหะหมัดจุฬา, อากาหยี, จุฬารัตน, ช่วงรัศมี, ชิตานุวัตร, สุวกูล ฯลฯต่อมาถวายตัวต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รับตำแหน่งสืบทอดจากบิดาเป็นพระยาจุฬาราชมนตรีคนที่ 1 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และได้รับพระราชทานที่ดินสร้าง กุฎีเจ้าเซ็น (กุฎีหลวง) ขึ้นเป็นแห่งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
ส่วนบุตรชายคนที่ 3 ของเจ้าพระยาเพชรพิไชยกับคุณหญิงแฉ่ง ที่ชื่อ เสน ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับบิดา และเข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเสน่หาภูธร ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาจ่าแสนยากร ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) มีบุตรธิดา 5 คน ธิดา 3 คนถูกพม่าจับเป็นเชลยส่วนบุตร 2 คน ได้แก่ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนมา) และเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) รอดพ้นการถูกจับเป็นเชลยเพราะถูกส่งตัวให้ไปอยู่กับญาติที่ราชบุรีก่อนหน้า นั้น เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ, บุนนาค, บุรานนท์, จาติกรัตน์, ศุภมิตร, วิชยาภัย, บุนนาค, ภาณุวงศ์ ฯลฯ
จนในสมัยรัตนโกสินทร์ถือว่าผู้สืบเชื้อสายเฉกอะหมัดนับเป็นสายวงศ์สกุลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสายมุสลิมส่วนใหญ่ลูกหลานจะสืบตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" จางวางกรมท่าขวา ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการค้าขายทางเรือและการต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง...ส่วนสายพุทธ ส่วนใหญ่ก็จะได้ครองตำแหน่ง "สมุหนายก" หรือ "สมุหพระกลาโหม" ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดี ดูแลทั้งฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้...นอกจากนั้นเหล่าบุตรีของวงศ์เฉกอะหมัด ยังได้เป็นทั้งหม่อมห้าม นางใน พระสนมอยู่หลายองค์
ส่วนบิดาของพลเอกสนธิ คือพันเอกสนั่นนั้น สืบเชื้อสายมาจากท่านสง่า อะหะหมัดจุฬา ลูกของท่านช่วง ซึ่งเป็นลูกของท่านครูชื่น ที่นับถือกันเป็นนักปราชญ์ของมุสลิมฝ่ายชีอะห์โดยสาแหรกนี้ถูกบันทึกไว้อย่าง ชัดเจน ในศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรีโดยนายทำเนียบ แสงเงิน ปรากฏอยู่ที่มัสยิดต้นสน
สำหรับสายสกุลบุนนาคนั้น เป็นตระกูลอำมาตย์เก่าแก่ที่รับราชการต่อเนื่องกันมาตลอดจนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีที่ทรงอำนาจในหลายรัชกาลจนได้รับพระราชทานตำแหน่งสูงสุดคือ "สมเด็จเจ้าพระยา" หรือเทียบเท่าตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ถึง 3 คน
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นบุตรเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี (บุนนาค) กับเจ้าคุณนวล เริ่มรับราชการเป็นนายสุด จินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก ในรัชกาลที่ 1 และเลื่อนตำแหน่งตามลำดับจนถึงรัชกาลที่ 4 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์" ให้สำเร็จราชการตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "สมเด็จเจ้าพระยา องค์ใหญ่" และเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์แรกของวังหลวง มีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุดในพระราชอาณาจักรรองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิต
ถัดมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติฯ (ทัด บุนนาค) คนทั่วไปนิยมเรียกขานว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย" เป็นน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของ เจ้า พระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) อีกคนหนึ่งที่เกิดกับเจ้าคุณนวล เข้ารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นนายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก จนถึงรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา ขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติฯ"
สำหรับตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้ายของสกุลบุนนาคคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เข้าถวายตัวเป็นมหาเล็กในรัชกาลที่ 2 เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เลื่อนเป็นหลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก โดยรัชกาลที่ 3 รับสั่งให้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด
หลังจากที่รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตกลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคซึ่งนำโดย 3 พระยา คือ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัด บุนนาค) รวมทั้งพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้พากันไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่ทรงครองสมณเพศเป็นวชิรญาณภิกขุเพื่อให้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วยความพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียว
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม หลังจากรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้ทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์กรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จเสวยราชย์ แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์มีพระชนม์เพียง 15 พรรษา ดังนั้นที่ประชุมจึงลงมติแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนปี พ.ศ.2416 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะ ขณะนั้นพระยาศรีสุริยวงศ์มีอายุได้ 64 ปีเศษ จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และนับเป็นสมเด็จเจ้าพระยาคนสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดวงดารานพรัตน์ดวงดารามหาสุริยมณฑล ปฐมจุลจอมเกล้า
สำหรับสายสกุลบุนนาคอีกคนที่มีความสำคัญใน ช่วงคาบเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) เป็นบุตรพระยาไพบูลย์สมบัติ (เดช บุนนาค) กับคุณหญิง สวน (สกุลเดิม ศิริวิสูตร) ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษในพระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เข้าฝึกหัดรับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงยุติธรรม ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และอุปนายกสภากาชาดไทยหลายสมัย ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 ได้เป็นผู้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 และเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของราชอาณาจักรไทย.