Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หลักนโยบาย 3 ข้อ แก้ปัญหาเกษตรกร

หลักนโยบาย 3 ข้อ แก้ปัญหาเกษตรกร


1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร


***********************

ข้างต้นนั้นคือหลัก 6 ประการ ซึ่งสรุปใจความหลักได้ว่า "เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา" นั้น บรรจุไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ถือเสมือนเป็นนโยบายของคณะกรรมการราษฎร (หรือ "คณะรัฐมนตรี" ในเวลาต่อมา) ชุดแรกในระบอบประชาธิปไตยของประเทศสยาม ซึ่งนำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คณะกรรมการราษฎรคณะนี้ ไม่มีการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาแต่ได้ถือเอาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรที่ได้ให้สมาชิกสภาปฏิญาณตนต่อสภาก่อนเข้ารับหน้าที่นั้น เป็นนโยบายของรัฐบาล

และนับเนื่องมาถึงช่วงการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การอภิปรายและการขึ้นปราศรัย รวมตลอดจนถึงวงเสวนาของฝ่ายต่อต้านเผด็จการรัฐประหาร และเรียกร้องประชาธิปไตย ล้วนพุ่งประเด็นไปที่ระบอบ "เผด็จการซ่อนรูป"

หากข้อเท็จจริงประการหนึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมาดังกล่าว แม้จะมีการกล่าวถึง "นโยบายประชานิยม" ที่ในเวลาต่อมาอธิบายขยายความกันว่าหมายถึง "ประชาธิปไตยกินได้" ในช่วงการบริหารประเทศโดยพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนผลักดันอย่างสำคัญต่อการให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ในแนวนโยบายของพรรคการเมืองที่ลงสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551

แต่เมื่อยกนโยบายทางการเมืองที่ดูจะยังห่างไกลกับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยด้วยบทเฉพาะกาลที่ยกประโยชน์ให้แก่คณะทหารที่ "ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายระบอบประชาธิปไตย" จะโดยข้ออ้างใดก็ตาม ปัญหาใจกลางสำคัญสำหรับความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ยังคงก่อให้เกิดความกังขาเช่นที่เคยเป็นมาเกือบจะตลอดประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย

นั่นคือ "หลักประกันความอยู่ดีกินดีของราษฎร" หรือหลักการ "ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ" ซึ่งอยู่ในหลักประการที่ 3 "จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก"

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา มีรายการเสวนาหัวข้อ "เขายายเที่ยงถึงเขาสอยดาว สู่วิวาทะปฏิรูปที่ดินอย่างไร (ทำไม?)" จัดโดยสมัชชาสังคมก้าวหน้า ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากในระยะใกล้ๆ ปัญหาใหญ่ที่เป็นปัญหาเรื้อรังของการผลิตภาคเกษตรกรรมกลับประทุเป็นประเด็นซ้ำซ้อน หากถูกกลบด้วยประเด็นการเมือง 2 ขั้วสี กระทั่งการลอบสังหารเกษตรกรในพื้นที่ขัดแย้งในกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินแทบไม่มีใครใส่ใจ

สุรพล สงฆ์รักษ์ หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนาจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวถึงความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกระบี่ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรและนายทุนทุนสวนปาล์มซึ่งเกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ก่อนการเสียชีวิตของสมพร พัฒนภูมิ สมาชิกเครือข่ายที่เป็นข่าวเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยที่ในเดือนเมษายน 2552 มีเกษตรกรนอกเครือข่ายถูกยิงเสียชีวิต 3 รายจากปัญหาเดียวกันมาก่อนแล้ว

ในขณะที่พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าการปฏิรูปที่ดินในไต้หวันหรือญี่ปุ่นเป็นไปเพื่อทำลายเจ้าที่ดินรายใหญ่ และอยู่บนพื้นภูมิหลังของการปฏิวัติสังคม ดำเนินการแบบทุนนิยมโดยรัฐบาลได้ออกพันธบัตรให้นายทุนเพื่อแลกเอาที่ดินมาแจกให้เกษตรกรรายย่อย ซึ่งเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีก็ถือว่าอยู่ในแนวนี้ ขณะที่ในประเทศไทย การปฏิรูปที่ดินเกิดภายใต้อำนาจรัฐศักดินาและอำมาตย์ จึงไม่ได้ไปแตะต้องที่ดินของรายใหญ่ และเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาการประกาศพื้นที่ป่าทับที่ชาวบ้านเป็นหลัก

นอกจากนั้นด้วยกระบวนการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา ส่งผลให้แม้ปัจจุบัน 40% ของประชากรจะอยู่ในภาคการเกษตร แต่กลับมีรายได้คิดเป็น 11% ของจีดีพี

สำหรับความเห็นของผู้ร่วมเสวนาอื่นๆทั้งที่เป็นวิทยากรร่วมหรือผู้เข้าร่วมก็ตาม ยังมีทั้งที่สนับสนุนการปฏิรูปที่ดินในลักษณะกรรมสิทธิ์ร่วม ในรูป "โฉนดชุมชน" หรือที่ยังคงเห็นแย้งเช่นที่พิชิตกล่าวว่า

"การออกกฎหมาย จำกัดการถือครองที่ดินที่ปรีดีเคยทำก็อาจไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะถือครองแทนกันได้ ถ้าเก็บภาษีจากที่ดินว่างเปล่า ก็หลบเลี่ยงได้อีก ดูประสบการณ์จากต่างประเทศ ในอเมริกา ยุโรป เศรษฐีไม่ค่อยมีที่ดินเยอะ ทิ้งรกร้าง เพราะภาษีที่ดินมันแพง เขาเก็บเป็นหุ้น เป็นพันธบัตรดีกว่า หนทางหนึ่งที่มีคนเสนอก็คือ การเก็บภาษีที่ดินทั้งหลาย แต่การทำอย่างนั้นได้ก็ต้องแก้ที่การเมืองอยู่ดี"

อันที่จริง ประเด็นของการบริหารจัดการปัญหาการผลิตในภาคเกษตรไม่ใช่อยู่ที่เรื่องที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่หัวใจสำคัญคือทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากสภาพ "ดักดาน" หรือสามารถดำเนินธุรกิจไปได้เช่นเดียวกับสาขาการผลิตอื่นๆ ปัจจุบันนี้ภาคเกษตรไทยล้าหลังมาก ผลผลิตต่ำที่สุดในเอเชีย แต่ต้นทุนสูงมากเพราะโครงสร้างการผลิตผูกขาดอย่างมาก เช่น ปุ๋ยก็เป็นตลาดผูกขาดโดยกลุ่มทุนใหญ่ซึ่งไม่ใช่ซีพีด้วยซ้ำไป ดังนั้น ต้องทำให้อาชีพเกษตรเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อีกส่วนหนึ่งคือส่วนที่ดินที่มีการครอบครองโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือไม่ได้ ใช้เพื่อการผลิตในภาคเกษตรกรรมโดยตรง แต่ไม่ใช่ในรูปเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และพัฒนาพลังการผลิตของเกษตรกรแต่อย่างใด

นั่นคือปัญหาใจกลางของการแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรมนั้น มี 3 ประการ ดังนี้

1. ปัญหาการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ทั้งนี้ ชาวไร่ชาวนาจัดเป็น "ผู้ประกอบการรายย่อย" ที่มีความต้องการครอบครองปัจจัยการผลิตที่เป็นทรัพย์สินเอกชน และยังขาด "วิสัยทัศน์" ทาง "เศรษฐศาสตร์การเมือง" ที่มีผู้พยายามเสนอและผลักดันการทำเกษตรกรรมแบบกรรมสิทธิ์รวมหมู่ อาทิเช่นในรูป "โฉนดชุมชน" แม้ว่าด้วยการรุกรานของ "ทุนเกษตรอุตสาหกรรม" ที่มีแนวโน้มนำไปสู่การล่มสลายของระบบการผลิตแบบปัจเจก เนื่องจากไม่อาจต่อสู้กับทุนผูกขาดเข้าปล้นชิงปัจจัยการผลิตและอื่นๆไปในที่สุด

ในประเด็นการถือครองที่ดินนี้ "ธง" ในการต่อสู้ของเกษตรกรชาวไร่ชาวนา คือ "ที่ดินต้องเป็นของเกษตรกร"

2. ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงเกินจริง เริ่มจาก "เมล็ดพันธุ์ที่เป็นหมัน" นำไปใช้เพาะปลูกซ้ำไม่ได้ ต้อง "ซื้อ" ถัดมาก็คือ "ปุ๋ย" ที่อยู่ภายใต้การผูกขาดในการนำเข้าและกำหนดราคาตามใจชอบ ตามมาด้วย "เครื่องจักรการเกษตร" ซึ่งก็อยู่ภายใต้เงื่อนเหตุผลผูกขาดนำเข้าและหรือการผลิตผูกขาดภายในประเทศ และสุดท้าย "ระบบชลประทาน" ที่เกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่มาก และไม่ทั่วถึงทำให้เกิดปัญหาการผลิตนอกฤดูกาล หรือแม้แต่ในฤดูกาลที่กาลอากาศผิดปกติ กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ชักจูงเกษตรกรไปสู่การล้มละลาย

3. ปัญหาราคาขายพืชผลการเกษตร (เฉพาะภาคเกษตรกรรม ไม่นับรวมอุตสาหกรรมแปรรูป) ที่การกำหนดแบบผูกขาดสูงสุดไปรวมศูนย์ อยู่ที่ "นายทุนส่งออก" และมีการ "ขูดรีด" เอากำไรกันมาเป็นลำดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับลานรับซื้อข้าวเปลือกและโรงสี โรงบ่มใบยาสูบ กิจกรรมรับซื้อยางดิบไล่ไปจนถึงยางแผ่น ข้อเท็จจริงอันขมขื่นของเกษตรกรชาวไร่ชาวนา สำหรับโอกาสที่ดีที่สุดคือ มีชีวิตให้รอดไปถึงฤดูเพาะปลูกถัดไป เพียงเพื่อจะได้เผชิญกับ "วัฏจักรดักดาน" เช่นที่รับช่วงสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

จากข้อเท็จจริงที่ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ปัญหาเกษตรกรในช่วงสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ความผูกพันของชาวไร่ชาวต่อผืนดินทำกินนั้น ลึกซึ้งกว่าการที่กระบวนการคิดของนักวิชาการหรือองค์กรพัฒนาภาคเอกชนตั้งธงเอาไว้ว่า เกษตรกรมีแนวโน้มที่จะละทิ้งการผลิตซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนมือโฉนด เช่นในลักษณะ สป.ก. หรือการให้กรรมสิทธิ์ในลักษณะ "โฉนดชุมชน"

หากชาวไร่ชาวนารวมตลอดมาจนถึงรุ่นลูกหลาน สามารถใช้ชิวิตอยู่ในแผ่นดินถิ่นเกิด ประกอบอาชีพเยี่ยงบรรพบุรุษสามารถเลี้ยงตัวอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างทัดหน้าเทียมตากับผู้คนร่วมสังคมประเทศชาติ คงไม่เป็นการง่ายที่จะตัดสินใจปล่อยให้สินทรัพย์ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หรือก่นสร้างหักล้างถางพงมาด้วยสองมือให้หลุดลอยไปสู่วิสาหกิจชุบมือเปิบที่มุ่งแสวงเฉพาะผลกำไรสูงสุด

หาก "รัฐ" จริงใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในที่นี้รวมตลอดถึง "พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ" ระดับท้องถิ่น ที่เข้าใจความสำคัญของรากฐานการผลิตของประเทศนับจากอดีต และไม่สยบยอมให้แก่อำนาจอิทธิพลที่พยายามเข้ามาครอบงำแย่งยึดระบบการผลิตและความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจริงใจและทุ่มเทอุทิศตัวของพรรคการเมืองที่อาศัยเสียงข้างมาก ก้าวขึ้นสู่การเข้ามาบริหารประเทศผ่านอำนาจอธิปไตย 2 ส่วน คือ บริหารและนิติบัญญัติแล้ว การแก้ปัญหาเกษตรกรคงไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่ดำรงคงอยู่มาชั่วนาตาปี

สำหรับประเด็นการผลิตรวมหมู่หรือระบบนารวมหรือโฉนดชุมชนนั้น สภาพการณ์ที่แท้จริงคือพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตในประเทศนี้ยังอยู่ในสภาพลักลั่น มีความเหลื่อมล้ำทุกระดับไปจนถึงระดับจิตสำนึก

นั่นหมายความว่า หากมุ่งทิศทางการพัฒนาแนวความคิดไปสู่ "ระบบสังคมนิยม" ตามที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาบางส่วนเสนอนั้น ควรและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดการให้การศึกษา เพื่อเตรียมดำเนินการบนพื้นฐาน "ความสมัครใจ" โดยสร้าง "แรงจูงใจ" ให้มวลชนเกษตรกรเดินเข้าสู่ทิศทางนี้ด้วยตัวของพวกเขาเอง.



พิมพ์ครั้งแรก THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ปักษ์แรก มีนาคม 2553
คอลัมน์ เปิดหน้าปล่อยการ์ด เขียนโดย อริน

โพสต์ ครั้งแรก 22 กุมภาพันธ์ 2010, 21:07:39
http://www.newskythailand.info/board/index.php?topic=10065.0
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8