Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปูมชีวิตพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ "ประธานองคมนตรี"

ปูมชีวิตพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ "ประธานองคมนตรี"


พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ 6 ของอำมาตย์โท หลวงวินิจฑัณทกรรม [ต้นสกุลพระราชทาน "ติณสูลานนท์" ลำดับที่ 5121 แก่ขุนวินิจภัณฑกรรม (บึ้ง) พธำมรงค์จังหวัดสงขลา] กับ นางออด ติณสูลานนท์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดบ่อยาง และศึกษาต่อที่โรงเรียนวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จากนั้นเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาจนจบการศึกษาหลักสูตรพิเศษโรงเรียนเทคนิคทหารบก (ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า

ในปี 2484 ร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต กัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พลเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485-2488 ที่เชียงตุง

หลังสงคราม ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ ฟอร์ตน็อกซ์ มลรัฐเคนตักกี พร้อมกับพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกวิจิตร สุขมาก เมื่อปี 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี

ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลื่อนยศเป็นพันเอกในปี 2502 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นในปี 2506 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า

ต่อมาในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เหตุการณ์การเมืองช่วงนั้นการเลือกตั้งปี 2512 จอมพลถนอมจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคสหประชาไทย แต่แล้วมีการ "รัฐประหารตนเอง 17 พฤศจิกายน 2514" จนเกิดเหตุการณ์ "14 ตุลาฯ" ที่ยิ่งใหญ่ สิ้นสุดระบอบการปกครองของ "สามทรราชย์"

ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2517 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ "สภาสนามม้า" ซึ่งนำไปสู่การร่าง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517"

เข้าร่วมการรัฐประหาร 2 ครั้ง ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ล้มรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร พร้อมกับได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับเป็น สมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในปี 2522 ช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ จึงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

พลเอกเปรมสร้างความฮือฮาเกี่ยวกับการแต่งกายที่ต่อมาเรียกกันว่า "ชุดพระราชทาน" และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวไปในที่สุด ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นเอง โดยได้ใส่ครั้งแรกในโอกาสที่ พลเอกเปรมเป็นประธานเปิดงานฉลองครบ 60 ปี ของวงเวียน 22 กรกฎาคม และยังได้สวมชุดดังกล่าวเข้าไปในสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมปีเดียวกันอีก

หลังจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 42 (3 มีนาคม 2523 - 29 เมษายน 2526)

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกสิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 19 มีนาคม 2526 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มีการเลือกตั้งในวันที่ 18 เมษายน 2526

ต่อมาได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 43 (30 เมษายน 2526 - 4 สิงหาคม 2529) และสิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529 เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภาในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529

จากนั้นกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยสุดท้ายในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 44 (5 สิงหาคม 2529 - 3 สิงหาคม 2531) ซึ่งสิ้นสุดลงภายหลังการยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน 2531 เนื่องจากเกิด "กลุ่ม 10 มกรา" ที่นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ ในพรรคประชาธิปัตย์ ลงมติอย่างเป็นเอกเทศไม่สนับสนุนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา จนทำให้พระราชบัญญัติไม่ผ่านการเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์จึงถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกเปรมจึงประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531 มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531

ตลอดการดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล พลเอกเปรมรอดพ้นจากการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง 2 ครา คือ ความพยายามในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1- 3  เมษายน 2524 ที่เรียกกันว่า "กบฏยังเติร์ก" หรือ "กบฏเมษาฮาวาย" ผู้ก่อการประกอบด้วยนายทหารซึ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 (จปร. 7) หรือที่เรียกว่ารุ่น "ยังเติร์ก" ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร (ม.พัน.4 รอ.), พันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ (ม.1 รอ.), พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร (ร.2), พันโทพัลลภ ปิ่นมณี (ร.19 พล.9), พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล (ร.31 รอ.), พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ (ช.1 รอ.), พันเอกบวร งามเกษม (ป.11), พันเอกสาคร กิจวิริยะ (สห.มทบ.11) โดยมี พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ

และอีกครั้งหนึ่งถัดมา 4 ปีเศษ เป็นความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2528 ที่เรียกกันว่า "กบฏ 9 กันยา" หรือ "กบฏทหารนอกราชการ" โดยกลุ่มนายทหารนอกประจำการ คือ พันเอกมนูญ รูปขจร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกจำนวนหนึ่งและผู้นำแรงงานบางคน โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจากนายเอกยุทธ อัญชันบุตร การกบฎครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่พลเอกเปรม นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป

ในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกเปรมขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง มีกระแสการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 จากกลุ่มนักวิชาการ

ภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 กันยายน 2541 หลังจาก ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี และดำรงตำแหน่งมาจนปัจจุบัน.
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8